นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 19 มี.ค. 2024 4:56 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: กิเลสไม่ชอบนั่ง
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 30 มี.ค. 2018 4:09 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4501
"กิเลสตัณหาไม่ชอบนั่งสมาธิ"

ขอให้พวกเราพยายามเดินตามขั้นตามตอนที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านสอนกัน อย่าไปฟังพวกที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง พวกที่ศึกษาแล้วก็มาสอน พวกนี้มักจะสอนไปตามความอยากของกิเลสตัณหา กิเลสตัณหาไม่ชอบนั่งสมาธิ ไม่ชอบทำใจให้สงบ เขาก็จะสอนว่าไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องทำใจให้สงบ เจริญปัญญาได้เลย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วพระพุทธเจ้าจะสอนสัมมาสมาธิไว้ทำไม เราจะเชื่อใครดี เราจะเชื่อพระพุทธเจ้าเชื่อครูบาอาจารย์ หรือเราจะเชื่อพวกที่สอนว่าไม่ต้องเจริญสมาธิกัน อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องใคร่ครวญต้องพิจารณา หรือถ้าเราเชื่อพวกที่สอนไม่ให้นั่งสมาธิ แล้วเราดูการปฏิบัติของเราว่าเป็นอย่างไร ผลมันเป็นอย่างไร ตัดกิเลสตัณหาได้บ้างหรือยัง พวกที่ชอบใช้ปัญญาโดยที่ไม่ต้องนั่งสมาธินี้ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ความจริงใครเขาพูดอะไรก็ไม่ปฏิเสธหรือไม่รับ ไม่ควรจะปฏิเสธหรือไม่รับ ควรที่จะนำเอาไปพิสูจน์ดู เขาบอกว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ เจริญปัญญาได้เลย เราก็ลองไปเจริญปัญญาดู ลองไปพิจารณาไตรลักษณ์ดู สัพเพ ธัมมา อนัตตาดู ธรรมทั้งหลายไม่มีตัวไม่มีตน พิจารณาแล้วเราตัดกิเลสตัณหาได้หรือเปล่า แล้วเราลองไปทำตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แบบที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง

อย่างหลวงตาตอนที่ไปศึกษากับหลวงปู่มั่น ครั้งแรกเลยที่หลวงปู่มั่นสอนหลวงตา ท่านก็สอนว่า ท่านมหาท่านเป็นผู้มีความรู้มากแล้ว ท่านเป็นมหา ๓ ประโยค ได้เรียนรู้ธรรมของพระพุทธเจ้ามาอย่างโชกโชน แต่ธรรมของพระพุทธเจ้าตอนนี้มันไม่เป็นประโยชน์ ในการที่จะมาฆ่ากิเลสตัณหา มาดับความทุกข์ใจ ตอนนี้สิ่งที่ท่านควรจะทำก็คือทำใจให้สงบก่อน เตรียมภาชนะรองรับพระธรรมของพระพุทธเจ้าก่อน ตอนนี้ภาชนะของท่านนี้ ยังไม่พร้อมที่จะรองรับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่สามารถเข้าไปถึงใจได้ เพราะใจไม่สงบ ใจไม่สงบใจไม่สามารถพิจารณาธรรมได้อย่างต่อเนื่อง ธรรมที่ได้ยินได้ศึกษาจากพระคัมภีร์นี้ เป็นสัญญาความจำ ไม่ใช่เป็นความจริง ก็คือศึกษาแล้วก็ท่องจำไว้ แล้วถ้าไม่ได้เอามาใช้เดี๋ยวก็ลืมได้ พอถึงเวลาจะใช้จริงๆก็ใช้ไม่ได้ นี่แหละคือสิ่งที่หลวงปู่มั่นสอนหลวงตา หลวงตาท่านเอามาเล่าให้ฟัง ตอนที่ท่านได้ไปขออยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนเลยว่า ตอนนี้อย่าพึ่งเอาปัญญามาใช้ ตอนนี้มาทำใจให้สงบก่อน ทำใจให้สงบแล้วค่อยพิจารณา ธรรมทั้งหลายที่ได้ศึกษาที่ได้ยินได้ฟังมาแล้วมันจะเข้าไปสู่ในใจ มันจะเป็นอาวุธที่ไว้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาได้ แต่ถ้าใจไม่สงบนี้ธรรมที่ได้ศึกษามานี้ยังไม่อยู่ในใจ ไม่สามารถที่จะไปฆ่ากิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจได้.

ธรรมะบนเขา (จุลธรรมนำใจ ๔๑)

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




"การภาวนาก็ไม่ได้มุ่งอย่างอื่น
เรามุ่งเพื่อประพฤติจิตใจของเรา ขาวสะอาด ผ่องใส
ให้มีปัญญาความรู้ฉลาดเฉียบแหลมขึ้น
รู้ในเหตุในผล แล้วก็รู้ในเหตุในผลได้รวดเร็วขึ้น
เมื่อตามองเห็น มันก็จะเกิดความรู้ขึ้นมา
หูได้ยินเสียง เกิดความรู้ขึ้นมา
ไม่ใช่ความรู้สึก
ความรู้มีเหตุมีผล ที่เรารู้
นี้เรียกว่าปฏิบัติเพื่อรู้ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อหลง
ถ้าเราไม่เกิดความรู้
เราก็ยังหลงในข้อปฏิบัติอยู่อย่างนั้นน่ะ
ท่านั้นจะดี ท่านี้จะดี ก็เลยไม่ดีสักท่า
เนื่องจากจิตใจของเรามันไม่สะอาดพอ
ไม่พอที่จะรับย้อมด้วยธรรมะ
ธรรมะย้อมไม่ขึ้น ย้อมไม่ติด
เพราะจิตของเรายังสกปรกอยู่
นี้แหละพวกเราทั้งหลายเป็นผู้ที่ดำเนินข้อปฏิบัติ
ให้พยายามพิจารณาพระกัมมัฏฐานของตน
ทำความรอบคอบรอบรู้อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
เพื่อเป็นการสร้างเสริมเติมต่อ
อุปนิสัย ศีล วาสนา บารมี ของเราที่มีอยู่แล้ว
ที่ได้สร้างมาแล้วนั้น ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น
ถ้าเราจะไปคอยตั้งแต่เวลาที่ผลมันจะเกิดขึ้นเอาเอง
อันนี้ก็เป็นไปได้ยาก
เราจะต้องพยายาม ต้องรีบทำ รีบปฏิบัติ
ขวนขวายอยู่ในข้อปฏิบัติ ไม่ละ ไม่ทิ้ง
ทั้งกลางวันกลางคืน
เมื่อเราพิจารณาอยู่บ่อยๆ
ความรู้มันก็ย่อมเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่เร็วก็ช้า
มันจะมีโอกาสที่เกิดความรู้
รับรองความพิจารณาของเรา
เราก็จะได้เข้าใจในธรรมะข้อปฏิบัติแต่ละอย่างไป
เป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง
ถ้าเราไม่ค้น ไม่พิจารณา ความฉลาดก็ไม่เกิดขึ้น
ความสงบก็ไม่เกิดขึ้น
ต้องอาศัยตัวปัญญาใคร่ครวญพิจารณา
ความสงบก็จึงจะสงบได้
แล้วก็ มันขัดข้องที่ไหนก็ต้องแก้ได้
แก้ตัวเอง ปรับปรุงตัวเองได้
แล้วก็เป็นที่พึ่งแก่ตัวเองได้
จึงจะเรียกว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ
ตนเป็นที่พึ่งของตน
เราก็พึ่งตัวของเราได้
พึ่งเหตุ พึ่งผล พึ่งความฉลาด
อันนี้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประกอบธรรมะ
เพื่อสร้างที่พึ่งขึ้นแก่ตัวของเราเอง
เราก็จะพึ่งตัวของเราไปได้ตลอดไป"

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร
(พระอาจารย์วัน อุตตโม)
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อ.ส่องดาว จ.สกลนคร





"สติ วิริยะ"

การปฏิบัติธรรมจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับธรรม ๒ ประการ คือ ๑. สติ การระลึกรู้ ๒. วิริยะ ความพากเพียร ต้องมีธรรม ๒.ประการนี้ เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ ถ้าไม่มีวิริยะ ความพากเพียร มีแต่ความเกียจคร้าน ก็จะไม่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าไม่มีสติก็จะไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ การมีสติคือต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่ต้องคอยเฝ้าดูก็คือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ ต้องมีสติให้รู้อยู่ว่าขณะนี้กำลังคิดอะไรอยู่ กำลังทำอะไรอยู่ กำลังพูดอะไรอยู่ ถ้าเป็นสิ่งที่ดี ก็ทำไป พูดไปคิดไป ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาป ตรงข้ามกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ต้องละ อย่าไปคิด อย่าไปพูด อย่าไปทำ ถ้าไม่มีสติจะไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังคิดดีหรือคิดไม่ดี เมื่อคิดไม่ดีแล้ว ถ้าปล่อยออกไป ก็จะพูดไม่ดี ทำไม่ดี เพราะไม่มีสติ ไม่รู้ว่าขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่

แต่ถ้ามีสติคอยเฝ้าดู กาย วาจา ใจ จะรู้อยู่ทุกขณะเลยว่า ขณะนี้กำลังคิดอะไรอยู่ กำลังจะพูดอะไร กำลังจะทำอะไร คิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร จะรู้ทันที ถ้ามีสติก็จะทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ จะไม่ไปในทางบาปกรรมความชั่ว แต่ไปในทางบุญกุศล ไปในทางที่ลดละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความพากเพียรในการปฏิบัติธรรมก็จะเป็นไปในทางที่ควรไป คือไปแต่ทางที่ดี ทางที่ไม่ดีก็ไม่ไป ทางที่ไปสะสมความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะไม่ไป ทางไหนถ้าไปแล้วตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะไปทางนั้น จะปฏิบัติด้วยวิริยะ ความพากเพียร อุตสาหะ.

ธรรมะบนเขา(หนังสือ กำลังใจ ๕)

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






“การปฎิบัติธรรมมีสองขั้น”

ถาม : อยากจะเรียนถามพระอาจารย์ครับว่าเวลาก่อนจะนั่งสมาธิเราจะสวดมนต์ แล้วจะสวดมนต์บทไหนบ้างอย่างนี้ครับ แล้วก็ถ้านั่งไปแล้วเราจะพุทโธอย่างเดียวไปเรื่อยๆ หรือว่าช่วงไหนจะพิจารณากายบ้างหรือว่าอสุภะกรรมฐานบ้างอย่างนี้ครับ

พระอาจารย์ : คือการนั่งสมาธินี้เป็นการทำใจให้สงบ การปฎิบัติธรรมนี้มันมีอยู่สองขั้นด้วยกัน ขั้นแรกเรียกว่า สมถะ หรือ สมาธิ ขั้นที่สองเรียกว่า วิปัสสนา หรือ ปัญญา เป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ไม่ทำพร้อมกันในวาระเดียวกัน เหมือนกับเรียนหนังสือเรามีวิชาเรียนที่ต่างเวลากัน ชั่วโมงนี้เราเรียนคณิตศาสตร์ ชั่วโมงต่อไปเราเรียนภาษาอังกฤษ คนละวิชากัน ฉะนั้นเวลาที่เรานั่งปฏิบัติเนี่ยเราต้องถามตัวเองว่าเรากำลังนั่งเพื่ออะไร นั่งเพื่อสมาธิความสงบหรือนั่งเพื่อปัญญา มันมีสองวิธี แต่ส่วนใหญ่ขั้นต้นนี้เราจะต้องไปขั้นที่หนึ่งก่อนคือการทำใจให้สงบก่อน ถ้าเราทำใจให้สงบไม่ได้เราจะใช้ปัญญามาดับความทุกข์ไม่ได้ เพราะไม่มีกำลัง ต้องสร้างความสงบเป็นกำลังขึ้นมาก่อน

ฉะนั้นในเบื้องต้นสำหรับญาติโยมทุกคนเนี่ยยังไม่ต้องไปกังวลเรื่องปัญญามากนัก ปัญญาก็ให้เอาขั้นแรกคือฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน ให้รู้ว่าปัญญาคืออะไร แต่ถ้าสมมุติว่ารู้แล้วก็ทำขั้นที่สองต่อได้ก็คือให้พิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แล้วดูซิว่าเราจะทำใจได้หรือเปล่า อันนี้ก็ทำในเวลาที่เราไม่ได้นั่งในสมาธิ เราทำได้เวลาที่เราไม่ได้ทำใจให้สงบ ทำได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะนั่งจะเดินจะยืนเราสามารถพิจารณาธรรมได้ ทำการบ้านได้ แต่เวลานั่งสมาธินี้เราต้องนั่งถ้าเราต้องการทำใจให้สงบ ร่างกายเราต้องนั่งนิ่งๆ ก่อน ใจเราถึงจะนิ่งได้ แล้วการจะทำให้ใจนิ่งได้เราก็ต้องมีสติ บางทีเวลาเราจะนั่งแล้วเราพุทโธไปหรือดูลมไป แต่ใจมันไม่ยอมดูลมไม่ยอมพุทโธ มันไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็ใช้การสวดมนต์มาหยุดความคิดก่อน แสดงว่าสติเรายังมีน้อย ไม่สามารถควบคุมใจให้หยุดคิดให้อยู่กับพุทโธหรือให้อยู่กับลมหายใจได้ เราก็ต้องใช้วิธีสวดมนต์เป็นการเสริมสร้างสติขึ้นมาก่อน พอเราจะเริ่มนั่งสมาธิเราจะดูลมมันก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ พุทโธมันก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็ลองเอาความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เอามาคิดทางบทสวดมนต์แทน ถ้าเราคิดอยู่กับบทสวดมนต์เราก็จะเลิกคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับใจของเราว่าเรามีสติมากน้อยเวลาที่เราจะนั่งสมาธิ ถ้านั่งแล้วให้ใจอยู่กับลมไม่ได้อยู่กับพุทโธไม่ได้เราก็ต้องสวดมนต์ไปก่อน หรือสวดอะไรก็ได้มีหลายวิธี จะสวดอาการ ๓๒ ก็ได้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ หรือจะสวดคำแปลก็ได้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก หรือจะสวดอิติปิโสก็ได้ สวดมนต์ไป จะบทไหนก็ได้ สวดไปเพื่อให้ดึงสติกลับมาเพื่อให้ใจหยุดคิดถึงเรื่องอื่น อาจจะต้องสวดไปซักระยะหนึ่งจนรู้สึกว่าใจเริ่มเย็นเริ่มไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว แล้วค่อยมาดูลมหรือมาพุทโธต่อ เวลานั่งทำใจให้สงบนี้ใจต้องมีอารมณ์เดียวมีเรื่องเดียว ให้คิด เช่นคิดอยู่กับคำพุทโธพุทโธไป หรือจะดูลมหายใจไปก็ดูไป ดูลมเข้าลมออก ดูที่สองจุด จุดใดจุดหนึ่งก็ได้ แต่อย่าไปทั้งสองจุด เลือกเอา ดูที่ปลายจมูกก็ได้เป็นจุดที่รวมสัมผัสเข้าออก หรือดูที่กลางหน้าอกก็ได้ว่ามันยุบหรือมันพองขึ้นมา มีสองจุดเวลาเราจะดูลมหายใจ ดูเพื่อไม่ให้เราไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ ถ้ามันจะไปคิดก็ต้องดึงกลับมาให้อยู่กับลมต่อ ถ้ามันไปเราก็ต้องดึงกลับมา ตอนใหม่ๆ มันจะดึงไปดึงมากัน เราจะดึงให้มันอยู่รวม เดี๋ยวมันก็ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ดึงมันกลับมา เหมือนกับการใช้พุทโธ เราอาจจะพุทโธพุทโธไป เดี๋ยวเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็ต้องดึงพุทโธกลับมา อย่างใหม่ๆ มันก็ดึงกันไปดึงกันมาอย่างงี้จนกว่าใครจะชนะ ถ้าพุทโธชนะลมชนะ ใจก็จะนิ่งใจก็จะสงบ พอใจนิ่งใจสงบก็ไม่ต้องทำอะไร แสดงว่าเราไปถึงเป้าหมายแล้วเราได้พบความสงบ ตอนนั้นใจเราต้องมีความสุขถึงจะเรียกว่าสงบจริง จะมีความรู้สึกมหัศจรรย์ใจเป็นความสุขที่ไม่เหมือนอะไรในโลกนี้ เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสงบสุขทั้งปวง ถ้าเราถึงจุดนั้นแล้วใจจะนิ่งใจจะไม่ทำอะไรจะไม่คิดจะไม่อะไร จะไม่มีความอยาก ไม่มีความอยากจะลุกไม่มีความอยากจะไปทำอะไรทั้งนั้น จะนิ่งเฉยๆ จะรู้เฉยๆ ไป ตอนนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร คอยใช้สติคอยรักษาความนิ่งไปเรื่อยๆ เวลามันจะคิดก็อย่าให้มันคิด ถ้าทำอย่างนี้ได้ใจเราจะมีกำลังที่จะต่อสู้กับความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ ที่เป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับเราได้ แต่นั้นเป็นหลังจากที่เราออกจากสมาธิมาแล้ว พอเราออกจากสมาธิมาแล้วถ้าเราอยากจะปฏิบัติต่อ ถ้าเราอยากจะเจริญปัญญาก็พิจารณาได้ พิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เราไม่อยากว่ามันเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะว่ามันไม่เที่ยง ทุกข์เพราะว่าเราไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนจะเป็นของจะเป็นอะไรก็ตาม มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ มีการเกิดมีการดับมีการเจริญมีการเสื่อม เช่น ลาภยศสรรเสริญสุขนี้มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางทีก็เจริญบางทีก็เสื่อม เราจะไปสั่งให้มันเจริญอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเรารู้ว่าเราไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ เราก็อย่าไปอยาก เพราะอยากแล้วเวลาไม่ได้มันจะทุกข์ เราก็อย่าไปอยากได้ลาภยศสรรเสริญเสีย ถ้าเรามีความสุขจากการนั่งสมาธิแล้วเราไม่ต้องมีลาภยศสรรเสริญให้ความสุขกับเราก็ได้ เราสามารถมีความสุขจากการนั่งสมาธิได้

ฉะนั้นต่อไปเวลาเราโลภอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้เราก็บอกว่ามันไม่เที่ยงนะ มันเป็นทุกข์นะ มันจะทำให้เราต้องเสียอกเสียใจ สู้ไปหาความสุขจากความสงบดีกว่า ทุกครั้งอยากจะไปทำอะไรอยากจะไปดูอะไรอยากจะได้อะไรก็เปลี่ยนใจไปเอาสมาธิดีกว่า ถ้าทำอย่างนี้ได้ต่อไปเราก็จะเลิกความโลภความอยากต่างๆ ได้ เลิกความโกรธได้ แล้วใจเราก็จะไม่ทุกข์กับอะไรต่อไป อันนี้เป็นขั้นที่สอง ขั้นปัญญา ขั้นแรกทำใจให้สงบนี้ เป้าหมายก็คือให้หยุดคิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ จะหยุดคิดที่ปรุงแต่งได้ต้องมีอะไรกำกับใจ มีสติคือพุทโธหรือลมหายใจเข้าออก ถ้ามันไม่ยอมอยู่กับลมหายใจเข้าออกหรือพุทโธก็ลองสวดมนต์ไปก่อน สวดไปนานๆ สวดกระทั่งมันเหนื่อยมันไม่อยากจะสวดก็แสดงว่ามันไม่อยากจะคิดแล้ว ทีนี้เราก็ไม่คิดได้ เราก็ดูลมได้ เพ่งดูลมเฉยๆ ได้ ใจก็จะนิ่งจะสงบไป เข้าใจไหม.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑

พระจารสุชาติ อภิชาโต


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO