นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 29 มี.ค. 2024 9:30 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 28 มี.ค. 2018 5:12 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4511
๙. ตถาคตอุตตริกรณียาภาวปัญหา ๙

พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'กิจที่จำต้องกระทำอันใดอันหนึ่ง กิจทั้งปวงเหล่านั้น ของพระตถาคตเจ้า สำเร็จแล้วที่ควงแห่งไม้โพธินั่นเทียว, กิจที่จำต้องกระทำยิ่งขึ้นไป หรือความต้องก่อสร้างเพิ่มเติมกิจที่พระองค์ทรงกระทำแล้วไม่มีแด่พระตถาคต' ดังนี้. ก็ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวตลอดสามเดือนนี้ ยังปรากฏอยู่. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่ากิจที่จำต้องกระทำอันใดอันหนึ่ง กิจทั้งปวงนั้นของพระตถาคตสำเร็จแล้วที่ควงแห่งไม้โพธินั่นเทียว, กิจที่จำต้องกระทำยิ่งขึ้นไป หรือความต้องก่อสร้างเพิ่มเติมกิจที่พระองค์ทรงกระทำแล้ว ไม่มีแด่พระตถาคตไซร้; ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า 'พระตถาคตเสด็จหลีกออกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียวตลอดสามเดือน' นั้นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตเสด็จหลีกออกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียวตลอดสามเดือนไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'กิจที่จำต้องกระทำอันใดอันหนึ่ง กิจทั้งปวงเหล่านั้นของพระตถาคตเจ้าสำเร็จแล้วที่ควงแห่งไม้โพธินั่นเทียว, แม้นั้น ก็เป็นผิด. ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ที่กระทำกิจเสร็จแล้ว, ความเป็นผู้หลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ย่อมมีแก่บุคคลยังมีกิจจำต้องกระทำถ่ายเดียว. เหมือนธรรมดาบุคคลที่มีพยาธิความเจ็บไข้นั่นเทียว มีกิจจำต้องกระทำด้วยเภสัชคือต้องรักษาด้วยยา, บุคคลไม่มีพยาธิ จะมีประโยชน์อะไรด้วยยา คือ ไม่ต้องเยียวยาด้วยเภสัช, บุคคลผู้หิวนั่นเทียว มีกิจจำจะต้องกระทำด้วยโภชนะ คือ จะต้องบริโภคอาหาร บุคคลผู้ไม่หิว จะต้องการอะไรด้วยโภชนะ ข้อนี้ฉันใด; ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีแก่ บุคคลที่ได้กระทำกิจเสร็จแล้ว, ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ย่อมมีแก่บุคคลที่ยังมีกิจจำต้องกระทำถ่ายเดียว ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้น พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายคลายออกให้ข้าพเจ้าสิ้นสงสัยเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร บรรดากิจที่จำต้องกระทำอันใดอันหนึ่งกิจทั้งปวงนั้น ของพระตถาคตเจ้าสำเร็จแล้วที่ควงแห่งไม้โพธินั่นเทียว, กิจที่จำจะต้องกระทำยิ่งขึ้นไป หรือความก่อสร้างเพิ่มเติมกิจที่พระองค์ได้ทรงกระทำแล้ว ย่อมไม่มีแด่พระตถาคต อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าหลีกออกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียวแล้วตลอดสามเดือน. ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวแล เป็นกิจมีคุณมาก, พระตถาคตเจ้าทั้งหลายแม้ทั้งปวง เสด็จหลีกออกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียวแล้ว จึงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญู, พระตถาคตเจ้าทั้งหลายนั่นมาระลึกถึงความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้นว่า มีคุณได้กระทำแล้วดี ย่อมเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้น. อุปมาเหมือนบุรุษได้พรแต่สำนักของพระมหากษัตริย์แล้ว รวยทรัพย์และโภคะขึ้นแล้ว มาระลึกถึงพระมหากษัตริย์นั่นว่า เป็นผู้มีคุณได้ทรงกระทำไว้แก่ตนด้วยดีแล้ว หมั่นไปสู่ที่เป็นที่บำรุงของพระมหากษัตริย์เนือง ๆ ฉันใด, พระตถาคตเจ้าทั้งหลายแม้ทั้งปวง เสด็จหลีกออกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียวแล้ว จึงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญู, พระองค์มาทรงระลึกถึงความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้นว่า มีคุณได้กระทำดีแล้ว ย่อมเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกอย่างหนึ่ง บุรุษที่กระสับกระส่าย เสวยทุกขเวทนาเป็นไข้หนักเข้าไปเสพหมอแล้ว จึงถึงความสวัสดี หายโรคหายไข้แล้ว มาระลึกถึงหมอนั้นว่า เป็นผู้มีคุณ ได้กระทำดีแล้วแก่ตน หมั่นเข้าไปเสพหมอนั้นเนือง ๆ ฉันใด, พระตถาคตเจ้าทั้งหลายแม้ทั้งปวง เสด็จหลีกออกเร้นอยู่แต่พระองค์เดียวแล้ว จึงถึงความเป็นพระสัพพัญญู, พระองค์มาระลึกถึงความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้นว่า มีคุณ ได้กระทำดีแล้วแก่พระองค์ จึงทรงเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร คุณแห่งความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวทั้งหลายเหล่านี้ ยี่สิบแปดประการ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายมาทรงเล็งเห็นคุณทั้งหลายเหล่าไร่เล่า จึงทรงเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว, คุณยี่สิบแปดประการ เป็นไฉน? ในโลกนี้ ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ย่อมรักษาบุคคลผู้หลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวไว้หนึ่ง, ย่อมทำอายุของบุคคลผู้หลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้นให้เจริญขึ้นหนึ่ง, ย่อมให้กำลังหนึ่ง, ย่อมปิดโทษเสียหนึ่ง, ย่อมนำความเสื่อมยศออกเสียหนึ่ง, ย่อมนำยศเข้าไปให้หนึ่ง, ย่อมบรรเทาอรติความไม่ยินดีเสียหนึ่ง, เข้าไปตั้งความยินดีไว้หนึ่ง, ย่อมนำความกลัวออกเสียหนึ่ง, ย่อมกระทำความเป็นคนกล้าหาญไม่ครั่นคร้ามหนึ่ง, ย่อมนำความเป็นคนเกียจคร้านออกเสียหนึ่ง, ย่อมยังความเพียรให้เกิดยิ่งขึ้นหนึ่ง, ย่อมนำราคะให้ปราศจากสันดานหนึ่ง, ย่อมนำโทสะให้ปราศจากสันดานหนึ่ง, ย่อมนำโมหะให้ปราศจากสันดานหนึ่ง, ย่อมกำจัดมานะออกเสียจากสันดานหนึ่ง, ย่อมละวิตกเสียหนึ่ง, ย่อมกระทำจิตให้มีอารมณ์เป็นอันเดียวหนึ่ง, ย่อมกระทำใจให้สนิทหนึ่ง, ย่อมยังความร่าเริงให้เกิดหนึ่ง, ย่อมกระทำความเป็นครูหนึ่ง, ย่อมยังลาภให้เกิดขึ้นหนึ่ง, ย่อมกระทำผู้หลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวนั้นให้เป็นผู้ควรกราบไหว้หนึ่ง, ย่อมให้ถึงปีติความอิ่มกายอิ่มใจหนึ่ง, ย่อมกระทำความปราโมทย์หนึ่ง, ย่อมให้เห็นความเป็นเองของสังขารทั้งหลายหนึ่ง, ย่อมเลิกถอนปฏิสนธิในภพเสียหนึ่ง, ย่อมให้ผลเป็นของสมณะทั้งปวงหนึ่ง, คุณของปฏิสัลลานะ ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวทั้งหลายเหล่านี้แล พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงพิจารณาเนือง ๆ ด้วยดี เห็นคุณทั้งหลายเหล่าไรเล่า จึงทรงเสพปฏิสัลลานะความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว. เออก็พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย พระองค์สุดสิ้นความดำริแล้ว พระองค์ใคร่เพื่อจะเสวยความยินดีในสมาบัติเป็นสุขอันละเอียด ย่อมทรงเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียวแล.
ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว โดยเหตุสี่ประการ, พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว โดยเหตุสี่ประการ เป็นไฉน? พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว โดยความที่พระองค์เป็นผู้มีวิหารธรรม เครื่องอยู่เป็นสุขสำราญบ้าง, โดยความที่พระองค์เป็นผู้มีคุณปราศจากโทษมากบ้าง, โดยความที่ปฏิสัลลานะนั้น เป็นวิถีของพระอริยเจ้าไม่มีส่วนเหลือบ้าง, โดยความที่ปฏิสัลลานะนั้น เป็นคุณที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวงชมแล้ว ยกย่องแล้ว พรรณนาแล้ว และสรรเสริญแล้วบ้าง, พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเสพปฏิสัลลานะ ความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว โดยเหตุสี่ประการเหล่านี้แล. พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเสพปฏิสัลลานะ ด้วยเหตุดังพรรณนามา ฉะนี้, จะทรงเสพโดยความที่พระองค์ยังเป็นผู้มีกิจจำต้องกระทำ หามิได้, หรือจะทรงเสพเพื่อความก่อสร้างเพิ่มเติมกิจที่พระองค์ได้ทรงกระทำแล้ว ก็หาไม่, พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเสพความหลีกออกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว โดยความที่พระองค์เป็นผู้ทรงพิจารณาเห็นคุณพิเศษโดยส่วนเดียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๑๐. อิทธิปาทพลทัสสนปัญหา ๑๐

ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาทสี่ประการ อันพระตถาคตได้ให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นประหนึ่งยานเครื่องไปแล้ว กระทำให้เป็นวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งขึ้นเนือง ๆ แล้วสั่งสมแล้วปรารภพร้อมด้วยดีแล้วแล; ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตเมื่อหวัง พึงดำรงพระชนม์อยู่ได้ตลอดกัปป์หนึ่งบ้าง เลยกัปป์หนึ่งบ้าง' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาททั้งหลายสี่ อันพระตถาคตได้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นประหนึ่งยานเครื่องไปแล้ว กระทำให้เป็นวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งขึ้นเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภพร้อมด้วยดีแล้วแล; ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตเมื่อหวัง พึงดำรงพระชนม์อยู่ได้ตลอดกัปป์หนึ่งบ้าง เลยกัปป์หนึ่งขึ้นไปบ้าง' ดังนี้ ถ้าอย่างนั้นความกำหนดไตรมาสสามเดือนเป็นผิด ถ้าพระตถาคตได้ตรัสแล้วว่า 'พระตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลที่เดือนทั้งหลายสามแต่วันนี้ล่วงไปแล้ว' ดังนี้. ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาทสี่ประการอันพระตถาคตได้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นประหนึ่งยานเครื่องไปแล้ว กระทำให้เป็นวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งขึ้นเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภพร้อมด้วยดีแล้วแล; ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตเมื่อหวังพึงดำรงพระชนม์อยู่ได้ตลอดกัปป์หนึ่งบ้าง เลยกัปป์หนึ่งขึ้นไปบ้าง' ดังนี้ แม้นั้นก็เป็นผิดไป. ความบันลือในที่มิใช่เหตุ ย่อมไม่มีแก่พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย, พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย มีพระพุทธพจน์ไม่เปล่า มีพระพุทธพจน์เที่ยงแท้ มีพระพุทธพจน์ไม่เป็นไปโดยส่วนสอง. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน เป็นของลึกละเอียดนัก พึงยังบุคคลให้เห็นโดยยากเกิดขึ้นแล้ว, ปัญหานั้นมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงทำลายร่างข่าย คือ ทิฏฐินั้น, ยังข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในส่วนอันเดียว, จงทำลายปรัปปวาทเสีย."
ถ. "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคแม้ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาทสี่ประการ อันพระตถาคตได้ให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นประหนึ่งยานเครื่องไปแล้วกระทำให้เป็นวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งขึ้นเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภพร้อมด้วยดีแล้วแล; ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตเมื่อหวัง พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปป์หนึ่งบ้าง เลยกัปป์หนึ่งขึ้นไปบ้าง' ดังนี้. และความกำหนดไตรมาสพระองค์ก็ตรัสแล้ว. ก็แหละกัปป์นั้น คือ อายุกัปป์ กาลเป็นที่กำหนดอายุ พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสว่ากัปป์. พระผู้มีพระภาคจะทรงสรรเสริญกำลังของพระองค์ตรัสอย่างนี้ หามิได้, ก็แต่ว่า พระองค์ทรงสรรเสริญกำลับแห่งฤทธิ์ ตรัสอย่างนี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาทสี่ประการ อันพระตถาคตได้ให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นประหนึ่งยานเครื่องไปแล้ว กระทำให้เป็นวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งขึ้นเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภพร้อมด้วยดีแล้วแล; ดูก่อนอานนท์พระตถาคตเมื่อหวัง พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปป์หนึ่งบ้าง เลยกัปป์หนึ่งขึ้นไปบ้าง' ดังนี้.
ถ้าจะพึงมีม้าอาชาไนยของพระมหากษัตริย์ มีฝีเท้าเร็ว เชาว์ไวดังลม. พระมหากษัตริย์จะทรงอวดกำลังเชาว์ของม้าอาชาไนยนั้น พึงตรัสในท่านกลางแห่งชน กับทั้งชาวนิคมและชาวชนบท และราชภัฏหมู่พล และพราหมณคฤหบดี และอมาตย์ อย่างนี้ว่า 'แน่ะพ่อเฮ้ย ม้าประเสริฐนี้ของเรา เมื่อจำนง จะพึงเที่ยวไปตลอดแผ่นดินมีน้ำในสาครเป็นที่สุดแล้ว จึงกลับมาในที่นี้โดยขณะหนึ่งได้,' พระมหากษัตริย์นั้นจะพึงแสดงความไปว่องไวนั้นในบริษัทนั้น ก็หาไม่, ก็แต่ว่า ความว่องไวของม้านั้นมีอยู่, ด้วยม้าอาชาไนยนั้นอาจเพื่อจะเที่ยวไปตลอดแผ่นดินมีน้ำในสาครเป็นที่สุดด้วย ฉันใด; พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงสรรเสริญกำลังแห่งฤทธิ์ของพระองค์ จึงตรัสแล้วอย่างนี้ ฉันนั้น, แม้พระพุทธพจน์นั้น พระองค์เสด็จนั่ง ณ ท่ามกลางแห่งบุคคลมีวิชชาสามทั้งหลายด้วย แห่งบุคคลมีอภิญญาหกทั้งหลายด้วย แห่งพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย แห่งพระขีณาสพผู้ปราศจากมลทินทั้งหลายแล้วด้วย แห่งเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายด้วย ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาทสี่ประการ อันพระตถาคตได้ให้เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นประหนึ่งยานเครื่องไปแล้ว กระทำให้เป็นวัตถุที่ตั้งแล้ว ตั้งขึ้นเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภพร้อมด้วยดีแล้วแล; ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตเมื่อหวัง พึงตั้งอยู่ได้ตลอดกัปป์หนึ่งบ้าง เลยกัปป์หนึ่งขึ้นไปบ้าง' ดังนี้; ก็แหละ กำลังแห่งฤทธิ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่ด้วย, พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เป็นผู้อาจเพื่อจะดำรงพระชนมายุได้ตลอดกัปป์หนึ่งบ้าง หรือตลอดกาลเลยกัปป์หนึ่งขึ้นไปบ้าง, ด้วยพระองค์จะทรงแสดงกำลังแห่งฤทธิ์นั้นในบริษัทนั้น ก็หาไม่. พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีความต้องการด้วยภพทั้งปวง, อนึ่ง พระตถาคตเจ้าทรงติเตียนภพทั้งปวงแล้ว. แม้พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรมดาคูถแม้มีประมาณน้อย ก็มีกลิ่นชั่วเหม็นร้าย แม้ฉันใด, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่พรรณนาสรรเสริญภพแม้มีประมาณน้อย, โดยส่วนสุดแม้เพียงหยิบมือเดียว เราตถาคตก็ไม่สรรเสริญ ฉันนั้นโดยแท้.' พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นภพและคติและกำเนิดทั้งปวง เสมอด้วยคูถแล้ว จะพึงอาศัยกำลังแห่งฤทธิ์กระทำความยินดีด้วยอำนาจความพอใจในภพทั้งหลายบ้างเทียวหรือ ขอถวายพระพร."
ร. "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นภพและคติและกำเนิดทั้งปวง เสมอด้วยคูถแล้ว ซึ่งจะทรงอาศัยกำลังแห่งฤทธิ์กระทำฉันทราคในภพหาไม่เลย."
ถ. "ขอถวายพระ ถ้าอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญกำลังแห่งฤทธิ์ ทรงบันลือสีหนาทของพระพุทธเจ้าเห็นปานนั้นยิ่งแล้ว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ดีละ ข้อวิสัชนาปัญหานี้ สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."



วรรคที่สอง
๑. ขุททานุขุททกปัญหา ๑๑

พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคแม้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ยิ่ง มิได้แสดงธรรมเพื่อความไม่ตรัสรู้ยิ่ง ดังนี้. ส่วนว่าในวินัยบัญญัติ พระองค์ตรัสแล้วอย่างนี้อีกว่า 'ดูก่อนอานนท์ พระสงฆ์เมื่อจำนง จงเลิกถอนสิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับ โดยกาลที่เราตถาคตล่วงไปแล้ว' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับ โดยกาลที่พระองค์ล่วงไปแล้ว. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ยิ่ง มิได้แสดงธรรมเพื่อความไม่ตรัสรู้ยิ่ง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์โดยกาลที่เราผู้ตถาคตล่วงไปแล้ว พระสงฆ์เมื่อจำนงจะเลิกถอนสิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับเสีย ก็เลิกถอนเถิด' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วในวินัยบัญญัติอย่างนี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ โดยกาลที่เราผู้ตถาคตล่วงไปแล้ว พระสงฆ์เมื่อจำนง จะเลิกถอนสิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับเสีย ก็จงเลิกถอนเถิด' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ยิ่ง มิได้แสดงธรรมเพื่อความไม่ตรัสรู้ยิ่งแล้ว' ดังนี้ แม้นั้นเป็นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน ละเอียดสุขุม ละเอียดด้วยดีแล้ว ลึก ๆ ด้วยดีแล้ว อันบัณฑิตพึงให้เห็นโดยยาก มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าจงแสดงความแผ่ไพศาลแห่งกำลังญาณของพระผู้เป็นเจ้า ในปัญหานั้นเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคแม้ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ยิ่ง มิได้แสดงธรรมเพื่อความไม่ตรัสรู้ยิ่ง' ดังนี้. แม้ในวินัยบัญญัติ พระองค์ตรัสแล้วอย่างนี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ โดยกาลที่เราผู้ตถาคตล่วงไปแล้ว พระสงฆ์เมื่อจำนง จะเลิกถอนสิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับเสีย ก็จงเลิกถอนเถิด' ดังนี้. ก็แต่พระตถาคตเจ้าทรงลองใจภิกษุทั้งหลายว่า 'สาวกทั้งหลายของเราผู้ตถาคต เราผู้ตถาคตให้สละละวางสิกขาบท โดยกาลที่เราผู้ตถาคตล่วงไปแล้ว จักละวางสิกขาบททั้งหลาย น้อยและน้อยโดยลำดับหรือว่าจักถือเอาสิกขาบททั้งหลาย น้อยและน้อยโดยลำดับ' จึงตรัสพุทธพจน์นั้น. อุปมาเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระราชโองการตรัสกะพระราชโอรสทั้งหลายอย่างนี้ว่า 'พ่อทั้งหลาย มหาชนบทนี้แลมีสาครเป็นที่สุดรอบในทิศทั้งปวง' พ่อทั้งหลาย เจ้าทั้งหลายยากที่จะกระทำเพื่อจะทรงไว้ด้วยกำลังมีประมาณเท่านั้น, เจ้าทั้งหลายมาเถิด โดยกาลที่เราล่วงไปแล้ว เจ้าทั้งหลายละตำบลทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งแดน ๆ เสียเถิด, ดังนี้; พระราชกุมารทั้งหลายเหล่านั้น โดยกาลที่พระชนกล่วงไปแล้ว จะพึงละวางตำบลทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งแดน ๆ เหล่านั้นทั้งปวง ในชนบทที่ถึงพระหัตถ์แล้วบ้างหรือแล ขอถวายพระพร."
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาพระมหากษัตริย์ทั้งหลายมีความปรารถนายิ่งนัก, พระราชกุมารทั้งหลายพึงรวบรวมชนบทสองเท่าสามเท่ายิ่งขึ้นไปกว่าชนบทที่ถึงพระหัตถ์แล้วนั้น ด้วยความโลภในราชสมบัติ, พระราชกุมารทั้งหลายเหล่านั้นจะพึงละวางชนบทที่ถึงพระหัตถ์แล้วอะไรเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าเมื่อลองใจภิกษุทั้งหลาย ตรัสแล้วอย่างนี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ โดยกาลที่เราผู้ตถาคตล่วงไปแล้ว พระสงฆ์เมื่อจำนงจะเลิกถอนสิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับเสีย ก็เลิกถอนเถิด' ดังนี้. พระพุทธโอรสทั้งหลาย พึงคุ้มครองรักษาสิกขาบทสองร้อยห้าสิบที่ยิ่งแม้อื่นด้วยความโลภในธรรม เพื่อความพ้นจากทุกข์, พระพุทธโอรสทั้งหลาย พึงละวางสิกขาบทที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้แล้วโดยปกติอะไรเล่า ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระพุทธพจน์ใดว่า 'สิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับ' ดังนี้, ชนนี้หลงแล้ว เกิดความสงสัยแล่นไปสู่ความสงสัยโดยยิ่ง ในพระพุทธพจน์นี้ว่า 'สิกขาบทเหล่านั้น สิกขาบทเหล่าไหน ชื่อว่าสิกขาบทน้อย สิขาบทเหล่าไหน ชื่อว่าสิกขาบทน้อยโดยลำดับ."
ถ. "ขอถวายพระพร สิกขาบททุกกฏ ชื่อว่าสิกขาบทน้อย สิกขาบททุพภาสิต ชื่อว่าสิกขาบทน้อยตามลำดับ, สองสิกขาบทเหล่านี้ ชื่อว่าสิกขาบททั้งหลายน้อยและน้อยโดยลำดับ. แม้พระเถระผู้ใหญ่ทั้งหลายมีแล้วในก่อน ให้เกิดความสงสัยในปัญหาข้อนี้, ปัญหานั้นอันพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงกระทำในที่อันเดียวกัน แม้โดยพระเถระทั้งหลายเหล่านั้น ปัญหานี้พระผู้มีพระภาคแสดงแล้ว เพราะปริยายเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระธรรม."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ข้อลี้ลับของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระผู้เป็นเจ้าเก็บไว้นานแล้ว พระผู้เป็นเจ้ามาเปิดแล้ว กระทำให้ปรากฏแล้วในโลก ในกาลนี้ ในวันนี้."

๒. ฐปนียาพยากรณปัญหา ๑๒

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคแม้ได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ กำมือของอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ไม่มีแด่พระตถาคต'ดังนี้. ก็แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระเถระผู้บุตรแห่งนางพราหมณีชื่อ มาลุงกยะ มาทูลถามปัญหาอีกไม่ทรงพยากรณ์แล้ว. ปัญหานี้มีส่วนสอง จักเป็นปัญหาอาศัยส่วนหนึ่งแล้ว โดยความไม่รู้บ้าง โดยความกระทำความซ่อนบ้าง. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ กำมือของอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ไม่มีแด่พระตถาคต' ดังนี้. ถ้าอย่างนั้น พระองค์เมื่อไม่รู้ จึงไม่พยากรณ์แก่พระเถระผู้บุตรแห่งนางพราหมณีชื่อ มาลุงกยะ. ถ้าว่าพระองค์รู้อยู่ ไม่พยากรณ์, ถ้าอย่างนั้น กำมือของอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ย่อมมีแด่พระตถาคต. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ่มแจ้งเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ กำมือของอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีแด่พระตถาคต' ดังนี้. ส่วนพระเถระมาลุงกยบุตรมาทูลถามปริศนาแล้ว พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์แล้ว, ก็แหละความไม่ทรงพยากรณ์นั้น พระองค์จะได้ทรงกระทำด้วยความไม่รู้ ก็หาไม่ จะได้ทรงกระทำโดยความกระทำความซ่อน ก็หาไม่. ความพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ มีสี่ประการ, ความพยากรณ์ปัญหาสี่ประการเป็นไฉน ? ปัญหาที่จำต้องพยากรณ์โดยส่วนเดียวหนึ่ง, ปัญหาที่ต้องแจกพยากรณ์หนึ่ง, ปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงพยากรณ์หนึ่ง, ปัญหาที่จำต้องยกไว้หนึ่ง, ปัญหาที่ต้องย้อนถามแล้วจึงพยากรณ์หนึ่ง, ปัญหาที่จำต้องยกไว้หนึ่ง, ก็ปัญหาที่จำต้องพยากรณ์โดยส่วนเดียวเป็นไฉน? ปัญหาที่จำต้องพยากรณ์โดยส่วนเดียวว่า "รูปํ อนิจจํ" รูปไม่เที่ยง "เวทนา อนิจจา" เวทนาไม่เที่ยง "สญญา อนิจจา" ความจำหมายไม่เที่ยง "สังขารา อนิจจา" สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง "วิญญาณํ อนิจจํ" วิญญาณไม่เที่ยง; นี้ปัญหาที่จำต้องพยากรณ์โดยส่วนเดียว.
ปัญหาที่ต้องแจกพยากรณ์เป็นไฉน? ปัญหาว่า "รูปเป็นของไม่เที่ยงหรือเล่า," "เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, เป็นของไม่เที่ยงหรือเล่า ดังนี้" ละอย่าง ๆ เป็นปัญหาต้องแจกพยากรณ์ละอย่าง ๆ; นี้ เป็นปัญหาต้องแจกพยากรณ์.
ปัญหาต้องย้อนถามแล้วจึงพยากรณ์เป็นไฉน? ปัญหาว่า "บุคคลย่อมรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุหรือหนอแล" ดังนี้, เป็นปัญหาต้องย้อนถามแล้วจึงพยากรณ์.
ปัญหาที่ควรงดไว้เป็นไฉน? ปัญหาว่า "โลกเที่ยงหรือ" ดังนี้ เป็นปัญหาควรงดไว้, ปัญหาว่า "โลกไม่เที่ยงหรือ," "โลกมีที่สุด," "โลกไม่มีที่สุด," "โลกมีที่สุดด้วยไม่มีที่สุดด้วย," "โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่," "ชีวิตก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น," "ชีวิตต่างหาก สรีระต่างหาก,' "สัตว์มีในเบื้องหน้าแต่ความตาย," "สัตว์ไม่มีในเบื้องหน้าแต่ความตาย," "สัตว์มีด้วย ไม่มีด้วย ในเบื้องหน้าแต่ความตาย," "สัตว์มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ในเบื้องหน้าแต่ความตาย," เป็นปัญหาควรงดคือไม่ควรแก้ละอย่าง ๆ;นี้เป็นปัญหาควรงดไว้. พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาควรงดนั้น แก่พระเถระมาลุงกยุบตร. และปัญหานั้นควรงดเพราะเหตุอะไร? เหตุหรือการณ์เพื่อจะแสดงปัญหานั้นไม่มี, เพราะเหตุนั้น ปัญหานี้จึงควรงดไว้, ควรเปล่งวาจาไม่มีการณ์ไม่มีเหตุย่อมไม่มีแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย ขอถวายพระพร."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานี้ สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๓. มัจจุภายนปัญหา ๑๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระพุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิตแล้วว่า 'สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมกลัวต่อความตาย' ดังนี้. และพระองค์ตรัสแล้วว่า 'พระอรหันต์ก้าวล่วงภัยทั้งปวงแล้ว' ดังนี้อีก. พระอรหันต์ย่อมสะดุ้งแต่อาชญาและภัยหรือ สัตว์ทั้งหลายในนรกที่เสวยทุกข์อยู่ในนรกมีไฟโพลงแล้ว ร้อนพร้อมแล้ว เมื่อจะเคลื่อนจากนรกใหญ่มีเปลวแห่งไฟโพลงแล้วนั้น ย่อมกลัวแต่มัจจุด้วยหรือ? ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมกลัวต่อความตาย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งหลายทั้วปวงย่อมกลัวต่อความตาย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้มีเงื่อนสอง มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าจงขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงมุ่งหมายพระอรหันต์ทั้งหลายตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า 'สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย'ดังนี้, พระอรหันต์อันพระผู้มีพระภาคเจ้ายกแล้วในวัตถุนั้น, เหตุแห่งภัยอันพระอรหันต์เลิกถอนพร้อมแล้ว, สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นไปกับด้วยกิเลส อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายใด มีทิฏฐิไปตามซึ่งตน คือ เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนมีประมาณยิ่ง อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ฟูขึ้นและยอมลงแล้วเพราะสุขและทุกข์ทั้งหลาย, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมุ่งหมายสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ตรัสแล้วว่า 'สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย' ดังนี้. คติทั้งปวงอันพระอรหันต์เข้าไปตัดเสียแล้ว, กำเนิดอันพระอรหันต์ยื้อแย่งเสียแล้วปฏิสนธิอันพระอรหันต์กำจัดเสียแล้ว, กิเลสดังซี่โครงทั้งหลาย อันพระอรหันต์หักรานเสียแล้ว, อาลัยในภพทั้งหลายทั้งปวง อันพระอรหันต์ถอนขึ้นพร้อมแล้ว, กุศลและอกุศล อันพระอรหันต์กำจัดเสียแล้ว, อวิชชาอันพระอรหันต์กำจัดให้พินาศแล้ว, วิญญาณ อันพระอรหันต์กระทำไม่ให้เป็นพืชได้แล้ว, กิเลสทั้งหลายทั้งปวง อันพระอรหันต์เผาเสียแล้ว, โลกธรรมทั้งหลาย อันพระอรหันต์เป็นไปล่วงได้แล้ว, เพราะเหตุนั้น พระอรหันต์ย่อมไม่สะดุ้งแต่ภัยทั้งหลายทั้วปวง.
ขอถวายพระพร ในนครนี้ พึงมีมหาอมาตย์ทั้งสี่ของพระมหากษัตริย์ ล้วนเป็นผู้อันพระราชาโปรด ได้ยศแล้ว มีความคุ้นเคยในพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งมีความเป็นอิสระใหญ่. ลำดับนั้น ครั้นเมื่อราชกิจอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชบัญชา ชนทั้งปวงในแว่นแคว้นของพระองค์โดยประมาณเท่าไรว่า "ชนทั้งหลายทั้งปวงเทียว จงกระทำพลีแก่เรา, ท่านทั้งหลายผู้มหาอมาตย์สี่จงยังกิจนั้นให้สำเร็จ;" ความสะดุ้งเพราะกลัวแต่พลี จะพึงเกิดขึ้นแก่มหาอมาตย์ทั้งสี่เหล่านั้นบ้างหรือเป็นไฉน ขอถวายพระ."
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ความสะดุ้งกลัวแต่พลี ไม่พึงเกิดขึ้นแก่มหาอมาตย์ทั้งสี่เหล่านั้น เพราะเหตุอะไร?"
ร. "มหาอมาตย์สี่เหล่านั้น อันพระมหากษัตริย์ทรงตั้งไว้แล้วในตำแหน่งอันสูงสุด, พลีย่อมไม่มีแก่มหาอมาตย์ทั้งสี่เหล่านั้น."
ถ. "มหาอมาตย์ทั้งสี่เหล่านั้น มีพลีอันก้าวล่วงด้วยประการทั้งปวงแล้ว, พระมหากษัตริย์ทรงมุ่งหมายชนทั้งหลายอันเศษนอกจากมหาอมาตย์เหล่านั้น ทรงพระราชบัญชาแล้วว่า 'ชนทั้งหลายทั้งปวงเทียว จงกระทำพลีแก่เรา' ดังนี้ ฉันใด; พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงมุ่งหมายพระอรหันต์ทั้งหลายตรัสแล้ว, พระอรหันต์พระองค์ยกเสียแล้วในวัตถุนั้น, เหตุแห่งความ กลัวของพระอรหันต์ ท่านเลิกถอนพร้อมแล้ว; สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้นที่ยังมีกิเลส อนึ่ง ทิฏฐิไปตามตนของสัตว์ทั้งหลายเหล่าใด มีประมาณยิ่ง คือ หนาหนักในสันดาน อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายเท่าใด ฟูขึ้นและยอบลงแล้ว เพราะสุขและทุกข์ทั้งหลายพระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหมายสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ตรัสแล้วว่า 'สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมกลัวต่อความตาย' ดังนี้ ฉันนั้นโดยแท้. เพราะเหตุนั้น พระอรหันต์ย่อมไม่สะดุ้งแต่ภัยทั้งหลายทั้งปวง ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า คำว่า "สัพเพ" ทั้งปวงนี้ แสดงสัตว์มีส่วนเหลือหามิได้, คำว่า "สัพเพ" ทั้งปวงนี้ กล่าวสัตว์ไม่มีส่วนเหลือ, พระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเหตุยิ่งในข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า เพื่อให้คำนั้นมีหลักฐาน"
ถ. "ขอถวายพระพร ในที่นี้ พึงมีเจ้าของบ้านนายบ้านบังคับ บุรุษผู้รับใช้ว่า 'ผู้รับใช้ผู้เจริญ ท่านจงมา บรรดาชาวบ้านทั้งหลายในบ้าน มีประมาณเท่าใด ท่านจงยังชาวบ้านทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้ประชุมกันในสำนักของเราโดยเร็ว' ดังนี้; ผู้รับใช้นั้นรับว่า 'ดีละเจ้าข้า' แล้วยืนอยู่ ณ ท่ามกลางแห่งบ้าน ยังชนทั้งหลายให้ได้ยินเสียงเนือง ๆ สามครั้งว่า 'บรรดาชาวบ้านทั้งหลายในบ้านมีประมาณเท่าใด ชาวบ้านทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น จงประชุมกันในสำนักของเจ้าบ้านโดยเร็ว ๆ;' ลำดับนั้น ลูกบ้านทั้งหลายเหล่านั้น รีบประชุมกันตามคำของบุรุษผู้บังคับแล้ว จึงบอกแก่เจ้าของบ้านว่า 'ข้าแต่เจ้า ลูกบ้านทั้งหลายทั้งปวงประชุมกันแล้ว, กิจที่จำต้องกระทำอันใด ของท่านมีอยู่ ท่านจงกระทำกิจนั้น' ดังนี้. เจ้าของบ้านนั้น เมื่อให้พ่อเรือนทั้งหลายให้ประชุมกันบังคับลูกบ้านทั้งหลายทั้งปวง, ส่วนลูกบ้านทั้งหลายเหล่านั้น อันเจ้าบ้านบังคับแล้วจะประชุมกันทั้งหมดหามิได้ ประชุมแต่พ่อเรือนทั้งหลายพวกเดียว, ส่วนเจ้าของบ้านก็ย่อมรับว่า 'ลูกบ้านทั้งหลายของเราเท่านี้นั่นเทียว' คนทั้งหลายเหล่าอื่นที่ไม่มาแล้วมากกว่า, สตรีและบุรุษทั้งหลาย ทาสีและทาสทั้งหลาย ลูกจ้างทั้งหลาย กรรมกรทั้งหลาย ชาวบ้านทั้งหลาย ชนใช้ทั้งหลาย โคและกระบือทั้งหลาย แพะและแกะทั้งหลายที่เป็นสัตว์ดี ชนทั้งหลายเหล่าใด ที่ไม่มาแล้ว ชนทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง เจ้าของบ้านมิได้รับแล้ว, เพราะความที่ลูกบ้านอันเจ้าของบ้านมุ่งหมายพ่อเรือนทั้งหลายพวกเดียว บังคับแล้วว่า 'ชนทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง เจ้าของบ้านมิได้รับแล้ว, เพราะความที่ลูกบ้านอันเจ้าของบ้านมุ่งหมายพ่อเรือนทั้งหลายพวกเดียว บังคับแล้วว่า 'ชนทั้งหลายทั้งปวงจงประชุมกัน' ดังนี้ ฉันใด. คำนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้มุ่งหมายพระอรหันต์ทั้งหลายตรัสแล้ว, พระอรหันต์ พระองค์ทรงยกแล้วในวัตถุนั้น, เหตุแห่งความกลัวของพระอรหันต์ท่านเลิกถอนแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้นที่ยังมีกิเลส อนึ่ง ทิฏฐิไปตามตนของสัตว์ทั้งหลายเหล่าใด มีประมาณยิ่ง อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ฟูขึ้นและยอบลงแล้ว เพราะสุขและทุกข์ทั้งหลาย, พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหมายสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ตรัสแล้วว่า 'สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย' ดังนี้ ฉันนั้นโดยแท้. เพราะเหตุนั้น พระอรหันต์ย่อมไม่สะดุ้งแต่ภัยทั้งหลายทั้งปวง.
ขอถวายพระพร คำแสดงสัตว์มีส่วนเหลือ อรรถแสดงสัตว์มีส่วนเหลือก็มี, คำแสดงสัตว์มีส่วนเหลือ อรรถแสดงสัตว์ไม่มีส่วนเหลือก็มี, คำแสดงสัตว์ไม่มีส่วนเหลือ อรรถแสดงสัตว์มีส่วนเหลือก็มี, คำแสดงสัตว์ไม่มีส่วนเหลือ อรรถก็แสดงสัตว์ไม่มีส่วนเหลือก็มี: เนื้อความบัณฑิตพึงรับรองด้วยเหตุนั้น ๆ. เนื้อความอันบัณฑิตพึงรับรองโดยเหตุห้าอย่าง คือ โดยอาหัจจบทหนึ่ง โดยรสหนึ่ง โดยอาจริยวังสตาหนึ่ง โดยอธิบายหนึ่ง โดยการณุตตริยตาหนึ่ง ก็ในเหตุห้าอย่างนี้ สูตรท่านอธิบายว่า อาหัจจบท, สุตตานุโลม ท่านอธิบายว่ารส, อาจริยวาท ท่านอธิบายว่า อาจริยวังสะ, อัตตโนมัติ ท่านอธิบายว่า อธิบาย, เหตุถึงพร้อมด้วยเหตุทั้งหลายสี่เหล่านี้ ท่านอธิบายว่า การณุตตริยตา. เนื้อความ บัณฑิตพึงรับรองโดยเหตุทั้งหลายห้าประการเหล่านี้แล : ปัญหานี้ จึงเป็นปัญหาอันอาตมภาพวินิจฉัยดีแล้วด้วยประการอย่างนี้ ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหานี้เป็นปัญหาอันพระผู้เป็นเจ้าวินิจฉัยดีแล้วเถิด, ข้าพเจ้ารับรองปัญหานั้นอย่างนั้น, พระอรหันต์จงเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคเจ้ายกแล้วในวัตถุนั้น, สัตว์ทั้งหลายเหลือนั้นสะดุ้งเถิด. ก็แต่ว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรก เสวยทุกขเวทนากล้าเผ็ดร้อนอยู่ในนรก มีองค์อวัยวะใหญ่น้อยทั้งปวงโพลงชัชวาทแล้ว เป็นผู้ร้องไห้น่าสงสาร คร่ำครวญร่ำไรบ่นเพ้อด้วยปาก อันทุกข์กล้าเหลือทนครอบงำแล้ว ไม่มีผู้เป็นที่พึ่ง ไม่มีผู้เป็นที่ระลึก เป็นสัตว์หาผู้เป็นที่พึ่งมิได้ อาดูรด้วยความโศกไม่น้อย เวียนว่ายอยู่ เป็นสัตว์มีความโศกเป็นที่ถึงในเบื้องหน้าโดยส่วนเดียว, เมื่อจุติจากนรกใหญ่ มีเสียงใหญ่นฤนาท ยังภัยน่ากลัวให้เกิด อากูลด้วยระเบียบแห่งเปลวหกอย่างเดี่ยวประสานกันแล้ว มีเรี่ยวแรงแห่งเปลวแผ่ไปได้เนือง ๆ ตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ กระด้าง เป็นที่ยังสัตว์ให้ร้อน จะกลัวต่อความตายด้วยหรือเล่า? พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์เหล่านั้นย่อมกลัวต่อความตาย."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นรกยังทุกขเวทนาให้เกิดโดยส่วนเดียวไม่ใช่หรือ, สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรกเหล่านั้น เสวยแต่ทุกขเวทนาโดยส่วนเดียว เมื่อจะเคลื่อนจากนรกย่อมกลัวแต่ความตายเพื่อเหตุอะไรเล่า, ย่อมยินดีในนรกเพื่อเหตุอะไรเล่า พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในนรกเหล่านั้น ซึ่งจะยินดีอยู่ในนรกหามิได้, สัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในนรกเหล่านั้น อยากจะพ้นจากนรกโดยแท้; ความสะดุ้งเกิดขึ้นแก่สัตว์เกิดในนรกทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยอานุภาพใด อานุภาพนี้ เป็นอานุภาพของความตาย ขอถวายพระพร."
ร. "ความสะดุ้งเพราะจุติเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ที่อยากจะพ้นอันใด ข้าพเจ้าจักไม่เชื่อความเกิดความสะดุ้งนี้;สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นได้สิ่งที่ตนปรารถนาแล้ว ด้วยเหตุที่เป็นที่ตั้งใด เหตุที่เป็นที่ตั้งนั้น ควรร่าเริงพระผู้เป็นเจ้า. ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยดีโดยเหตุเถิด พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร เหตุเป็นที่ตั้งนี้ว่า 'ความตาย' ดังนี้แล เป็นเหตุที่ตั้งแห่งความสะดุ้งของสัตว์ทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้เห็นอริยสัจจ์, ชนนี้ย่อมสะดุ้งด้วย ย่อมหวาดเสียวด้วย เพราะความตายนี้. ก็บุคคลใดกลัวต่องูเห่า ผู้นั้น เมื่อกลัวต่อความตายจึงกลัวต่องูเห่า, ก็ผู้ใด กลัวต่อช้าง, ราชสีห์ เสือโคร่ง, เสือเหลือง, หมี, เสือดาว, ควาย, วัวลาน, ไฟ, น้ำ, หลักตอ, หนาม, ละอย่าง ๆ ผู้นั้น เมื่อกลัวต่อความตาย จึงกลัวต่อช้าง, ราชสีห์ เสือโคร่ง, เสือเหลือง หมี, เสือดาว, ควาย, วัวลาน, ไฟ, น้ำ, หลักตอ, หนาม, ละอย่าง ๆ, ก็ผู้ใด กลัวต่อหอก ผู้นั้น เมื่อกลัวต่อความตาย จึงกลัวต่อหอกนั้น. นั่นเป็นเดชโดยภาวะกับทั้งรสแห่งความตาย, สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลส ย่อมสะดุ้งย่อมกลัวแต่ความตาย ด้วยเดชโดยภาวะกับทั้งรสนั้น, บรมบพิตร สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรก แม้อยากจะพ้นนรก ย่อมสะดุ้งย่อมกลัวแต่ความตาย. ในที่นี้ ถ้ามีหน่อเกิดขึ้นในกายของบุรุษ ๆ นั้นเสวยทุกข์เพราะโรคนั้น อยากจะพ้นจากอุปัทวะจึงเรียกหมอทางผ่าตัดมา, หมอทางผ่าตัดนั้นรับแก่บุรุษนั้นแล้ว พึงยังเครื่องมือให้เข้าไปตั้งอยู่ เพื่อจะบ่งโรคนั้น คือ พึงกระทำศัสตราให้คม พึงเอาเหล็กนาบสุมในไฟ พึงบดเกลือแสบด้วยหินบด; ความสะดุ้งพึงเกิดแก่บุรุษผู้อาดูรนั้น ด้วยอันเชือดด้วยคมศัสตราอันคม และนาบด้วยคู่ซี่เหล็ก และอันยังน้ำเกลือแสบให้เข้าไปบ้างหรือไม่?"
ร. "ความสะดุ้งพึงบังเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้นซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร บรมบพิตร เมื่อบุรุษนั้นกระสับกระส่ายอยู่ แม้ใคร่จะพ้นจากโรค ความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้น เพราะความกลัวต่อเวทนา ด้วยประการดังนี้ ฉันใด, เมื่อสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในนรก แม้ใคร่จะพ้นจากนรก ความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เพราะอันกลัวแต่ความตาย ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ มีบุรุษกระทำความผิดในท่านผู้เป็นอิสระต้องจำด้วยตรวนเครื่องจำ ต้องขังอยู่ในห้อง เป็นผู้ใคร่เพื่อจะพ้นไป, ชนผู้เป็นอิสระนั้นใคร่จะปล่อยบุรุษนั้นนั่น พึงเรียกบุรุษนั้นมา;เมื่อบุรุษผู้กระทำโทษผิดในท่านผู้เป็นอิสระนั้นรู้อยู่ว่า 'ตัวมีโทษได้กระทำแล้ว' ความสะดุ้งพึงเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้น เพราะได้เห็นท่านที่เป็นอิสระบ้างหรือไม่?"
ร. "ความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้นซิ?"
ถ. "ขอถวายพระพร บรมบพิตร เมื่อบุรุษผู้มีโทษผิดในท่านผู้เป็นอิสระ ถึงปรารถนาจะพ้นจากเรือนจำ ความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้น เพราะกลัวแต่ท่านผู้เป็นอิสระ ด้วยประการนี้ ฉันใด, เมื่อสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรก ถึงอยากจะพ้นจากนรก ความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เพราะกลัวแต่ความตาย ฉันนั้นโดยแท้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเหตุที่ยิ่งขึ้นไปแม้อื่นอีก ข้าพเจ้าจะพึงเชื่อด้วยเหตุไรเล่า?"
ถ. "ขอถวายพระพร บรมบพิตร ในที่นี้ พึงมีบุรุษอันอสรพิษมีพิษร้ายกัดแล้ว บุรุษนั้นพึงล้มลงเกลือกกลิ้งด้วยพิษวิการนั้น, ครั้งนั้น มีบุรุษผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเรียกอสรพิษมีพิษร้ายนั้นมา ด้วยบทแห่งมนต์อันขลัง ให้อสรพิษมีพิษร้ายนั้นดูดพิษคืน เมื่ออสรพิษมีพิษร้ายนั้นเข้าไปใกล้ เหตุความสวัสดี ความสะดุ้งพึงเกิดขึ้นแก่บุรุษผู้มีพิษซาบแล้วนั้นบ้างหรือไม่?"
ร. "ความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้นซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร เมื่ออสรพิษเห็นปานนั้น เข้าไปใกล้ แม้เพราะเหตุความสวัสดี ความสะดุ้งยังเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้น ด้วยประการฉะนี้ ฉันใด, ความสะดุ้งย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรก แม้ใคร่จะพ้นจากนรกเพราะกลัวแต่ความตาย ฉันนั้นโดยแท้แล, ความตายเป็นของไม่พึงปรารถนาของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง. เพราะเหตุนั้นสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในนรก ถึงอยากจะพ้นจากนรก ก็ย่อมกลัวต่อความตาย."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO