นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 20 เม.ย. 2024 5:53 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: นินทา สรรเสริญ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 10 พ.ย. 2017 7:13 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4532
"พระพุทธเจ้าท่านให้เราปฏิบัติธรรม
เพื่อให้เราแก้ไขตัวเอง อย่าไปแก้ไขคนอื่น
อย่าไปเอาดี เอาชั่ว เอาผิดกับคนอื่น
ให้กลับมาแก้ไขตัวเอง มาดูตัวเอง
เพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง
ให้มันดีขึ้นทุกๆ วัน"
-:- หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม -:-



"เพราะความตายแน่นอน
แต่เวลาที่จะตายไม่แน่นอน
นี่จึงทำให้ชีวิตมีคุณค่า
ทำให้เวลามีค่า"
-:- พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ -:-




"อะไรที่ทำให้เราต้องกระทบ
ไม่ว่าทางโลก หรือทางธรรม
มันล้วนแต่กฎของกรรมทั้งนั้น
ไปพบชาวโลก เขาด่า
เขานินทา เขาสรรเสริญ
เขาใช้เรา ทำโน่นทำนี่
ก็ต้องถือว่า พบพอดี
เราทำเขาไว้ก่อน
ถ้าไม่ทำ ไม่เจอหรอก"
-:- หลวงปู่บุดดา ถาวโร -:-




“อย่าเชื่อพอเป็นพิธี”
..แต่ว่าคำพูด ต้องการความสุข แต่ไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ผลก็เลยเกิดมาไม่สมบูรณ์ จึงเป็นทุกข์นานัปการ ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นของจริงนะ ท่านว่าไว้แล้วครอบคลุมหมด ว่านรกมี สวรรค์มี เทวะโลกมี พรหมโลกมี อรูปพรหมก็มี บรมสุขคือโลกุตรโลก คือพระนิพพานก็มี ไม่ใช่ท่านว่าเฉย ๆ นะ มันมีจริงนะ แล้วเราจะหาวิธีการแบบไหน ถึงจะเห็นของจริงเหล่านี้ ถ้าไม่เห็น ไม่เชื่อหรอกคนเรา เชื่อก็เชื่อพอเป็นพิธีไปเท่านั้นหละ ใจไม่เห็น ได้ยินแต่ชื่อ จำแต่สัญญาไว้ นรกก็ไม่กลัว เพราะยังไม่เห็น ว่าสวรรค์เป็นของเลอเลิศ เป็นของมีความสุข ก็ไม่อยากไป ไม่รู้จัก ไม่เห็น ไม่รู้จักรสชาติของมันเสียก่อน คล้ายกับสิ่งภายนอก ผลหมากรากไม้ ซึ่งส่งมาจากเมืองนอก เมืองนา มีรสชาติเอร็ดอร่อยดี แต่เราไม่ได้ลิ้มรส ก็ไม่รู้จักว่าดีไม่ดี นี้ฉันใดก็ดี พระพุทธเจ้า พระอริยะเจ้าหลาย ๆ พระองค์ หลายล้านหลายโกฏิพระองค์มาสอน สอนแบบเดียวกันหมด..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง สอนตามหลักธรรมชาติ




...มักจะหลง ไปปนการแผ่เมตตา
กับการอุทิศบุญอีก..นั่งสมาธิเสร็จ
"อยาก จะอุทิศบุญ"อีก
.
เอาบุญที่ไหนมาอุทิศล่ะ
"นั่งสมาธิจิตยังไม่สงบ"
มันจะได้บุญยังไง
.
อยากจะอุทิศบุญก็นี่ "ทำทาน"นี่
ทำทานปั๊บมันได้บุญแล้ว สำเร็จแล้ว
.
ทำแล้วเกิดความอิ่มใจสุขใจขึ้นมา
นี่แหละสิ่งที่เราอุทิศ
ก็คือ "ความอิ่มใจสุขใจนี้เอง"
.
แต่นั่งสมาธิจิตยังไม่อิ่มยังไม่สุข
แล้วจะเอาอะไรไปแผ่
นั่งแล้ว..ยังมีความรู้สึกอึดอัดอย่างนี้
จะแผ่ความอึดอัดไปให้เขาเหรอ
.
นั่งสมาธิ "มันต้องมีความสุขก่อน"
ถึงจะแผ่ความสุขนั้นได้.
....................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 8/11/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี




"จะวางได้ต่อเมื่อเห็นว่าสิ่งที่ยึดเป็นทุกข์"
ถาม : เวลาปฏิบัติเพื่อการปล่อยวางนี่ เราไม่สามารถสั่งจิตให้เขาปล่อยวาง ได้แต่สอนเขาจนวันหนึ่งเขาวางเขาเอง
พระอาจารย์ : เขาจะวางก็ต่อเมื่อ เขาเห็นชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่เขายึดติดอยู่นั้น ให้ความทุกข์กับเขา แล้วเขาไม่อยากจะทุกข์กับสิ่งนั้น เขาก็จะปล่อยวาง ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ เขาก็ยังจะยึดติดอยู่ ต้องเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าตอนนี้ใจของเราทุกข์เหลือเกิน เพราะยึดติดอยู่กับสิ่งนี้ อยากให้สิ่งนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





...กิเลสบังไว้...
..เราปลูกฟักทอง ปลูกแตง ใครได้ไปดึงยอดมันออก ใครได้ไปแต่งดอกแต่งใบ มันไปของมันเอง เพียงแต่มีเหตุ ได้สัดได้ส่วน ก็งามขึ้นไปเองเลย ลักษณะของจิต ของสติ ก็เหมือนกัน ไม่ใช่อยากได้เร็ว ๆ รีบร้อนเอาเลย อยากให้เป็นเร็ว ๆ คิดคาดคะเนไว้ก่อน ว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เอ้อ ! อย่างนี้ทุกข์ใหญ่นะ เราจะไปแต่งเขาไม่ได้หรอก มีแต่สร้างเหตุขึ้น ให้มันไปของมันเอง บางคนนั่งเข้าบ้าง อยากเป็นอันนั้น อยากเป็นอันนี้ อยากเห็นอันนั้น อยากเห็นอันนี้ โอ๊ย ! แล้วเท่านั้นหละ ตัวนี้หละ เป็นตัวกิเลสไปบังไว้ ขวางอยู่อย่างนั้นหละ..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..




...บำรุงแต่เหตุอย่างเดียว...
..หลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่มั่น ท่านเปรียบเทียบไว้ คล้าย ๆ กับผลหมากรากไม้ จะเป็นฟักทอง แตง หรืออะไรก็ตาม เพียงแต่เราบำรุงเหตุ คือเอาใส่ดินที่มันมีปุ๋ย แล้วก็ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด หนักเข้ามันเป็นของมันเอง ผลิดอก ออกผลมาเอง แล้วก็เจริญเติบโตไปตามลักษณะอาการของมัน จะมีดอก มีผล ผลน้อยผลใหญ่ตลอดถึงสุก เป็นเรื่องของเขาเอง เราไม่ได้ไปดึง ไปถอดขึ้น อันนี้ฉันใดก็ดี การประพฤติปฏิบัติบำรุงแต่เหตุอย่างเดียว คือ มีการกระทำ ผลมันไปของมันเอง..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..



หลวงปู่ชา สุภทฺโท สอนว่า....."การนั่งสมาธิ นั่งให้ตัวตรง อย่าเงยหน้ามากไป อย่าก้มหน้าเกินไป เอาขนาดพอดี เหมือนกับพระพุทธรูปนั่นแหละ มันจึงสว่างไสวดี
ครั้นจะเปลี่ยนอิริยาบท ก็ให้อดทนจนขีดสุดเสียก่อน ปวดก็ให้ปวดไป อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยน อย่าคิดว่า "บ๊ะ ไม่ไหวแล้ว พักก่อนเถอะน่า" อดทนมันจนปวดถึงขนาดก่อน พอมันถึงขนาดนั้นแล้วก็ให้ทนต่อไปอีก ทนต่อไปๆ จนมันไม่มีแก่ใจจะว่า "พุทโธ"
เมื่อไม่ว่า "พุทโธ" ก็เอาตรงที่มันเจ็บนั้นแหละมาแทน "อุ๊ย เจ็บ เจ็บแท้ๆ หนอ" เอาเจ็บนั้นมาเป็นอารมณ์แทน "พุทโธ" ก็ได้ กำหนดให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ นั่งไปเรื่อย ดูซิว่าเมื่อปวดจนถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านว่า มันเจ็บเอง มันก็หายเอง ให้มันตายไป ก็อย่าเลิก บางครั้งมันเหงื่อแตกเม็ดโป้งๆ เท่าเม็ดข้าวโพดไหลย้อยมาตามอก ถ้าครั้นทำจนได้ข้ามเวทนาอันหนึ่งแล้ว มันก็รู้เรื่องเท่านั้นแหละ ให้ค่อยทำไปเรื่อยๆ อย่าเร่งรัดตัวเองมากเกินไป"




"ไม่ว่าจะอิริยาบถใด ขอให้ทำจริงๆ"
.......คำว่าปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ยังได้ ในอิริยาบถใดก็ได้ทั้งนั้น ไม่ขัดข้องหรอก ขออย่างเดียวทำให้มากทำให้พอ แล้วตั้งใจทำจริงๆเท่านั้น
อย่าทำเพียงแต่ว่าทำทดลอง อย่าทำเพียงแต่ว่าทำเล่นๆ หรือทำเป็นพิธี ในการกระทำของเรานั้น ตั้งใจทำจริงๆ ต้องการให้เป็นจริงๆ ต้องการให้เกิดจริงๆ เราจะอยู่ในอิริยาบถอย่างไรก็ได้.
"หลวงปู่แบน ธนากโร"


"การพูดมาก หากพูดเป็นธรรมก็เป็นประโยชน์ พูดมากหากไม่มีสาระ ก็หนวกหูผู้ฟัง พระพุทธเจ้าไม่ทรงตำหนิพูดมาก พูดน้อย แต่ทรงตำหนิคนพูดไม่มีสติ ไม่มีสาระเท่านั้น"
.....พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร




ถาม : การสร้างพระ หล่อพระ แล้วได้บุญใหญ่นั้นจริงหรือไม่ ?
ถ้าเทียบกับการลงมือปฏิบัติธรรมภาวนา อันไหนได้อานิสงส์มากกว่ากัน
พระอาจารย์ : การปฏิบัติธรรมภาวนาต้องได้อานิสงส์มากกว่า เพราะเป็นการปฏิบัติบูชา ส่วนการสร้างพระพุทธรูปนี้ ยังถือว่าเป็นอามิสบูชาอยู่
ถ้าการสร้างพระพุทธรูปได้บุญ ๑ ล้าน (หนึ่งล้าน)
การปฏิบัติก็จะได้เป็น ๑๐๐,๐๐๐ ล้าน (แสนล้าน)
พระพุทธเจ้าบอกว่าการบูชาตถาคตที่แท้จริง ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติบูชา ส่วนอามิสบูชานี้ ก็เป็นเพียงแต่การแสดงความเคารพความศรัทธาเท่านั้น แต่ยังไม่ได้ยังประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีความเคารพมีความศรัทธา ไม่เหมือนกับการปฏิบัติบูชา ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา
ปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา อันนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติ
ดังนั้นขอให้เรามุ่งไปที่การปฏิบัติบูชา
ไม่มีเงินสร้างพระพุทธรูป ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาหาเงินมาสร้างพระพุทธรูป เพราะว่าอานิสงส์ได้ไม่เท่ากับการไปปลีกวิเวก ไปปฏิบัติธรรมภาวนา ไปเจริญสมถวิปัสสนาภาวนา อันนี้แหละเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะจะทำให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง
ต่อให้สร้างพระพุทธรูปเป็นแสนล้านองค์
ก็จะไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
แต่การปฏิบัติธรรมภาวนานี้
จะทำให้สามารถบรรลุมรรคลนิพพานได้
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี
วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗





จิตสัมภเวสี
.
ขอให้จำไว้ทุกท่าน ฟังให้ถึงใจ เรื่องเหล่านี้โดนได้ทุกคน ไม่เคยเห็นโรงพยาบาลแต่เวลาจำเป็นมันต้องได้เข้าๆ โรงพยาบาลจึงเป็นได้ทั้งสองประเภท ป่าช้าคน โรงพยาบาลรักษาคน มีสองประเภท เตียงนั้นคนไข้คนหายคนตายอยู่ในนั้นเยอะ
.
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนอนโรงพยาบาลดูซิมาจับแข้งจับขาดึง สัมภเวสีเสาะแสวงหาที่เกิด คือถ้ากรรมหนักจริงๆ กรรมชั่วหนักจริงๆ ลงปึ๋งเลย รุนแรง ขาดสะบั้นไปเลย ถ้าเป็นทางความดีนี้ก็ผึงดีดขึ้นเลย ถ้าเป็นสัมภเวสีเสาะแสวงหาที่เกิดไม่หนักถึงขนาดนั้นทั้งชั่วทั้งดี เขาเรียกสัมภเวสีแสวงหาที่เกิดเร่ๆ ร่อนๆ อยู่ตามโรงพยาบาล เวลาคนไข้ไปนอนที่โรงพยาบาลมันมาทำทุกแบบนั่นแหละ บางทีมาจับขากระตุกเอาบ้าง ตายแล้วมันไม่ยอมไป อยู่ในโรงพยาบาลนะ เอาไปรักษาโรงพยาบาล ทีแรกเป็นโรงพยาบาลแล้วก็กลายเป็นป่าช้าขึ้นมา
.
เวลาคนตายกรรมไม่หนักมากนัก สัมภเวสีเร่ร่อนอยู่ตามนั้นใครไปก็มาขอความช่วยเหลือ แต่คนว่าผีหลอกๆ มันไม่ได้หลอก คือมาขอความช่วยเหลือ มาทำแบบไหนที่จะให้เจ้าของตื่นรู้สึกตัวหรืออะไรขึ้นมา พอรู้สึกตัวขึ้นมาก็ว่าผีกวนผีหลอกอะไร เขามาขอความช่วยเหลือต่างหากนะ อย่างนั้นละเป็นก็อาศัยกัน ตายแล้วก็ต้องมาอาศัยกันอยู่อย่างนั้น
.
โรงพยาบาลจึงเป็นทั้งป่าช้าเป็นทั้งโรงพยาบาลรักษาคนไข้ รักษาไม่หายก็ตาย เตียงในนั้นทั้งเตียงคนไข้ทั้งเตียงคนตายอยู่ในนั้นละ สลับซับซ้อนเต็มไปหมด เมื่อจิตมีความรู้สึกกับสิ่งเหล่านี้ จิตวิญญาณอะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตว์ เกิดตาย สัมภเวสี ที่ลงอยู่ในนรกก็เยอะ เป็นชั้นๆ ขึ้นมา ไปสวรรค์พรหมโลกก็เยอะเหมือนกัน ที่สัมภเวสีเป็นเปรตเป็นผีนี้มาก เวลาทำบุญให้ทานนี้เขาอุทิศส่วนกุศลพวกนี้ไม่มีญาติมาขอทานกินเยอะนะ
.
ใน ติโรกุฑฑกัณฑสูตร พระพุทธเจ้าแสดงไว้แล้ว น่าสงสารมาก คือมาอาศัยอยู่ตามข้างฝาข้างบ้านของเจ้าของของญาติเจ้าของ ติโรกุฑฑกัณฑสูตร แสดงถึงเรื่องความเสาะแสวงหาความดิ้นรนของเปรตของผี มาในบ้านในเรือน ไปโรงพยาบาล ไปหมด หาที่พึ่งหาที่อาศัย ตายแล้วไม่มีที่พึ่ง คือเวลามีชีวิตอยู่นี้หาแต่ความชั่วใส่ตัวเอง เวลาตายลงไปแล้วไปเป็นสัมภเวสีเสาะแสวงหาที่เกิดที่อยู่ ทั้งความทุกข์ร้อนทุกอย่างเต็มตัวๆ นี่ละจิตวิญญาณไม่เคยมีคำว่าตายคำว่าสูญ คือในจิตแต่ละดวงๆ เป็นจิตที่ไม่เคยตาย สัมภเวสีขึ้นลงๆ สัมภเวสีอย่างนี้ตลอด
.
น่าสังเวชนะความเกิดความตายของสัตว์ น่าสลดสังเวชมากทีเดียวไม่ใช่ธรรมดา ตายแล้วมันไม่แล้วซี จิตสัมภเวสีหาที่เกิดเพราะทุนรอนไม่มี ถ้ามีทุนมีรอนมีบุญมีกุศลตายแล้วก็ดีดผึง ผู้ที่กรรมหนักๆ ก็ลงผึงเหมือนกัน ลงแรงขึ้นแรง ถ้าผู้ที่ไม่ถึงขนาดนั้นซิพวกกวนบ้านกวนเมืองอยู่ตามโรงพยาบาลเต็มไปหมดนั่นละ แต่เขาไม่ได้ว่านะ คือเขาไม่รู้ เขาก็ว่าแต่ผีมาหลอกบ้างอะไรบ้าง มาขอความช่วยเหลือ ไม่ได้มาหลอกมาหลอนอะไร มาขอความช่วยเหลือ
.
เพราะฉะนั้นใครจึงอย่าประมาท จิตดวงนี้ไม่มีคำว่าตาย คำว่าสูญ มีแต่เกิดกับตายและสัมภเวสีหาที่เกิดให้เหมาะสมกับกรรมของตน เพราะทุกคนมีกรรมทุกคน แล้วเกิดในที่ต่างๆ กัน น่าสลดสังเวชการเกิดการตายของสัตว์โลก เป็นทุกแบบทุกฉบับ ป่วยหนักไม่หายก็ไปเท่านั้นละ เรื่องตายเป็นอย่างนั้นละ
........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑





"สวรรค์มีไว้เพื่อคนบุญ"
.
สวรรค์ไม่มีไว้เพื่อใคร มีไว้เพื่อคนบุญ เราเป็นคนบุญไม่เจอในเวลาเป็นก็ต้องเจอในเวลาตาย เป็นนี้ก็เจออยู่มีความสุขความสงบเย็นใจในชีวิตของเรา ประการหนึ่งรู้เห็นสวรรค์ชัด ๆ ภายในจิตใจนี้ ประการที่สอง เวลาตายแล้วก็ไปสวรรค์ คนมีหลักใจเป็นอย่างนั้น เราให้เสาะแสวงหาหลักใจเสมอกันกับทางร่างกายอย่าปล่อยอย่าวาง ร่างกายนี้เป็นของที่จะแตกจะพังได้ แต่เวลามีชีวิตอยู่นี้มันกวนเราตลอดเวลา ทั้งการอยู่ การกิน การหลับ การนอน การขับการถ่าย มีแต่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์กวนทั้งนั้น จึงต้องได้เสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาเยียวยาพอประทังอยู่ได้ไปวันหนึ่ง ๆ พอถึงเวลาแล้วเขาก็พังของเขาไป
.
เมื่อร่างกายพังแล้ว ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของสิ่งเยียวยาทั้งหลายมันก็พังไปตาม ๆ กันหมดความหมาย แต่ใจนี้ไม่หมดความหมายจะต้องเดินซอกซอนไปในที่ต่าง ๆ ตามอำนาจแห่งบุญแห่งกรรม ถ้าใครมีหลักใจก็หลักใจดึงเลย แล้วฉุดลากไปเลย หนุนให้ไปสู่สถานที่ดี ไม่ต้องถามหาละว่าสวรรค์อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว บอกไว้แล้วด้วยทาน บอกไว้แล้วด้วยศีล บอกไว้แล้วด้วยการเจริญเมตตาภาวนานี้คือทางสวรรค์ นี้คือสวรรค์จากการบำเพ็ญนี้ ทรงบอกไว้อย่างแจ่มแจ้งแล้วไม่ต้องสงสัย ไปถามหาที่ไหนจะมีความรู้ความฉลาดเกินพระพุทธเจ้าในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มี ให้เราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้านี้
.................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙




ทั่วโลกที่มีมนุษย์และสัตว์อาศัยอยู่
จำต้องมีทานการเสียสละแทรกอยู่ด้วย
ตามความจำเป็นที่โลกต้องอาศัยพึ่งกันตามอัธยาศัย
มีทานเป็นน้ำใจเครื่องยึดเหนี่ยวและส่งเสริมอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง
ทานแผ่ไปถึงไหนโลกมีความร่มเย็นไปถึงนั่น
คนมีน้ำใจเสียสละไปที่ใด ที่นั้นได้รับความร่มเย็น
ตลอดสัตว์เดียรัจฉานก็มีส่วนร่มเย็นไปด้วย
ผิดกับคนที่เห็นแก่ตัวและเห็นแก่ได้
ไปถึงไหนไฟคือความเดือดร้อนไปถึงนั้น
โลกกับทานการเสียสละแบ่งปันจึงแยกกันไม่ออก
ถ้าโลกยังมีอยู่ตราบใด ทานการแบ่งปันจำต้องมีอยู่ตราบนั้น
เพราะโลกต้องอาศัยทานเป็นเส้นชีวิตจิตใจตลอดมา
......................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ แว่นส่องธรรม



"อย่าข้ามมรรค"
"อย่ามักง่ายข้ามขั้นตอน" อย่าข้าม “มรรค”...ต้องปฏิบัติให้ถึง “เอกัคตาจิต”...ให้ได้เสียก่อน....หนทางอื่นไม่มี.....
การเรียน”อภิธรรม” นั่นก็ดีอยู่ แต่จะต้องไม่ติดตำรา....มุ่งเพื่อรู้ความจริงหาทางพ้นทุกข์จึงจะถูกทาง ......
อาตมาว่า " วิปัสสนา" นี่มันทำไม่ได้ง่ายๆ. "จะไปทำเอาเลยไม่ได้" ถ้าไม่ดำเนินไปจาก "ศีล" ลองดูก็ได้....เรื่องศีล เรื่องสิกขาบทบัญญัตินี่ ถ้า กายวาจาไม่เรียบร้อยแล้ว ก็ไปไม่รอด เพราะเป็นการ “ข้ามมรรค”
บางคนพูดว่า “สมถะไม่ต้อง”...ข้ามไปทำ.”วิปัสสนา” เลย .....อาตมาว่า มันก็ไปไม่รอดเหมือนกัน....
คนมักง่าย" หรอกที่พูดเช่นนั้น เขาว่าศีลไม่ต้องเกี่ยว "ก็การรักษาศีลนี้มันยากมิใช่เล่น" ถ้าจะข้ามไปเลย "มันก็สบาย" เท่านั้น. อะไรที่ยากแล้วข้ามไป "ใครๆ ก็อยากข้าม"
เรื่องศีล...เรื่องธุดงค์วัตร...พวกเราต้องพยายามปฏิบัติ .....
"พวกญาติโยม" ก็เหมือนกัน ถึงปฏิบัติอยู่บ้านก็ตาม. พยายามให้มีศีลห้า กาย วาจาของเราพยายามให้เรียบร้อย พยายามดีๆ เถอะ ค่อยทำค่อยไป"ครั้งแรก" ให้ "รวมลง" เสียก่อน รวมไว้ใน "จุดเดียว" ทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมไว้ใน "จุดเดียว "
"ใจ" น้อมเข้ามาหา "ใจ" กำหนด "ลมหายใจ" เข้าออก "รักษาใจ" ไว้ที่ "ลมหายใจ" เข้าออก จน "ใจ" มัน "สงบลงไป" เข้า "รวมจุด" เป็น "จุดรู้" หรือ "ดวงรู้"
จึง "วางลม" เมื่อ "ลมดับไป" จึงมารู้จัก "ตัวเอง" มารู้จัก "ใจ"
"เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ" เป็นเครื่อง"ประกอบ" ไว้ที่ "ใจ" แต่ ไม่ใช่ใจ ไม่ใช่ตัวเอง เป็นเครื่องห่อหุ้ม "ดวงรู้" เท่านั้น อยู่ใน "จุดดวงรู้" อย่างเดียวก็ได้
เมื่อมันเป็น "ตัวเองเฉพาะ" แล้ว ท่านให้เอา "ผู้รู้" เป็นตัว "กำหนดรู้" เดิน "วิปัสสนาปัญญา"
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี




“ การอุทิศบุญ”
แผ่กันมาไม่รู้กี่ปีแล้วหลงแผ่กัน พอเวลาเจอกันก็ด่ากันแยกเขี้ยวใส่กัน แก่งแย่งชิงดีกัน ใช่ไหม แก่งแย่งชิงดีกันหรือเปล่า แย่งโน่นแย่งนี่กันหรือเปล่า ด่ากันหรือเปล่า ทะเลาะกันหรือเปล่า นี่ไม่ใช่วิธีแผ่เมตตา เวลาอยู่คนเดียวสวด สัพเพ สัตตาก็ไม่ได้แผ่อีก เวลาเจอกันก็ด่ากัน ทะเลาะกัน หน้าบึ้งใส่กัน อันนี้ก็ไม่ได้แผ่อีก เวลาแผ่เวลาเจอกันก็ทักทายกัน พี่สบายดีเหรอ เป็นยังไง ถามสารทุกข์สุกดิบ ยิ้มให้กัน บางทีไม่ต้องพูดอะไร เพียงแต่ยิ้ม เขาก็สุขแล้ว เวลายิ้มให้เขานี้ เขาก็แฮปปี้แล้ว ไม่ใช่เจอหน้ากันก็บึ้งตึง นี่กิริยามันบอกความรู้สึกทางใจ ว่ารู้สึกอย่างไร ถ้ายิ้มนี่แสดงว่ามีความเมตตา มีไมตรีจิต ถ้าบึ้งตึงนี่แสดงว่าโกรธแล้ว เกลียดแล้ว ฉะนั้นขอให้เรารู้จักวิธีแผ่เมตตา รู้สึกชาวพุทธเรานี้โง่ขึ้นไปทุกวันทุกวัน ของง่ายๆเรื่องแผ่เมตตายังแผ่ไม่เป็น ยังไปหลงคิดว่าแผ่ เวลาแผ่นั่งอยู่คนเดียว แล้วก็มักจะหลง ไปปนการแผ่เมตตากับการอุทิศบุญอีก นั่งสมาธิเสร็จอยากจะอุทิศบุญอีก
เอาบุญที่ไหนมาอุทิศล่ะ นั่งสมาธิจิตยังไม่สงบ มันจะได้บุญยังไง อยากจะอุทิศบุญก็นี่ ทำทานนี่ ทำทานปั๊บมันได้บุญแล้ว สำเร็จแล้ว ทำแล้วเกิดความอิ่มใจสุขใจขึ้นมา นี่แหละสิ่งที่เราอุทิศก็คือความอิ่มใจสุขใจนี้เอง แต่นั่งสมาธิจิตยังไม่อิ่มยังไม่สุข แล้วจะเอาอะไรไปแผ่ นั่งแล้วกลับมีความรู้สึกอึดอัดอย่างนี้ จะแผ่ความอึดอัดไปให้เขาเหรอ นั่งสมาธิมันต้องมีความสุขก่อน ถึงจะแผ่ความสุขนั้นได้ ซึ่งยาก คนที่จะได้สมาธินี้หายาก
คนที่นั่งสมาธิมีเยอะ นั่งแต่นั่งแล้วยังไม่ได้ผลเหมือนกับคนที่ปลูกต้นไม้น่ะ ปลูกเยอะ แต่ต้นไม้ที่ปลูกมันไม่โต มันตายเสียก่อน ปลูกแล้วมันไม่โต ปลูกแล้วไม่รดน้ำ คนที่จะนั่งสมาธิแล้วได้ผลนี้จะต้องปฏิบัติทั้งวัน ทั้งวันทั้งคืน จิตถึงจะรวมเป็นสมาธิเป็นหนึ่งและเป็นสมาธิ แล้วอยากจะอุทิศก็ได้ แต่เราไม่นิยมสอนให้อุทิศแบบนี้ เพราะมันยาก เดี๋ยวคนรออุทิศกลับมาเกิดเสียก่อน (ยิ้ม) เพราะคนที่จะอุทิศบุญ ด้วยสมาธิไม่เคยได้สมาธิเลย แล้วจะเอาสมาธิที่ไหนไปอุทิศล่ะ ใช่ไหม สวดมนต์ก็คิดว่าสวดแล้วได้บุญแล้ว ยังไม่ได้ บุญที่เกิดจากการสวดก็คือ จิตต้องสงบรวมเป็นสมาธิ ถึงจะเรียกว่าบุญ ถึงจะเรียกว่าผลบุญ เกิดขึ้นแล้ว ถ้ายังอยากจะอุทิศบุญก็ไปทำบุญเสีย ไปทำทาน ทำกับใครก็ได้ ทำกับพระก็ได้ ทำกับโรงเรียนก็ได้ ทำกับโรงพยาบาลก็ได้ ทำแล้วมันเกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมา ก็อุทิศบุญไปเลย ไม่ต้องให้มีพระมาสวดด้วย บางคนคิดว่าจะอุทิศบุญนี้ต้องมีพระมาสวดก่อนถึงจะอุทิศได้ ถ้างั้นพระก็ตายวันนึงนั่งสวด โอ้โหถ้ามา 10 คนมาถวายทาน 10 ครั้งก็ต้องสวดกัน 10 ครั้ง ที่นี่เลยสวดหนเดียว ให้พรหนเดียวพอ.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO