นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 29 มี.ค. 2024 8:13 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: อาหารใจ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 03 พ.ย. 2017 5:33 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4511
"สุขโลกีย์ มีเพียงชั่วคราว
ถ้ามุ่งความสุขยืนยาว ต้องปฏิบัติธรรม”
-:- หลวงปู่บุญกู้ อนุวฑฺฒโน -:-






"อาหารใจ มันสำคัญกว่าอาหารกาย
แต่พวกเรา มันมัวเมาแต่เลี้ยงร่างกาย
กายมันได้อะไรบ้าง ตายไปใครเอาไปได้ไหม
เอาไปแต่สมบัติใจเท่านั้น"
-:- หลวงปู่จาม มหาปุญโญ -:-




“ความสุขอยู่ที่อยู่เฉยๆ”
ปฏิบัตินี้มันไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้มันไปถึงไหน ปฏิบัติให้มันไม่ไปไหน ให้มันอยู่เฉยๆ หยุด หยุดใจ หยุดความคิด หยุดกิเลส ถ้าใจหยุดคิด กิเลสก็ทำงานไม่ได้ วิธีฆ่ากิเลสก็มีสองวิธี วิธีแรกก็คือหยุดความคิด วิธีที่สองก็ให้คิดไปในทางที่ทำให้กิเลสตาย ตอนต้นเราหัดหยุดคิดก่อน พอเราหยุดคิดเป็นแล้ว วิธีที่สองก็คิดไปในทางที่ทำให้กิเลสมันตาย เวลากิเลสอยากจะไปไหน ก็บอกว่าไปทำไม ไปแล้วได้อะไร ไปแล้วไม่ต้องกลับก็ไป ไปแล้วถ้าต้องกลับ ไปทำไม ลองคิดอย่างนี้ดูว่าไปแล้วก็เท่านั้นแหละ ไปแล้วก็กลับแล้วก็ไป ไปแล้วก็กลับอยู่นั่นแหละ เหมือนลูกปิงปอง ไปๆ มาๆ แล้วได้อะไรจากการไปการมา ก็ไม่ได้อะไร เหมือนเดิม สู้อย่าไปดีกว่า สู้อยู่เฉยๆ ดีกว่า ความสุขอยู่ที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้อยู่ที่อยากจะไปหรืออยากจะมา หรืออยากจะได้หรือไม่อยากจะได้ ความสุขอยู่ที่เฉยๆ เพราะได้อะไรมาเดี๋ยวมันก็ต้องจากกันอยู่ดี ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนหรือถาวร ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวให้คิดอย่างนี้ แล้วมันก็จะไม่อยากได้อะไร ไม่อยากไปไหน นี่เราตั้งแต่เกิดมาไปไหนมาไหนแล้วได้อะไรบ้างทางด้านจิตใจ อย่างอื่นอาจจะได้ อาจจะได้ข้าวของเงินทอง ไปโน่นมานี่ ไปหาเงินไปทำงานไปอะไร ก็ได้แต่ข้าวของเงินทองเท่านั้นแหละ แต่ใจไม่เคยได้ความสุขเลย ใจไม่เคยมีความสุข ไม่เคยได้ความพอเลย ถ้ามีความพอแล้วสบาย ได้กันมาเท่าไรก็ไม่เคยเจอคำว่าพอใช่ไหม สิ่งที่ใจต้องการก็คือความพอ.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต



...ให้จิตเข้ามาสู่ความสงบ...
..การทำมาอาชีพ การหาเงินหาทองก็เหมือนกัน เครื่องอุปกรณ์จะมาบำรุงเลี้ยงร่างกาย ถ้าไปยึดของภายนอกจนเกินไป ก็ลืมเนื้อ ลืมตัว ตัวเอง พระพุทธองค์ท่านพยายามสอน ให้ลดละสิ่งต่าง ๆ แม้แต่ร่างกาย ก็ให้พิจารณาเป็นของ ไม่สวยไม่งาม ให้ลดละมาทุกระยะ เพื่อจะแก้อาการของจิต ให้จิตใจ หดตัว เข้ามาสู่ ความสงบ..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..



ในเรื่องของกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้น รูปอะไรก็ไม่จับใจเท่ารูปผู้หญิง ผู้หญิงรูปร่างบาดตา ก็ชวนมองอยู่แล้ว ยิ่งเดินซอกแซกๆ ก็ยิ่งมองเพลิน
เสียงอะไรจะมาจับใจเท่าเสียงผู้หญิง เป็นไม่มี มันบาดถึงหัวใจ กลิ่นก็เหมือนกัน กลิ่นอะไรก็ไม่เหมือนกลิ่นผู้หญิง ติดกลิ่นอื่นก็ไม่เท่าติดกลิ่นผู้หญิง มันเป็นอย่างนั้น
รสอะไรก็ไม่เหมือน รสข้าว รสแกง รสสารพัดก็ไม่เทียบเท่ารสผู้หญิง หลงติดเข้าไปแล้วถอนได้ยาก เพราะมันเป็นกาม โผฏฐัพพะก็เช่นกัน จับต้องอะไรก็ไม่ทำให้มึนเมาปั่นป่วน จนหัวชนกันเหมือนกับจับต้องผู้หญิง
ฉะนั้น เมื่อลูกท้าวพญาที่ไปเรียนวิชากับอาจารย์ตักศิลาจนจบแล้ว จะลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์จึงสอนว่า เวทย์มนต์กลมายาอะไรๆ ก็สอนให้บอกให้จนหมดแล้ว เมื่อกลับไปครองบ้านครองเมืองแล้ว มีอะไรมาก็ไม่ต้องกลัว จะสู้ได้หมดทั้งนั้น จะมีสัตว์ประเภทใดมาก็ไม่ต้องกลัว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์มีฟันอยู่ในปาก หรือมีเขาอยู่บนหัว มีงวง มีงา ก็คุ้มกันได้ทั้งสิ้น แต่ไม่รับรองอยู่เฉพาะสัตว์จำพวกหนึ่ง ที่เขาไม่ได้อยู่บนหัว แต่หากไปอยู่ที่หน้าอก สัตว์ชนิดนี้ไม่มีมนต์ชนิดใดจะคุ้มกันได้ มีแต่จะต้องคุ้มกันตัวเอง รู้จักไหม สัตว์ที่มีเขาอยู่หน้าอกนั่นแหละ ท่านจึงให้รักษาตัวเอาเอง
ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจแล้ว ทำให้อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากได้สิ่ง อยากได้ของ ธรรมารมณ์อย่างนั้นไม่พอให้ล้มตาย แต่ถ้าเป็นธรรมารมณ์ที่ชุ่มด้วยน้ำกามเกิดขึ้นแล้ว มันทำให้ลืมพ่อลืมแม่ แม้พ่อแม่เลี้ยงมา ก็หนีจากไปได้โดยไม่คำนึงถึง พอเกิดขึ้นแล้วรั้งไม่อยู่ สอนก็ไม่ฟัง
รูปหนึ่ง เสียงหนึ่ง กลิ่นหนึ่ง รสหนึ่ง โผฏฐัพพะหนึ่ง ธรรมารมณ์หนึ่ง เป็นบ่วง เป็นบ่วงของพญามาร พญามารแปลว่าผู้ให้ร้ายต่อเรา บ่วงแปลว่าเครื่องผูกพัน บ่วงของพญามารเปรียบได้กับแร้วของนายพราน นายพรานที่เป็นเจ้าของแร้วนั่นแหละคือพญามาร เชือกเป็นบ่วงเครื่องผูกของนายพราน
สัตว์ทั้งหลายเมื่อไปติดบ่วงเข้าแล้วลำบาก มันผูกไว้ดึงไว้ รอจนเจ้าของแร้วมา เหมือนกับนกไปติดแร้วเข้า แร้วมันรัดถูกคอ ดิ้นไปไหนก็ไม่หลุดดิ้นปัดไปปัดมาอย่างนั้นแหละ มันผูกไว้คอยนายพรานเจ้าของแร้วครั้นเจ้าของมาเห็นก็จบเรื่อง นั้นแหละพญามาร นกกลัวมาก สัตว์ทั้งหลายกลัวมาก เพราะหนีไปไหนไม่พ้น
บ่วงก็เช่นกัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นบ่วงผูกเอาไว้ เมื่อเราติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เหมือนกันกับปลากินเบ็ด รอให้เจ้าของเบ็ดมา ดิ้นไปไหนก็ไม่หลุด อันที่จริงแล้วมันยิ่งกว่าปลากินเบ็ด ต้องเปรียบได้กับกบกินเบ็ด เพราะกบกินเบ็ดนั้น มันกินลงไปถึงไส้ถึงพุง แต่ปลากินเบ็ด ก็กินอยู่แค่ปาก
คนติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ก็เหมือนกัน แบบคนติดเหล้า ถ้าตับยังไม่แข็ง ไม่เลิก ติดตอนแรกๆ ก็ยังไม่รู้จักเรื่อง ก็หลงเพลิดเพลินไปเรื่อยๆ จนเกิดโรคร้ายขึ้นนั่นแหละเป็นทุกข์
เหมือนบุรุษผู้หนึ่งหิวน้ำจัด เพราะเดินทางมาไกล มาขอกินน้ำ เจ้าของน้ำก็บอกว่า น้ำนี้จะกินก็ได้ สีมันก็ดี กลิ่นมันก็ดี รสมันก็ดี แต่กินเข้าไปแล้ว มันเมานะ บอกให้รู้เสียก่อน เมาจนตายหรือเจ็บเจียนตายนั่นแหละ แต่บุรุษผู้หิวน้ำก็ไม่ฟัง เพราะหิวมาก เหมือนคนไข้หลังผ่าตัดที่ถูกหมอบังคับให้อดน้ำ ก็ร้องขอน้ำกิน
คนหิวในกามก็เหมือนกัน หิวในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ล้วนของเป็นพิษ พระพุทธเจ้าได้บอกไว้ว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้น มันเป็นพิษ เป็นบ่วง ก็ไม่ฟังกัน เหมือนกับบุรุษหิวน้ำผู้นั้น ที่ไม่ยอมฟังคำเตือน เพราะความหิวกระหายมันมีมาก ถึงจะต้องทุกข์ยากลำบากเพียงใด ก็ขอให้ได้กินน้ำเถอะ เมื่อได้กินได้ดื่มแล้ว มันจะเมาจนตายหรือเจียนตายก็ช่างมัน จับจอกน้ำได้ก็ดื่มเอา ดื่มเอา เหมือนกับคนหิวในกาม ก็กินรูป กินกลิ่น กินรส กินโผฏฐัพพะ กินธรรมารมณ์ รู้สึกอร่อยมาก ก็กินเอาๆ หยุดไม่ได้ กินจนตาย ตายคากาม
อย่างนี้ท่านเรียกว่าติดโลกีย์วิสัย ปัญญาโลกีย์ก็แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถึงปัญญาจะดีสักปานใด ก็ยังเป็นปัญญาโลกีย์อยู่นั่นเอง สุขปานใดก็แค่สุขโลกีย์ มันไม่สุขเหมือนโลกุตตระ คือมันไม่พ้นโลก
การฝึกในทางโลกุตตระ คือ ทำให้มันหมดอุปทาน ปฏิบัติให้หมดอุปทาน ให้พิจารณาร่างกายนี่แหละ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้มันเบื่อ ให้มันหน่าย จนเกิดนิพพิทา ซึ่งเกิดได้ยาก มันจึงเป็นของยาก ถ้าเรายังไม่เห็นก็ยิ่งดูมันยาก
เราทั้งหลายพากันมาบวช เรียน เขียน อ่าน มาปฏิบัติภาวนา ก็พยายามตั้งใจของตัวเอง แต่ก็ทำได้ยาก กำหนดข้อประพฤติปฏิบัติไว้อย่างนี้อย่างนั้นแล้ว ก็ทำได้เพียงวันหนึ่ง สองวัน หรือแค่สองชั่วโมง สามชั่วโมง ก็ลืมเสียแล้วพอระลึกขึ้นได้ ก็จับมันตั้งไว้อีก ก็ได้เพียงชั่วคราว
พอรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ผ่านมา ก็พังไปเสียอีกแล้ว พอนึกได้ ก็จับตั้งอีก ปฏิบัติอีก นี่ เรามักเป็นเสียอย่างนี้ เพราะสร้างทำนบไว้ไม่ดี ปฏิบัติไม่ทันเป็นไม่ทันเห็น มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันจึงเป็นโลกุตตระไม่ได้ ถ้าเป็นโลกุตตระได้มันพ้นไปจากสิ่งทั้งหลายแล้ว มันก็สงบเท่านั้นเอง
ที่ไม่สงบทุกวันนี้ ก็เพราะของเก่ามันมากวนอยู่ไม่หยุด มันตามมาพัวพัน เพราะมันติดตัวเคยชินเสียแล้ว จะแสวงหาทางออกทางไหนมันก็คอยมาผูกไว้ดึงไว้ ไม่ให้ลืมที่เก่าของมัน เราจึงเอาของเก่ามาใช้ มาชม มาอยู่ มากินกันอยู่อย่างนี้
ผู้หญิงก็มีผู้ชายเป็นอุปสรรค ผู้ชายก็มีผู้หญิงเป็นอุปสรรค มันพอปานกัน ถ้าผู้ชายอยู่กับผู้ชายด้วยกัน มันก็ไม่มีอะไร หรือผู้หญิงอยู่กับผู้หญิงด้วยกัน มันก็อย่างนั้นแหละ แต่พอผู้ชายไปเห็นผู้หญิงเข้า หัวใจมันเต้นติ๊กตั๊กๆ ผู้หญิงเห็นผู้ชายเข้าก็เหมือนกัน หัวใจก็เต้นติ๊กตั๊กๆ เพราะมันดึงดูดซึ่งกันและกัน
นี่ก็เพราะไม่เห็นโทษของมัน หากไม่เห็นโทษแล้ว ก็ละไม่ได้ ต้องเห็นโทษในกามและเห็นประโยชน์ในการละกามแล้ว จึงจะทำได้ หากปฏิบัติยังไม่พ้น แต่พยายามอดทนปฏิบัติต่อไป ก็เรียกว่าทำได้ในเพียงระดับของศีลธรรม แต่ถ้าปฏิบัติได้เห็นชัดแล้ว จะไม่ต้องอดทนเลย ที่มันยากมันลำบากก็เพราะยังไม่เห็น
เทศนาธรรมเรื่อง"สองหน้าของสัจจธรรม"
หลวงพ่อชา สุภัทโท




● คำถาม : หลวงปู่ค่ะดิฉันต้องปฎิบัติเช่นไรค่ะ จึงจะได้เกิดมาในภพภูมิของศาสนาพุทธ เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์อีก แต่ดิฉันก็คิดว่า การไม่ขอเกิดมาอีกน่ะดีเยี่ยมที่สุดนะเจ้าค่ะ แต่บุญบารมีของดิฉันจะมีมากพอที่จะทำให้ดิฉันไม่ต้องเกิดอีกหรือไม่ แต่ดิฉันจะเร่งเพียรพยามยามเร่งสะสมบุญนะเจ้าค่ะ เพราะถึงอย่างไรในภพนี้ดิฉันก็ได้เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์แล้วก็อย่าได้เสียชาติเกิด ต้องเร่งสะสมบุญไปเรื่อยๆ เร่งทำความเพียรเจริญสติตลอดเวลา เวลาที่ดิฉันต้องออกไปธุรกิจ หรือต้องขึ้นรถลงเรือไปไหนๆ ดิฉันมักจะคิดว่าถ้าดิฉันเกิดตายไปตอนนี้ดิฉันได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ดิฉันก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเออ..นี่เรายังไม่ได้ทำอะไรกับเขาเท่าไหร่เลย จะต้องมาตายซะแล้ว เพราะความตายเกิดได้ทุกขณะ ดิฉันนึกถึงความตายอย่างนี้ตลอดเวลา จะเรียกได้ว่า ดิฉันได้เจริญมรณานุสติ ใช่ไหมเจ้าค่ะ
● คำตอบ : เมื่อหลานๆ เห็นภัยในวัฎฎสงสารอย่างเต็มที่แล้ว มันก็เป็นผู้มีวาสนาอยู่ในตัว สามารถทำตัวให้พ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติได้โดยแท้ เพราะคนเราเมื่อเห็นทุกข์เป็นหลักของหัวใจแล้ว นั่นก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง เมื่อเห็นอยู่เนืองๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ก็เรียกว่าภาวนาอยู่ไม่ขาดสาย เป็นข้อวัตรของจิตใจที่ชอบด้วย หนักเข้าก็เบื่อหน่ายคลายเมาในวัฎฏสงสารแบบเย็นๆ รอบครอบเรียกว่าปัญญาชอบในวิปัสสนา
อนึ่ง บุคคลที่จะเกิดเป็นมนุษย์อีกติดกันในชาติต่อไป เป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์เท่านั้นก็พอแล้ว เพราะโหรเอกพระบรมศาสดาองค์ท่านทายว่า บุคคลผู้ถึงพุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นสรณะแล้วมีคติเป็นสอง ไม่มนุษย์ก็เทวดา มันเป็นของไม่ยากของผู้ศรัทธา แต่ก็ตรงกันข้ามเป็นของยากผู้ที่ไม่ศรัทธา ความดีคนดีทำได้ง่าย ความชั่วคนดีทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก สิ่งเหล่านี้เป็นของจริงมาแต่ดึกดำบรรพ์และการเกิดในศาสนาพุทธนั้น เมื่อเราได้ถึงไตรสรณคมน์แล้ว มันก็มีพืชไว้แล้วถึงแม้มีภพมีชาติอีก มันก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนานั่นเองไม่ต้องสงสัยเลยนา การเกิดเป็นเทวดาเทวบุตรและพรหมมีทุกข์น้อยกว่ามนุษย์ก็จริงอยู่แล้ว แต่เมื่อมันอยู่ใต้อำนาจความไม่เที่ยงแล้ว ก็จัดว่าเป็นทุกข์เสมอกันในด้านปรมัตถ์ และก็มรรคผลก็มีในชั้นเทวโลก และพรหมโลกเหมือนกัน บางท่านก็ภาวนาติดต่อกันในภพนั้นๆ สร้างบารมีอยู่ในภพนั้นๆ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้เหมือนมนุษย์เรานี่เอง มันก็ล่าช้าอยู่แต่สัตว์เดรัจฉาน เปรตทุกจำพวก และสัตว์นรกทุกจำพวกเท่านั้น
“จะอย่างไรก็ตาม เราไม่ตีตนตายก่อนไข้ เราจะไม่หวังภพต่อไปในอนาคตอีก เราจองขาดผูกขาดเพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวงในชาติปัจจุบัน เพื่อจะตัดปัญหาความมุ่งหวังหลายทาง ให้เหลือแต่ทางเดียวปัญหามันจะน้อยลง ความประสงค์ก็ไม่มีมาก แม้เราจะภาวนาเห็นกองทุกข์ขณะจิตเดียวหรือพุทโธคำเดียว ก็มีคุณค่ามากกว่าที่ปรารถนาในภพต่อไป การปรารถนาในภพต่อๆ ไปตั้งล้านๆ ขณะจิต ก็ไม่เท่าขณะจิตเดียวที่หวังพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ”
การจองคิว การสมาทาน เจตนา ความประสงค์ ความต้องการ และการอธิษฐานทั้งหลายเหล่านี้เรียกชื่อต่างกัน แต่ก็มีความหมายอันเดียวกัน ฉะนั้นความต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ เป็นสติปัญญา ศีล สมาธิมีพลังมาก แต่เราบัญญัติไม่เป็นก็กล่าวตู่ว่าศีลไม่มีในเจตนา ที่แท้นั้น เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ เจตนาไปทางดีนั่นเองเป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันในขณะเดียว เหมือนเชือกสามเกลียวที่เราเรียกว่า ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกล จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็ไม่เป็นปัญหา ขอให้ภาวนาติดต่อกันอยู่ไม่ขาดสายให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเป้าหมายอันเดียวพร้อมกับลมหายใจออก-เข้า นิวรณ์ทั้งหลายมันตั้งอยู่ไม่ได้ดอก
“ผู้รักใคร่ภาวนาอยู่เป็นนิจเรียกว่าผู้นั้นบารมีแก่กล้าแล้ว ท่านผู้ใดขี้เกียจก็ให้ทราบเถิดว่าบารมียังอ่อนมาก” จะอย่างไรก็ตามขอให้แบ่งเวลาภาวนาอย่าให้เสียวันเสียคืน จิตใจจะสูงขึ้นเองไม่ต้องบ่นหา จะชนะความหลงของตนแน่แท้...
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต




"ขลังแบบพระพุทธเจ้า"
.
ถ้าใครอยากเห็นของขลังก็ให้พยายามปฏิบัติตัวให้ดีนะ ของขลังอยู่ที่ใจนั่นแหละ อยู่ตรงใจทีเดียวไม่อยู่ตรงไหนแหละ ไม่อยู่ดินฟ้าอากาศที่ไหน ๆ อย่าไปหาเลยไอ้อยู่ยงคงกระพัน มีดฟันไม่เข้าปืนฟาดเข้าไปก็ตายนั่นแหละ ปืนยิงไม่เข้าอีกเหรอเอาค้อนตีมันก็ตาย..คน แล้วมันขลังหาอะไรขลังอย่างนั้นพิจารณาซิ เอาค้อนตีไม่ตายเอาระเบิดนิวเคลียร์ฟาดลงไปแหลกเป็นผุยผงไปเลย แน่ะมันขลังที่ตรงไหนพิจารณาซิ
.
ให้ขลังที่หัวใจซิอะไรไปตีก็ไม่แตกหัวใจ มันต่างกันอย่างนี้นะ หัวใจที่เต็มไปด้วยธรรมแล้วตีเท่าไรก็ไม่แตก จะทำอะไรให้ฉิบหายไม่ฉิบหาย ให้แตกให้กระจัดกระจายไม่มีทาง ธรรมเป็นอย่างนั้นละเข้าสู่หัวใจแล้ว พากันตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดีซิ เราอยากเห็นคนดี ไปที่ไหนสงบร่มเย็นเป็นสุขสบาย นี่ไปที่ไหนมีแต่ฟืนแต่ไฟร้อนเผาไปเรื่อย ทั้งเขาทั้งเราพอ ๆ กันไปหมดเลยไม่ทราบใครจะพึ่งใคร ใครก็เป็นไฟเหมือนกันหมดไม่ทราบจะพึ่งใคร พึ่งกันไม่ได้น่ะซิต่างคนต่างร้อน ให้ต่างคนต่างทำความร่มเย็นแก่กันซิ ร่มเย็นแก่ตัวเองแล้วก็ให้ความร่มเย็นแก่คนอื่นด้วย
...............................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๘




“เราไม่สะเทือนใจได้ไหม”
ถาม : เวลากำหนดสติ รู้สภาพกายที่สงบ รู้ลมหายใจ รู้สภาพของจิตที่สงบ พิจารณาธรรมที่เกิดขณะนั้นเช่นเห็นความเกิดดับอริยสัจ อะไรที่เกิดขึ้นกับจิตจะเกิดปิติขนลุกไปทั่ว ไม่ว่าตอนที่ยืนเดินนั่งหรือนอน (ไม่ได้หลับ) เป็นได้ทั้งวันทั้งคืน เป็นอย่างนี้มาสองปีแล้วครับ ตั้งแต่เริ่มฝึกสมาธิ (ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการนั้น) ก็พิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นแบบนี้ผมทำถูกต้องหรือไม่ และควรจะต้องทำอย่างไรต่อครับ เพราะกลัวว่าอาจจะทำอะไรข้ามขั้นตอนไป อยากทำแบบค่อยเป็นค่อยไปครับ
พระอาจารย์ : ถ้าอยากให้ค่อยเป็นค่อยไปก็ทำจิตให้รวมเป็นสมาธิก่อน ยังไม่ต้องไปกำหนดพิจารณาจิต ไม่ต้องกำหนดอะไรทั้งนั้น ให้อยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียว หรืออยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียวให้จิตรวมเป็นหนึ่งสักแต่ว่ารู้เป็นอุเบกขาก่อน แล้วขณะที่รวมอยู่ในสมาธิก็อย่าไปทำอะไร อย่าไปพิจารณาทางปัญญา ปล่อยให้จิตอยู่กับความว่างความสงบไปนานๆ จนกว่าจิตจะออกมาจากสมาธิ แล้วค่อยมาพิจารณาการเกิดดับของร่างกาย การเกิดดับของลาภยศสรรเสริญ ของพวกนี้มันสำคัญกว่า เพราะมันเวลาเงินหมดนี้มันเป็นยังไง สุขหรือทุกข์ ชอบไปดูไอ้เกิดดับเกิดดับในจิต มันไม่มีปัญหาอะไร มันเกิดดับก็เรื่องของมัน แต่เวลาเงินมันดับนี้ มันเป็นยังไง ทุกข์หรือเปล่า แล้วจะทำยังไงไม่ให้ทุกข์กับมัน ก็อย่าไปใช้เงิน อย่าไปพึ่งเงิน อย่าไปมีเงิน อยู่แบบไม่มีเงิน อันนี้ดีกว่า
ถ้าจะดูการเกิดดับ อย่าไปดูในขณะที่นั่งสมาธิเลย ไม่มีประโยชน์ ดูเกิดดับในขณะที่ออกจากสมาธิดีกว่า เวลาเงินหมดนี้จะทำยังไง เวลาถูกเขาปลดออกจากงานจะทำยังไง เวลาแฟนทิ้งเราจะเป็นยังไง ดูดับแบบนี้ดีกว่า ดูแล้วดูว่าเราทำใจได้หรือเปล่า ไปดูเกิดดับเกิดดับในใจ ดูไอ้นั่นเกิดแล้วดับ ไอ้นี่เกิดแล้วดับ มันได้อะไร มันไม่มี มันไม่เป็นอะไรที่มีความมีผลกระทบกับจิตใจเราเลย ดูของหรือสิ่งที่มันดับแล้วมันสะเทือนใจเราสิ เช่นคนที่เรารักมากๆ เวลาเขาดับนี้เป็นยังไง เราไม่สะเทือนใจได้ไหม เราเฉยๆได้ไหม อันนี้ต่างหากถ้าอยากจะดูทางปัญญา
แต่อย่าเพิ่งไปทางปัญญาเลย ถ้ายังไม่มี จิตยังไม่รวมเป็นสมาธิ ไปก็ทำใจไม่ได้อยู่ดี พอเห็นอะไรที่รักเกิดสูญเสียสิ่งที่รักไปก็สะเทือนใจ แต่ถ้ามีสมาธิจิตรวมได้แล้ว จะใช้ปัญญาสอนใจได้ว่า ก็เขาไม่เที่ยง ไปห้ามเขาไม่ได้ เขาจะตายไปเราห้ามเขาไม่ได้ เขาจะจากไปเราห้ามเขาไม่ได้ พอมีปัญญาแล้วมีสมาธิกำกับกันใจก็จะไม่สะเทือน ใจก็จะเฉย.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





"คนที่กำลังจะตายนั้น ถ้าจิตไปเกาะยึดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
วิญญาณที่ออกจากร่างไปก็วนเวียนไปเกาะอยู่กับสิ่งนั้น
เหมือนกับผลไม้ที่ห้อยอยู่กับกิ่งบนต้นของมัน ถ้ากิ่งมันเอนไปอยู่ตรงที่ดี
ผลของมันก็หล่นลงมางอกตรงที่ที่ดี ถ้ากิ่งมันเอนไปอยู่ตรงที่ที่ไม่ดี
ผลที่หล่นลงมาก็จะงอกตรงที่ที่ไม่ดีนั้น
คนที่ไม่มีสมาธิ จิตใจมีนิวรณ์ความกังวล ห่วงลูกห่วงหลาน
ห่วงคนโน้นคนนี้ เวลาตายวิญญาณก็ไปเกาะอยู่ที่ลูกที่หลาน
บางคนกลับไปเกิดเป็นลูกของลูกตัวเองก็มี
บางคนที่พ่อแม่ทิ้งมรดกที่สวนไร่นาไว้ให้ ก็เป็นห่วงสมบัติของตน
พอตายไปก็ไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในสวนในนาก็มี
บางคนก็ไปเกิดเป็นผีสางนางไม้เฝ้าทุ่งนาป่าเขาก็มี พวกนี้เป็นพวก
สัมภเวสี คือ วิญญาณลอยไปเที่ยวหาที่เกาะ
ถ้าจิตของเราตั้งอยู่ในบุญกุศล เราก็จะมีสุคติเป็นที่ไป
ถ้าจิตของเราตั้งอยู่ในบาปอกุศล วิญญาณของเราก็จะต้องไปสู่ทุคติ
ไม่ได้ไปเกิดในโลกที่ดี โลกที่ดีนั้น คือ โลกที่ไม่มีภัย เป็นโลกแห่งเทวบุตร
เทวดานางฟ้า ไม่มีความทุกข์ภัยใดๆ ในโลกของเทวดานั้นมีแต่เกิดกับตาย
ไม่มีแก่ไม่มีเจ็บ โลกมนุษย์มีทั้ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย
โลกนิพพานไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งตาย"
ท่านพ่อลี ธัมมธโร






...สติตัวเดียว...
..ถ้ามีสติตัวเดียว สิ่งต่าง ๆไหลเข้ามาในด้านฝ่ายดี ทั้งความสงบ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันไหนก็ไหลเข้ามา มีสติควบคุมจิตใจ ของภายนอกไม่ได้เกี่ยวนะ มันวาง มันรู้หมด จะเข้ามาแทรก เป็นอาการ คล้าย ๆ ว่าเป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้สติรู้เลยนะ ที่จะเข้ามาแทรกในจิตใจ ยกตัวอย่าง นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ อันไหน มาเบามาแรง อันไหน มาช้ามาเร็ว อันไหน มาโผงผาง อันไหน มาละเอียด นิ่มนวล รู้หมด..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..




“วิธีหาความสุขแบบไม่มีพิษไม่มีภัย”
โรคใจของพวกเราเกิดจากการที่เราไม่สามารถหยุดความโลภหยุดความอยากของเราได้ ความโลภความอยากนี้แหละทำให้ใจของเราไม่สบาย เพราะเราต้องดิ้นรนหาสิ่งที่เราอยากได้กัน ได้มาแล้วก็ไม่หาย ความโลภก็ไม่หายความอยากก็ไม่หาย แต่กลับจะมีความอยากได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาหยุดความโลภ หยุดความอยาก โดยการทำใจให้สงบ นั่งพุทโธๆๆ ไป ใจสงบแล้วใจจะนิ่งจะสบายมีความสุข แล้วความอยากความโลภก็จะหายไป เงินทองก็จะอยู่เงินทองก็จะไม่หาย เงินทองจะหายก็ต่อเมื่อความโลภความอยากมันโผล่ขึ้นมา ถ้าความโลภความอยากหายไป เงินทองก็จะอยู่ เงินทองกับความโลภความอยากนี้รู้สึกว่ามันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วเงินทองมันจะต้องหมด ถ้ามีความโลภความอยากโผล่ขึ้นมานี้ เดี๋ยวเงินก็ต้องปลิวออกจากกระเป๋าไปแล้ว เดี๋ยวเห็นของในร้านสวยๆ งามๆ ก็อยากจะได้กัน ได้มามากได้มาน้อยก็ไม่พอ เดี๋ยวไปเห็นของใหม่ก็อยากได้อีก
ฉะนั้นขอให้เราลองมาเอาแบบที่พระพุทธเจ้าสอนดีกว่า เอาเวลามาควบคุมความโลภควบคุมความอยากกันดีกว่า ด้วยการใช้สติด้วยการใช้ปัญญา สติ ก็คือต้องหยุด คือการที่ให้ใจนี้ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เรียกว่าการมีสติ ถ้าปล่อยให้ใจคิดนี้แสดงว่าไม่มีสติ วิธีที่จะทำให้ใจไม่คิดเราก็ต้องให้ใจคิดอยู่กับเรื่องเดียว เหมือนกับเดิน ให้เดินอยู่กับที่อย่างนี้ มันก็จะไม่ไปไหนให้เดินอยู่กับที่ ถ้าเดินตามความอยาก มันก็จะพาเดินไปถึงไหนถึงกัน ไปแล้วก็ไม่ได้อะไร ได้แต่ความเหนื่อยได้แต่ความอยาก ลองมาหยุดความคิดกันดู ลองใช้สติคือพุทโธๆ ดูลองระลึกถึงพุทโธๆ อยู่ภายในใจไม่ต้องออกเสียง แทนที่จะคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ให้คิดอยู่กับพุทโธๆ ถ้าเบื่อกับคำว่าพุทโธๆ ก็ให้เราคิดอยู่กับบทสวดมนต์ไป สวดมนต์ อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เหมือนร้องเพลง แต่อย่าร้อง เพราะเพลงมันทำให้เกิดความอยาก ถ้าเราสวดมนต์แล้วมันจะทำให้ใจไม่อยากทำให้ใจสงบทำให้ใจเบาสวดมนต์ไปก่อนก็ได้ แล้วค่อยมาพุทโธๆๆ จนกว่าใจจะไม่คิดก็หยุดได้ ถ้าใจคิดก็พุทโธใหม่ เหมือนรถเวลามันไหลเราก็ต้องเหยียบเบรค พอมันไม่ไหลแล้วก็ถอนเบรคออกได้ พอมันไหลเราก็เหยียบเบรคใหม่
นี่คือวิธีหาความสุขแบบไม่มีพิษไม่มีภัย เพราะว่าเราไม่ต้องไปเสียเงินทอง ไม่ต้องไปหาเงินหาทอง การหาเงินหาทองนี้ลำบาก และอาจจะเสี่ยงต่อการไปทำบาปได้ทำผิดกฏหมายได้ แต่ถ้าเราหยุดใจได้ เรามีความสุขจากการที่ใจมีความสงบนี้ เราก็ไม่ต้องไปหาความสุขแบบอื่น เราก็ไม่ต้องไปเที่ยวกัน ไม่ต้องไปดูไปฟัง ไม่ต้องไปโรงภาพยนตร์ ไม่ต้องไปสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่บันเทิงต่างๆ อยู่บ้านอย่างปลอดภัย บ้านเรานี่แหละเป็นที่น่าอยู่ที่สุด ถ้าเราสามารถทำใจให้สงบแล้ว เราจะไม่อยากออกจากบ้าน นี่เราต้องออกจากบ้านกันก็เพราะว่าใจเราไม่สงบ ใจเรามีความอยากหาความสุขจากรูปจากเสียงจากกลิ่นจากรสต่างๆ เราก็เลยต้องพาร่างกายเราไปหารูปเสียงกลิ่นรสกัน ออกจากบ้านไปแต่ละครั้งก็ต้องเสียเงินทอง เสียค่าใช้จ่าย ถ้าออกบ่อยๆ เงินทองก็จะหมดเร็ว เราก็ต้องเหนื่อยกับการไปหาเงินมา เพราะเราขาดเงินไม่ได้ โดยเฉพาะเงินที่จะเอามาใช้กับสิ่งที่จำเป็น คือปัจจัยสี่ อาหารเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค แต่ถ้าเราไม่ไปเที่ยวนี้ เงินทองที่เราจะเอามาใช้กับปัจจัยสี่นี้มันจะเหลือเฟือ และจะทำให้เราไม่ต้องดิ้นรนกับการหาเงินทองมากเกินไป เราก็จะทำงานน้อยลงก็ได้ หาเงินน้อยลงก็ได้ เราก็จะมีเวลามาหยุดใจ มาทำใจเราให้สงบ ทำใจเราให้มีความสุขมากขึ้น พุทโธนี่แหละถ้าเราทำได้ พุทโธๆ ไปทั้งวันเลยไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใดทำอะไร ขอให้มีพุทโธกำกับใจไปเรื่อยๆ แล้วความอยากจะไปหาอะไรต่างๆ มาให้ความสุข มันจะไม่มี แต่ถ้าเราไม่มีพุทโธแล้วเดี๋ยวเราก็อยากกินแล้ว เดี๋ยวเราก็อยากดื่มแล้ว เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากจะออกไปข้างนอก เดี๋ยวอยากจะไปโน่น เดี๋ยวอยากจะมานี่ พอไปที่โน่นเดี๋ยวก็อยากมาที่นี่ มาที่นี่แล้วเดี๋ยวก็อยากไปที่โน่น เพราะว่าเราไม่มีสติคอยกำกับใจคอยควบคุมใจของเรา ปล่อยให้ความอยากมันคอยผลักคอยดันเราให้ไป ไปแล้วก็เหนื่อย แล้วก็มีค่าใช้จ่าย ทำให้เราต้องไปดิ้นรนหาเงินหาทองมาใช้มาจ่าย มารับใช้ความอยากของเรา รับใช้เท่าไรมันก็ไม่หมดไม่เคยอิ่มไม่เคยพอ แต่ถ้าเราใช้พุทโธหยุดความคิดได้หยุดความอยากได้ ความอิ่มความพอมันจะเกิดขึ้นมาเอง.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





...นักปราชญ์เขาสอนเรา
สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา
ให้เราเห็นพระพุทธเจ้า
ให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าตอนนี้
ท่านทำอะไร.."ท่านนั่งสมาธิกัน"
.
"แล้วเรานั่งสมาธิกันหรือเปล่า"
วันหนึ่งนี้เรานั่งสมาธิกันได้สักกี่นาที
.
ความสุขอยู่ตรงนี้กลับไม่เอา
กลับไปหาความทุกข์กัน
แล้วก็มาร้องห่มร้องไห้
มาโวยวายกันว่า "ไม่มีความสุขเลย".
................................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 31/10/2560
พระอาจารยสุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





" โลกจรวดโลกดาวเทียมอันทรงมีอยู่ในโลกสมมุติ ไม่สำคัญเลย.
พระอรหันต์ข้ามโลกจรวดโลกดาวเทียมไปแล้วด้วยพระปัญญาญาณ
เรียกว่าจรวดจริงดาวแท้มิใช่ดาวเทียม ไม่มีจรวดใดๆ และดาวเทียมใดๆ จะมาเทียบได้
ชาวโลกเป็นส่วนมาก ชักจะมักเอาแต่กิเลสมาแข่งกันอันปราศจากทางดี ฯ "
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต




ภาวนามีอานิสงส์มากกว่าบุญทั้งหลาย
.
การทำบุญให้ทาน รักษาศีลนี้ เป็นกิ่งของการภาวนา ถ้าการภาวนามีหลักมีเกณฑ์ดีเท่าไร เรื่องการทำบุญให้ทานภายนอกนั้นจะมีกำลังดึงดูดกันเอง มีกำลังไปเอง เพราะอำนาจแห่งการภาวนา ความเชื่อมั่นในจิตของตัวเองจากภาวนานี้เป็นเครื่องหนุนให้ทำความดีหนักเข้า ๆ หนักเข้าในเรื่องบุญเรื่องกรรม ทุกอย่างหนักเข้าไป การภาวนาจึงเป็นของสำคัญ….
.
...การภาวนานี้มีอานิสงส์มากยิ่งกว่าการสร้างบุญทั้งหลายนะ จะได้สั่งสมบุญกุศลตลอด จะรู้เห็นอะไรไม่เห็นอะไรก็ตาม ส่วนบุญกุศลเกิดขึ้นจากการภาวนา เป็นรากฐานสำคัญและมีอานิสงส์มากด้วย จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจทำภาวนา บำรุงลำต้นให้ดี กิ่งก้านสาขาดอกใบจะแตกกระจายออกไป
..................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2545






...สติเป็นของสำคัญ...
..ถ้าเรา ไม่พินิจพิจารณา ฝึกหัดให้รู้ให้เห็นแล้ว ก็หลงไปตามอาการของมันหละ กระเท่เล่ห์เหลี่ยม ร้อยแปดพันอย่าง กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด กระเท่เล่ห์เหลี่ยมมันหมดหละ เกลี้ยกล่อมจิตใจ จนหลงทีปหลงแดน จนหลงมาเกิดมาตาย นับกัปนับกัลป์ไม่ได้นะคนเรา ถ้าไม่รู้เท่าทันในอาการของมัน ฉะนั้น ท่านจึงว่า ฝึกหัดเอาสติเป็นตัวการสำคัญ ทำคนให้เป็นคน ทำคนให้เป็นเทวดา ทำคนให้เป็นอินทร์ เป็นพรหม ทำคนให้เป็นพระอริยะเจ้า เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า ตัวสติ ตัวเดียวเป็นตัวดั้งเดิม ต้นเค้าเหง้ามูล ฉะนั้น การฝึกหัดสติ จึงจัดว่าเป็นของสำคัญ..
..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..





“ปฏิบัติจึงจะรู้”
..นำตัวเอง ให้ประพฤติปฏิบัติ ฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนา ให้เป็นสมาธิลอง ๆ ดู สมาธินี้ชื่อมันนะ ตัวจริงมันเป็นยังไง เคยพูดอยู่ไม่หยุด ให้ตัวเราได้รู้จักนะ โอ..อย่างนี้นะสมาธิ มีรสชาติขนาดนี้ มีลักษณะอาการอย่างนี้ มีความสุขขนาดนั้น ขนาดนี้ รู้จักบ้างนะ อ่านได้นะ เหมือนอย่างเรากินของเปรี้ยว ของหวาน ของเผ็ด ของเค็ม ก็รู้ว่า อันไหนมันเผ็ดน้อย เผ็ดมาก อันไหนมันขม มันเปรี้ยว มันหวานยังไง รู้นะ ลักษณะของการประพฤติปฏิบัติ ก็ต้องมีการทดสอบเหมือนกัน ท่านจึงว่าให้ โอปะนะยิโก น้อมเข้ามาสู่ใจ ๆ ผู้ที่ท่านบาง ๆ หน่อย มองเห็นใบไม้เหลือง ๆ ร่วงลง น้อมมาหาตัวเองเลย เอ่อ..ใบไม้แก่มา มันก็ตายนะ ร่วงลง มันก็แห้ง เราก็จะตายเหมือนกันนะ กำหนดมาดูตัวเอง จิตใจลงพรึบเลย ได้ดวงตาเห็นธรรมพร้อม อย่างนี้ก็มีนะ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง วันอาสาฬหบูชา





"หลวงปู่แบน ธนากโร ให้สติแก่พวกเรานักปฏิบัติ"
....อยู่ที่ไหน ก็ให้อยู่ด้วยปรารภความพากความเพียร ใจสงบ อยู่ที่ไหนก็สงบ
ไม่ว่าเวลาไหนให้เอาใจอยู่กับกองกรรมฐานกองนี้ เอาใจอยู่กับการภาวนา อยู่กับหนังหุ้มกระดูก ไม่ว่าจะทำอะไร ให้อยู่กับหนังหุ้มกระดูก อยู่กับอาจารย์ใหญ่คือกายของเรานี้.


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO