นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 4:05 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: กำลังของสติ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 13 ต.ค. 2017 1:11 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4539
“ถึงความเห็นของเราจะถูก
แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด”
-:- ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก -:-




"อย่าพยายามทำคนอื่น ให้เหมือนใจเรา
เพราะเรา ก็ทำให้เหมือนใจคนอื่นไม่ได้"
-:- หลวงปู่จันทร์ กุสโล -:-






“ กำลังของสติ”

จิตมันไม่แน่นอน สภาพของจิตใจมันไม่แน่นอน แล้วก็กำลังสติของเราก็ไม่แน่นอน บางวันถ้าเรามีสติดี ใจก็จะสงบง่าย บางวันถ้าสติไม่ดีก็จะสงบยาก จุดตัวสำคัญก็คือสติ กุญแจสำคัญในการฝึกสมาธิก็คือสติ ถ้าสติไม่ดี ก็เหมือนกับรถเบรคไม่ดี เบรคไม่ดีก็จะเบรคไม่ค่อยได้ผล แหกโค้งตกข้างถนนลงคู ชนกับรถคันนั้นรถคันนี้ แสดงว่าเบรคไม่ดี ถ้าเบรคไม่ดีมันก็เหมือนสติไม่ดี จิตก็ไม่ยอมหยุดคิด คิดเรื่องนั้นแล้วก็มาคิดเรื่องนี้ คิดไปคิดมาอยู่เรื่อยๆ ถ้ามีการคิดอยู่เรื่อยๆมันจะไม่สงบ นั่งแล้วจะไม่ได้ผล แต่ไม่ใหม่อาจจะต้องทนหน่อยเพราะสติของเรายังเป็นเหมือนเด็กทารกอยู่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่บางทีก็ไม่เผลอมากบางทีก็เผลอมากเราต้องฝึกสติก่อนที่มานั่งด้วยติ๋มจะดีจะช่วยได้มากถ้าเราฝึกสติอยู่ในชีวิตประจำวันของเราไม่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ให้มีพุทโธ พุทโธ พุทโธ อยู่ในใจ ถ้าสิ่งที่เราทำไม่ต้องใช้ความคิด ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความคิดก็หยุดพุทโธไว้ก่อน แล้วก็มีสติอยู่กับความคิด อยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่ พอไม่ต้องคิดแล้วเราก็หยุดคิด ถ้ามันไม่ยอมหยุดคิดจะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ใช้พุทโธ หยุดมัน ถ้ามันไม่คิดมันรู้เฉยๆก็ไม่ต้องพุทโธ ถ้ารู้ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังทำอะไรอยู่ ก็ไม่ต้องใช้พุทโธก็ได้ ตราบใดที่มันไม่คิดมีแต่รู้

ใจเรานี้มีสองส่วน คือคิดกับรู้ การฝึกสมาธินี้เราต้องการหยุดความคิดให้เหลือแต่ตัวรู้ แล้วใจจะสงบ จะมีความสุข ถ้าเราอยู่กับตัวรู้ได้ ใจของเรานี้จะปลอดภัย แต่ถ้าเราไปอยู่กับความคิด ใจเราจะเดือดร้อนได้ เพราะความคิดของเรามันคิดไปได้ทั้งทางที่ดีหรือทางที่ไม่ดี ส่วนใหญ่มันจะคิดไปในทางที่ทำให้เราเดือดร้อนกัน คิดไปตามความอยากต่างๆ พอคิดไปตามความอยากใจก็จะร้อนขึ้นมา จะทำให้ดิ้นรน วุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะเวลาเกิดความอยากแล้ว ถ้ายังไม่ได้สิ่งที่อยากอยู่นี้ มันจะเฉยไม่ได้ มันต้องผลักดันตัวเองไปหาสิ่งที่อยากได้ ถ้าไม่ได้ก็เสียใจน้อยใจ โกรธ ถ้าได้ก็ดีใจเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็มีความอยากใหม่ขึ้นมาอีก ถ้าเราหยุดความคิดได้ ความอยากต่างๆก็จะหยุด เพราะว่าความอยากต้องมีความคิดเป็นตัวนำหน้า ถ้าไม่มีความคิดแล้วความอยากก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ที่เรามาฝึกนั่งสมาธินี้ก็เพื่อหยุดความคิดหยุดความอยากแล้วใจของเราก็จะเป็นปกติสุขใจของเราใจเย็นจะสบายใจเราร้อนใจเราวุ่นวายก็เพราะความคิดของเราความอยากของเรานี้เองวิธีที่จะหยุดความคิดหยุดความอยากได้ก็ต้องใช้สติฝึกสติไปให้มากๆ อย่าฝึกสติเฉพาะตอนที่เรามานั่งสมาธิกัน ฝึกมันทั้งวันเลย ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ถ้าเราไม่ต้องใช้ความคิดกับเรื่องอะไร ก็ให้มันอยู่กับพุทโธ หรือว่าให้มันอยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่ กำลังล้างหน้าแปรงฟันอาบน้ำ ให้มันอยู่กับการล้างหน้าแปรงฟันอาบน้ำ อย่าให้มันทำสองอย่าง ร่างกายอาบน้ำแต่ใจกลับกำลังไปคิดถึงว่าจะไปทำอะไรดีไปหาใครดี อย่างนี้ เรียกว่าไม่มีสติ มีสติต้องอยู่กับเรื่องเดียว อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อยู่กับการทำงาน การเคลื่อนไหวต่างๆของร่างกาย หรือไม่เช่นนั้นก็อยู่กับพุทโธ พุทโธไป ถ้าเราฝึกแบบนี้ไปได้เรื่อยๆแล้ว เราจะมีสติ เวลานั่งสมาธิ ใจของเราจะสงบได้ ใจสงบแล้วเราจะมีความสุข เพราะไม่มีความสุขอื่นใดที่ดีกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบ.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






“ ไม่เข้าใจ”

ถาม :กระผมกราบเรียนถามครับ ตา หูจมูก ลิ้น เป็นทวารที่เกิดกิเลสและตันหาต่างๆ ผมเข้าใจว่า ตานี้เพียงแต่สักแต่เห็น หูสักแต่ได้ยิน แต่ทีนี้ใจนี่ ผมยังไม่เข้าใจครับ พระอาจารย์ช่วยชี้แนะให้ผมเข้าใจ แล้วนำไปปฏิบัติต่อไปครับ

พระอาจารย์ : ก็ใจมันไปปรุงแต่ง ไปคิดไปจำว่าเป็นของเราเป็นของเขา มันก็เลยเกิดอุปทาน เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ไม่ได้เห็นเฉยๆตามที่ตาเห็น ตามันเห็นเฉยๆ แต่ใจมันไม่ได้เห็นเฉยๆ ใจมันไปคิดว่าเป็นของเรา พอคิดว่าเป็นของเรามันก็หวง ห่วงขึ้นมา มันก็ทุกข์ขึ้นมา มันต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ต้องเปลี่ยนว่ามันไม่ใช่ของเรา มันไม่เที่ยง ถ้าไปยึดไปติด ก็จะทำให้เราทุกข์ ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่

ถาม : เปลี่ยนความคิดใหม่ ถ้ามันยังไม่หาย ก็กลับไปนั่งสมาธิ ถูกต้องไหมครับ

พระอาจารย์ : ออใช่ ยังไม่มีกำลังที่จะทำให้มันหยุด ปล่อยวาง ก็ต้องกลับไปนั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิสงบมันก็จะปล่อยวางได้ชั่วคราว พอออกมาก็สอนมันใหม่ สอนว่าไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยง อย่าไปยึดไปติด เพราะเดี๋ยวมันจากเราไป มันจะทำให้เราทุกข์

ถาม : สาธุผมเข้าใจแล้ว และก็จะนำไปปฏิบัติต่อไปครับ

พระอาจารย์ : ดี สาธุ

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






ถาม : ถ้านั่งแล้วปวดขา จะมีวิธีคิดอย่างไร
ให้อดทน และไม่ต้องขยับครับ

.
พระอาจารย์ : ก็ให้ลืมมันอย่าไปสนใจมัน
ให้อยู่กับพุทโธ พุทโธ เหมือนเวลาเราดูหนัง
บางทีปวดฉี่เรายัง"ไม่สนใจ" เราดูหนังต่อไปได้
รอให้หนังจบแล้วค่อยไปฉี่ยังได้

.
หรือนั่งเล่นไพ่ บางทีปวดฉี่ยังไม่ยอมลุก
เพราะมัน "มีอะไรให้มันทำ" มันก็เลย
ไม่มาทุกข์กับความปวดฉี่

.
อันนี้ก็เหมือนกันเวลานั่งแล้วมันปวดขา
ถ้าเรามีอะไรให้มันทำ เช่นมี พุทโธ
ให้มันบริกรรมอยู่ หรือให้มันสวดมนต์
มันก็จะลืมเรื่องความเจ็บได้
.."แล้วความเจ็บก็จะไม่มารบกวนใจ"..

.....................................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 10/9/25602
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







“ ตัวที่เป็นปัญหาคือเรา”

ถาม : โดนด่าแรงๆ ทำยังไงไม่ให้ทุกข์ใจคะ

พระอาจารย์ : ก็อย่าไปสนใจ คิดว่าเสียงด่าเป็นเหมือนเสียงฝนตก เราห้ามมันไม่ได้ เราสั่งมันไม่ได้ ฝนมันจะตกแรงขนาดไหน เราก็ไปห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่ทุกข์กับมันเพราะอะไร เพราะเราไม่ไปอยากให้มันหยุด หรือไม่ต้องการฟังมัน

แต่พอเราได้ยินเสียงด่า มันก็ทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะเรามีความอยากไม่ต้องการจะฟังมัน ฉะนั้นเราต้องพิจารณามันว่าเสียงด่าหรือเสียงฝนมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน คือเราห้ามมันไม่ได้ สั่งมันไม่ได้ แต่เราอยู่กับมันได้ ถ้าเราอยู่กับเสียงฝนตกได้เราก็ต้องอยู่กับเสียงคนด่าได้ มันก็เสียงเหมือนกัน อยู่ที่ว่าใจเราไปเลือก กับเสียงฝนนี่ เราอยู่กับมันได้เพราะเราไม่มีความอยาก แต่พอเสียงคนแล้ว เรามีความอยากไม่ฟังมันก็เลยทุกข์ ขึ้นมา ฉะนั้นก็เวลาทุกข์ก็รีบพุทโธ พุทโธไป ก่อนก็แล้วกัน ถ้ายังใช้ปัญญาสอนใจให้มันหยุดไม่ได้ ก็ใช้สติคือ พุทโธ พุทโธ ไปก่อน มันก็จะบรรเทาทุกข์ได้ เขาด่ายังไงเราก็จะไม่เสียใจ เราจะไม่ไปคิดถึงมัน เขาด่าแป๊บเดียววินาทีหนึ่งก็ผ่านไปแล้ว แต่บางทีเรามาคิดทั้งวัน เหมือนกับเปิดเทปฟังใหม่เรื่อยๆ พอไปคิดถึงคำด่าเขา ก็ทุกข์

คิดถึงคำด่าเขาก็ทุกข์ เพราะอยากให้เขาไม่ด่า ฉะนั้นอย่าไปคิดถึงคำด่าเขา เขาพูดปั๊บมันผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว แต่เรายังเอากลับมาฟังอยู่เรื่อยๆ เขาด่าหนเดียวแต่เราเอากลับมาด่าตัวเราอีกไม่รู้กี่สิบครั้ง ตัวที่เป็นปัญหาไม่ใช่เขาแล้ว เขาด่าครั้งเดียวใช่ไหม ตัวที่เป็นปัญหาก็คือเราแล้ว เรากลับมาด่าตัวเราซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็เลยทุกข์อยู่เรื่อยๆ

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





" แม่ทับอ้ายกิเลสนี้ แม่ทับกองพลของมันก็คืออ้ายตัวหลงๆ นี้เอง.
มันเป็นของคล่องแคล่วว่องไวแท้ๆ หนา.
พระมหาสติพระมหาสัมปชัญญะ มหาปัญญาเท่านั้นจึงจะชนะมันได้.
โง่ๆ หลงๆ ลืมๆ สู้มันไม่ได้ดอก ๚ "

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต





...ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร
"เหมือนกันหมด"
ใช้ "ไตรลักษณ์" ได้หมด

.
เรื่องเงินทอง เรื่องข้าวของ
เรื่องงานการ เรื่องอะไรต่างๆนี่
มันทุกอย่างไม่เที่ยงแท้แน่นอน

.
เราไปควบคุมบังคับมันไม่ได้
พอไปอยากจะควบคุมบังคับมันปั๊บนี่
มันจะทุกข์ขึ้นมาทันที

.
พอเราหมดความอยากที่จะไป
ควบคุมบังคับให้มันเป็นไปตาม
ความต้องการของเราแล้ว
"ใจของเราจะไม่ทุกข์กับมัน"
ใจเราจะสงบ.
..........................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 11/10/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






"เวลาความอยากมันเกิดขึ้น
อะไรมันอยาก
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันอยากมั้ย
ถามมัน
ถาม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง...
ตรงใหนก็ไม่มีความอยากแม้แต่น้อย
แม้ถามใจเรา
ฟังอยู่เฉยๆ ตั้งใจฟังคำตอบ
ใจมันก็ไม่บอกว่า ข้าพเจ้าเป็นใจ ข้าพเจ้าอยาก.
นั้น! แล้วอะไรมันอยาก
ความอยากก็คือความอยาก
ความอยากเกิดจากใจเราที่ว่างจากธรรมมะ
เมื่อว่างจากธรรมมะ ความอยากก็เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาทันที"

หลวงปู่แบน ธนากโร






“ ต้องสู้”

ถาม : พยายามฝึกปฏิบัติเองที่บ้าน ตั้งเป้าหมายว่าจะปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตื่นเช้ามาก็สวดมนต์เดินจงกรมพอทำกิจกรรมเหล่านี้เสร็จ ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอะไรต่อถึงจะปฏิบัติได้ทั้งวัน ขอหลวงพ่อเมตตาแนะนำด้วยค่ะ

พระอาจารย์ : อ้าว ก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อไปสิ ฝึกสติไปอย่างเดียว ควบคุมความคิดดึงความคิดไว้ อย่าปล่อยให้ใจเถลไถลไปคิดเรื่องต่างๆ พอเดินจงกรมเมื่อยก็มานั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิเมื่อยก็ลุกขึ้นมาเดิน เพียงแต่ว่ามันจะเบื่อเสียก่อนละสิ ปัญหาคือมันจะสู้ความเบื่อไม่ได้ ถ้าเบื่อก็เกิดจากความอยากจะไปทำอย่างอื่น อยากไปเที่ยวแล้ว อยากจะไปดูอะไรแล้ว อยากจะไปฟังอะไรแล้ว มันก็เลยทำให้สิ่งที่เราทำมันเบื่อ
เพราะเรายังไม่ได้ผล แต่ถ้าเราทำได้ผลแล้ว มันจะไม่เบื่อ มันจะติดใจ มันจะชอบ มันจะไม่อยากจะไปทำอย่างอื่น ฉะนั้นต้องพยายามทำให้ได้ผล ถ้ายังไม่ได้ผล เวลาเบื่อก็ ทนความเบื่อไป เดินไปมันจะเบื่อกูก็เดิน มันจะเบื่อกูก็จะนั่ง กูก็จะพุทโธของกูไป ดูลมหายใจไป ต้องสู้กับความเบื่อให้ได้ ที่เราปฏิบัติกันไม่ได้นานก็เพราะมันเบื่อเท่านั้นแหละ ถ้ามันไม่เบื่อแล้ว รับรองได้ปฏิบัติแล้วมันสนุก มันมันส์ ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีสติเท่าไหร่ จิตยิ่งนิ่ง ยิ่งสงบ ยิ่งสบาย
ฉะนั้นพยายาม ช่วงแรกมันจะยากหน่อย เพราะว่ามันต้องต่อสู้กับความเบื่อ ต่อสู้กับความอยากเยอะ ถ้าเราสามารถทำให้มันสงบได้ครั้งหนึ่งแล้ว ทีนี้ความเบื่อความอยากมันก็จะอ่อนกำลังไปเยอะ ถ้าเป็นนักมวยก็เหมือนกับถูกนับแปด เนี่ยถ้าคู่ต่อสู้ของเราถูกชกล้มลงไปแล้วนับแปดนี้ พอลุกขึ้นมานี้มันไม่มีกำลังเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราก็สามารถลุยมันได้เลยครั้งต่อไปมันก็นับสิบเลย ฉะนั้นพยายามต้องอดทน ต้องต่อสู้ต้องมีความแน่วแน่ มีความเพียรมากๆ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ให้คิดอย่างนี้ พยายามสร้างสติตัวเดียวนี่แหละ อย่าไปกังวลกับเรื่องอื่น ตอนเริ่มแรกไม่ต้องไปกังวลเรื่องปัญญา เรื่องอะไรทั้งนั้น ให้เดินจงกรมนั่งสมาธิ ให้อยู่กับเรื่องเดียว คิดอยู่อย่างเดียวพุทโธก็ได้ ร่างกายก็ได้ อย่าไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอคิดแล้วมันจะอยาก แล้วมันจะเบื่อ แล้วมันก็จะไม่มีกำลังที่จะปฏิบัติ แล้วเดี๋ยวมันก็ยกธงขาว (หัวเราะ) เราเคย เราก็ผ่านมาแล้ว แต่พอเราแพ้สักครั้งสองครั้ง มันได้สติ ไปกลับมามันก็เหมือนเดิม ไปกลับมาก็ต้องมาเจอที่เดิม ก็ต้องมาเจอปัญหาเดิม นี่ถ้าเจอปัญหาเดิมก็ลุยมันเลยดีกว่า เอาให้มันผ่านไปเลยดีกว่า อย่างนั้นมันจะไม่มีวันผ่านไป พอมาเจอความเบื่อก็ถอย เจอความเบื่อก็ถอย มันก็ผ่านไปไม่ได้ ฉะนันวิธีจะสู้ความเบื่อต้องฝืนใจ นั่งสมาธิไปดูลมไปพุทโธไป นั่งไม่ได้ก็ลุกขึ้นมาเดินไป ต้องสู้กัน รู้สึกในประวัติของพระพุทธเจ้านี้ ท่านพยายามถึงสลบไสลถึงสามครั้ง มันต้องสู้ สู้กับกิเลสไม่ได้สู้กับร่างกาย ร่างกายมันไม่มีอะไรหรอก แต่ตัวกิเลสมันทำให้เรารู้สึกว่าเราทุกข์ทรมานมาก แต่ความจริงร่างกายมันไม่ทุกข์ทรมานอะไร.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






...ลองสังเกตุดู ของทุกอย่าง
ที่เราอยากได้ หรือได้มาแล้วนี้
"มันกลายเป็นอะไรต่อไป"
มันกลายเป็นขยะ..ก็ทุกข์แล้ว
เก็บไว้ในบ้านไม่ได้
.
เวลาซื้อเครื่องดื่มมา
เวลามีเครื่องดื่มเก็บไว้ในรถได้
พอดื่มหมดแล้ว เก้บไว้ไม่ได้
ต้องโยนทิ้งข้างถนนเลย

.
ทำไมต้องไปทิ้งมันด้วยล่ะ
มันเป็นของอันเดิมอยู่
เพียงแค่ไม่มีน้ำให้ดื่มแล้ว
ทำไมไม่เก็บไว้ไปใส่ถังขยะล่ะ

.
เพราะมันรำคาญแล้ว
"พอมันเป็นขยะ"
ก็ไม่อยากจะเก็บมันไว้แล้ว
เห็นไหม.
........................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 12/10/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






“ เรื่องของธรรม”

การฟังธรรมกับการแสดงธรรม ก็ต้องอาศัยสถานที่สงบ ถ้ามีเสียงอึกทึกครึกโครม มันก็รบกวนทั้งผู้แสดงทั้งผู้ฟัง เพราะฟังธรรม แสดงธรรมก็ต้องมีใจที่สงบ ถ้าใจไม่สงบแล้ว มันสับสน แสดงด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้แทนที่จะเห็นเหตุผลรู้เหตุผล ต้องมีใจที่สงบ ถ้าใจไม่สงบมันจะมองไม่เห็นเหตุมองไม่เห็นผล

นี่พอเสียงเข้ามามันก็ดึงใจไปจากเรื่องที่ว่ากำลังจะพูด เสียงมามันก็ดึงออกไป เดี๋ยวคนเดินเข้ามาอีก บางทีต้องปิดตาหลับตา แล้วไม่รับรู้ไม่เห็น เห็นแล้วใจมันไปแล้ว มันรับรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมา มันก็เลยไม่ได้อยู่กับเรื่องที่กำลังพูดอยู่การฟังธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดอานิสงส์ เกิดผล ก็จำเป็นจะต้องฟังในที่ที่สงบ ถึงจะได้ผลเต็มร้อย ผลที่เกิดจากการฟังธรรมก็มีอยู่ห้าประการด้วยกันคือ หนึ่งจะได้ยินได้ฟังธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน สองธรรมที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วถ้าได้ฟังซ้ำอีกก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้นไปตามลำดับ สามจะกำจัดความลังเลสงสัยต่างๆ ความขัดข้องใจสิ่งที่ขัดข้องใจต่างๆให้หมดไปได้ สี่จะทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ห้าจะทำให้จิตใจผ่องใส สงบ มีความสุข

ถ้าจะฟังให้ได้ผลนี่ ต้องนั่งเฉยๆ กายวาจาใจต้องสงบ นอกจากสถานที่ต้องสงบแล้ว กายวาจาใจของผู้ฟังก็ต้องสงบ กายก็คือร่างกายไม่เคลื่อนไหวนั่งเฉยๆไม่ทำอะไร วาจาก็ไม่พูดคุยกัน ใจก็ไม่คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดอยู่กับเสียงธรรม คิดอยู่กับเรื่องธรรมที่กำลังฟังอยู่ ถ้ามีกายวาจาใจที่สงบ ฟังแล้วก็จะได้ผลดี กายวาจาที่สงบก็เรียกว่าศีล คือตอนนี้ผู้ฟังได้เฉยๆนี้ถือว่ามีศีลแล้ว ร่างกายไม่ได้ทำบาป ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ลักทรัพย์ ไม่ได้ประพฤติผิดประเวณี ไม่ได้พูดปด วาจาก็ไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้ดื่มสุรายาเมา

มีกายวาจาที่สงบ เรียกว่าศีล ใจถ้าไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีความตั้งใจที่จะฟังธรรม ก็เรียกว่ามีสมาธิใจตั้งมั่น คำว่าสมาธิก็คือใจที่ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ไม่คิดปรุงแต่ง ถ้าฟังธรรมด้วยศีลหรือสมาธิ ผลก็คือปัญญาก็จะเกิด ปัญญาก็คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เห็นว่าบุญมีจริง บาปมีจริง ผลของบุญคือสวรรค์มีจริง ผลของบาปคือนรก อบายมีจริง ตายแล้วไม่สูญ ตายแล้วไปเกิดใหม่ ถ้าได้ปฏิบัติได้ชำระ ได้กำจัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ ใจก็ไม่ต้องไปเกิดใหม่ ใจก็ไปสู่นิพพาน นี่คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง

โดยปกติแล้ว ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม จะไม่รู้เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องผลของบุญผลของบาป ไม่รู้ว่าตายแล้วไม่สูญ ตายแล้วต้องไปรับผลบุญผลบาปต่อ ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดต่อถ้ายังมีกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจ ถ้าชำระกิเลสตันหาให้หมดไปจากใจได้ ตายไปก็ไม่ต้องไปเกิด ไม่ต้องไปรับผลบุญผลบาป นี่คือความเห็นที่ถูกต้อง ที่จะได้จากการฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะเวลาแสดงธรรมก็จะแสดงเรื่องราวเหล่านี้ เรื่องบุญเรื่องบาป อธิบายว่าบุญเป็นอย่างไรบาปเป็นอย่างไร ผลของบุญเป็นอย่างไรผลของบาปเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รับผลของบุญผลของบาป ใครไปเกิดใหม่ นี่คือเรื่องของธรรม ธรรมที่จะแสดงเรื่องของบุญของบาป เรื่องของผู้ไปรับผลบุญผลบาป เรื่องของผู้ไปเกิดแก่เจ็บตายใหม่ เรื่องของผู้ไปที่นิพพาน.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๐

อาจารย์สุชาติ อภิชาโต





“ท่านปฏิบัติแบบนี้”

..ท่านก็สอนว่า ไม่ให้ยึดใจอยู่ แต่มันก็ไป ใจมันหลง ว่าไม่หลงหละเรา แต่ก็ไปกับเขาอยู่อย่างนั้น ท่านสอนอยู่อย่างนั้น อยู่วัดไหน มีแต่ตำหนิร่างกายอย่างเดียว เป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด แบบนั้น แบบนี้ แต่เราก็ว่างามอยู่อย่างนี้ ใครมาด่าก็ปึงปังขึ้นมาเลย เขาว่าไม่ดีบ้าง เขาว่าไม่โก้ ไม่เก๋บ้าง ปิดไว้ของไม่ดี โดยมากมันจะเป็นอย่างนั้นนะเรื่องของใจ เพราะมันหลงในธาตุของโลกพอแรงแล้ว อยู่ในโลก ใคร ๆ มีแต่อยากเกิดทั้งนั้น ตั้งบ้านสร้างครอบสร้างครัว มีแต่พวกอยากเกิดทั้งนั้น ไปหาที่เกิด เคยออกมาจากที่ไหน ก็อยากเข้าไปที่นั้น นั่นใจ ใครก็เห็นชัดทุกคนนะ ไม่ได้ว่าให้นะ ว่าเราจะดึงใจตัวนี้ ออกมาจากสิ่งเหล่านั้น ให้มาอยู่ในความสงบ ไม่ให้วิ่งไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ลองดู ใจมันจะเปลี่ยนแปลงไปเลยนะ ว่าแต่มีสติควบคุมให้อยู่ ในจุดที่เราต้องการ นี้วิธีการของพระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติแบบนี้..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติธรรม





“เราก็คนเหมือนกัน”
..เรานี้ก็เป็นคนเหมือนกัน มีร่างกายเหมือนกัน ทำไมจะทำไม่ได้ ทำไม่ได้จะเป็นยังไงก็ให้มันเป็นไป แค่อยู่เฉย ๆ ก็จะไป จะแก่ จะเจ็บ จะตายกันทุกคน ใครก็ตาม มีเงินทองหลายล้านหลายโกฏิก็เป็นเหมือน อย่างเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็ไปเหมือนกัน ลอง ๆ กล้าหาญเด็ดเดี่ยวสักคนดูซิ เปลี่ยนจิตใจให้มันไปรู้ภายใน รู้ภายนอกมันรู้มาเยอะแล้ว ดูคนล้มคนตายไม่รู้มาเท่าไหร่แล้ว เกิดทีหลังก็ตายไปแล้ว เกิดก่อนก็ตายไปแล้ว เกิดพร้อมกันก็ตายไปแล้ว ตัวเองก็จะตายเหมือนกัน ลองให้จิตเข้าไปรู้ภายในบ้างเป็นไร ก็จะไม่ตื่นตัวสักครั้งเลยหรือ จะหยาบจะหนาขนาดนั้นเลยหรือ ลอง ๆ ตัวเองลงมือทำบ้างเป็นไร..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติธรรม






คนที่ทำอกุศลกรรมไว้มาก ทำบาปไว้มาก ไม่รักษาศีล ๕
จะมีคติกรรมนิมิตหรือกรรมนิมิตอารมณ์มาปรากฏให้เห็นก่อนตาย
เช่น เห็นแห อวน มีด ปืน เห็นสัตว์ที่เราฆ่า
อารมณ์ที่สะสมไว้เป็นอารมณ์ของอกุศลกรรมจะปรากฏก่อนตาย
กรรมนิมิตฝ่ายอกุศลกรรมจะนำไปสู่อบายภูมิ

ถ้ารักษาศีล ๕ ทำบุญกุศล
ตักบาตร ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่า สร้างกุฏิ สร้างศาลา สร้างโบสถ์
จะเห็นโบสถ์ เห็นพระพุทธรูป เห็นเทวดา
กรรมนิมิตฝ่ายกุศลจะมาปรากฏ ตายไปจะขึ้นสู่สุคติโลกสวรรค์

ท่านเตือนญาติโยมทั้งหลายว่า
อย่าได้ประมาท ให้ฝึกภาวนาตายก่อนตายไว้ทุกๆวัน
คืนนี้แหล่ะ ตี ๔ ตี ๕ ต้องตายก่อนสว่าง จะเตรียมตัวตายกันอย่างไร

ก่อนนอนสวดมนต์ไหว้พระ สมาทานศีล ๕ ด้วยตัวเอง
สำรวมศีล ๕ ข้อใดไม่บกพร่องแล้ว ดีใจ ปลื้ม ปีติยินดี
บริกรรม พุทโธ เม นาโถ ธัมโม เม นาโถ สังโฆ เม นาโถ
นอนด้วยความมีสติ หายใจเข้าภาวนา "พุท" หายใจออกภาวนา "โธ"
ให้หลับไปด้วยอารมณ์พุทโธ

ฝันก็ฝันดี มีนิมิตก็มีนิมิตดี ตายไปก็ตายดี ไปเกิดสุคติโลกสวรรค์แน่
ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์อีก เกิดใหม่ก็จะดีกว่าเก่า
เพราะมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ก่อนตาย

ให้พากันอย่าประมาท
ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มี "พุทโธ" เป็นอารมณ์อยู่ทุกขณะ ทุกอิริยาบถ
เป็นผู้ตายก่อนตาย เป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
จาก หนังสือมณีรัตน์ อัญมณีแห่งไพรสณฑ์
ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่ครูบาอาจารย์เฒ่าทองรัตน์ กนฺตสีโล.
พิมพ์ครั้งที่ ๔, ๒๕๕๒. หน้า ๑๐๘





“ความอยากไม่ให้ร่างกายตาย”

มีใครอยากจะถามอะไรไหม ยังไม่มีเหรอ ไม่มีเดี๋ยวหาคำถามให้ เรื่องที่พวกเราอยากจะรู้กันก็คือ เราเกิดมาทำไม ทำไมเราจึงต้องมาเกิด เกิดแล้วเราควรจะทำอะไรที่จะเป็นประโยชน์สุขกับเรา ที่จะไม่เป็นทุกข์กับเรา แต่เท่าที่ผ่านมา การกระทำของเรา มันไม่ได้เป็นประโยชน์สุขอย่างเดียว มันเป็นทุกข์ด้วย เรายังร้องห่มร้องไห้ ยังมีความเศร้าโศกเสียใจ เพราะว่าเราไม่รู้เหตุ ที่ทำให้เราเศร้าโศกเสียใจว่าเกิดจากอะไร ถ้าเรารู้เราก็จะสามารถหักห้ามความเศร้าโศกเสียใจของเราได้ ถ้าเราไม่ได้มีพระพุทธศาสนามาสั่งมาสอน เราจะไม่รู้สาเหตุของความเศร้าโศกเสียใจของพวกเรา ว่าเกิดจากอะไร

ทุกคนที่เกิดมานี้ ไม่มีใครที่ไม่ร้องห่มร้องไห้เลย ไม่มีใครที่ไม่ดีความทุกข์ใจเลย ไม่ว่าจะร่ำจะรวยจะยากจะจน ไม่ว่าจะเป็นใหญ่เป็นโตหรือเป็นผู้น้อย ทุกคนมีความเศร้าโศกเสียใจ มีความไม่สบายใจ มีความทุกข์ใจเหมือนกันพระพุทธเจ้าก็เคยมีความไม่สบายใจ เคยร้องห่มร้องไห้ แต่วันหนึ่งพระองค์ก็ทรงหาเวลามาศึกษาค้นคว้า หาเหตุที่ทำให้พระองค์เศร้าโศกเสียใจ ทำให้พระองค์ไม่สบายใจ พระองค์ก็เลยไปบวช เพราะถ้าอยู่ครองเรือนเป็นพระราชโอรสเป็นกษัตริย์จะไม่มีเวลาที่จะมาศึกษาค้นคว้า หาสาเหตุของความไม่สบายใจ ของความเศร้าโศกเสียใจก็จะมีเหตุการณ์ที่จะมาดึงเอาเวลาที่จะมาใช้ค้นคว้าหาสาเหตุนี้ชีวิตของพวกเรานี้ถูกเหตุการณ์ต่างๆถูกความจำเป็นต่างๆบีบคั้นให้เราต้องไปทำอะไรต่างๆกันจนไม่มีเวล่ำเวลา ที่จะมาค้นคว้าหาสาเหตุของความทุกข์ใจ ของความไม่สบายใจกัน จนพวกเราทุกคนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติของชีวิตของเรา ที่จะต้องร้องห่มร้องไห้ กับที่จะต้องเศร้าโศกเสียใจกัน ก็เลยไม่มีใครคิดที่จะแก้ความเศร้าโศกเสียใจนี้ คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน มีความเศร้าโศกเสียใจ มีความไม่สบายใจเหมือนกันหมด บางคนก็ศึกษาค้นคว้าก็เห็นว่า ส่วนหนึ่งก็เกิดจากร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่นที่เรารัก ที่จะต้องมีอันเป็นไป ที่จะต้องเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดความตายขึ้นมา เวลาเกิดเหตุการณ์กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือของคนที่เรารักเรา ก็จะเศร้าโศกเสียใจ เราก็เลยพยายามหาวิธีรักษาร่างกาย ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้ตาย มีนักวิทยาศาสตร์ นักค้นคว้า พยายามหาวิธีหายาหาอะไร ที่จะทำให้ร่างกายไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย แต่ไม่ว่าจะค้นคว้า ไม่ว่าจะศึกษา ไม่ว่าจะหาอะไรมาใช้กับร่างกาย ร่างกายมันก็ยังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเหมือนเดิม เมื่อร่างกายต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายก็ต้องร้องห่มร้องไห้กัน เศร้าโศกเสียใจกัน เพราะไม่รู้ว่า จะทำยังไงถึงทำให้ร่างกายนี้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

แต่พระพุทธเจ้านี้กลับค้นคว้าอีกทางหนึ่ง แทนที่จะไปค้นคว้าที่ร่างกายที่ทรงรู้ทรงเห็นว่า ทำอย่างไรมันก็ต้องแก่ ทำอย่างไรมันก็ต้องเจ็บ ทำอย่างไรมันก็ต้องตาย ต่อให้ดูแลรักษาร่างกายดีขนาดไหน หายาวิเศษขนาดไหนมารับประทาน อาหารวิเศษขนาดไหน มันก็ยังต้านความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้ พระองค์ก็เลยเปลี่ยนทิศทางของการค้นคว้า จากร่างกายมาดูที่ใจของพระองค์เองว่า ทำไมบางเวลาใจของพระองค์ไม่เศร้าโศกเสียใจ ทำไมบางเวลาเศร้าโศกเสียใจ ก็ทรงค้นพบว่า เกิดจากความอยากของพระองค์เอง เวลาที่ไม่มีความอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ก็ไม่มีความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ตอนนี้พวกเราก็ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ เพราะตอนนี้เราไม่ได้มีความอยากให้ร่างกายของเรา หรือของคนที่เรารักนี้ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายกัน แต่เราจะมาเสียใจตอนที่ร่างกายของเราร่างกายของคนที่เรารักเจ็บไข้ได้ป่วยหรือจะตายไป ตอนนั้นถึงจะเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ทำไมไม่เศร้าโศกเสียใจตลอดเวลา ตอนนี้ไม่เศร้าโศกเสียใจเพราะอะไร เพราะไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครตาย แต่พอมีคนเจ็บไข้ได้ป่วย มีคนตาย ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ก็เลยทรงถามตัวเองว่า ที่เราเสียอกเสียใจ เศร้าโศกเสียใจเพราะอะไร เพราะเราไม่อยากให้ร่างกายเราที่เจ็บไข้ได้ป่วยนี้เจ็บนั่นเอง เราอยากจะให้มันหาย พอมันเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็เสียใจ ทุกข์ใจขึ้นมา หรือว่าถ้าร่างกายเราจะตาย หรือร่างกายของคนอื่นที่เรารักจะตายหรือตายไปแล้ว ถึงจะเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ในตอนนั้นมันเกิดจากอะไร ก็เกิดจากความอยากของเรา ใช่ไหม อยากให้เขาไม่ตาย อยากให้เขาหายจากโรคภัยไข้เจ็บ พอเขาไม่หายพอเขาต้องตายไป เราก็เลยเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา

พระพุทธเจ้าก็เลยทรงค้นพบสาเหตุของความทุกข์ใจของพวกเรา ของความไม่สบายใจของพวกเราว่า มันเกิดจากความอยากของพวกเรา อยากให้สิ่งที่ไม่เที่ยง เที่ยงใช่ไหม อยากให้สิ่งที่ไม่ใช่เป็นของเรา ว่าเป็นของเรา เพราะไปถูกความหลงหลอกให้เราคิดว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นมันเที่ยง สิ่งที่ไม่ใช่เป็นของเรา ว่าเป็นของเรา ใช่ไหม ร่างกายนี้เราคิดว่าเป็นของเราหรือเปล่า ทุกคนก็ต้องคิดว่าเป็นของเราทั้งนั้น แล้วก็คิดว่ามันเที่ยง คิดว่ามันจะอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันตาย แต่พอไปเห็นร่างกายของคนอื่นตายขึ้นมา มันก็เลยทำให้เราเห็นร่างกายของเราว่า มันต้องตายเหมือนกัน ตอนต้นไม่รู้หรอกพวกเราตอนที่เกิดมาตอนเป็นเด็กนี่เราไม่เคยเห็นคนตายกัน ไม่รู้ว่าร่างกายของเรานี้จะต้องตายกัน แต่พอเราโตขึ้นๆเรื่อยๆเราก็เห็นคนที่เรารู้จัก คนใกล้ชิดสนิทกับเรา เช่นปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ลุงป้าน้าอา บางทีพ่อหรือแม่ก็ต้องตายไป แล้วก็ทำให้เรามองกลับไปดูที่ร่างกายของเรา เราก็เห็นว่าร่างกายของเราก็ต้องตายไปเหมือนกัน แต่เราไม่อยากให้มันตายกัน ความอยากไม่ให้ร่างกายตายนี้ มันจึงเป็นเหตุที่ทำให้เราทุกข์กัน เศร้าโศกเสียใจกัน ไม่ใช่ความตายของร่างกาย.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






พี่น้องทั้งหลายก็เข้าใจวันเกิดอาจารย์ ก็ไม่ได้จัดเน้อ บอกตรงๆ ไม่ได้จัดวันเกิด ไม่ได้นิมนต์ใครมา พระ ครูอาจารย์ ก็ไม่ได้นิมนต์ จะนิมนต์ทำไม เราก็เกิดของเราทุกวัน พี่น้องทั้งหลายที่นั่งอยู่นี่ก็เกิดทุกวันเหมือนกัน ต่างคนต่างมีวันเกิด ก็ยังไม่ตายก็ถือว่ายังเกิดอยู่ ตายเมื่อไหร่ก็ดับเมื่อนั้น ไม่เกิดเมื่อนั้นแหละ นี่เกิดในวัฏฏะ เกิดในโลก เกิดในภพภูมิทั้งหลายในโลกธาตุ ที่ท่านเรียกว่า สามแดนโลกธาตุ ก็คือที่จองจำของสัตวะโลก มนุษโลก เทวโลก พรหมโลก ในเรือนจำของสัตว์ที่ยังมีอาสวะอยู่ เราก็ยังต้องวนเวียนเกิดแก่เจ็บตายในวัฎฎสงสารไม่มีที่จบที่สิ้น...แล้วแต่มันจะไป แล้วแต่เชื้อจะไสไปให้เกิด ไม่เกิดไม่ได้ ถ้ายังมีเชื้อ ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีตัวนำอยู่ ภาษาธรรมท่านเรียกว่า อวิชชา พาให้สัตว์โลก พาให้จิตแต่ละดวงๆนั่นละมืดมิดปิดตา ต้องเดินทางไม่รู้จักจบจักสิ้นเดินไปเรื่อยๆ ตายไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปเกิดเรื่อยๆ แล้วก็ไปทุกข์เรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น

พ่อแม่ครูอาจารย์โสภา สมโณ
วัดแสงธรรมวังเขาเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
เทศน์เมื่อ ๑๑ ต.ค. ๒๕๕๘





คนบุญทางหลุมก็ราบ
คนบาปทางราบก็หลุม

โอวาทธรรม หลวงพ่อปฐม ธัมมธีโร
วัดป่าศรีวิลัย อ.ส่องดาว จ.สกลนคร






หนึ่งในโลกนี้ เป็นเอกนาโถ
หาทุกข์ก็ได้ หาสุขก็ได้
หาประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์
หานรกสวรรค์ และมรรคหาผล
หานิพพาน หาอะไรก็ได้หมด
โลกนี้โลกหาได้

คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ





ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญ

การทำบุญด้วยความสงบ อย่างที่ใส่บาตรก็ทำด้วยความสงบ บางทีการใส่บาตรอย่างนี้บางคนก็ไม่ค่อยเข้าใจ บางคนเขาก็ขอพร ใส่บาตรแล้วก็นั่งขอพร พระท่านก็เกรงใจโยม บางรูปไปกันใหญ่เป็นการน้อมลาภเข้าตัว ทุกวันนี้เขาก็ทำกันทั่วประเทศละทีนี้ เพราะตัวอย่างมันกระจายทั่วไป

เราจะสอนให้บอกว่า ที่ไม่ให้พรเพราะว่าเอาแบบพระพุทธเจ้ามาใช้ ถ้าให้พรแล้วมันผิดพระวินัย วินัยพระปาฏิโมกข์ของพระมีข้อหนึ่งที่ว่ายืนให้พรแล้วโยมก็จะไม่ได้บุญ ก็เป็นบาป แทนที่ให้พรเป็นบุญแต่ท่านกลับว่าเป็นบาปเพราะว่าผิดพระวินัย

เหตุนั้นท่านจึงให้บอกว่าให้มารับพรที่วัด ถ้าคนไหนจะเอาพรหรือคนไหนจะเอาพรวันเกิด ก็ต้องเอาเก้าอี้มาให้ท่านนั่งแล้วก็นั่งรับพร แต่บางรูปให้พรแล้วโยมนั่งมันผิดวินัยในเสขิยวัตรข้อท้ายๆ ก็เลยบอกให้เข้าใจ เขาก็เข้าใจกันหมดแล้ว แต่วัดอื่นเขาก็ยังทำอยู่ บางทีพวกมหาเปรียญเรียนสูง จบประโยคสูงก็ไม่รู้ความหมาย เขาก็ทำอยู่ แต่หลวงพ่อก็ทำตามหลักพระวินัยที่ว่า ต้องรับด้วยความสงบนิ่งแล้วก็แผ่เมตตาจิต

โอวาทธรรม
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร






"วันพระทำบุญไม่ใช่แค่ใส่บาตรพระ ปฏิบัติดูแลพ่อแม่ ดูแลลูกและญาติพี่น้อง สิ่งนี้ก็ได้บุญเหมือนกัน"

คำสอน
หลวงพ่อมาร์ติน ปิยธัมโม
วัดภูฆ้องทอง จ.หนองบัวลำภู


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO