นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 03 พ.ค. 2024 4:39 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เมตตาธรรมะ
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 01 ส.ค. 2017 5:56 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4547
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านเคยขึ้นไปพักบำเพ็ญสมณธรรมในถ้ำแห่งหนึ่ง ชาวบ้านแถบนั้นบอกว่า มีงูพิษสีดำตัวหนึ่งใหญ่เท่ากระบอกไฟฉายขนาดใหญ่ ยาวประมาณเมตรเศษ มีความดุร้ายมาก อาศัยอยู่ในถ้ำนั้นมาหลายปีแล้ว งูพิษตัวนี้เคยทำอันตรายผู้คนแถวนั้นมามากมาย แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไรมัน กลัวจะมีสิ่งลี้ลับอยู่เบื้องหลัง ชาวบ้านขนานนามให้มันว่า “ เจ้าถ้ำ ” หลวงปู่จึงขอให้ญาติโยมขึ้นไปส่งที่ถ้ำนั้น ในคืนแรกที่ขึ้นไปไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ผิดสังเกตเกิดขึ้น พอถึงตอนเย็นวันที่สอง ก็เห็นงูตัวสีดำเลื้อยออกมาจากซอกหิน แล้วพุ่งตรงมาหาท่านอย่างไม่เกรงกลัว หลวงปู่ก็คิดในใจว่าต้องเป็นงูตัวที่ชาวบ้านเล่าแน่ๆ ไม่เช่นนั้นคงไม่แสดงอาการอาจหาญถึงเพียงนี้ งูนั้นเลื้อยเข้ามาหยุดห่างจากท่านประมาณหนึ่งวา และแผ่แม่เบี้ยเตรียมฉกหลวงปู่ หลวงปู่จึงพูดขึ้นว่า “ เรามาอยู่ที่นี่ไม่ได้มาเพื่อมุ่งร้ายใคร แต่มาบำเพ็ญธรรมเพื่อความสุขแก่ตนและเพื่อนร่วมชาติ เราแผ่เมตตาเพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง มีเธอด้วยผู้หนึ่งที่อยู่ในข่ายควรรับได้ ถ้าเธอยังหวังความสุขกายสบายใจเช่นสัตว์โลกทั่วๆไป ก็ควรรับเมตตาธรรมที่เย็นฉ่ำนี้ ดีกว่าจะมาขู่เข็ญทำลายผู้อื่นซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร เธอจงรับความเป็นมิตรและเมตตาธรรมจากเรา แล้วก็จงไปอยู่เป็นสุขเถิด บางทีเธอละจากชาติสัตว์เดรัจฉานแล้ว อาจได้เลื่อนฐานะขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ บรรลุถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นไปก่อนเราผู้กำลังกำดำกำขาวกับกิเลสตัวโสมมอยู่เวลานี้ก็เป็นได้ ” ขณะที่หลวงปู่กำลังเทศน์สอนงูเจ้าถ้ำอยู่นั้น มันยังคงแผ่แม่เบี้ยอยู่ไม่เคลื่อนไหวเหมือนสัตว์ไม่มีวิญญาณ พอท่านพูดจบลง งูตัวนั้นกลับเอาหัวลงหมอบสงบนิ่งกับพื้นอยู่นานประมาณ ๑๐ นาที แล้วหันศีรษะเลื้อยกลับไป นับแต่วันนั้นมา หลวงปู่กับงู ก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบ ไม่มีอะไรเป็นที่ระแวงกันเลย หลวงปู่เล่าว่า ท่านได้เห็นความอัศจรรย์ของเมตตาธรรมอย่างประจักษ์ ในคราวนั้นอย่างถึงใจอีกครั้ง






"...คนที่มีกำลังสติกำลังปัญญาเพียงพอ จึงสามารถที่จะป้องกันมิให้อารมณ์นำกิเลสเข้ามาสู่จิตใจได้

แปลว่าอารมณ์ก็ตกอยู่ แค่ปากประตูตา ประตูหู เป็นต้น ไม่ล่วงล้ำเข้ามาสู่จิตใจ..."

พระโอวาทธรรมคำสอน..
องค์สมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวัฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์







"..ความสงบนั้น มันอยู่ที่พอดีๆ

มันจะดีขนาดไหน มันก็ไม่สงบ

ถ้ามันเกินพอดี.."

โอวาทธรรมคำสอน..
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
จากหนังสือ ๔๘ พระธรรมเทศนา น.๔๒๐






"...จงแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั่วไป
แม้ที่เป็นศัตรู

ท่านรักคนที่เขารักท่าน
ที่จริงไม่แปลกอะไรเลย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้

แต่ที่แปลกและทำได้ยาก
และเป็นผลดีที่สุด นั้นคือ

ต้องรัก คนที่เขาเกลียดท่านด้วย..."

โอวาทธรรมคำสอน..
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโก)







"เรียนทางโลกน่ะ เรียนเท่าไหร่
ก็ไม่จบหรอก เรียนทางธรรมสิ
๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ก็จบแล้ว
มัวชักช้าอยู่นั้น ไม่ทันเขาหรอก

ถ้าเราไม่สร้างสมทาน ศีล ภาวนา
เอาไว้เป็นพื้นรองรับ พระสัทธรรมแล้ว
จิตก็ไม่พ้นเกิดดับ ไม่พ้นอวิชชา

มัวเถลไถล ตายแล้วกลับมาเกิดเป็นคน
ก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ เรียนอนุบาล ก.
และ ก.กา ถ้าพลาดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
หรือลงนรก ก็อีกนาน เฮ้อ..."

-:- หลวงปู่บุดดา ถาวโร -:-






"...บุพกรรมของเปรตหัวโล้น.“...อยู่สำนักสงฆ์ของเพิ่นครูอาจารย์ มหาปิ่น (ปญฺญาพโล) นั่นแหละคืนแรกที่ไปถึงดึกเกือบเที่ยงคืน เราก็เดินจงกรมแต่หัวค่ำขึ้นกุฏิไหว้พระสวดมนต์จบพอดีเป็นเปรตหัวโล้น หัวมันใหญ่เท่า กับอุน้ำขนาดคนหนึ่งโอบรอบ อยู่สักพักหนึ่งหัวมันก็แตกระเบิดแล้วก็กลับคืนเป็นหัวโล้นอย่างเก่า แล้วก็แตกอีก เป็นอยู่อย่างนั้น
.
ตื่นเช้าขณะกลับมาจากบิณฑบาต เราก็ถามเณรว่า “เคยมีคนลักษณะนี้ๆ เคยได้บวชอยู่วัดนี้ไหม”
เณรก็บอกว่า “มีครับ เป็นลุงของผม อ้ายของแม่”
“ครูอาจารย์เห็นหรือครับ”
“อือ”
“ผมไม่เคยเห็นกับตา แต่ฝันเห็นเสมอ”
“เห็นอย่างใดในฝัน”
“เปลือยกาย หัวใหญ่เท่าอุน้ำ มาขอให้ผมช่วยเหลือ อันนี้ผมก็ไม่ทันหรอกในยุคสมัยที่ครูอาจารย์มหาปิ่น (ปญฺญาพโล) มาสร้างวัดนี้ หลวงลุงของผมก็ไม่ทัน ได้บวชทัน

แต่อาจารย์ที่ลาสิกขาไป เพิ่นเล่าให้ฟังว่า ลุงของผมนี้เป็นหัวหน้าผู้คนในการเบียดเบียนต่อต้านมิให้ครูอาจารย์มหาปิ่น (ปญฺญาพโล) มาสร้างวัด หรือเอาธรรมยุตมาอยู่ในบ้านนี้
.
พอชาวบ้านคนอื่นที่เขาเห็นพร้อมด้วยกับครูอาจารย์มหาปิ่น (ปญฺญพโล) หลวงลุงผมก็ยังไม่ยอม เบียดเบียนหลายอย่าง ทุบทำลายอุแอ่งโอ่งน้ำ อีกหลายอย่างที่ทำการเบียดเบียน
.
จนวันหนึ่งเพิ่นครูอาจารย์มหาปิ่น (ปญฺญพโล) จับแขนดึงเข้าวัด เอามาสอนเทศน์ให้ฟังจึงยอมลงใจให้ แล้วระลึกได้ในโทษของเจ้าของ จึงได้ขอบวชอยู่ด้วย บวชได้ ๑๒ ปี ก็มรณะ อาจารย์ของผมก็บวชกับหลวงลุงคนนี้
.
วันที่หลวงลุงมรณะ โยมแม่ของผมก็ให้ผมบวชหน้าไฟ ลุงผมตายมานี่ก็ได้ ๙ ปีแล้ว ยังเสวยวิบากกรรมอยู่หรือครับ” เณรถามเรา เราก็ว่า “อือ”
“จะช่วยอย่างใด”
“กรรมยังไม่พ้นได้ง่ายๆ หลอกเณรเอ้ย เราให้ได้แต่เมตตาแผ่เมตตาให้ ปันบุญให้ก็ยังรับไม่ได้ จนกว่าบุญบวชของคนเฒ่าจะมาหาวันใดก็คงจะพ้นวิบากกรรมได้”
.
“คนเบียดเบียนวัด ขัดขวางพระ หรือทำร้ายพระศาสนา เอารัดเอาเปรียบพระเณร โกงกินเงินวัด หรือทำอะไรตามใจชอบของตน ไม่ดูพระเณร ย่อมได้รับผลทั้งนั้น กว่าที่จะพ้นวิบากกรรมนั้นมาโอย...นานแสนนาน”
.
เพราะว่าวัดเป็นของศาสนาส่วนรวม ญาติโยมเขาเอาข้าวของมาให้มาปันทำบุญ ให้ทาน เขาก็ให้กับประธานของสงฆ์เป็นผู้รับ ผู้เป็นโยมเพิ่นให้ใช้ให้เอาอันใดแล้วจึงเอาไปใช้ได้ หากอย่างได้ก็ต้องขอ พระเณรอนุญาตก็แล้วจึงเอา ไม่ให้ก็ไม่เอา?...”
จากธรรมประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ ผู้มากมีบุญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม จ.มุกดาหาร






การทำบุญและมาร...ในเมื่อเราทำบุญมากขึ้น ทำจิตสะอาดมากขึ้นเพียงใด มันแกล้งมากเพียงนั้น ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเราจะพ้นอำนาจของมาร การป่วยหรือสิ่งต่าง ๆ ๕ ประการ ท่านเรียกมาร มาร แปลว่า ผู้ฆ่า มันพยายามจะห้ำหั่นเข่นฆ่าเรา ต้องการให้เราตายเสียก่อน ก่อนที่จะได้รับผลของบุญ
ที่นี้ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ที่เคยมาต่อว่าหลวงพ่อฉันก็ทำบุญทุกอย่าง พบทีไรก็ทำบุญทุกที แต่ทำไมฉันจึงป่วย ก็นึกในใจว่าโยมเอ๊ย เวลานี้อาตมานั่งก็ป่วยก็เหมือนกัน ดีไม่ดีหน้าก็บวมฉึ่งเห็นชัด เท้าก็บวม เวลาจะขึ้นไปรับแขกก็มีคนประคอง ประคองขึ้นประคองลง แต่โยมก็ถามสบายดีหรือหลวงพ่อ ก็ลองคิดดู ไอ้คนขนาดต้องประคองเดินกระย่องกระแย่ง ถามว่าสบายดีหรือ หรือไม่นึกว่าพระจะป่วยเป็น พระก็คือลูกชาวบ้าน ก็เป็นคนธรรมดา แต่อาศัยใจนี่เป็นพระเท่านั้น ร่างกายนี่เป็นคนอย่างไร ๆ ก็เป็นลูกมีพ่อมีแม่เหมือนกัน
จากหนังสือ โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๖๓
โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน






ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เอง มิใช่อื่นพุทธะคือผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้เอง มิใช่ใครอื่นเช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกไข่ ทำให้เปลือกไข่แตกเราก็ได้ไข่พิจารณาร่างกายของเราให้แตกแล้วเราก็จะได้ธรรมะ.."
โอวาทธรรมหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม





"ธรรมะ ของพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรเกินธรรมดา ท่านสอนให้ ยอมรับนับถือ กฎของธรรมดา วางทุกข์เสีย ให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมดา อะไรก็ตามเถอะ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา มันเป็นธรรมดาของโลกทั้งนั้นในเมื่อร่างกายเรามีอยู่ในโลก เท่านี้เอง " โอวาทธรรมหลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต





..=>คำสอนหลวงพ่อเรื่อง "การเจริญพระกรรมฐานเบื้องต้น"<=..

.. การเจริญสมถภาวนาในตอนต้น
ตอนต้นหรือตอนปลายมีสภาวะเหมือน
กัน นั่นก็คือ อันดับแรก "จงอย่าสนใจกับ
อารมณ์ภายนอกทั้งหมด" เรื่องราวของ
ชาวบ้านต่างๆ ยกประโยชน์ไป เราไม่
สนใจ เรื่องราวของเราก็เหมือนกัน

ตัดความกังวลเสียให้หมด ที่เรียกว่า
"ปลิโพธ" พระพุทธเจ้าบอกว่าอันดับแรก
จงตัดความกังวลทิ้งเสียให้หมด ดำริไว้
อย่างเดียว คือกำหนดจิตจับเฉพาะ
อารมณ์สมถภาวนาที่เราต้องการ
อารมณ์อย่างอื่นเราไม่ต้องการทั้งหมด

นี่ต้องทำอย่างนี้มันถึงจะมีผล
ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าภาวนา สัก
แต่ว่าพิจารณา อย่างนี้ทำเท่าไรมันก็
ไม่มีผล จงจำให้ดีอันดับแรก "จงตัด
ความกังวลเสียให้หมด" กังวลภาย
นอกและกังวลภายใน

คือกังวลเรื่องของคนอื่น มีบุตร
ภรรยา สามี ญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย
ยกยอดทิ้งประโยชน์ไป ไม่สนใจ ใคร
จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ตัวใครตัวมัน
ตายแล้วก็ไม่ใช่ชวนกันไปตกนรก
ขึ้นสวรรค์ได้ นี่พูดถึงว่าอารมณ์ที่
เราใช้ในการทรงสมาธิจิต

และอารมณ์กังวลของเราก็เหมือน
กัน มันจะเป็นจะตายก็ช่างมัน เราต้อง
การอย่างเดียว คือ "ความบริสุทธิ์และ
ความตั้งมั่นของจิต" ไม่ใช่มีสัญลักษณ์
อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาทาง
กายก็ระแวงโน่นระแวงนี่

กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็น
อย่างนี้ อารมณ์จิตเป็นอย่างนี้จะเจริญ
สักกี่โกฏิชาติมันก็ไม่มีผล แล้วต่อมา
ประการที่สอง "องค์สมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์"

ศีลห้าก็ดี ศีลแปดก็ดีที่เรา
สมาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันดับ
ต้นศีลห้าเป็นของสำคัญที่สุด จะใช้
คำว่าไม่สามารถไม่ได้ เราต้องเป็นผู้
สามารถเสมอในการทรงศีล

จะมาเอาสาเหตุใดมาอ้างว่า
มันจำเป็นอย่างนั้นจำเป็นอย่างนี้
อันนี้ไม่ใช่ เพราะทางการเจริญพระ
กรรมฐานมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ
ที่จะต้องละเมิดศีล ประการที่สองนี้
พระพุทธเจ้าทรงให้ทรงศีลให้บริสุทธิ์
คือ

๑.เราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเอง
หรือว่าทำลายศีลด้วยตนเอง
๒.เราไม่ยุให้ชาวบ้านทำลายศีล
๓.เราจะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่น
ทำลายศีลแล้ว

นี่เป็นหลักใหญ่ ต้องทำให้ได้
ไม่ใช่ฟังแล้วก็ลืม ต้องทำให้ได้ด้วย
จำให้ได้ด้วย และทำให้ได้ด้วยจึงจะ
มีผล เพียงแค่นี้ยังมีผลแค่สะเก็ด
เท่านั้น เมื่อทรงศีลให้บริสุทธิ์แล้ว
พร้อมกันนั้น "จิตก็ต้องระงับนิวรณ์ห้า
ประการ"

นิวรณ์ห้าประการคือ ความต้อง
การในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม
รสอร่อย สัมผัสตามความประสงค์
และอารมณ์หมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์
คือ พอใจอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
อารมณ์ประเภทนี้ต้องทิ้งไปไม่เอา

แล้วประการที่สอง ต้องระงับ
ความโกรธ ความพยาบาท ประการ
ที่สาม ระงับความง่วงเหงาหาวนอน
ประการที่สี่ ควบคุมกำลังจิตให้คิด
เฉพาะอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่
เราต้องการ

ไม่ปล่อยให้อารมณ์ฟุ้งซ่านและ
รำคาญในเสียง ประการที่ห้า ไม่สงสัย
ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ยอมรับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นหลัก
อันหนึ่ง

ยังไม่จบแล้วประการต่อไป
"พระพุทธเจ้าให้ทรงจิตให้อยู่ในพรหม
วิหาร ๔" คือแผ่เมตตาไปในจักรวาล
ทั้งหมด เราจะไม่ไปเป็นศัตรูกับใคร
เราจะเป็นมิตรกับสัตว์และบุคคล
ทั้งหมด

จิตใจเราจะมีความชุ่มชื่นมอง
ไม่เห็นว่าใครเป็นศัตรูของเรา ผลของ
เมตตา แปลว่าความรัก เรามีความรัก
ในเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เสมอด้วย
ตัวเรา

ประการที่สองมีกรุณาความสงสาร
ปรารถนาจะให้มีความสุข เรามีอารมณ์
จิตคิดอยู่เสมอว่า เรามีความต้องการ
จะเกื้อกูลบุคคลอื่นและสัตว์อื่นที่มี
ความทุกข์ให้มีความสุข ตามความ
สามารถที่เราจะพึงทำได้

ถ้าแนะนำเองไม่ได้ สงเคราะห์
เองไม่ได้ ก็แนะนำให้ไปหาบุคคล
ที่มีความสามารถที่เขาจะช่วยได้
สงเคราะห์ได้

ประการที่สาม มุทิตา มีจิตอ่อน
โยน คือระงับความอิจฉาริษยาเสีย
ตัดโยนทิ้งไป เมื่อใครได้ดีก็พลอย
ยินดีกับความดีนั้นด้วย

สี่อุเบกขา ความวางเฉย กฎของ
กรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายหรือ
หมู่คณะ มันเป็นเหตุที่เราปฏิเสธไม่ได้
อย่างความแก่ ความเจ็บ ความตาย
กับการพลัดพรากจากของรักของ
ชอบใจอย่างนี้เป็นต้น

มันเป็นของธรรมดา ในเมื่อมัน
เกิดขึ้นมากับตัวเรา กับหมู่คณะก็ตาม
วางเฉย ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่สามารถ
จะหลีกเลี่ยงได้

ในเมื่อท่านทั้งหลายทรงคุณธรรม
ตามที่กล่าวมา คือ

๑.ตัดปลิโพธทั้งหมด
๒.ทรงศีลบริสุทธิ์
๓.ระงับนิวรณ์ห้าประการได้
เด็ดขาดในขณะที่ทรงสมาธิ
๔.ทรงพรหมวิหารสี่ได้

อย่างนี้องค์สมเด็จพระศาสดา
ทรงตรัสว่า "ท่านทรงความดีแค่เปลือก
ของพระศาสนา" วัดตัวเราให้ดี วัดใจ
ให้ดีว่าเวลานี้เราทรงความดีเข้าถึง
เปลือกของพระศาสนาแล้วหรือยัง

"จุดนี้จุดเปลือกนี่เป็นจุดที่สำคัญ
ที่สุด ต้องระมัดระวังให้มาก ต้องให้
ทรงตัวอยู่ตลอดเวลา" โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งการทรงศีลหรือทรงพรหม
วิหารสี่ ไม่ใช่ จะมาทรงอยู่เฉพาะ
สมาทานพระกรรมฐานเท่านั้น

สำหรับศีล พรหมวิหารสี่กับการ
ตัดปลิโพธ ความกังวล จะต้อง
ทรงอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง พูดกัน
ง่ายๆ ว่าทรงอยู่ตลอดชีวิต ทุก
เวลาทุกนาทีและทุกวินาที

นี่ต้องคุมจิตแบบนี้ สำหรับ
นิวรณ์ห้าประการนี้เป็นของธรรมดา
เดี๋ยวเราก็ชนะมัน เดี๋ยวมันก็ชนะเรา
แต่ก็พยายามควบคุมเข้า ไม่ช้ามัน
ก็จะเป็นลูกไล่สำหรับเรา คือ
เราชนะมัน คือเป็นผู้ทรงฌาน

ถ้าท่านไม่สามารถจะระงับ
นิวรณ์ห้าได้ เรื่องสมาธิก็ไม่ต้องพูดถึง
ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ เราจะมีสมาธิ
เข้าถึงปฐมฌานได้ เพราะเราระงับ
นิวรณ์ห้าประการได้

การระงับได้วันหนึ่งชั่วขณะหนึ่ง
ก็ใช้ได้ แต่ก็ยังไม่ดี ทางที่ดีแล้ว
จะต้องระงับนิวรณ์ได้ตลอดวัน
นี่มันถึงจะดี ..
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)






ความจริงความสุขในกาม
อันพระยามารล่อลวงให้เราหลง ให้เราเพลินนั้น
ล้วนแต่ห้อมล้อมอยู่ด้วยทุกข์ทั้งนั้น....
...พึงเข้าใจว่า ถ้าเรายังอ่อนแอ
ไม่บำรุงศรัทธาให้บริบูรณ์แล้ว
ก็จักได้รับทุกข์เหล่านี้ ไม่มีที่สิ้นสุด...
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO