นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 03 พ.ค. 2024 1:57 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: มีวาสนาได้บวช
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 23 ก.ค. 2017 8:33 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4547
วัดนี้ไม่มีอะไร งานข้างนอก ให้ทำความเพียรของเราให้มาก ๆ อย่าเห็นแก่กิน แก่นอน

การกิน ก็ให้พิจารณาเอาว่า กินน้อยทำความเพียรดีไหม กินมากเป็นยังไง ให้ดูเอาว่าอย่างไหนดี ให้กินแต่พอดี อย่าเห็นแก่การนอน นอนพอตื่นก็ตื่น

ทำความเพียร ไม่ต้องไปสนใจกับเรื่องอะไรภายนอก อย่าสนใจกับเรื่องอดีตอนาคต โทษของพระมันก็มีเรื่องการฆ่ากับเรื่องผู้หญิง

เวลาภาวนาอย่าไปคิดถึงมัน โดยเฉพาะเรื่องความรักใคร่ชอบพอ อย่าไปยินดีกับเรื่องอดีตอนาคต อนาคตนมันไม่เท่าไหร่ล่ะ อดีตมันสำคัญ จิตมันชอบไปปรุงไปแต่งว่าสวยว่างาม ว่าดีว่าชอบ ควรจะวางได้ก้ให้วาง ตัดได้ก็ให้ตัดซะ เราบวชเข้ามาแล้ว ภาวนาเอาแต่เรื่องของเรา มองให้มันเป็นอสุภะ การกินการอยู่ก็ดี ไม่มีอะไรมาก อย่าไปเห็นแก่กิน เรื่องการกิน เราเป็นพระ ไม่เหมือนกับฆราวาส อยากกินอะไรก็ไปหาซื้อเอามากิน กุ้ง หอย ปู ปลา หมู เนื้อ อาหารทะเล คาว หวาน กินไปสนุกไป เพราะมีเงินซื้อกิน

เราบวชแล้วซิมันดี คนมันเคยมีวาสนาได้บวช จึงได้บวข เห็นไหม คนข้างนอกเป็นแสนเป็นล้านไม่มีโอกาส เราบวชแล้วโอกาสดีแล้ว ให้รีบภาวนาเอาตัวเรา อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า ๆ

รีบทำเข้าความเพียร ตรงไหนว่ามันเหมาะก็ให้เอา สะดวกในศาลา เรือนน้ำ ในป่า หรือตรงไหน ๆ ว่าดีว่าเย็นเอาเลย อย่าฃ้า

หนทางมันมีอยู่ สวรรค์ นิพพานรออยู่ ขาดอยู่แต่ผู้เอาจริง ให้รีบภาวนา
ดูที่ใจอย่าส่งออกนอก ส่องดูที่ใจอย่างเดียว ดูอะไร ๆ ก็ไม่เหมือนดูที่ใจ
เราพอใจ ชอบไม่ชอบมันก็อยู่ที่ใจ กายไม่เกี่ยว กายมันก็เป็นของมันเช่นนั้นแหละ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ใจมันไม่เจ็บไม่ตายด้วย ฉะนั้น ให้ดูที่ใจ ไม่ต้องไปดูที่อื่น...

สอนพระบวชใหม่ โดย..หลวงปูเพียร วิริโย
วัดป่าหนองกอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๖






ฆราวาสเนี่ย จริง ๆ แล้วเป็นเพศที่คับแคบหรือขัดข้อง เพราะฆราวาสมีหน้าที่การงานที่ทำให้การภาวนานั้นเป็นไปได้ไม่สะดวกเท่าไร เพราะปัญหาเดี๋ยวก็เรื่องลูกน้อง เดี๋ยวคนที่มาติดต่ออะไรต่างๆ เป็นปัญหาเยอะ สองก็คือปัญหาภายในครอบครัวที่เป็นภาระ เพราะว่าอารมณ์มันเยอะต้องเกี่ยวข้องกับสังคมเลยยาก

การสนับสนุนฆราวาสให้ภาวนาเป็นไปได้มันก็ต้องหาโอกาสมาอยู่วัด เพราะอยู่ในสังคมอยู่ในบ้านในหน้าที่การงานในครอบครัวมันภาวนายาก มันทำได้แต่ไม่สามารถที่จะต้านทานอารมณ์ได้ เพราะจิตไม่ทันต่ออารมณ์ มันกระทบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง อารมณ์มันเกิดขึ้นที่ใจ แล้วมันเกิดขึ้นบ่อยมาก มันเกิดดับเกิดดับอยู่นั่น แล้วสติเรารู้ไม่ทัน

ทีนี้เขาจึงว่า ให้มาฝึกเนกขัมมบารมี ไกลจากบ้านไกลจากที่ทำงาน มาอยู่วัดเนี่ย หลีกเร้นมาอยู่ในสถานที่สงบสงัดเพื่อที่จะให้กายวิเวกจิตวิเวก ทีนี้การบำเพ็ญภาวนาก็จะเป็นไปได้ง่าย แต่ฆราวาสไม่สามารถที่จะมาอยู่วัดได้บ่อยหรือมาได้ประจำเพราะว่ามีภาระในหน้าที่การงานครองเรือน เพราะฉะนั้น หากจะมาได้ช่วงสั้น ๆ ก็ยังดี

พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต







"ต้องมั่นเตือนตัวเองว่า
เรามาทำอะไร
เรากำลังทำอะไรอยู่
เราอยากกลับไปทุกข์อีกหรือ

ถ้าเราอยากเอาดี เราต้องอดทน
ไม่มีใครช่วยเราได้
ต้องเอาตนเป็นที่พึ่งของตน"

-:- หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต -:-







"เออ อันร่างกายนี้ ใครๆ ก็รู้ดีอยู่แล้วว่า
มันไม่มีใคร จะสามารถพ้นไปได้
จะต้องแตกดับ ทับถมแผ่นดินเท่านี้เอง

เราอย่าไปห่วงมัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย
มันเป็นประเพณีโลก ต้องตายกันทุกคน
หลวงปู่ก็ยังต้องตายนะ"

-:- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ -:-





"วันหนึ่งๆ อย่าได้ลืมการให้ทานก็ดี
การรักษาศีลก็ดี การภาวนาก็ดี
นี่เป็นสมบัติของมนุษย์เรา
ที่จะสั่งสมคุณงามความดี ทั้งหลาย
จากการกระทำเหล่านี้ เข้าสู่ใจของตน
อย่าให้ได้ขาดวัน ขาดคืน
เวลาตายแล้ว หมดท่าทั้งนั้นแหละ"

-:- หลวงตามหาบัว ญาณสัมบันโน -:-







“เพราะตนเองทำไว้
ทำอย่างไรก็ให้ผลอย่างนั้น
นั่นแหละ ทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง
ไม่ทำบาปเอง ย่อมหมดจดเอง

ความหมดจด และความเศร้าหมอง
เป็นของเฉพาะตน คนอื่นยังคนอื่น
ให้หมดจดและเศร้าหมองหาได้ไม่

ฉะนั้น บุญก็ดี บาปก็ดี
ตนของตนเองหรอก เป็นผู้กระทำสะสมไว้
และให้ผลเป็นทุกข์แน่นอน”

-:- หลวงปู่จันทา ถาวโร -:-






"ถ้าทำสติ ตามรู้ความคิดได้ การปฏิบัติจะสะดวก คนที่ปกติคิดมาก แต่ถ้าทำสติ ความรู้ ความคิดได้ การปฏิบัติ จะรู้สึกสะดวก กว่าบุคคล ซึ่งไม่ค่อยจะมีความคิด เพราะโดยปกติ จิตของเรา คิดอยู่แล้ว เราเพียงแต่ว่า ทำสติ กำหนดตามรู้มันเรื่อยไป เมื่อสติตามรู้ ความคิดทันแล้ว ความสงบจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบเกิดขึ้นแล้ว ก็มีปิติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง เช่นเดียวกับ การบริกรรม ภาวนาได้"
โอวาทธรรม...หลวงพ่อพุธ ฐานิโย






“หลวงพ่อจะไปไหน”หลวงปู่มั่นตอบว่า “จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนั้น”

ชาวบ้านฟังแล้วตกใจ รีบยกมือไหว้ท่านแล้วกราบนิมนต์ว่า “อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไปในถ้ำนี้ตายไปแล้ว 6 องค์ ขอให้อยู่กับพวกฉันที่บ้านไร่นี้เถิด อย่าเข้าไปเลย”

หลวงปู่มั่นรับความปรารถนาดีของชาวบ้านเอาไว้ในใจแล้วตอบว่า “เออ.. โยม ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”

จากคำพูดของชาวบ้าน ก็พอทำให้หลวงปู่มั่นเข้าใจสภาพของถ้ำบนภูเขาในป่าได้ดี จิตใจไม่มีหวาดกลัวกลับเต็มไปด้วยความเด็ดเดี่ยวยอมสละชีวิตเพื่อธรรมะ พอถึงถ้ำไผ่ขวางจัดแจงวางสัมภาระ เก็บปัดทำความสะอาดบริเวณที่พัก พอตกค่ำบำเพ็ญภาวนาตามวิสัย

รุ่งเช้าเดินลงเขาบิณฑบาตอย่างนี้ผ่านเดือนอ้าย เดือนยี่จนล่วงใกล้เข้าคืนเพ็ญเดือน 3 อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทำให้หลวงปู่มั่นระลึกถึงสมัยพุทธกาล ช่วงที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญภาวนาต่อสู้กับกิเลสมารจนบรรลุธรรม ท่านได้ปรารภว่า

“เราบำเพ็ญสมณธรรมมาถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 12 ปี ทุกอย่างพร้อมแล้ว ที่จะทำสุดแห่งทุกข์ในวัฏสงสารในคืนเพ็ญนี้” การตัดสินใจเช่นนี้แบบทิ้งทวนแลกชีวิตกับธรรมะ

ยามเช้า... เช่นเดียวกับทุกๆ วัน หลวงปู่มั่นหลังจากฉันเช้าเรียบร้อยเพียงพอแก่สังขารให้บำเพ็ญธรรมะได้ จากนั้นจึงบำเพ็ญสมาธิภาวนา พอนั่งได้ไม่นานเกิดไม่สบายกาย อาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อย ทำให้อาหารเป็นพิษ ส่งผลให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างหนัก ท่านจึงหวนนึกถึงคำพูดของชาวบ้าน พรางรำพึงกับตนเองว่า

“ตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น” แต่คำปรารภนี้ล้วนไม่ใช่วิสัยนักรบแห่งกองทัพธรรม หลวงปู่มั่นจึงออกเดินสำรวจมองหาสถานที่นั่งสมาธิ และแล้ว..

ที่หน้าผาเหวลึก.. มีก้อนหินใหญ่อยู่บนปากเหว พอให้คนไปนั่งได้ หลวงปู่มั่นไปขึ้นไปยืนบนก้อนหินใหญ่ แล้วหยิบก้อนหินอันเล็กๆ โยนลงไปในเหว ใช้เวลานานพอควรจึงจะได้ยินเสียงกระทบของก้อนหิน หลังจากดูทำเลเป็นที่เรียบร้อยหลวงปู่มั่นกล่าวปณิธานว่า

“เอาล่ะ.. ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด ถ้าเราจะต้องตายขอให้ตายตรงนี้ ขอให้หล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่เป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา”

คืนนั้น ท่ามกลางขุนเขาแสงจันทร์กระจ่างเป็นสักขีพยานเฝ้าดูการบำเพ็ญภาวนาของหลวงปู่มั่น จิตของท่านสว่างไสวดุจกลางวัน เห็นกระจ่างชัดแม้เม็ดทรายเล็กๆ

จิตโอภาสประภัสสรเห็นชัดในนิมิตที่เข้ามา รวมถึงการพิจารณากายคตาตอลดจนธรรมะต่างๆ นาน 3 วัน 3 คืน โดยไม่ลงไปบิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร เกิดนิมิตปรากฏเห็นบุตรสาวของโยมที่อุปัฎฐาก มายืนร้องเรียกความรักจากท่าน จิตของหลวงปู่มั่นไม่ได้หวั่นไหวไปตาม จิตไม่ได้ยินดียินร้ายกับสาวงามนั้น ท่านพิจารณาว่า

“อันเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็พิจารณามาอย่างช่ำชองแล้ว จะมาหลงอีกหรือ”

ฉับพลันภาพหญิงสาวนั้นก็แก่เฒ่าและล้มตายลงเหลือแต่กองกระดูกหายไปในแผ่นดิน จิตจึงถอนออกมา

ระลึกชาติ.. เกิดสมัยพุทธกาล

ขณะนั้นจิตมีปีติซาบซ่านเข้าถึงเอกัคคตาญาณ กายเบาจิตใจมีความสงบระงับ จิตเดินเข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน และจตุตถฌานโดยลำดับ พักอยู่ในจตุตถฌานนานพอควรแล้วถอยออกมาจนถึงปฐมฌานจึงหยุด ในลำดับนี้หลวงปู่มั่นท่านว่าเกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือรู้อดีตชาติ เกิดนิมิตภาพลูกสุนัขกินนมแม่

หลวงปู่มั่นรู้ด้วยใจว่า ลูกสุนัขก็คือตัวท่านเองในอดีตชาติที่เกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน สาเหตุมาจากลูกสุนัขมีความพอใจในอัตภาพของมัน จงส่งผลให้เกิดเป็นสุนัขจึงติดอยู่ในภพนี้หลายชาติ สร้างความสลดสังเวชให้กับท่านเป็นอย่างมาก จากนั้นหลวงปู่มั่นได้ค้นลงหาถึงต้นสายปลายเหตุพบว่า

“เราปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” จากนั้นภาพในอดีตชาติสมัยพุทธกาล หลวงปู่มั่นเกิดเป็นเสนาบดีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าศากยมุนีขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาถึงมหาสติปัฎฐานสูตร หลวงปู่มั่นได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่า

“ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์เถิด”

นับจากวาระจิตนั้น หลวงปู่มั่นดำรงอยู่โพธิสัตว์ธรรมบำเพ็ญพระโพธิญาณมาหลายร้อยชาติ เมื่อได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณทำให้หลวงปู่ระลึกถึงชาติภพต่างๆ มาพอสมควร เห็นความน่ากลัวของสังสารวัฏ และหากปรรถนาจะบรรลุพระนิพพานในชาตินี้ จะต้องละเสียจาก “พระโพธิญาณ”

ก่อนที่หลวงปู่มั่นจะตั้งจิตถอนจาก “โพธิญาณ” ท่านได้เดินสมาธิเฝ้าย้อนรำลึกในอดีตชาติว่า ท่านเพิ่งจะเริ่มตั้งจิตปรารถนาต่อพุทธภูมิต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าศากยโคดมเท่านั้น เส้นทางบำเพ็ญเพียรเพียงแค่กึ่งพุทธกาล อีกทั้งในอดีตชาติที่ผ่านมา ท่านระลึกได้ถึงความยากลำบากของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎ

ท่านสลดสังเวชแม้ท่านจะบำเพ็ญบารมีเพียงใดยังเคยเกิดเป็นหมาขี้เรื้อนถึง 500 ชาติ ทำให้หลวงปู่มั่นมองดูสรรพสัตว์ในสังสารวัฎที่ยังคงหลับไหล เขาเหล่านั้นยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นไรเมื่อสิ้นชีวิตลงไป

ครั้นหลวงปู่มั่นจะละถอนจาก “โพธิญาณ” ก็ให้สงสารสัตว์เหล่านั้น แต่เมื่อมองดูท่ามกลางสรรพสัตว์ทั่วไตรภพ ยังมีขบวนพระมหาโพธิสัตว์มีจำนวนมากที่ได้พยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าเป็น นิยตโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ที่จักได้รับการบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต) และยังมีพระโพธิสัตว์อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์อยู่ในสังสารวัฎ เพื่อบำเพ็ญบารมีช่วยขนสรรพชีวิตให้พ้นทุกข์ เมื่อพิจารณาดังนี้หลวงปู่มั่นจึงอธิษฐานจิตละจากพระโพธิญาณ







"...จะทำบุญทำทานอะไรนั้น ดี แต่ก็ควรคำนวณความเป็นอยู่เสียก่อน ทำบุญใช้เงินมากหรือน้อย ถ้าใจสบาย ก็มีอานิสงค์มาก

และเวลาจะทำบุญ ควรพิจารณาเนื้อนาบุญด้วย อย่าให้กลายเป็นสูญเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไหว้เจ้าดีกว่า เสร็จแล้วเอามากินได้

พระท่านดีทุกองค์ แต่ลูกชาวบ้านที่บวชเป็นพระนั้นไม่แน่ ที่เลวแสนเลวมีมาก ใช้ความพิจารณาก่อนทำบุญเป็นการดี..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงพ่อพระราชพรหมยานมหาเถระ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)








"...คนที่จะพ้นจากทุกข์ได้ พ้นจากโลกนี้ได้ พ้นจากกรรมได้ ก็เพราะใจอันเดียว จงยึดใจถือใจเป็นสำคัญ จะมาเกิดก็เพราะใจ เกิดแล้วจะมาสร้างกิเลสขึ้นก็เพราะใจ เป็นทุกข์ก็เพราะใจ

ถ้าใจไม่เป็นทุกข์ ใจไม่ยึดถือ ปล่อยทิ้งเสีย กายอันนี้ก็ไปตามเรื่องของกาย ใจก็เป็นตามเรื่องของใจ หมดเรื่องหมดราวกันที..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี







วันเวลาที่หมดสิ้นไป
โดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณค่าเป็นประโยขน์แก่ตนเองบ้าง
ในชีวิตที่เกิดมาในโลก และได้พบพุทธศาสนานี้
ช่างเป็นชีวิตที่น่าเสียดายยิ่งนัก
เวลาแม้นเพียงหนึ่งนาทีที่ผ่านเลยไปนั้น
แม้ว่าจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลสักสิบล้าน ร้อยล้าน
ก็ไม่สามารถซื้อคืนกลับมาได้

ฉะนั้น สิ่งที่น่าเสียดายในโลกนี้
จะมีอะไรน่าเสียดายเท่ากับปล่อยให้วันเวลา
ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์
แม้นว่าจะเพียงแค่นาทีเดียว

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร






ทานละเอียดบริสุทธิ์

หลวงปู่ได้สอนถึงการให้ทานต่อไปว่า..
แม้กระทั้งสัตว์เดรัจฉาน ที่ตัวเล็กกว่ายุง เช่น
ริ้น ไร และลอด หลวงปู่ก็ยังสอนให้พวกเราให้ทาน

ตัวลอดนี่ หน้าตาเป็นยังไงก็ไม่รู้ ท่านบอกว่าตัวมันเล็ก
จนลอดผ้าเข้าไปกัดเราได้นั่นแหละและหลวงปู่ก็ยกย่องว่า

การที่เราให้ทานน้ำเลือดน้ำเหลืองในตัวเราแก่พวกนี้
เป็นทานบริสุทธิ์เสียด้วย
"ทานํ เม บริสุทฺธํ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ"

"เวลาเรากินสัตว์อื่น เรากินทั้งเลือดทั้งเนื้อทั้งหนัง
ตับไตไส้พุง แม้กระทั่งกระดูก เลือดเนื้อเชื้อไขในตัวของเรา
ได้มาจากพ่อแม่ ไม่ได้ไปซื้อไปหามาจากไหน

ปล่อยให้เขากัดไปเถอะ ตั้งใจให้เป็นทานไป
เป็นทานละเอียดบริสุทธิ์"

อัตตโนประวัติ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หน้า ๖๕








"หลงรูป หลงนาม"

มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมันหลง หลง ผิดคิดว่า เป็นตัว เป็นตน
จึงได้มาเวียนว่ายอยู่ในโลก ในวัฎฎสงสารอันแสนทุรกันดารนี้

ผู้ปฎิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา
มารู้แจ้งแทงตลอดว่า

รูปนาม ไม่เที่ยงจริงอย่างนี้
รูปนาม เป็นก้อนทุกข์เป็นกองทุกข์อย่างนี้
รูปนาม ไม่ใช่ตัวตนของเราอย่างนี้

เมื่อไม่ใช่ตัวตนของเรา
ทำไมจิตจึงมายึดหน้าถือตา
ยึดตัว ถือตน มายึดเรายึดของของเรา

ยึดถือแล้วได้อะไร ก็ไม่มีอะไรได้
ได้แต่กิเลส โทสะ
ได้แต่กิเลส โมหะ เต็มไปหมด

เมื่อมีกิเลสอันนี้เกิดขึ้นมา ก็มายึดมาถือ
วุ่นว่ายอย่างที่โลกเขาวุ่นว่ายอยู่อย่างนี้แหละ

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO