นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 04 พ.ค. 2024 12:27 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: อยู่ที่บุญกับบาป
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 09 มิ.ย. 2017 2:01 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4548
"อยู่ที่บุญกับบาป "

ถาม : ถ้าเรารักษาศีลห้าได้อย่างดี ทำกรรมดีมากกว่ากรรมชั่ว แต่การเจริญสติของเรายังไม่ดี ในขณะที่เราต้องตายหมดลมหายใจ ใจกลัวตาย ยังปล่อยวางร่างกายไม่ได้ ฟุ้งซ่าน ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ เมื่อตายแล้วใจจะไปสู่ภพที่ไม่ดีไหมครับ

พระอาจารย์ : อ๋ออยู่ที่บุญกับบาปไง ถ้าเราบุญมากกว่าบาปมันก็จะไปสู่สุคติ ถ้าบาปมากกว่ามันก็จะไปอบาย เหมือนเกวียนที่มีวัวสองตัวคอยลาก ตัวหนึ่งอยู่ข้างหน้าตัวหนึ่งอยู่ข้างหลัง ก็แล้วแต่ว่าตัวไหนมีกำลังมากกว่า ถ้าเลี้ยงตัวที่อยู่ข้างหลังให้มันกินข้าวเยอะๆแล้ว ตัวข้างหน้าไม่ให้มันกินข้าวเลย ไอ้ตัวข้างหลังมันก็มีแรงมากกว่า มันก็จะลากไปข้างหลัง ในทางตรงกันข้ามถ้าเลี้ยงวัวตัวที่อยู่ข้างหน้าให้มันมีกินเยอะๆ ให้วัวที่อยู่ข้างหลังให้มันกินน้อยๆ ไอ้วัวที่อยู่ข้างหน้ามันก็มีกำลังมากกว่ามันก็จะดึงไปข้างหน้า เวลาเราทำบุญก็เหมือนกันเราทำให้บุญมีกำลังมากขึ้น เวลาทำบาปก็จะทำให้บาปมีกำลังมากขึ้น มันก็สะสมไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาที่เราตายไป ไอ้วัวสองตัวนี้บุญกับบาปมันก็จะมาชักเย่อกัน มาดึงเกวียน ดึงใจเรา ว่าจะให้ไปทางไหนกัน ถ้าบอกว่าเราทำบุญมากกว่าทำบาป เราก็ จะไปทางสุขติ ไปเป็นมนุษย์หรือไปเป็นเทวดา ขั้นนี้แหละถ้าทำบุญถ้านั่งสมาธิได้ก็จะไปขั้นพรหมกัน ถ้ามีปัญญาได้ก็ไปขั้นพระอริยะกัน

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





คนถามว่านรก สวรรคฺมีจริงหรือ

" ให้เชื่อพระพุทธเจ้า ถึงยังไงก็เถอะ ถ้ามันไม่สัมผัสด้วยเจ้าของ เขาว่ามันไม่ขาดสงสัย เพราะตัวสงสัยเป็นวิจิกิจฉา เป็นกิเลสตัวหนึ่ง ก่อนจะหมดขั้นสงสัยต้องผ่านขั้นโสดาบันไปก่อนสิหมดสงสัย ทีแรกก็ทำไปตามทางที่ดี เชื่อร้อยเปอเซนต์ พอได้ผลปรากฎเรื่องใจ เราเห็นประจักษ์ว่าเป็นของเราจริง ๆ มันค่อยแน่นขึ้น ศรัทธาก็เพิ่มขึ้นกว่าเก่าเพราะความหนักแน่น เห็นใจคือเห็นธรรม

ธรรมมันก็มีหลายขั้นนี่นา ขั้นต้นก็โลกิยธรรม ต่อไปก็โลกุตรธรรม กัลยาธรรม ธรรมอันงานขึ้นก่อน ปุถุชนมีธรรมอันงาม จากนั้นก็เป็นอริยธรรม ไม่กล้าทำบาปแล้วด้วยกาย เวลาพูดก็ไม่กล้าพูดผิดเพราะอาย การทำสิ่งที่ผิดเพราะกลัวบาป อันนี้เรียกว่าธรรมเข้าถึงตัว เพราะตัวธรรมจริงๆ เป็นตัวใจ ตัวใจมาผสมกันเข้าอยู่ส่วนกลางเรียกว่าใจ การรักษาใจคือการรักษาธรรม รักษาพระศาสนา รักษาตัวเอง เสริมสร้างตัวเอง ให้แข็งแกร่ง ที่แรกก็ให้พึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พอได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทำอย่างไร พระธรรมสอนอย่างไร พระสงฆ์สอนอย่างไร พอไปทำตามมันได้รู้ได้เห็นได้เป็นของตัวเอง รู้ชัดเจน พึ่งตัวเองได้แล้ว อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ธรรมของพระพุทธเจ้าสอนให้รู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่สักแต่ทำไปตามเขา เบื้องต้นคือน้อมใจเชื่อ เชื่อด้วยศรัทธา ปัญญา ความคิด ให้พยายามทำเข้า ทำได้จริงก็คือ ผล "

__________________

หลวงปู่บุญมี ปริปุญโณ






"ถ้าอะไร เราไม่ได้ทำไว้
อยากได้มันก็ไม่ได้
ถ้าได้ทำไว้แล้ว สร้างไว้แล้ว
ไม่อยากได้ มันก็ได้
นี้แหละ ทานบารมี"

-:-หลวงปู่ฝั้น อาจาโร-:-





"ตายแล้วไปไหน ไม่ต้องไปสนใจมัน
แต่ให้สนใจปัจจุบันว่า ทำตัวดีแต่ไหน
ทำความดีเสียในขณะนี้ ตายแล้วก็จะไปดีเอง"

-:- หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ -:-




การทำจิตให้สงบ คือ การวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดีธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้น จิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็ คือ การออกกำลังกาย ทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่งนี่คือ การทำกายให้มีกำลังการทำจิตให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังด้านสมาธิภายในสิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้คือสติสตินี้เป็นธรรม
เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆ ทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเรียง"ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี"
"เมื่อมันกล้าขึ้นมา มันก็คือมรรค""นี่แหล่ะคือหนทาง ทางอื่นไม่มี"

โอวาทธรรม หลวงปู่ชา สุภทฺโท






ระหว่างอยู่ฆราวาส เราก็ฝึกเสีย ให้มีขันติ ความทนทาน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยความลำบาก ให้มีวิริยะความพากเพียรในคุณงามความดีทุกสิ่งทุกอย่าง เพียรละสิ่งที่ไม่ดีนั่น เพียรละ เพียรถอน มันจะทำไม่ดีก็เพราะใจนั่นแหละ มันเป็นผู้ทำ สกนธ์กายนี้เป็นเครื่องใช้ต่างหาก มันเป็นของกลาง ไม่ใช่ของใคร ของเราเป็นของกลาง ผู้ฉลาดมาใช้อันนี้ ใช้สกนธ์กายอันนี้ทำคุณงามความดี ร่างกายนี้มันไม่เป็นสาระแก่นสาร ทรัพย์สมบัติวัตถุภายนอกก็ไม่เป็นแก่นสาร ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่เป็นสาระแก่นสาร เมื่อผู้ฉลาด ผู้มีปัญญา ผู้ไม่ประมาทแล้ว มาทำร่างกายให้ประกอบคุณงามความดี มีการเดิน การยืน มีการนั่ง การนอน ประกอบอยู่อย่างนั้น ได้ชื่อว่าทำสกนธ์กายของตนให้เป็นสาระแก่นสาร ทำชีวิตของตนให้เป็นสาระแก่นสาร

บริจาคให้ทานไปตามได้ตามมีตามเกิด ก็ได้ชื่อว่าทำทรัพย์สมบัติวัตถุภายนอกให้เป็นแก่นสาร เอาเข้ามาไว้เป็นอริยทรัพย์ภายในของตนเสีย การทำความเพียรทุกสิ่งทุกอย่าง เรียกว่าทำอริยทรัพย์ของตน ทำให้ตน เมื่อเรายังไม่พ้นทุกข์ ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารจักรนี้ ทรัพย์อันนี้ไม่มีสูญมีหายไปไหน ต้องติดตามไปทุกภพทุกชาติ ให้ได้ความสุขทุกภพทุกชาติ จึงว่าควรทำ ค่อยทำไปๆ แต่ก่อนๆ ท่านที่เป็นฆราวาส ท่านก็ได้สำเร็จพระโสดา สกิทาคา อนาถบิณฑิกก็ดี นางวิสาขาก็ดี ว่าแต่ผู้จำได้ ส่วนนอกนั้นก็นับไม่ถ้วน พวกฆราวาสที่สำเร็จพระโสดา สกิทาคา อนาคา ผู้มีศรัทธา ผู้มีความยินดีแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เลือกว่าต้องนุ่งเหลืองจึงจะสำเร็จ ไม่ใช่ นุ่งขาวก็ไม่ว่า นุ่งเหลืองก็ไม่ว่า หัวโล้นก็ไม่ว่า หัวดำก็ไม่ว่า สำเร็จหมด ชั้นสูงก็ไม่ว่า ชั้นต่ำก็ไม่ว่า สำเร็จหมด ไม่เลือกชั้นเลือกวรรณะ ไม่เลือกชาติเลือกภาษา

ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้าทำลงไปแล้วไม่มีผล ไม่มี ต้องมีผลทีเดียว ทำน้อยก็ได้รับผลตามน้อย ทำมากก็ได้รับผลตามมาก ติดตนเป็นอริยทรัพย์ สมบัติอันนี้ได้รับผลตามกำลัง พวกคุณเกิดมาชาตินี้ก็สมบูรณ์ทุกอย่าง บาปก็ไม่ได้ทำสักหน่อย มันเป็นผู้บริบูรณ์แล้ว พึงเข้าใจว่าเราไม่พ้นในชาตินี้ มันก็รู้จักกันเดี๋ยวนี้ละ

พระพุทธเจ้าบอกรู้จักกันเดี๋ยวนี้แหละ จะเป็นเทพยดา อินทร์ พรหม ก็รู้จักแต่เป็นมนุษย์นี่แหละ เสวยสวรรค์ดิบอยู่ในมนุษย์นี่แหละ จะได้ไปพระนิพพานก็เสวยอยู่ในมนุษย์นี่แหละ ได้เห็นในมนุษย์นี่เสียก่อน เหมือนพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วนั่นแหละ นิพพานดิบในมนุษย์ รู้แจ้งเห็นแจ้งอยู่ในมนุษย์นี่เสียก่อน

...หลวงปู่ขาว อนาลโย...






เพราะว่าพระ ไม่ใช่เอาพระอรหันต์มาบวช เอาปุถุชนมาบวช โดยมากมันไหลไปทางกิเลส ไปทางต่ำ แต่บวชเข้ามาใหม่ๆ ก็เออ! เป็นผู้มุ่งหวังอรรถธรรม หวังทางพ้นทุกข์

แต่พออยู่ต่อมาน่ะ มองเห็นน่ะ มองเห็น"อดิเรกลาภ" มองเห็น "ศรัทธา" คนที่มานับถือเลื่อมใส พอมาเห็นจุดนี้แล้วก็นั่น พอจะได้สิ่งของอะไรก็แนะนำบอกกล่าวเขา ผลที่สุดก็นั่นแหล่ะ ศรัทธาญาติโยมก็ศรัทธา ผิดหรือถูกก็ไม่รู้เหมือนกันศรัทธาน่ะ

อย่างพระเจ้าอชาตศัตรูน่ะ ศรัทธาพระเทวทัตน่ะ พระเทวทัตบอกอะไรเชื่อหมด บอกให้ฆ่าพระพุทธเจ้าก็เอา จะต้องการนายขมังธนูหรอ เอ้า! จัดให้ ปล่อยช้างนาฬาคิริงหรอ เอ้าให้ อย่างนี้ล่ะเพราะว่า "ศรัทธา"

ศรัทธาคำนี้น่ะน่ากลัวนะ ถ้าศรัทธาไม่สัมปยุตด้วยปัญญา ศรัทธาที่ไม่รอบคอบ มีแต่ศรัทธาอย่างเดียวน่ากลัว ถ้าศรัทธานี่สัมปยุตด้วยปัญญา อันไหนผิดอันไหนถูก อันไหนควร มิควร อย่างไร นี่แหละ ถ้ามีสัมปยุตด้วยปัญญาแล้วก็ดี..."

เทศนาธรรมคำสอน..
พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก
วัดป่านาคำน้อย บ้านนาคำน้อย ต.บ้านก้อง อ.นายูง จ.อุดรธานี





บาปกรรมที่บุคคลทำไว้นั้นไม่ใช่ส่งผลเพียงชาติเดียว สามารถที่จะส่งผลไปหลายภพหลายชาติ การที่เราเกิดมามีโรคภัยเบียดเบียน เจ็บป่วย นี้ก็มาจากบาปที่ทำ เป็นเศษของกรรม ของบาป
จากไปเสวยกรรมในนรกมาแล้ว มาเป็นมนุษย์ ก็ยังได้รับเศษขอบาปกรรม
ต้องป่วย ต้องเจ็บ ต้องไม่สบาย รักษาไม่รู้จักหาย นอกจากว่าจะหมดบาปกรรมนั้นไป หรือว่าสร้างกุศลกรรม กรรมดี เอากรรมดีมาแข่ง เรามีกรรมดีหรือมีบุญกุศลที่ทำไว้ บางครั้งโรคภัยไข้เจ็บนั้นก็หายได้ ถ้าเรามีโรคที่เกิดจากกรรม รักษาไม่หายแต่ต้องทำบุญ ถ้ามีบุญมีกุศลแล้ว บุญนี้ก็จะไปเบียดบาปเก่านั้นให้ตกหล่น ก็เลยหายจากโรคภัยไข้เจ็บ บางคนป่วยผ่าตัดมา เป็นโรคมะเร็ง แต่ได้ปฏิบัติธรรม ความดี รักษาความดี ทำความดีมากขึ้น ๆ โรคนั้นก็เลยบรรเทาคลี่คลาย บางคนก็หายไปได้ นี้ถ้าเราเชื่อหลักของกรรม และรู้ว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากบาป ฉะนั้นเราจะแก้เพียงแค่ยารักษาโรค มันไม่ได้ ต้องแก้ด้วย หนึ่งหยุดบาป หยุดการกระทำบาปนั้นไป ไม่ไปเพิ่มเติมบาป
สองก็คือเร่งทำบุญกุศล ให้มากในปัจจุบันนี้ ถ้าบุญใหม่ดีมีกำลัง ก็จะเป็นกุศล อุปปีฬกกรรม เข้าไปเบียดบาปในอดีตให้ตกหล่น ก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังตัวอย่างเรื่องของพระนางโรหิณี พระนางโรหิณีนี้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง พุพองคันทั้งตัวเป็นมานาน
เป็นน้องของพระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะก็มีพี่น้องด้วยกัน ๓ องค์ มี มหานามะ อนุรุทธะ แล้วก็พระนางโรหิณี
เจ้าชายอนุรุทธะ มหานามะ นี้ก็ออกบวช ออกบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน
บิดาของพระเจ้าอนุรุทธะก็คือ อมิโตทนะ พระเจ้าอมิโตทนะนี้ก็เป็น
เป็นน้องชายของพระเจ้าสุทโธทนะ
ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า
ก็เรียกว่าเป็นลูกของอา
ออกบวชตามพระพุทธองค์ ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วก็เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านทิพยจักษุ มีตาทิพย์ในคราวหนึ่ง พระอนุรุทธะได้กลับไปกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยบริวารของท่าน ๕๐๐ เรียกว่าไปเยี่ยมพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อไปถึงแล้ว บรรดาญาติทั้งหลายก็มา เข้ามากราบ มาอภิวาท ในจำนวนญาติทั้งหลายนั้น
ก็ขาดพระนางโรหิณีไม่ได้มา เพราะว่าไม่กล้ามาแสดงตน คือตนเองป่วยเป็นโรคผิวหนัง พระอนุรุทธะก็เลยถามพระญาติว่า โรหิณีไปไหนเสีย ไม่มาด้วย
ญาติเหล่านั้นก็บอกพระนางโรหิณีนี้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง ก็ไม่กล้าจะไปปรากฏตัวที่ไหน อย่างไร
พระอนุรุทธะก็ให้พระญาตินั้นไปตาม
ไปเรียก พระนางโรหิณีมา แล้วท่านก็แนะนำให้ เรียกว่าจะแก้กรรมกัน รู้ว่าโรคนี้เกิดจากบาปกรรมในอดีต
ก็แก้กรรม แต่การแก้กรรมไม่ใช่ไปทำพิธีปลุกเสกอะไร แก้ด้วยการทำบุญ
ก็แนะให้พระนางโรหิณีสละเครื่องประดับ เครื่องประดับที่มีราคา ให้นำสละไปขาย ได้เงินมา ๑๐,๐๐๐ กหาปณะ แล้วให้สร้างโรงหอฉันของพระสงฆ์ พระนางก็ปฏิบัติตาม ได้เงินมาหมื่นกหาปณะ ก็สร้างโรงหอฉันขึ้นเป็น ๒ ชั้น เป็นที่พระสงฆ์มานั่งฉัน
นอกจากนี้พระนางโรหิณีก็ได้ไปดูแล
ไปปัด ไปกวาด เช็ดถูโรงฉันที่พระสงฆ์ได้นั่ง ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ถวายภัตตาหาร
อุปัฏฐากพระสงฆ์อยู่เป็นประจำ ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ มา ที่สุดโรคนั้นก็เบาบางลง และที่สุดก็หายไป นี้เห็นไหม หายได้ โรค โรคเป็น โรคผิวหนัง
ป่วยรักษาไม่หาย แต่ว่าหายด้วยบุญ
พอมาทำบุญ ที่นั่งที่อาศัยพระได้นั่งได้อาศัย พระนางก็มากวาด มาถูมาเช็ดมาทำ ดูแล ถวายภัตตาหาร ทำอยู่เรื่อย ๆ มา พอบุญกุศลมากขึ้น ๆ
กุศลนี้ก็จะไปเป็นุ กุศลอุปปีฬกกรรม
เบียดบาปที่ทำไว้ในอดีตให้ตกไป โรคนั้นก็หายได้เมื่อถึงคราววันหนึ่ง
นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์มาฉัน นั่งฉันที่โรงอาหารนั้นแหละ
พระพุทธเจ้าก็ปรารภถึงว่าใครเป็นเจ้าของทาน ใครเป็นเจ้าของสร้างโรงหอฉันนี้ เมื่อได้รับรายงานว่าพระนางโรหิณี พระองค์ก็ตรัสให้เรียกพระนางมา แล้วพระองค์ก็ได้ปรารภถึง
การที่พระนางป่วยเป็นโรคผิวหนัง
อันนี้ก็เกิดจากบุพกรรม เกิดจากกรรมเก่าเมื่อชาติก่อน ๆ นั้น พระนางโรหิณีจึงได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
กระหม่อนฉันได้ทำบาปกรรมอะไรไว้ในอดีตชาติ พระพุทธเจ้าก็ทรงได้เล่าเรื่องราวบุพกรรมในอดีตให้ฟัง
ว่าในอดีตนี้พระนางโรหิณีเป็นมเหสี
ของพระเจ้ากรุงพาราณสี ตามธรรมดาพระราชานี้ก็จะมีหญิงอื่นด้วย แล้วก็จะได้รับการบันเทิงเริงรมย์อยู่กับหญิงอื่น ๆ ได้มีหญิงฟ้อนรำมาฟ้อนรำเป็นที่พออกพอใจของพระราชามาก เป็นที่โปรดปราน ก็ทำให้มเหสีซึ่งเป็นอดีตของพระนางโรหิณีเกิดความริษยาหญิงฟ้อนรำด้วยความโกรธ อดรนทนไม่ได้ ก็เลยให้บริวารไปเอาผงเต่าร้าง ก็คือหมามุ่ย หมามุ่ยใหญ่เอามาโรยใส่ตัวหญิงฟ้อนรำนี้ แล้วก็พระนางมเหสีนี้ก็ทำด้วย แล้วก็ไปโรยที่นอน ที่นอนของหญิงฟ้อน หญิงฟ้อนนั้นก็ได้รับทุกขเวทนา คันทั้งตัวเกาพอเกาก็เกิดแผลเกิดผุ เกิดอันนั้นแหละต้องไปตกนรก ใช้หนี้กรรม ท่านมาเกิดเป็นพระนางโรหิณี เศษบาปกรรมก็ยังตามมา ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า
บุคคลควรละความโกรธ สละความถือตัว ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย
ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกถึงบุคคลเช่นนั้น ผู้ไม่ข้องในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
.....................................
#ธัมโมวาท โดยพระวิปัสสนาจารย์
#ท่านเจ้าคุณ #พระภาวนาเขมคุณ
(หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี)
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา






ผู้ที่ไม่ยอมรับความดีของผู้อื่นที่มีอยู่
ก็เหมือนกับ
เขากำลังทำลายความเจริญของเขาเองอยู่เช่นกัน.
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(สิริจฺนโท จันทร์)





อาตมานั้นเป็นคนรวยจริงแต่รวยธรรมะ

โจรคนหนึ่งได้หลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ เขาคอยสังเกตดูคนมากหน้าหลายตาที่หลั่งไหลเข้านมัสการหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก เมื่อมีผู้คนมากันมาก ๆ เช่นนี้จอมโจรใจเหี้ยมก็คิดว่า อย่างไรเสียหลวงปู่อ่อนคงจะมีเงินทองมาก เพราะพวกชาวบ้านต้องมาทำบุญกับท่าน

จอมโจรใจโหดคิดได้ดังนี้ ก็ได้เตรียมอาวุธคิดจะทำร้ายท่าน จอมโจรไปดักซุ่มคอยจะทำร้ายหลวงปู่อ่อนที่กฏิ

ในคืนหนึ่งจอมโจรคอยสังเกตเห็นว่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จะต้องลงมาจากกุฏิ แล้วท่านก็มานั่งหลับตาอยู่เพียงลำพัง หรือมิเช่นนั้น หลวงปู่อ่อนจะต้องลงมาเดินไปมา ก้มหน้าลงดินเหมือนกับว่า กำลังมองหาสิ่งของตกหายอย่างนั้นแหละ

โจรใจโหดคนนี้หารู้ไม่ว่า นั่นพระธุดงคกรรมฐาน กำลังเร่งความเพียรภาวนา และเดินจงกรมเพื่อกำหนดสติสู่ทางบรรลุธรรมมันไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น มันรู้เพียงอย่างเดียวว่า "ต้องการสมบัติจากพระ ต้องการเงินทองจากพระ"

มันจึงย่องขึ้นไปบนกุฏิ เพราะความอดรนทนไม่ไหว เมื่อย่องขึ้นไปสายตาก็พบกับห้องว่างเปล่า มีเพียงกลดกางอยู่อย่างเดียว โจรก็เข้าใจว่า หลวงปู่อ่อนคงจะซ่อนทรัพย์สมบัติไว้ในกลด จึงค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้กลด

จอมโจรกระหยิ่มใจมาก คิดในใจว่า คราวนี้คงจะต้องรวยแน่ๆสมบัติคงจะมากมาย พระสงฆ์องค์เจ้าจะไปใช้อะไรมาก เงินทอง อาหารเหลือเฟือ ชาวบ้านนำมาถวายทุกวัน เงินทองไม่จำเป็นต้องใช้อะไร เราจะเอาไปให้หมด คิดได้ดังนั้นแล้ว จอมโจรก็จับชายมุ้งกลดค่อย ๆ เลิกกลดขึ้น

ทันใดนั้นความตระหนกตกใจเข้ามาแทนที่ ส่วนความกระหยิ่มย่ามใจพลันหายไปสิ้น จอมโจรตกใจสุดขีด ตัวชาไปหมด เพราะสิ่งที่กลิ้งออกมาจากกลดนั้น เป็นหัวกะโหลกผี !

จอมโจรเห็นอย่างชัดเจนว่ากะโหลกผีแน่นอน อย่างอื่นไม่เห็นมีอะไรอีกเลย ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น จอมโจรใจชั่วถอยออกมาทั้งโกรธ ทั้งตกใจ ระคนกัน ตกใจก็เพราะหัวกะโหลกที่กลิ้งออกมา ที่โกรธนั้นก็เพราะผิดหวังอย่างแรง เมื่อสมบัติที่คิดว่ามีมากมาย กลับว่างเปล่าเสียได้...เอ๊ะ...อะไรกันนี่

จอมโจรจึงลงมาดักรออยู่หน้ากุฏิของท่านอีกครั้ง ในใจของมันก็ยังเข้าใจว่าหลวงปู่อ่อนไม่อยู่ในกลด ไม่อยู่บนกุฏิ ก็ต้องเข้าหมู่บ้านไปแสดงธรรมแน่ ๆ

ความมานะพยายามที่จะทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้าของคนจิตใจบอดมิดเช่นมันยังดำเนินไปเรื่อย ๆ แทนที่จะเกรงกลัว เพราะกะโหลกมาเตือนในการกระทำของมัน ก็หาได้สำนึกไม่ มันนั่งรอตั้งแต่หัวค่ำ จนดึกดื่นใกล้จะสว่างเสียให้ได้

ทันทีนั้นมันก็เห็นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ห่มผ้าเป็นปริมณฑลกำลังเดินลงมาจากกุฏิ

เอ๊ะอะไรกันนี่! ก็เรานั่งเฝ้าท่านอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนใกล้รุ่งแล้วและที่บนกุฏิท่านก็ไม่อยู่ จู่ ๆ ท่านกลับเดินลงมายังลานข้างล่าง น่าแปลกใจเหลือเกิน แต่ความอยากได้ความโลภยังมีอยู่ ยกอาวุธทีไร ร่างหายทุกที

ฝ่ายทางหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็รู้การมาของโจรใจชั่วคนนี้ เพราะท่านมิได้ไปไหน ก็ท่านนั่งภาวนาอยู่ในกลดนั่นเอง ก็เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมไปตามปกติของท่าน

ท่านมิได้สนใจกับโจรเลยแม้แต่น้อย ท่านเดินจงกรมไปจนสุดทาง แล้วก็เดินกลับมาอยู่อย่างนั้น จอมโจรไม่เข้าใจการกระทำของหลวงปู่ท่าน เพราะเห็นท่านเดินไปเดินมาอยู่เช่นนั้น มันจึงค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้ๆ ท่าน พอท่านหันหลังเดินกลับไปทางเก่า

มันก็ยกอาวุธขึ้นที่จะทำร้าย เป็นที่น่าอัศจรรย์ แสดงปาฏิหาริย์ ร่างของหลวงปู่อ่อนค่อยเลือนลางหายไป

จอมโจรก็พยายามที่จะทำร้ายท่านหลายครั้งหลายหน ครั้นพอเห็นร่างของท่าน จอมโจรชั่วก็เงื้ออาวุธจะทำร้าย ร่างก็เลือนหายไป ๆ เป็นอยู่อย่างนี้ จนที่สุดจอมโจรร้ายเหน็ดเหนื่อย เพราะเวียนตามที่จะฆ่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริหลายเที่ยว จึงทรุดกายลงนั่งอย่างอ่อนกำลังเต็มทน

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ใช้อำนาจอภิญญาอันเร้นลับภายในของท่าน เพื่อทรมานโจรร้ายคนนี้ ท่านบังคับจิตใจของจอมโจรร้ายให้อ่อนลงจนพอควรแล้ว หลวงปู่อ่อน จึงได้เรียกชื่อของโจรร้ายอย่างถูกต้องและให้เข้าไปหาท่าน

ประโยคแรกที่ท่านเรียก จอมโจรต้องตกใจตัวสั่นหันไปทางเสียงบนกุฏิ มันค่อย ๆ คลานไปหาอย่างคนที่จิตใจเลื่อนลอย พอไปถึงหลวงปู่อ่อนท่านพูดขึ้นว่า

"อาตมานั้น เป็นคนรวยจริง แต่รวยธรรมะ ส่วนทรัพย์สมบัตินั้น อาตมาไม่มีหรอก สมบัติของอาตมาก็มีผ้าที่ครองอยู่คือ ผ้า ๓ ผืน กับนี่ บาตรลูกเดียวเท่านั้น”

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พูดจบก็หยิบบาตรส่งให้จอมโจรดู จอมโจรใจหายวาบ เพราะครั้งแรกตนเองเห็นอย่างชัดแจ้งว่าเป็นกะโหลกผี

จอมโจรผู้มีชนักติดตัวคนนั้น มองดูบาตรที่อยู่ในมือ ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ด้วยหัวใจเลื่อนลอย พยายามทบทวนการกระทำของตนอยู่พักหนึ่ง ก็บังเกิดความละอายใจที่ตนคิดร้ายก่อกรรมทำชั่วไว้ในครั้งนี้

จอมโจรสำนึกผิดกลับจิตใจด้วยการ ก้มลงกราบแทบเท้าสารภาพความผิดแก่หลวงปู่อ่อนและได้ให้สัจจะกับหลวงปู่อ่อนว่า

"ท่านพระอาจารย์ครับ กระผมเป็นคนบาปที่คิดไม่ดีกับพระอาจารย์ บัดนี้ตาสว่าง ใจสว่างได้แล้ว กระผมจะขอให้สัจจะ ณ บัดนี้ว่า กระผมจะขอเลิกจากการเป็นโจรคนพาล จะขอกลับตนเป็นคนดีหากินอย่างสุจริต ไม่ขอก่อกรรมอีกต่อไปและขอท่านพระอาจารย์โปรดอโหสิกรรม ยกโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด”

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ยิ้มรับด้วยความเมตตายิ่ง ท่านได้พูดกับโจรกลับใจพร้อมกับกล่าวตักเตือนดุจบิดาตักเตือนบุตร ด้วยความอ่อนโยนว่า

"เธอได้สำนึกผิด เพราะความหลงผิดของเธอได้แล้วนั้น นับได้ว่า เธอยังเป็นบุคคลที่มีบุญมีวาสนาอยู่บ้าง เราจะขออวยพรให้เธอจงสำเร็จผลดังตั้งใจไว้นะเธอจงจำไว้นะ ผู้มีธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่กับจิตใจอยู่กับตัว ดีกว่ามีทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ในโลก"

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
วัดป่านิโครธาราม จังหวัดอุดรธานี







"ทาน ศีล ภาวนา"

" .. ผู้ทั้งให้ทานด้วย ทั้งรักษาศีลด้วย ย่อมเป็นผู้สร้างคุณงามความดีความร่มเย็นไว้แก่ตนโดยสม่ำเสมอ "คนมีศีลมีธรรมไปที่ไหน ไม่มีใครรังเกียจ" มีแต่ผู้รักผู้ชอบใจผู้เทิดทูนผู้เคารพนับถือ

ไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าคนจนคนรวยคนโง่คนฉลาดคนมั่งมีศรีสุขขนาดไหนประการใด "ขอให้มีศีลอยู่ภายในกาย วาจา ใจของตนเถิด" ผู้นั้นเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติภายในอันสำคัญติดตัว "ไปที่ไหนสวยงาม มีแต่คนอยากคบค้าสมาคมไม่มีใครรังเกียจ"

ที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่า "ทานํ เทติ" คนใจบุญย่อมหนักแน่นในทาน ย่อมหนักแน่นในการรักษาศีล "ย่อมสนใจใคร่ต่อการภาวนารักษาจิตใจของตนให้สงบร่มเย็น" ใจที่มีความสงบ ย่อมเป็นใจที่มีความสุขและผ่องใสอยู่ภายใน

ผลแห่งการปฏิบัติธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ สำหรับผู้บำเพ็ญท่านว่า

- "เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ" บางพวกย่อมไปสวรรค์
- "เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ" บางพวกย่อมก้าวขึ้นสู่นิพพาน
- "นิสฺสํสยํ" โดยไม่ต้องสงสัย .. "

"พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน"
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี






"ถ้าอะไร เราไม่ได้ทำไว้
อยากได้มันก็ไม่ได้
ถ้าได้ทำไว้แล้ว สร้างไว้แล้ว
ไม่อยากได้ มันก็ได้
นี้แหละ ทานบารมี"

-:-หลวงปู่ฝั้น อาจาโร-:-


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO