นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 04 พ.ค. 2024 8:23 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ความหลง ๔ ประการ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 25 พ.ค. 2017 4:36 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4548
"..ขอให้เข้าใจว่า โดยสังเขปพวกที่หลงโลก
ก็มีหลงอยู่ ๔ ประการ..
๑. หลงของไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง
คือหนังหุ้มอยู่โดยรอบที่สมมติว่าเป็นเราๆ นี้

๒. หลงของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
คือหนังหุ้มอยู่โดยรอบนี้อีกล่ะ

๓. หลงของไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน
เอาจริงๆ จังๆ จนแกะไม่ได้คลายไม่ออก

๔. หลงหนังหุ้มอยู่โดยรอบอันเป็นของบูดราเปื่อยเน่า
ว่าเป็นของสวยงาม

ถ้าเราไม่หลงสิ่งเหล่านี้แล้ว ภพชาติของเราก็จบ
ใน ณ ที่นี้เอง จะภาวนาหรือไม่ภาวนามันก็จบอยู่ในตัวแล้ว
แม้จะภาวนา ๗ วัน ๗ คืนไม่กินอาหารก็ตาม
ถ้าหากว่าหลงของ ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้อยู่
ก็ยังข้ามภาพข้ามชาติไม่ได้
การข้ามภพชาติก็เอาสติปัญญาเท่านั้นข้าม
จะข้ามด้วยเครื่องบินหรือจรวดอะไรๆ
ข้ามตั้งล้านๆ ปีก็ข้ามไม่ได้ หวังว่าคงเข้าใจ..."

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต





ขันธ์ ๕ ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่บุญ ไม่ใช่บาป

“พระโสดาบัน” ท่านละสังโยชน์ตัวนี้ได้

พูดง่ายๆ ว่า ขนมีกิเลสไหม ผมมีกิเลสไหม หนังมีกิเลสไหม

มันรักใคร มันชังใคร

เพราะฉะนั้น “พระโสดาบัน” ท่านละสังโยชน์ตัวนี้ได้

หมายความว่า วัฏฏะไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัววัฏฏะ

ที่มีอยู่ในกรรม กรรมกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ โลภ โกรธ หลง

พระโสดาบันท่านจึงเชื่อต่อกรรม และ ผลของกรรม

กรรมก็หมายถึงเจตนานั่นเอง

มีกรรมในใจของเรา เป็นอนุสัยนอนอยู่นี่

ละความชั่วโดยเด็ดขาดแล้ว

ท่านจึงมี ศีล ๕ บริสุทธิ์ เป็นบริสุทธิ์ศีล

ถ้าเป็นฆราวาสก็ไม่สามารถทำบาป ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

พระโสดาบันท่านละสังโยชน์อย่างหยาบ

ทำบาปด้วยกายวาจา ละได้ รักษาวาจาให้เรียบร้อยบริสุทธิ์

แต่ สังโยชน์อย่างกลาง อย่างละเอียดยังฝังอยู่ ยังเกาะอยู่

สังโยชน์อย่างกลาง อย่างละเอียด

ไม่เป็นเหตุให้ตกอยายภูมิทั้ง ๔

มีแต่ มนุษย์สุข สวรรค์สุข ตลอดจนนิพพานนั้นๆ

เป็น “นิยโตสัตว์ เป็นนิยโตจิต”

อย่างช้าสุด ๗ ชาติ ท่านก็ไปนิพพาน

พระโสดาบันท่านไม่ตกนรก

เมื่อพระโสดาบันท่านเห็นว่า ท่านไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตน

ท่านไม่เห็นตนเป็นขันธ์ ๕

ไม่เห็นขันธ์ทั้ง ๕ มีในตน ไม่เห็นตนมีในขันธ์ ๕

แล้ว ท่านเห็น อะไร?

ตอบว่า พระโสดาบัน ท่านเห็นกรรม

เห็นกรรมเป็นตน กรรมเป็นกิเลส

มันแก้ไม่หมด เป็นสังโยชน์ผูกอยู่นั่น

พูดง่ายๆ ท่านเห็นต้นตอของวัฏฏะแล้ว

มีแต่พยามยามที่จะทำลายมันเท่านั้น

นี่ท่านจึงเข้าถึง “สัมมาสมาธิ”

สมาธิความตั้งใจไว้ชอบ อันมีความสุข

ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เป็น "อกาลิโก"

เป็น "สมาธิตลอดเวลา"

แม้จะ ยืน เดิน นอน นั่ง อะไร

เข้าสังคมไหนก็ไม่เสื่อม ไม่เหมือนสมาธิประเภทอื่น

สมาธิประเภทอื่นนั้น ตอนนั้นจึงเข้าสมาธิ

ตอนนี้จึงเป็นสมาธิ สมาธิ

อันนี้มีสังโยชน์คลุมเครืออยู่

ตัดสังโยชน์ไม่ขาดเป็น “สมาธิเฉยๆ” ไม่ใช่ “สัมมาสมาธิ”

ส่วน "สัมมาสมาธิ" ใน "อริยมรรค" ต้องอาศัย "ปัญญา"

หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ






"จริยวัตรอันงดงามของพระอริยะเจ้าที่มีต่อกัน"
....ถ้อยคำผญาอีสานที่หลวงปู่มักพูด เรื่อง ความรักความสามัคคี.....
" ขอให้ฮักกันไว้คือข้าวเหนียวนึ่งใหม่ อย่าสิไลลาม่างคือน้ำถืกข้าวเหนียว หันมาฮักกันไว้ดีกว่าซังกัน แมนไผผิดให้แก้ แมนไผแวให้เตือน แมนไผเฉือนให้ต่อ ให้มาซอยกันก่อก้อนอิฐก้อนน้อย ๆ คอยให้เป็นกำแพง "
....แปลความ"ขอให้รักกันไว้เหมือนข้าวเหนียวนึ่งสุกใหม่ อย่าให้เละแตกจากกันเหมือนนำ้ถูกข้าวเหนียว กลับมารักกันดีกว่าเกลียดกัน ถ้าใครผิดให้แก้ไข ถ้าใครหลงให้ตักเตือน ถ้าใครท้อหมดกำลังใจให้ช่วยเหลือกัน เหมือนก่อก้อนอิฐก้อนเล็กๆ รอจนกลายเป็นกำแพง"
(หลวงปู่นงค์ ปคุโณ , หลวงปู่จื่อ พนฺธมุตฺโต)







"ต้องมีสติอยู่ต่อไป"

ถาม : ปฏิบัติแล้วเวลาออกมาจากสมาธิ ถ้าพบสิ่งที่ไม่ถูกใจยังโกรธอยู่แต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน และหายไวขึ้น เพราะสติเร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่ทันอารมณ์อยู่ดี ไม่ทราบว่าถูกต้องไหมคะ เห็นเขาบอกว่าคนนั่งสมาธิมากๆ จะข่มใจไว้ แล้วเวลาโกรธจะรุนแรง

พระอาจารย์ : ก็เป็นไปได้ ถ้าเวลาออกมาแล้วไม่ควบคุมใจไว้ด้วยสติต่อ ถ้าออกมาแล้วปล่อยให้เกิดอารมณ์ขึ้นมา มันก็ระเบิดขึ้นมาได้ เวลานั่งสมาธิออกจากสมาธิก็ยังต้องคุมใจต่อไป ต้องพุทโธต่อไป ต้องมีสติอยู่ต่อไป แต่คนคิดว่าได้สมาธิแล้วออกมาแล้วไม่ต้องคุมใจ พอไปเจออะไรที่ไม่ถูกใจก็สามารถที่จะหลุดได้ เพราะตอนนั้นไม่มีสติคอยควบคุมใจ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีสติต่อตลอดเวลา ก่อนจะเข้าสมาธิก็ต้องมีสติ หลังจากออกสมาธิมาแล้วก็ต้องมีสติต่อไป แล้วจะสามารถคอยข่มใจได้ แต่ถ้าออกมาจากสมาธิก็ โอ้ย เรามีสมาธิแล้ว เราไม่ต้องมีสติแล้ว เดี๋ยวไปเจออะไรเข้าที่ไม่ถูกใจ มันก็จะหลุดออกมาได้ ความโกรธมันก็จะหลุดออกมาได้ แต่ถ้ามีสติ พอรู้ว่าโกรธ ก็พุทโธ ระงับมันไว้ได้.

สนทนาธรรมมะบนเขา

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






"เราก็เกิดในโลกนี้ เพื่อมาสร้างบารมี
ไม่ใช่ว่ามาเกิดเล่น เกิดมาแสวงหาความสุข
สนุกชั่วคราว ไม่มีประโยชน์อะไร

ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง
ความตายเป็นของแน่นอน
โลกนี้เป็นแต่ทางผ่าน เท่านั้นเองแหละ

เกิดมา เพื่อมาสร้างบารมี
อาศัยบุญบารมี นำดวงจิตนี้
ให้พ้นจากทุกข์ ไปตามลำดับนะ"

-:-หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ-:-







"การปฏิบัติธรรม
ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้

ศีล คือดิน
สมาธิ คือลำต้น
ปัญญา คือดอกผล

เราต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม
ก็ต้องหมั่น รดน้ำพรวนดิน
และต้องคอยระมัดระวัง มิให้ตัวหนอน
คือ โลภ โกรธ หลง มากัดกิน"

-:-หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ-:-







พูดถึงเรื่องความหลง นี่ก็เป็นข้าศึกอันหนึ่ง คำว่าหลงนี้มีทั้งหยาบทั้งกลางทั้งละเอียด ถ้าหลงมากๆ ลืมมากๆ ก็กลายป็นคนเสียสติไปเลยเพราะขาดสติ ถ้าหลงธรรมดาสามัญของเรานี้ ท่านก็เรียกว่าความหลง นี่เป็นความหลงธรรมดาสามัญ ความหลงในธรรมอันส่วนละเอียดก็เคยได้อธิบายให้ท่านผู้ฟังได้ทราบหลายครั้งแล้ว แต่เมื่อสรุปความแล้วความหลงนี้ท่านก็เรียกว่าเป็นภัยอันหนึ่ง เมื่อธรรมะยังไม่ซึมซาบจนสามารถจะขับไล่ออกได้ อันนี้ก็ต้องได้ระวัง ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะหลงไปตามเรื่องนั้น หลงไปตามเรื่องนี้ เขาว่าดีก็จะหลงไปตาม เขาว่าชั่วก็จะหลงไปตาม เขาว่าอะไรดีก็จะหลงไปตามเขาหมด เลยกลายเป็นคนหลักลอย ไม่มีที่ยึดที่หมาย เป็นคนเชื่อง่ายโดยปราศจากเหตุผล เมื่อหลงเอามากๆ มันเป็นอย่างนั้น ใครว่าอะไรที่ไหนก็ดีทั้งนั้นๆ เลยหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ได้ และหาหลักหาฐานไม่ได้แต่คอยจะเชื่อเขาอยู่ร่ำไป แต่ไม่ได้เรื่อง นี่ก็เรียกว่าความหลง

เมื่อเราได้นำธรรมะเข้ามา คือหลักเหตุผลมาไตร่ตรองดูว่าควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ ฟังให้ดีพิจารณาให้ชัด ไตร่ตรองดูเหตุผลตามสมควร เห็นว่าจะควรเชื่อตามหรือไม่เชื่อตามแล้วนั้นแลทำลงไป จะไม่ค่อยมีความผิดพลาด โดยมากที่ทำความผิดพลาดให้ตนได้รับความเดือดร้อนเสมอนั้น เพราะเข้าใจว่าตนทำถูกต้องและไม่พินิจพิจารณา ผลแสดงขึ้นมานั้นไม่เป็นไปตามจำนงของตนที่ว่าถูกต้อง เพราะเราทำผิด ผลต้องแสดงผิดขึ้นมาแล้วก็ย้อนกลับมาให้ตนได้รับความทุกข์ นี่ก็เกิดขึ้นเพราะอำนาจแห่งความหลง

ความหลงนี้จะดับไปได้ก็เพราะอำนาจแห่งธรรม ปัญญาธรรมก็เรียก วิจารณธรรมก็เรียก นำมาใคร่ครวญ เราจะทำอะไรไม่ว่าทางโลกทางธรรม ไม่ว่าการไปการมา ไม่ว่าเกี่ยวกับหมู่เพื่อนมากน้อย ไม่ว่าเกี่ยวกับเราหรือกับงานโดยเฉพาะ เราต้องนำปัญญามาใช้เสมอ เรื่องความโง่เขลาเบาปัญญาก็จะค่อยลดน้อยถอยลงไป และเป็นนิสัยคนมีวิจารณธรรม เรื่องอะไรต้องมีปัญญาออกหน้าเสมอ ไม่เอาความหลงนั้นออกเป็นโล่หรือเป็นหัวหน้าฉุดลากเราไป เราก็จะไม่ได้รับความทุกข์ ได้เสวยผลคือความเดือดร้อนแก่ตนเองอยู่ร่ำไป

เมื่อสรุปความลงแล้วความหลงนี้ท่านก็เรียกว่าเป็นข้าศึก เมื่อธรรมะได้ซึมซาบเข้าไปถึงไหน ความหลงก็น้อยลง จนสามารถขับไล่ความหลงได้ออกหมดจากจิตใจแล้ว โลภก็ไม่ต้องระวัง โกรธก็ไม่ต้องระวัง หลงก็ไม่ต้องระวัง มีแต่ความเย็นอกเย็นใจ นี่ท่านเรียกว่าเสรีภาพอันสมบูรณ์ในทางภายใน ผู้ใดเป็นผู้สามารถปฏิบัติตนได้ กลายเป็นผู้มีเสรีภาพอันสมบูรณ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีข้าศึกภายใน ทั้งข้าศึกภายนอกก็ไม่มีสะพานที่จะติดต่อกันให้เกิดความยุ่งเหยิงแก่ตนเอง ต่างอันก็ต่างอยู่ วางไว้ตามสภาพความเป็นจริง

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘









"หลวงพ่อฤาษีลิงดำ"สอนวิธีฝึก"สมาธิ"
ด้วยตนเอง
เริ่มทำสมาธิ

"..(๑)เริ่มทำสมาธิใช้วิธีง่าย ๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ใช้ธูปเทียนเท่าที่มีบูชาพระ ใช้เครื่องแต่งกายตามที่ท่านแต่งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องแต่งตัวสีขาว ฯลฯ เป็นต้น เพราะไม่สำคัญที่เครื่องแต่งตัว ความสำคัญจริง ๆ อยู่ที่ใจ ให้คุมอารมณ์ใจให้อยู่ตามที่เราต้องการก็ใช้ได้
อาการนั่ง
..อาการนั่ง ถ้าอยู่ที่บ้านของท่านตามลำพัง ท่านจะนั่งอย่างไรก็ได้ตามสบาย จะนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งห้อยเท้าบนเก้าอี้ หรือ นอน ยืน เดิน ตามแต่ท่านจะสบาย ทั้งนี้หมายถึงหลังจากที่ท่านบูชาพระแล้ว เสร็จแล้วก็เริ่มกำหนดรู้ลมหายใจเข้า และหายใจออก คำว่า กำหนดรู้ คือหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ถ้าต้องการให้ดีมาก ก็ให้สังเกตด้วยว่าหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น
..ขณะที่รู้ลมหายใจนี้ และเวลานั้นจิตใจไม่คิดถึงเรื่องอื่นๆ เข้าแทรกแซง ก็ถือว่าท่านมีสมาธิแล้ว การทรงอารมณ์รู้เฉพาะลมหายใจเข้าออก โดยที่อารมณ์อื่นไม่แทรกแซง คือไม่คิดเรื่องอื่นในเวลานั้น จะมีเวลามากหรือน้อยก็ตาม ชื่อว่าท่านมีสมาธิแล้ว คือตั้งใจรู้ลมหายใจโดยเฉพาะ
ภาวนา
"..การเจริญกรรมฐานโดยทั่วไปนิยมใช้คำภาวนาด้วย เรื่องคำภาวนานี้อาตมาไม่จำกัดว่าต้องภาวนาอย่างไร เพราะแต่ละคนมีอารมณ์ไม่เหมือนกัน บางท่านนิยมภาวนาด้วยถ้อยคำสั้น ๆ บางท่านนิยมใช้คำภาวนายาว ๆ ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่ท่านจะพอใจ อาตมาจะแนะนำคำภาวนาอย่างง่ายคือ "พุทโธ"
..คำภาวนาบทนี้ ง่าย สั้น เหมาะแก่ผู้ฝึกใหม่ มีอานุภาพและมีอานิสงส์มาก เพราะเป็นพระนามของพระพุทธเจ้า การนึกถึงชื่อของพระพุทธเจ้าเฉย ๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเรื่อง มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ว่าคนที่นึกถึงชื่อท่านอย่างเดียว ตายไปเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์ไม่ใช่นับร้อยนับพัน พระองค์ตรัสว่านับเป็นโกฏิ ๆ เรื่องนี้จะนำมาเล่าข้างหน้าเมื่อถึงวาระนั้น
..เมื่อภาวนาควบคู่กับรู้ลมหายใจจงทำดังนี้ เวลาหายใจเข้านึกว่า "พุท" เวลาหายใจออกนึกว่า "โธ" ภาวนาควบคู่กับรู้ลมหายใจตามนี้เรื่อย ๆ ไปตามสบาย ถ้าอารมณ์ใจสบายก็ภาวนาเรื่อย ๆ ไป แต่ถ้าเกิดอารมณ์ใจหงุดหงิดหรือฟุ้งจนตั้งอารมณ์ไม่อยู่ก็จงเลิกเสีย จะเลิกเฉย ๆ หรือดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุหรือหาเพื่อนคุยให้อารมณ์สบายก็ได้ (เพื่อเป็นการผ่อนคลายอารมณ์)
..อย่ากำหนดเวลาตายตัวว่าต้องนั่งให้ครบเวลาเท่านั้นเท่านี้แล้วจึงจะเลิก ถ้ากำหนดอย่างนั้นเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่านขึ้นมาจะเลิกก็เกรงว่าจะเสียสัจจะที่กำหนดไว้ ใจก็เพิ่มการฟุ้งซ่านมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะเกิดเป็นโรคประสาทหรือเป็นโรคบ้า ขอทุกท่านจงอย่าทนทำอย่างนั้น .."








หลวงพ่อวัดท่าซุงตอบปัญหาธรรม
ปฏิปทาพระโพธิสัตว์

ผู้ถาม :: อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า ปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ ที่เป็นฆราวาสกับพระแตกต่างกันอย่างไร...และจะมีวิธีสังเกตได้อย่างไรครับ?
หลวงพ่อ :: ปฏิบัติคนละทาง ชาวบ้านกินข้าวได้ไม่เลือกเวลา พระต้องเลือกเวลา อย่างอื่นจะต่างกันตรงไหนเล่า...มันเหมือนกันนั่นแหละ จิตใจกว้างขวางเหมือนกัน แต่กำลังบารมีแค่ไหน สังเกตอีกทีนะ พระโพธิสัตว์ไม่หวังความสุขของตัวเอง มุ่งความสุขของผู้อื่น ถ้าหากว่าท่านช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขได้ท่านพอใจมาก
ผู้ถาม :: แล้วผู้ที่เป็นพระอริยะแล้ว ถ้าปรารถนาพุทธภูมิจะสามารถสำเร็จได้ อันนี้จริงหรือเปล่าครับ?
หลวงพ่อ :: ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่มีใครเขาปรารถนาพุทธภูมิ จะมีความเข้มแข็งขนาดไหนก็ตาม อย่างเก่งก็แค่ฌานโลกีย์เท่านั้น ถ้าเป็นพระอริยะไปแล้วก็ถือว่าเป็นสาวกไปแล้ว...ไม่มีทาง!
ก็คิดปรารถนาให้โง่ทำไมล่ะ พระพุทธเจ้าก็ปรารถนานิพพาน พระสาวกก็ปรารถนานิพพาน เราก็ปรารถนานิพพานเสียเลยไม่ดีรึ...ถ้าแม้ยอมเสียเวลาก็เป็นไม่ได้ เพราะว่าเป็นพระอริยะแล้ว







..บาปอกุศลในอดีตอย่าสนใจ.

....คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคนผิดศีลละเมิดศีลเหมือนกันหมด แล้วก็คนทุกคนที่ไปนิพพานได้ เป็นอรหันต์ไปนิพพานได้ก็ไม่หมดบาป มันอยู่ที่กำลังใจใช่ไหม คนที่ไปสวรรค์ได้ ไปพรหมได้ไปนิพพานได้ ไม่ใช่เป็นคนหมดบาป แต่ว่าใช้กำลังใจสูงในด้านของความดีหนีบาป....

....นับแต่นี้เป็นต้นไปเรื่องบาปอกุศลเราอย่าสนใจมัน ความชั่วมันอาจจะพลาดพลั้งทำได้ ถอยหลังกลับมาซะ ใช่ไหม แล้วก็รักษาอารมณ์ว่าไอ้อย่างนี้เราจะไม่ทำอีก ความจริงบาปแปลว่าชั่วนะ ทีนี้ถ้าบังเอิญไปเผลอทำเข้าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่จะระงับได้ทันทีทันใดนะ....

.... บางครั้งบางกรณีมันเกิดพลั้งเผลอต้องทำเข้า หรือมีความจำเป็นบางกรณี แต่ว่าเราทรงตัวไ้ด้ เราก็คิดว่าเราจะไม่ทำอย่างนี้อีก พยายามฝืนมัน ต่อๆ ไปอารมณ์มันจะชิน....

หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี








การสวดมนต์
..ถือว่าเป็นการภาวนาได้.. ภาวนาแปลว่า ทำให้เกิด..การสวดมนต์ก็ทำให้เกิดความรื่นเริงเพลิดเพลิน..หรือทำให้เกิดความสงบภายในจิตใจได้..ขณะสวดมนต์อยู่บางทีอุบายเกิด..บางทีธรรมะเกิดขึ้นมาขณะสวดมนต์ก็ได้..ให้มีความตั้งอกตั้งใจเคารพในการสวดมนต์..มีความแน่วแน่ในคำสวดมนต์ของเรา..นั้นเป็นการภาวนาอย่างสมบูรณ์ทีเดียว..
หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO