สวัสดีครับ เพื่อนๆ ในเว็บนวรัตน์ วันนิ้จิ้งจกจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับ
“สำนักหลวงปู่ทอง บ้านอาจารย์เจ็ก” ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 31 หรือสามแยกไฟฉายครับ ชื่อนี้หลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคยก็ได้ เพราะหลายคนอาจจะรู้จัก “สำนักอาจารย์เจ็ก” “สำนักอาจารย์เจ็ก สามแยกไฟฉาย” “สำนักอาเจ็ก” ฯลฯ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า จริงๆ แล้วชื่ออย่างเป็นทางการของสำนักแห่งนี้คือชื่อใด มีหรือไม่ ผมเองก็เช่นเดียวกันครับ สงสัย และก็ได้ถามกับอาจารย์ของผมคือ
อาจารย์กวง ซึ่งท่านเป็นผู้ที่สืบทอดจากอาจารย์เจ็ก หรือ อาเจ็กครับภาพข้างบนที่เห็นนี้เป็นพิธีครอบครูครั้งที่ 3 ของอาจารย์กวงโดยอาจารย์เจ็กเป็นผู้ครอบให้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2535 ภาพถ่ายนี้อาจารย์เจ็กได้มอบให้อาจารย์กวงไว้เพื่อเป็นที่ระลึก และเพื่อเป็นเครื่องยืนยันศักดิ์และสิทธิ์ในความเป็นอาจารย์ของอาจารย์กวง
ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจก่อนครับว่า สำนักแห่งนี้นั้น มิใช่สำนักสักยันต์ครับ
ที่นี่มีแต่จาร หรือที่เรียกว่า “ลงของ” เท่านั้น สำหรับอาจารย์เจ็กนั้น ท่านคือ ผู้ที่สืบทอดวิชาจากหลวงปู่ทอง วัดราชโยธา โดยท่านเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของหลวงปู่ครับ
ผมขอนำบางส่วนจากหนังสือที่อาจารย์เจ็กท่านได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 มาเพื่ออธิบายความตรงนี้แทนการเขียนครับ
ผมเองเป็นคนที่เขียนหนังสือไม่เก่งแบบอาจารย์รณธรรมท่านน่ะครับ อิอิอิ รวบรัดเข้าเรื่องเลยดีกว่าครับ มาดูกันครับว่า ที่สำนักแห่งนี้มีการลงของ หรือจารกันอย่างไร อือม...ก็ตามสเต๊ปนะครับขอร่ายคร่าวๆ แล้วกันครับ เริ่มจากการกราบครูเพื่อฝากตัวเข้าเป็นลูกศิษย์ มีการปฏิญานตนและให้สัจจะกับครูบาอาจารย์ และในการนี้ก็จะมีดอกไม้ ธูป เทียน และค่าบูชาครู เป็นต้น (ตรงนี้ต้องขอประทานโทษด้วยครับ ไม่มีภาพประกอบครับ)
อ้ะ...เข้ารูป เอ้ย เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ ผมขอบรรยายด้วยภาพครับ เพราะสามารถอธิบายอะไรๆ ได้มากกว่าคำพูด ดังคำที่ว่า ภาพ 1 ภาพ อธิบายอะไรๆ ได้มากกว่าคำพูดเป็นล้านคำ (รูปภาพบางส่วนอาจมีไม่ชัดบ้างครับ เพราะว่า ตอนถ่ายภาพนั้นไม่ได้ใช้แฟลชครับ)
เมื่ออาจารย์ท่านจารเสร็จแล้วจะมีการกรีดด้วยเหล็กจารที่คมกริบที่หลัง อันนิ้มิใช่การลองของนะครับ แต่เป็นการยกคงกระพันเก้ายอด โดยอาจารย์จะว่า คาถาพร้อมกับการกรีดที่หลัง 9 ครั้งครับ
แผ่นหลังของลูกศิษย์ท่านหนึ่งครับ จะเห็นว่า เป็นเพียงรอยช้ำ แบบที่เรียกว่า ยางบอน ถามว่า เจ็บมั้ย อิอิอิ..คนนี้เขาบอกว่า โคตรเจ็บเลย แต่ไม่มีเนื้อฉีกเลือดพุ่งครับ ซึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความขลังได้เป็นอย่างดีครับ
อันนี้แผ่นหลังของลูกศิษย์อีกคนครับ แดงไม่เท่าคนแรก ไม่ใช่ว่า น้ำหนักในการกรีดต่างกันนะครับ เอาเป็นว่า คนที่นั่งห่างออกไปไกลได้ยินเสียงดัง แคร๊กๆ อันเป็นเสียงที่เกิดจากเหล็กจารลากผ่านไปบนแผ่นหลังอย่างชัดเจน ถึงขั้นซู้ดปากเสียวฟันแทนกันเชียวครับ แต่รายนี้แดงน้อยหน่อย อาจารย์ท่านบอกว่า ใช้ได้ครับ หนังดี
เมื่อเสร็จสิ้นแล้วอาจารย์ท่านก็จะมอบคาถาเพื่อนำไปใช้ พร้อมทั้งคำแนะนำสั่งสอน จากนั้นก็ให้นำพานครูที่ได้กราบเมื่อฝากตัวเข้าเป็นศิษย์กราบอธิษฐานขอพรจากครูบาอาจารย์อีกครั้งครับ เป็นอันเสร็จพิธีครับ
มาถึงตรงนี้ก็มีของแถมมาให้ชมกันครับ ที่เห็นนี้ก็คือ บรรยากาศภายในสำนักครับ ภาพนี้เป็นบรรยากาศหลังวันไหว้ครูเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2551 เมื่อปีที่แล้วอะครับ ในภาพนี้อาจารย์กำลังปลุกเสกวัตถุมงคลครับ
ปลุกเสกภาพถ่ายหลวงปู่ทอง รูปถ่ายอาจารย์เจ็ก ตะกรุด ลูกอมชานหมากครับ
อาจารย์ทำการเรียกสูตรและเจิมวัตถุมงคล
มาถึงตรงนี้เพื่อนๆ จะเห็นว่า ในภาพนี้ทางมุมซ้ายล่างจะเห็นลูกกลมๆ แดงๆ น้ำตาลๆ และสีดำนะครับ นี่คือ ลูกอมชานหมากครับ
เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ไปดูเว็บบางแห่งได้มีการนำลูกอมชานหมากมาโชว์และเจ้าของได้บอกว่า เป็นของอาจารย์เจ็กเป็นผู้สร้าง ปรากฎว่า มีผู้เข้ามาแย้งว่า ไม่ใช่เพราะอาจารย์เจ็กไม่ได้กินหมาก
ผมจึงได้นำเรื่องนี้ไปเรียนสอบถามอาจารย์กวงก็ได้ความว่า
"หลวงปู่ทองนั้นท่านฉันหมากและมีการทำลูกอมชานหมากโดยหลวงปู่ทองจริง และมีการผสมผงศักดิ์สิทธิ์ส่วนอาจารย์เจ็กและอาจารย์กวงนั้นไม่ได้กินหมาก หรือเคี้ยวหมากก็จริงแต่มีการสร้างลูกอมชานหมากจริง"ลูกอมชานหมากของอาจารย์เจ็กนั้นจะมีการปิดทองและมีผงศักดิ์สิทธิ์ผสมอยู่ และของอาจารย์กวงนั้นท่านไม่ได้ปิดทองเพื่อไม่ให้ไปซ้ำรอยกับครูบาอาจารย์คือ อาจารย์เจ็ก นั่นเอง
อาจารย์กวงท่านได้กรุณาให้คำอธิบายว่า ในการสร้างลูกอมชานหมากนี้ เป็นวิธีการสร้างแบบเดียวกับลูกอมหลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอก โดยหลวงปู่พริ้ง วัดบางปะกอกได้เรียนจากหลวงปู่ทอง และนำไปทำตามกรรมวิธีของท่านอีกทีหนึ่ง
สำหรับการสร้างลูกอมชานหมากนั้นก็เริ่มจากนำหมากพลูที่ถวายหลวงปู่ และครูบาอาจารย์มาตำ และนำมากลึงจนกลายเป็นลูกอมดังกล่าว ฟังดูง่ายๆ นะครับ แต่ในกรรมวิธีขั้นตอนต่างๆ นั้น ตั้งแต่การนำหมากพลูมา การตำ การกลึง ฯลฯ ทุกอย่างต้องมีการว่าคาถากำกับตลอดครับ ในรายละเอียดเหล่านี้ก็เป็นสูตรตามตำรับของหลวงปู่ทองครับ ซึ่งอาจารย์ไม่สามารถที่จะให้รายละเอียดตรงนี้ได้ครับ คิดว่า ทุกท่านคงเข้าใจเพราะว่า เป็นวิชาเฉพาะของสำนัก และผู้ที่เรียนและเป็นอาจารย์เท่านั้นครับ
อ้อ...เกือบลืมไปครับถ้ามองทางมุมขวาล่างจะเห็นเป็นตะกรุดดอกเล็กๆ อันนั้นเป็นตะกรุดเงินครับ อาจารย์ท่านบอกว่า อายุมากแล้วตาไม่ดีเวลาจารต้องเพ่งเป็นอย่างมาก และเพื่อความชัวร์พอจารเสร็จท่านต้องมานั่งเอาแว่นขยายแบบพวกกล้องส่องพระดูตะกรุดแต่ละดอกว่า จารแล้วเรียบร้อยถูกต้องหรือไม่
ตะกรุดเงินนี้เป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะในการทำลูกอมชานหมากนั้น อาจารย์ท่านจะเริ่มจากตำ กลึง และเอาตะกรุดเงินนี่แหละครับใส่เข้าไป และเมื่อฝังใส่เข้าไปแล้วจะทำให้ลูกอมนั้นเสียรูปทรง ท่านก็จะทำการกลึงอีกรอบ และก็ไปสู่การปลุกเสก โอ้ย...กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนนี่เหนื่อยครับ อิอิอิ...ผมเองยังไม่กล้าขอครับ เกรงใจท่าน เพราะรู้ว่า เห็นอย่างนี้ก็เหอะกว่าจะสำเร็จออกมาก็ยากเย็นนัก รอจังหวะก่อน
ก่อนสุดท้ายครับ ภาพนี้จากปกหลังของหนังสือเล่มที่โชว์มาให้ดูก่อนหน้านี้ครับ สังเกตดูให้ดีครับที่ร่างกายของ
อาจารย์เจ็กบริเวณหน้าอก และหัวไหล่ซ้ายและขวา มีรอยสักเป็นยันต์บัวแปดกลีบครับ ถูกต้องครับ ถ้าเดากันอยู่ในใจ
อาจารย์เจ็กท่านเป็นลูกศิษย์ปู่พ่วงครับ ปู่พ่วง พงษ์แพทย์ ปรมาจารย์แห่งสำนักอาจารย์ธรรมนูญ บุญธรรม หรือชื่อที่เป็นทางการก็คือ
“สำนักสักยันต์บัวแปดกลีบ” อาจารย์อีกท่านหนึ่งของผมและเพื่อนๆ นั่นเองครับ อบอุ่นใจครับ ครูบาอาจารย์ที่ผมไปกราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ต่างเป็นสายเดียวกันทั้งนั้นเลยครับ ดีใจจังครับ
ทุกวันนี้ อาจารย์กวงท่านได้เปิดสำนักต่อหลังจากที่สำนักได้หยุดไปเมื่ออาจารย์เจ็กท่านป่วย และละสังขารไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 อาจารย์กวงท่านจะไปที่สำนักและทำการลงของหรือจารให้กับลูกศิษย์ในวันเสาร์และอาทิตย์ครับ ยกเว้นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ใดที่ตรงกับวันพระครับ และอาจารย์เองก็ได้กล่าวกับผมว่า หากมีเพื่อนๆ ท่านใดไปอ่านเจอข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับสำนักฯ หรือเกี่ยวกับอาจารย์กวงและมีข้อสงสัยใดก็ให้ผมช่วยชี้แจงแถลงไขแทนท่าน หรือถ้าผมไม่สามารถตอบได้ก็คงต้องรบกวนเพื่อนๆ ไปคุยกับอาจารย์กวงที่สำนักฯ แล้วล่ะครับ อาจารย์เองท่านก็ยินดีต้อนรับครับ
ป.ล. สำหรับท่านที่ต้องการไปสำนักหลวงปู่ทอง บ้านอาจารย์เจ็กนั้น ก็เดินทางไปที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 31 (ตรงไฟแดงสามแยกไฟฉายพอดีครับ) เลขที่ 307/91 ซอยมารดานุเคราะห์ (จรัญสนิทวงศ์ 31) สามแยกไฟฉาย แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ (ตามที่เห็นอยู่ในหน้าหนังสือที่ผมเอามาเสนอนั่นแหละครับ) เข้าไปประมาณกลางๆ ซอยนะครับ จะเห็นบ้านเลขที่ดังกล่าว ชั้นล่างเป็นร้านขายของชำ มองไปที่ชั้น 2 จะเห็นมีแอร์ติดหน้าต่างรุ่นเก่าติดอยู่ (เป็นแอร์ที่ติดห้องนอนของอาจารย์เจ็กครับตั้งแต่ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ครับ)และก็จะเห็นธงชาติ กับธงธรรมจักรครับ และชั้นล่างที่เป็นร้านขายของชำนั้นมองเข้าไปจะเห็นมีหิ้งพระและรูปถ่ายหลวงปู่ทองขนาดใหญ่ และรูปอาจารย์เจ็กครับ บอกอาซ่อเขาได้ครับว่า มาพบอาจารย์กวง หรือมาลงของกับอาจารย์กวง (อาซ่อท่านเป็นลูกสะใภ้อาจารย์เจ็กครับ)