นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 26 เม.ย. 2024 2:23 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 17 ก.ย. 2008 3:02 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 10:41 am
โพสต์: 1599
“ฟ้าลั่น” ที่เมืองอุบลฯ เหรียญเบ็ญจะมหามงคลของ ร.ร.เบ็ญจะมะมหาราช
โดยรณธรรม ธาราพันธุ์

“อุบลราชธานี” แปลง่าย ๆ ว่า เมืองแห่งดอกบัวหลวง ผมเองก็มิใช่นักประวัติศาสตร์ ไม่อาจทราบได้ว่าท่านใดเป็นผู้ให้นามเมืองสำคัญในดินแดนอีสานใต้เยี่ยงนี้ แต่นับได้ว่าท่านผู้ประทานนามนั้นมีสายตาที่กว้างไกลน่าอัศจรรย์

เพราะอะไร ?

เพราะเมืองอุบลฯของชาวไทยเรานี้เป็นแหล่งผลิตครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ ราชบัณฑิตได้มากมายไม่น่าเชื่อ นับได้ทั้งพระภิกษุและฆราวาส อาทิ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจาย์มั่น ภูริทัตโต สองพระมหาเถระผู้มีอุปการคุณสูงสุดในหมู่พระกรรมฐานฝ่ายอีสาน

แต่หลายคนชอบลืมองค์นี้ไป ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ในหมู่พระกรรมฐานอีสานมักกล่าวนามท่านโดยเคารพว่า ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นที่รู้กันว่าคือ ท่านเจ้าคุณจันทร์ แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพ ก็ท่านองค์นี้แลที่เป็นคนอุบลฯโดยแท้และยังเป็นผู้สืบทอดวงศ์ธรรมยุติฯในเมืองอุบลฯ

พร้อมกันนั้นท่านก็ทำนุบำรุงธรรมยุติกนิกายในอุบลฯให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ทั้งเรื่องปริยัติและเรื่องปฏิบัติ คนส่วนมากทราบว่าหลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น แต่ไม่ทราบกันเท่าไรว่า แท้แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นอาจารย์ของทั้งหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นโดยตรง

ความเป็นนักปฏิบัติอย่างยากที่จะหาใครเทียบเห็นชัดที่ท่านเจ้าคุณฯ ขึ้นธรรมาสน์เพื่อแสดงพระธรรมเทศนา ขณะท่านเข้าที่นั่งบนธรรมาสน์ขาข้างขวาเกิดไปกระแทกกับหัวเม็ดประตูธรรมาสน์ ด้วยวัยชราทำให้ขาข้างนั้นหักทันที

เป็นเรา ๆ ท่าน ๆ คงร้องโอยเสียงลั่นและเรียกหาศิษย์มาพยาบาลให้วุ่นไป แต่ท่านเจ้าคุณฯ กลับเฉยเสียเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเริ่มแสดงธรรมไปจนจบตามที่กำหนด ครั้นถึงเวลาลงธรรมาสน์ คณะศิษย์ได้เรียนถามถึงการประสบอุบัติเหตุแล้วไม่หยุดแสดงธรรม ท่านตอบว่า
“เราเป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เมื่อขาหักก็หักอยู่บนธรรมาสน์เพราะขึ้นเทศน์ จะหานักเทศน์ที่ไหนได้นอกจากเรา”

ขันติธรรม คือ ธรรมแห่งความอดทนอันยอดยิ่ง นับได้ว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯได้บำเพ็ญมาเต็มเปี่ยมสมเป็นครูในหมู่ภิกษุโดยแท้ ด้วยตบะธรรมชำระกิเลสเยี่ยงนี้เองจึงได้รับคำสรรเสริญเป็นอย่างยิ่งจากท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นพระแท้ที่พ้นทุกข์แล้วไม่สงสัย”

นั่นเรียกว่าระดับอาจารย์ที่กำเนิด ณ อุบลฯ ระดับศิษย์ยิ่งกระจายกว้างออกไปมาก อาทิ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขันตยาคโม) ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล
ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ หรือ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)
ฯลฯ

ท่านเหล่านี้ล้วนกำเนิดใน ดอกบัว ฝั่งอีสานทั้งสิ้น แม้บางองค์จะไปสร้างเสนาสนะในต่างถิ่นและ ข้ามพ้นทะเลทุกข์ ที่นั่นแต่ความเป็น อุบลฯ ก็ยังอยู่ในสายเลือดท่านและเป็นเกียรติยศ เป็นความภาคภูมิใจแก่ลูกหลานชาวอุบลราชธานีสืบมา

ท่านพระอาจารย์จวนแม้ไปอยู่ที่ภูทอก หนองคาย หากท่านพูดเสมอว่าท่านเป็นคนอุบลฯ แม้จะดูขาวอย่างคนจีนแต่ท่านย้ำเรื่อยว่าท่านเป็นลาว เป็นชาวอุบลฯแท้ ๆ

ทุกถ้อยคำที่ท่านพูดถึงอุบลฯ ท่านพูดด้วยความภูมิใจที่เกิดมาในเมืองนักปราชญ์ เมืองแห่งความรู้ อุบลราชธานีเปรียบเสมือนโรงงานใหญ่ผลิต “พระอรหันต์” ให้ชาวโลกได้กราบไหว้บูชา

ท่านอาจารย์เปรยอย่างอิ่มใจว่า
“เราเกิดเมืองเดียวกับท่านพระอาจารย์ใหญ่”
หมายถึงหลวงปู่มั่นนั่นแล

หลายครั้งที่ผมฟังครูบาอาจารย์พูดถึงความเป็นคนอีสานอย่างรื่นเริงไม่เก้อเขิน ก็ให้นึกอยากเป็นคนอีสานกับเขาบ้าง อยากเว้าลาว ที่มีสำเนียงสูงต่ำขึ้นลงไพเราะเหมือนร้องเพลงให้คล่อง ๆ ปากอย่างคนอีสาน อยากเกิดที่อุบลฯ สกลฯ อุดรฯ อะไรก็ได้ที่อีสาน อยากบวชแล้วอยู่กับหลวงปู่มั่นจนบรรลุธรรมชั้นล่างสุดก็ยังดี

และอีกสารพัดอยากที่เป็นคุณสมบัติของคนอีสาน แต่พอขนาดนี้แล้วก็นึกรู้ทันทีว่าที่ไม่ได้เกิดเป็นคนอีสาน ไม่ได้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นก็เพราะไอ้ อยากสารพัดนี่เอง

ฮ่วย...!

เลยนึกน้อยใจลูกหลานชาวอีสานบางท่านที่ไม่ภูมิใจในบ้านเกิดเอาเสียเลย เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นสาวชาวอีสานบ้านใดก็ลืมซะ เธอเก็บงำความลับว่าเป็นคนที่นั่นประดุจเรื่องระดับชาติปฏิเสธเสมอว่าเธอมิใช่ลาว มิใช่คนอีสาน วันหนึ่งแฟนเธอพาไปนั่งกินลมชมวิวที่ชายทะเล เผอิญพระจันทร์ขึ้นเต็มดวงสีสวยสด ชายหนุ่มผู้มีเพื่อนเป็นลูกอีสานก็อดรำพึงไม่ได้ว่า

“คืนนี้บักอีเกิ้งคื้องามแท้”

แม่สาวน้อยรีบชะเง้อตามแล้วเอ่ยเร็วปรื๋อ

“อยู่ไสคะ…!!” (ฮา)

คนอยากไม่ได้เป็น คนเป็นไม่ได้อยาก

ค่าที่ไปจังหวัดอุบลฯบ่อยเพราะครูทางศาสนาอยู่ที่นั่นก็มากองค์โดยเฉพาะหลวงพ่อชา และยังครูทางด้านงานเขียนอย่าง ครูอำพล เจน ก็เช่นกัน เป็นเหตุให้ผมได้รู้มาว่าของดีที่นั่นมีอีกมากซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง

เหรียญที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชสร้างนี่แหละของดีนัก จำได้ว่าครูอำพลเคยเขียนถึงมาแล้วหลายครั้ง แต่โดยมาก เหรียญฟ้าลั่น นี่ได้เป็นแค่พระรอง เพราะเป็นการกล่าวถึงอย่างเฉียดไปมาแบบประกอบเรื่อง วันนี้ขออนุญาตครูดันเหรียญนี้เป็นพระเอกในวงการสักที

เหรียญเบ็ญจะมหามงคล สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ของนายกเบ็ญจะมะมหาราชสมาคมในสมัยนั้นซึ่งปัจจุบันนี้คือท่านพลตรีจุมพล ทองทาบ ด้วยช่วงที่ท่านนายพลรับภาระเป็นนายกสมาคมตรงกับปี พ.ศ.2514 ทางโรงเรียนยังไม่มีสถานที่กว้างขวาง ไม่มีอาคารสักหลังที่จะให้บรรดาคณะกรรมการของสมาคมใช้สอย

ท่านนายกฯจึงจำต้องพาคณะกรรมการไปพบปะสังสรรค์รวมถึงประชุมเชิงวิชาการตามสถานที่ต่าง ๆ นอกโรงเรียนเสมอ

โดยเฉพาะร้านกาแฟ

ทำให้ผมคิดถึงคำว่า สภากาแฟ จะมีที่มาจากเมืองอุบลฯหรือไม่อย่างไร คงต้องเรียนถามท่านอดีตนายกสมาคมฯดูคงได้ความ

เพราะความที่ต้องลำบากไปอาศัยที่นั่นที่นี่เป็นประจำ คณะกรรมการเลยหารือกันว่าควรหาเงินสักก้อนหนึ่งเพื่อสร้างเป็นสำนักงานของสมาคมฯเอง คิดแล้วก็เห็นดีงามพ้องกัน แต่ปัญหาต่อไปก็มีว่าเราจะเอาเงินก้อนนั้นมาจากไหน สภากาแฟ ต่างก็แยกย้ายกันไปขบคิดเป็นการบ้าน

วันต่อมาจึงนำความเห็นมาเสนอก็ได้ลงมติเดียวกันที่สร้างเหรียญขึ้นเพื่อจำหน่าย และจัดผู้แทนไปกราบนมัสการขอคำแนะนำในเรื่องการสร้างกับ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร)สมเด็จฯ ก็เมตตากำหนดรูปแบบให้ดังนี้
img026.jpg



ด้านหน้าควรอาราธนารูปของพระมหาเถระผู้เป็นสุปฏิบัติมาบรรจุไว้ และต้องเป็นพระที่เกี่ยวเนื่องด้วยจังหวัดอุบลราชธานี อันได้แก่

1. พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
3. ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
4. ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดป่าบ้านหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
5. พระศาสนดิลก (เสน ชยเสโน) วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ด้วยพระอริยเจ้าทั้งห้าองค์นี้ล้วนเป็นคนอุบลฯและมีอุปการคุณแก่จังหวัดอุบลฯเป็นยิ่งนัก จึงสมควรนำพระรูปมาประดิษฐานไว้ให้กราบสักการะกัน และเพราะเป็นห้าพระอาจารย์จึงได้นามเหรียญนี้ว่า เหรียญเบ็ญจะมหามงคล ซึ่งพ้องกับชื่อโรงเรียนพอดีนับเป็นมงคลนามอย่างยิ่ง

ด้านหลังเป็นพระรูปของ พระสัพพัญญูเจ้า พระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งองค์หนึ่งในจังหวัดอุบลฯ มีอักขระขอมติดองค์พระว่า “ อะ อุ มะ“ อะ คือ อะระหัง แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลสซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า อุ คือ อุตตมะธัมโม หมายถึง พระสัจธรรมอันเลิศเมื่อพระพุทธองค์ตรัสออกมาแล้วย่อมเป็นหนึ่งไม่มีสอง และ มะ คือ มหาสังโฆ แปลว่า พระสงฆ์หมู่ใหญ่

มีอักขระโค้งไปตามขอบเหรียญความว่า นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา อันเป็นพระคาถาย่อจากพระปริตรชื่อ โมระปริตร ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นยกย่องมากว่าเป็นเลิศในทางแคล้วคลาดป้องกันภยันตราย เรียกพระคาถานี้ในหมู่ศิษย์ว่า หัวใจยูงทอง

เมื่อได้รูปแบบมาแล้วจึงดำเนินการออกแบบเป็นกิจลักษณะและให้ช่างทำการแกะพิมพ์ปั๊มเหรียญโดยตกลงกันที่เหรียญละ 2 บาท มีจำนวนการสร้างทั้งสิ้น 100,000 เหรียญ เป็นเงิน 2 แสนบาท ซึ่งหนึ่งในคณะกรรมการคือคุณสมหวัง ศรีทอง กรุณาสำรองจ่ายให้ทางสมาคมฯไปก่อน

ต่อมาจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหนึ่งชุดเพื่อรับผิดชอบเรื่องการประกอบพิธีพุทธาภิเษกซึ่งกรรมการกำหนดพิธีเสก ณ พระอุโบสถ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ในวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ตรงกับแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู เริ่มพิธีเวลา 16.00 น.

ประธานในพิธีคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) และเป็นองค์จุดเทียนชัย ขณะที่สมเด็จฯนำเทียนชนวนที่จุดไฟแล้วไปต่อเทียนชัยนั้น บังเกิดเหตุอัศจรรย์คือฟ้าลั่นเปรี้ยงดังสนั่นหวั่นไหวที่ท่าน้ำวัดสุปัฏนารามถึงสองครั้งซ้อน และฟ้าได้มืดครึ้มลงอย่างกะทันหันพร้อมมีฝนโปรยปรายลงมาอยู่ครู่ใหญ่แล้วจางหายไป

โดยปรากฏการณ์มหัศจรรย์นี้ประชาชนจึงพากันขนานนาม เหรียญเบ็ญจะมหามงคล ตามเหตุมงคลนิมิตว่า เหรียญฟ้าลั่น

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯจุดเทียนชัยแล้วพระพิธีธรรมก็สวดเจริญพระพุทธมนต์มีรายนามดังต่อไปนี้
1. พระธรรมบัณฑิต วัดสุทธจินดา อ.เมือง จ.นครราชสีมา
2. พระเทพมงคลเมธี วัดมณีวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
3. พระเทพกวี วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
4. พระวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
5. พระศาสนดิลก วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
6. พระครูประจักษ์อุบลคุณ วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
7. พระครูศีลคุณาภรณ์ วัดแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
8. พระครูวิรุฬสุตการ วัดวารินทราราม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
9. พระครูสังวรศีลขันธ์ วัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
10. พระครูกิตยาภรณ์โกศล วัดมหาวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

การอธิษฐานจิตปลุกเสกนั้นได้ประกอบพิธีเป็นชุด ๆ ไปโดยมีพระพิธีธรรมสวดพุทธาภิเษกเป็นรอบ ๆ ไม่ซ้ำกันดังนี้

พระพิธีธรรม ชุดที่ 1
1. พระครูศีลคุณาภรณ์ วัดแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
2. พระครูบวรคณานุศาสน์ วัดศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.อุบลราชธานี
3. พระครูปลัดสวัสดิ์ วัดใต้ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
4. พระครูใบฎีกามานะ วัดไชยมงคล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

พระเถราจารย์นั่งปรก ชุดที่ 1
1. พระญาณสิทธาจารย์ (สิงห์ สุนทโร) หลวงปู่เมตตาหลวง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
2. พระครูภาวนานุศาสน์ (สาย จารุวัณโณ) วัดป่าหนองยาว อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี
3. พระครูสังฆรักษ์ (หลวงปู่พั่ว) วัดบ้านนาเจริญ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี
4. พระญาณวิริยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินธโร) วัดธรรมมงคล บางจาก กรุงเทพฯ
5. พระครูนวกรรมโกวิท วัดมหาวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
6. พระครูภัทรคุณาธาร วัดพรหมวิหาร อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
7. พระครูญาณวิจิตร วัดประชาอุทิศ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.อุบลราชธานี
8. พระครูพินิจสังฆภาร วัดศรีนวล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
9. พระอาจารย์ประยูร วัดป่าธรรมรังษี อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี
10. พระอาจารย์ภา วัดหนองบัว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

พระพิธีธรรม ชุดที่ 2
1. พระครูอุบลเดชคณาจารย์ วัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
2. พระครูธรรมประเวที วัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
3. พระครูใบฎีกาจันทร์ วัดบ้านท่าบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
4. พระปลัดหมูน วัดแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

พระเถราจารย์นั่งปรก ชุดที่ 2
1. พระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสัมปันโน) วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
2. พระครูพิบูลธรรมภาณ (โชติ อาภัคโค) วัดภูเขาแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
3. พระโพธิญาณมุนี วัดศรีแก้งค้อ อ.แก้งค้อ จ.ชัยภูมิ
4. พระครูอรุณรังษี วัดแสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
5. พระครูพิเนตสมณกิจ วัดประชารังสรรค์ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ
6. พระครูโอภาสสมณกิจ วัดป่าธรรมวิเวก อ.เมือง จ.ขอนแก่น
7. พระครูวิจิตรธรรมภาณี วัดหนองบัว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
8. พระครูอมรวิสุทธิ์ วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร
9. พระครูพุทธิสารสุนทร วัดประดิษฐ์ธรรมาราม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี
10. พระครูวินัยธรอุทิศ วัดแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

พระพิธีธรรม ชุดที่ 3
1. พระครูประจักษ์อุบลคุณ วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
2. พระครูชิโนวาทสาธร (อุไทย์ ปภัสสโร) วัดไชยมงคล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
3. พระครูวินัยธร (พิมพ์) วัดสุทัศนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
4. พระครูวินัยธร (แดง) วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

พระเถราจารย์นั่งปรก ชุดที่ 3
1. หลวงพ่อมุม อินทปัญโญ วัดปราสาทเยอร์เหนือ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ
2. พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม ปทุมวัน กรุงเทพฯ.
3. พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
4. พระชินวงศาจารย์ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
5. หลวงพ่อบุญมี วัดสระประสานสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
6. พระครูทัศนประกาศ วัดสำราญนิเวศ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี
7. พระครูชโยบลบริบาล วัดหอก่อง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
8. พระอาจารย์บุญกอง วัดโพนทัน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร
9. พระครูโอภาสธรรมคุณ วัดสุภรัตนาราม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
10. พระมหามณี วัดบ้านก้านเหลือง จ.อุบลราชธานี
Falan.jpg



ทั้งหมดนี้คือรายนามพระเถรานุเถระที่เมตตารับนิมนต์มานั่งปรกบริกรรมภาวนา ทราบมาว่าก่อนทำพุทธาภิเษกนั้นพระทุกรูปได้ทำสังฆกรรมปลงอาบัติเพื่อความบริสุทธิ์ก่อนทุกรูป และมีพระมหาเถระผู้ทรงธรรมและอภิญญาญาณได้นั่งภาวนารวดเดียวตลอดคืน เท่าที่สืบค้นได้หลักฐานชัดเจนก็มี หลวงพ่อมุม อินทปัญโญ วัดปราสาทเยอร์เหนือ หลวงปู่บุญมี วัดสระประสานสุขหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง และ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน

พิธีนี้จึงเรียกได้ว่าครบเครื่องทั้งฝ่ายพระวิมุตติและพระวิชา ครบทั้งการบวงสรวงและพิธีกรรม อีกทั้งเจตนาก็ดีเพราะไม่ได้ทำเพื่อใครหากเป็นสมบัติของแผ่นดินไปเพื่อลูกหลานชาวอุบลฯ พิธีบริสุทธิ์เช่นนี้อย่าว่าแต่สาธุชนจะทนไม่ไหวเลย แม้ฟ้าดินเหล่าเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็ยังเฉยมิได้ ต้องแสดง เทวานุภาพ ร่วมโมทนาให้เห็นเป็นอัศจรรย์

ทุกวันนี้เหรียญที่ทรงอานุภาพน่าขึ้นคอเช่นนี้ยังมีตกค้างอยู่ที่โรงเรียนเบ็ญจมะมหาราช ใครที่พอมีกำลังทรัพย์ก็ขวนขวายเช่าไว้เถิด การชุมนุมของพระมหาเถระระดับนี้หาได้ยากนะครับ ผู้พลาดหวังจากหลวงพ่อมุม หลวงพ่อชา หลวงพ่อโชติ และท่านเจ้าคุณโฮม เหรียญนี้เป็นอะไรที่แทนได้สนิทใจ

บูชาองค์ละ 99 บาท

แพงไปหรือเปล่าสำหรับเหรียญอายุ 30 ปี พิธีมหัศจรรย์ ถ้าไม่แพงกรุณาส่งปัจจัยไปที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000 ธนาณัติสั่งจ่ายในนาม อาจารย์น้อยทิพย์ ดีล้น หัวหน้างานการเงิน หรือ โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขา อุบลราชธานี ชื่อบัญชี “เบ็ญจะมะมหาราชสมาคม” เลขที่บัญชี 2564062319 โทรศัพท์สอบถาม
ก่อนได้ที่ 045 – 262194

เชื่อผมเถิดว่าถ้าจะ แขวนเหรียญนี้ไม่ผิดหวัง แต่ถ้าจะ ขาย ต้องขออภัยที่แนะนำ.

_________________
ชาตินี้ไม่จริง ชาติไหนก็ไม่จริง


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 17 ก.ย. 2008 3:07 am 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
วะ วะ วะ ว้า ว๊าว ถูกใจจริง

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 17 ก.ย. 2008 3:43 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 15 ก.ย. 2008 12:24 pm
โพสต์: 24
ถ้าโทรไปตอนนี้ ที่โรงเรียนยังจะพอมีมั้ยคะ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 17 ก.ย. 2008 3:55 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 8:36 pm
โพสต์: 969
คุณวริสราครับ
น่าจะยังมีครับ 3-4 ปีก่อนผมถามที่โรงเรียนดูเห็นว่ายังเหลืออยู่

_________________
ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นคือดีเลิศ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 17 ก.ย. 2008 3:59 pm 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
ต้องรีบซะแว้วววว :P

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 17 ก.ย. 2008 11:58 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 11:16 pm
โพสต์: 1786
ต้องรีบซะแว้วววว :lol:


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 18 ก.ย. 2008 5:08 am 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
เอ่อ.........พี่ศิษย์กวงเป็นเครื่องซีร็อกส์ เหรอครับทำไมก็อบคำพูดผมไปอ่ะ :o

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 18 ก.ย. 2008 10:46 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 8:36 pm
โพสต์: 969
เหรียญนี้ขนาดใหญ่พอสมควรครับเคยได้มาเหรียญนึงสภาพใช้ครับ

_________________
ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นคือดีเลิศ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 18 ก.ย. 2008 11:13 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 11:16 pm
โพสต์: 1786
เออ....มีสภาพที่ "ไม่ใช้" บ้างรึเป่าครับ.....ผมอยาก "ลองใช้" ของสภาพแบบนั้น

:lol: :lol:


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 19 ก.ย. 2008 11:00 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 8:36 pm
โพสต์: 969
มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหรียญฟ้าลั่นครับ ผมได้คุยกับลูกศิษย์อาวุโสที่ใกล้ชิดหลวงปู่บุญมี โชติปาโลว่าเหรียญนี้เป็นอีกหนึ่งรุ่น หรืออาจจะเป็นรุ่นเดียวที่หลวงปู่บุญมี นั่งปรกตลอดคืน นัยว่าเป็นการสนองคุณ
พระอุปัชาฌาย์ พระศาสนดิลก (เสน ชยเสโน)

_________________
ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นคือดีเลิศ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 20 ก.ย. 2008 12:43 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
เป็นข้อมูลที่ดีมากครับ ขอบพระคุณครับ

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO