นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 12:38 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 08 ก.พ. 2010 7:19 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
1.jpg


“วรภัทร์ ภู่เจริญ” นักวิทยาศาสตร์นาซ่า นำหลักการบริหารแบบพุทธะ หาสติควบคุมความคิด "จิต" พาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ปูนซีเมนต์ไทยและการบินไทยประสบความสำเร็จมาแล้ว

พูดถึงหลักการบริหารองค์กร ทุกคนคงจะมองแต่ภาพตำราต่างประเทศและการเรียนที่เป็นตำราวิชาการ แต่หารู้ไม่ว่าที่จริงแล้วหลักการบริหารเหล่านั้น ต่างมีพื้นฐานสำคัญและมีหัวใจที่สำคัญที่สุดมาจากจิตใจที่อยู่ภายในพนักงานทุกคนตั้งแต่ผู้บริหารลงมาสู่พนักงานระดับล่าง

ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถใช้หลักธรรมะเข้ามาผสมผสานในการบริหารจัดการองค์กรได้ดีเยี่ยม เขาเคยทำงานที่องค์การนาซ่าอีกได้รับรางวัล ผลงานที่ดีที่สุดในการประชุมทางวิชาการด้านเครื่องยนต์ไอพ่นนานาชาติ ปีพ.ศ. 2528 แต่วันนี้เป็นผู้สอนหลักบริหารองค์กรแนวพุทธให้กับบริษัทชั้นนำหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเครือซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย บริษัท สหพัฒน์ ฯลฯ จากพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในตัว ทำให้ดร.วรภัทร์ ต้องการพิสูจน์ความจริงในทางพระพุทธศาสนา และการพิสูจน์นั้นก็นำมาสู่ความเข้าใจแห่ง จิต ความคิด และสติ ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม อีกทั้งเป็นพื้นฐานสำหรับนำหลักธรรมทางศาสนาพุทธมาประยุกต์กับการสอนหลักการบริหารอีกด้วย

ดร.วรภัทร์ ได้อธิบายถึงหลักการบริหารองค์กรแบบพุทธว่า หลักการบริหารก็เหมือนกับที่พระไตรปิฎกได้สอนไว้ พระพุทธเจ้าน่าจะเป็นบิดาแห่ง HR และ Management เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารองค์กรสำหรับทั้งผู้บริหารและลูกน้องคือ ต้องรู้จักสติ ซึ่งเป็นการฝึกพื้นฐาน

ฝึกสติสร้างระบบความคิด

เทคนิคการสอนของ ดร.วรภัทร์จะให้ผู้เข้าฝึกหาว่าอะไรคือสติ อะไรคือความคิด และอะไรคือจิต เพราะเมื่อเห็นระบบการทำงานของทั้ง 3 สิ่งนี้แล้ว ต่อไปสิ่งที่ผู้เข้าฝึกก็ต้องคอยระวังก็คืออย่าให้ความคิดทำร้ายจิต หรือพอจิตเกิดความคิด ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ดีก็ต้องระวัง ต้องหัดตัวเองให้ต้องเอาสติไปทำงานแทนจิต

ดร.วรภัทร์มองว่า จิตเปรียบเหมือนลูกตุ้ม ถ้าลูกตุ้มจะแกว่งเป็นบวกหรือลบ สิ่งที่ทำให้ลูกตุ้มเบนไปทางซ้ายหรือขวาก็คือตัวความคิดของเรา ซึ่งความคิดเหล่านั้นก็มาจากสัญญาเก่าจะเข้ามาสะกิดให้เกิดความรู้สึกเป็นบวกลบ พอเกิดความรู้สึกนั้นคือ “จิตเกิดแล้ว” นั้นเอง

“เคยชอปปิ้งไหม ? ง่าย ๆ เลย ถ้าไปช้อปปิ้งกับแฟนที่ฝรั่งเศส พอหมดเวลาแฟนบอกให้ขึ้นรถ ยังติดใจอยากช็อปอยู่ต่อแต่ต้องขึ้นรถไปลียอง ขณะอยู่บนรถก็คิดถึงแต่กระเป๋า นั้นแหละจิตเกิดแล้ว เป็นความอยาก ซึ่งเกิดความคิดเป็นผลผลิตจากจิต ตอนนั้นจะแยกไม่ออกว่าจิตกับความคิดทำงานร่วมกัน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฝึกสติมาดีแล้วเป็นพอบอกว่าไปก็ไป ก็จะไม่มีความคิดปรุงแต่ง รู้ตัวอยู่ เสมอว่าตอนนี้ต้องอยู่กับแฟนและนั่งรถไฟไปลียอง”

แทรกพุทธธรรมในทฤษฎี

หลังจากที่ค้นหาวิธีการคิดเป็นระบบได้แล้ว ดร.วรภัทร์ จะแทรกพุทธธรรมเข้ามาในทฤษฎีหลักการบริหารต่างๆ เพราะดร.วรภัทร์เชื่อว่าว่า หัวใจสำคัญจริง ๆ ของหลักการบริหารนั้นสำคัญอยู่ที่จิตใจเป็นอย่างแรก ตัวอย่างเช่น บริษัท ทิพยประกันภัย ที่ดร.วรภัทร์ เป็นที่ปรึกษานั้น ดร.ก็สอนธรรมะควบคู่ไปกับสอนการวางแผนยุทธศาสตร์

เริ่มแรกจะให้ผู้เข้าฝึกที่เป็นทั้งผู้บริหารและลูกน้องหายใจลึก ๆ ทำจิตให้ว่าง คิดไปถึงว่าอีก 4-5 ปี ทิพยประกันภัยจะเป็นยังไง ให้ตัดความกังวล ตัดความกลัว ความลำเอียงออกมาจากจิตให้ได้ นั้นคือตัดความคิดอันฟุ้งซ่านที่จะไปให้ก่อให้เกิดจิต หลังจากนั้น หาจุด Dead lock จุด หา success factor ให้เจอ หาตัวแปรที่ทำให้องค์กรล่ม อย่าใช้อารมณ์โมโห ใช้เวิร์กช็อปอย่าประชดกันในที่ประชุมใช้ความเป็นจริงอย่าเอาอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

“เช่นเวลาที่ประชุมกัน เมื่อใครก็ตามที่เกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นก็จงบอกว่า ช่วงนี้ผมจิตเกิดนะของดออกความคิด ก็จะทำให้ไม่ทะเลาะกัน พอไม่ทะเลาะกัน จิตก็ว่าง คิดงานได้สะดวกราบรื่น อย่างของเครือปูนซีเมนต์ไทยเขาใช้แบบพุทธวิธีที่ผมสอน ตอนนี้เขาผลผลิตเพิ่ม ของเสียลดลง ประชุมกันก็ทะเลาะกันน้อยลง”
2.jpg



ตั้งสติรับภาวะเศรษฐกิจขาลง

หรือแม้กระทั้งการตั้งรับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสุ่วัฏจักรขาลงในอนาคตอันใกล้นี้ ดร.วรภัทรก็ต้องให้ผู้บริหารตั้งสติ ตัดความกังวลออกไป เพราะท้ายที่สุดทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลังจากที่จิตใจปลอดโปร่งแล้ว ดร.วรภัทร์ก็จะให้ผู้บริหารทำ SWAT Analysis ให้ชัดเจนหาโดยเฉพาะการหา Opportunity และหายุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานในบริษัทในอนาคต

“ตอนเศรษฐกิจล้ม ผมก็ใช้หลักจิตวิทยามาก ๆ ในการให้กำลังใจเขา อีกทั้งต้องใช้อิทธิบาท 4 ให้ฉันทะกับเขาก่อน จากนั้นก็พูดให้กำลังใจเป็น empowerment ซึ่งจะก่อให้เกิดการวิริยะ เกิดเป็น positive thinking ต่อไปเมื่อเขาไปได้เราก็ออกไปเป็น Coaching มองเขาอยู่ห่าง ๆ ”

นี่แหละคือธรรมะกับการบริหารยุคใหม่ที่สามารถผสมผสานกันอย่างลงตัว !


จับฉ่ายแมน
ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ 'ผมเป็นคนขายสมอง'
เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
สัมภาษณ์

ดร.วรภัทร์ : ตอนอยู่นาซาผมเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จนไม่มีวิชาอะไรให้เรียนแล้ว ผมก็เลยเกิดคำถามว่าวิทยาศาสตร์เองก็มั่วเยอะ ใช้วิธีการอนุมานและตั้งสมมติฐานเยอะ ก็เลยถามตัวเองว่า "ฉันกำลังทำอะไรอยู่ ?" พอได้อ่านบทความของไอสไตน์เขียนไว้ก่อนตายว่า ศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดคือ พุทธะ

บางคนถามผมว่า ในโลกนี้มีอาชีพนี้ด้วยหรือ อย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ครูในโรงเรียนสอนไม่รู้เรื่องเด็กก็เลยไปโรงเรียนกวดวิชา บริษัทก็เหมือนกัน คนข้างในคิดไม่ออกก็ต้องให้มือที่สามมอง คล้าย ๆ การกินนมวัว ไม่จำเป็นต้องเอาวัวมาเลี้ยงที่บ้าน เขาเรียกว่า ขายไอเดีย อย่างคนทำการตลาดอยู่ 5-10 ปีไอเดียก็ตัน ที่สุดก็จ้างคนนอกช่วยคิด

เมื่อ 19 ปีที่แล้ว เขาเป็นวิศวกรองค์การอวกาศนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกา และที่น่าทึ่งกว่านั้น ก็คือได้รับรางวัลงานวิจัยดีที่สุดระดับโลกเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไอพ่น และที่ไม่น่าเชื่อก็คือเขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องคิดจนสุดขอบจักรวาลถึง 450 ล้านปีแสง เราบ้าหรือไร้สาระเกินไปหรือเปล่า

ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ผู้ชายอารมณ์ดีที่กล่าวถึงปัจจุบันเป็นพ่อของลูกสองคน นักเขียน วิทยากรอิสระที่ปรึกษามืออาชีพให้องค์กรรัฐและเอกชนหลายสิบแห่งเจ้าของบริษัทพรีม่า แมเนจเม้นท์ จำกัด และนักปฏิบัติธรรม เขาเป็นนักอ่านตัวยง อ่านหนังสือเร็วมาก จนบรรณารักษ์ห้องสมุดสงสัยว่าอ่านจริงหรือเปล่า ขณะที่เด็กคนอื่น ๆ วิ่งเล่น แต่เขาอ่านหนังสือที่คนอื่นไม่อ่าน ตอนเรียนมัธยมปีที่ 1 อ่านสารานุกรม (Encyclopedia ) 30 กว่าเล่ม และอ่านแบบเรียนมัธยมปีที่ 5 ของพี่ชาย ทำให้ไม่ค่อยสนใจการเรียน กระทั่งไปเรียนต่างประเทศจนจบปริญญาเอกวิศวกรรมเครื่องกลและวัสดุศาสตร์ และทำงานองค์การอวกาศนาซานาน 7 ปี

ในที่สุดเก็บกระเป๋ากลับเมืองไทย เพราะเรียนจนไม่รู้จะเรียนอะไร กลับมาช่วย 'ดร.รุ่ง แก้วแดง' วางแผนระบบการศึกษาอยู่พักหนึ่ง เขาบอกว่า ระบบการศึกษาต้องรื้อทั้งโครงสร้าง เอาไม่อยู่แล้ว และงานหลักเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สอนด้วยวิธีการไม่สอนใคร บางครั้งเรียนริมสระว่ายน้ำ บางครั้งเรียนที่บ้าน ที่พิสดารกว่านั้น คือเขาให้นักศึกษาออกข้อสอบและตรวจข้อสอบเอง ปรากฏว่า นักศึกษาสอบตกทั้งห้อง และผู้บริหารไม่พอใจวิธีการสอนของเขา จนอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งเตือนว่า

"วรภัทร์...ถ้าเธอยังปากจัดแบบนี้ จะมีแต่ศัตรูมากกว่ามิตร"

ไม่เพียงเท่านั้น เขาเกือบเป็นคนพิการ เพราะป่วยเป็นโรคกระดูกเปราะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลแรมปี ตอนนั้นศรีภรรยาร้องไห้ แต่เขายิ้มรับ และวางแผนการรักษาตัวเอง จนสามารถลุกขึ้นยืนได้ กว่าจะได้พูดคุยเป็นเรื่องเป็นราวเขา จำต้องเคลียร์คิวนัดหมายจนลงตัว และส่งเสียงมาตามสายว่า จะให้ผมประแป้งไว้รอไหม ทำให้คนปลายสายรู้สึกว่า "งานนี้สนุกแน่" จะสนุกหรือไม่ ต้องลองอ่านเรื่องราวของผู้ชายที่รู้จักจัดการชีวิตตัวเองอย่างมีแบบแผน และไม่ลืมที่จะหยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้คนรอบข้าง

เพ็ญลักษณ์ : คุณเป็นคนเรียนเก่งตั้งแต่เด็กหรือ ?

ดร.วรภัทร์ : ก็ไม่ถึงกับสอบได้ที่ 1 ตอนอยู่ประถมปีที่ 6-7 อ่านหนังสือจิตวิทยาและปรัชญาแล้ว ถ้ามุ่งเรียนอย่างเดียว คบเพื่อนน้อยแล้วบริหารใจตัวเองไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ผมคิดแบบนี้ตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าตอนเรียนอัสสัมชัญครูตีเพื่อนผม ผมถามมาสเตอร์ว่า ทำไมไม่ใช้จิตวิทยา ครูก็งง ! ว่า เราคิดได้ยังไง

ผมมาจากครอบครัวธรรมดา ๆ พ่อแม่ค้าขาย ตอนเด็ก ๆ ป้าข้าง ๆ บ้านขายผลไม้ จ้างผมให้อ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง อ่านแต่ละครั้งก็ได้ผลไม้เป็นค่าจ้าง ผมเป็นลูกคนเล็ก เวลาพี่เรียนอะไรผมก็เรียนด้วย พ่อแม่ต้องทำธุรกิจทิ้งผมให้อยู่บ้านกับยาย พอไม่มีอะไรทำผมก็อ่านหนังสือ

เพ็ญลักษณ์ : แล้วคุณแปลกแยกจากเพื่อน ๆ ไหม ?

ดร.วรภัทร์ : เวลาคนอื่นไปปาร์ตี้เฮฮาผมนั่งอ่านหนังสือ ผมคิดประหลาด ๆ ตอนเรียนมัธยมปีที่ 1 เห็นเพื่อนเล่นกีตาร์ก็ถามเพื่อนว่า ทำไมเล่นกีตาร์เพลงคนอื่น ทำไมไม่แต่งเพลงเอง เวลาใครร้องเพลงอะไรออกมาผมก็เอามาแปลง คนเราไม่จำเป็นต้องตามรอยเท้าใคร ผมโดนครูตบและตีบ่อย กลายเป็นตัวประหลาด ในที่สุดผมต้องเงียบ เผด็จการทางการศึกษาเยอะ ผมไม่ค่อยพูดเรื่องพวกนี้กับเพื่อน ก็คุยกับพี่ชาย สมัยอยู่ประถม 6 ผมกับพี่ชายประดิษฐ์เรือดำน้ำเล็ก ๆ เล่นกัน
3.jpg


สมัยเด็กผมเคยได้รางวัลแกะสลัก เขาเอาผลงานผมไปประกวดกับรุ่นใหญ่ ตอนแรก ๆ เขาหาว่าผมโกง จริง ๆ แล้วผมทำเอง เด็กวัยนั้นส่วนใหญ่แกะลายง่าย ๆ ผมแกะไม้สักลายกนกสองชั้น แต่ไม่ถึงระดับประตูวัดสุทัศน์นะ

เพ็ญลักษณ์ : คุณเป็นนักอ่านตัวยงตั้งแต่เด็กแล้วอ่านหนังสืออะไรบ้าง ?

ดร.วรภัทร์ : อ่านเอ็นไซโคลพิเดียภาษาอังกฤษ 30 เล่มตั้งแต่เรียนมัธยมปีที่ 1 ผมเป็นนักเสพข้อมูล เรื่องไหนที่ผมไม่เข้าใจผมจะพยายามศึกษาจนรู้จริง อย่างตอนนี้คุณดื่มชา ถ้าคุณถามเรื่องนี้ผมก็อธิบายได้ สมัยเด็ก ๆ เพื่อนผมหวงกล้องมากไม่ให้ผมแตะ ผมอยากรู้ผมก็เรียนเรื่องถ่ายภาพด้วยตัวเอง สุดยอดของการอ่าน ผมค้นพบว่าต้องคบคนที่รู้จริงในศาสตร์นั้น ๆ และต้องปฏิบัติด้วย ผมอ่านหนังสือเร็วมาก 2-3 เล่มหนา ๆ อ่านแค่คืนสองคืน ครูบรรณารักษ์ก็งง ! ถามว่า อ่านจริงหรือเปล่า ผมบอกให้ถามเรื่องราวในหนังสือที่อ่าน หนังสือเล่มบาง ๆ หรือหนังสือกำลังภายใน ผมอ่านไม่นาน

ผมหันมาเป็นพุทธเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนนับถือศาสนาคริสต์ ตอนนั้นสับสนในศาสนาตัวเอง ผมทะเลาะกับนักบวช เขาบอกให้แก้บาปรับศีล ผมอ่านคัมภีร์ไบเบิลผมเถียงไปว่า ในใบเบิลไม่มีแก้บาป รับศีล มนุษย์รุ่นหลังเขียนขึ้นเอง พอผมเถียง เขาก็ว่าผมเป็นแกะดำ (หัวเราะ)

เวลาผมอ่านหนังสือ ถ้าเล่มไหนชอบมากจะอ่านทุกตัว ถ้าเป็นหนังสืออ่านยาก ๆ ก็จะเขียนโน้ตสรุปความคิดรวบยอด อ่านจบบรรยายได้เลย เล่มไหนไม่ชอบก็อ่านแค่วิธีคิด พออ่านมาก ๆ ก็เดาแนวทางคนเขียนออกอ่าน แค่ตัวอย่างและประสบการณ์เพื่อจำไว้สอนคนอื่น ผมอ่านหนังสือบริหารประมาณ 50%, อ่านหนังสือธรรมะ 30% และที่เหลือเป็นหนังสือประวัติศาสตร์

เพ็ญลักษณ์ : คุณค่อนข้างใฝ่รู้ในทุก ๆ เรื่องแล้วจัดการองค์ความรู้อย่างไร ?

ดร.วรภัทร์ : ตอนผมเรียนเมืองนอกผมไปพิพิธภัณฑ์บ่อยมาก เวลาผมดูภาพวาดผมชอบคุยกับเจ้าหน้าที่ ผมอยากรู้ว่าภาพวาดชุดนี้โด่งดังได้อย่างไร องค์ประกอบภาพ การใช้สี ความกลมกลืนระหว่างศิลปะ เราตั้งคำถามว่า ทำไมศิลปินดัง ๆ ใช้พู่กันปากเป็ดเพียงอันเดียวก็สามารถวาดรูปได้สวย

เราไม่ได้มองแค่ภาพ แต่มองลึกลงไปถึงปรัชญาที่ซ่อนอยู่ อย่างภาพวาดอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี หรือเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มองแค่ความงามอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองลงไปถึงวิธีคิดและอารมณ์ที่ใส่ลงไป สุดท้ายมองความว่างในใจเขา ผมสนใจทุกอย่างทุกเรื่อง ไม่ได้มั่ว ผมคิดว่า ท่ามกลางพายุที่สับสนผมจับลมปราณของมันได้ ผมจับได้ทุกวิชา อย่างประวัติศาสตร์สะท้อนอารมณ์และจิตใจคนยุคนั้น ๆ ผมคิดต่อว่า ทำไมเขาตัดสินทำแบบนั้น พอมาถึงยุคปัจจุบัน เหตุการณ์ใกล้เคียงกัน ก็นำมาใช้กับการวางยุทธศาสตร์ ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมด หากขึ้นไปที่ต้นแม่น้ำจะเจอเรื่องเดียวกันคือ ตาน้ำ การศึกษาก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักอ่านหนังสือก็จะเจอแก่นของมัน จะวิพากษ์อะไรก็ได้ เพราะเราเข้าใจ

เพ็ญลักษณ์ : แล้วคิดว่า ตัวเองเก่งกว่าคนอื่นไหม ?

ดร.วรภัทร์ : ไม่ครับ ผมเป็นมิสเตอร์ประนีประนอม ผมชอบการวางยุทธศาสตร์ ประสานให้คนโน้นรักกับคนนี้ ผมไม่ใช่คนเรียนเก่งจนได้ที่ 1 ผมเป็นพวกชอบเข้าห้องสมุด มีโลกเป็นของตัวเอง ร่างกายไม่แข็งแรง สมัยก่อนผมเป็นคนจนในโรงเรียนรวย ถูกเปรียบเทียบตลอด บางทีถูกประจานหน้าโรงเรียนเพราะไม่จ่ายค่าเล่าเรียน เรื่องหลงตัวเองก็เลยไม่มี อีกอย่างผมมีนิสัยชอบให้อภัย อย่างมีคนขับรถปาดหน้ารถพ่อแม่ผม พ่อก็บอกว่า ให้เขาไปเถอะเมียเขาคงจะคลอดลูก

เพ็ญลักษณ์ : ตอนนั้นคุณวางแผนการเรียนไว้อย่างไร ?

ดร.วรภัทร์ : ผมอยากเป็นแพทย์มาก แต่ตอนอยู่มัธยมปีที่ 5 สงสัยเล่นไพ่บริดจ์และหมากรุกมากไป ผมชอบเกมที่ใช้ยุทธศาสตร์ ผมจึงเข้ามาทำงานวางแผนพัฒนาให้บริษัทต่าง ๆ อย่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ก็เคยไปช่วย ผมมาเรียนคณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงผมจะไม่ชอบผมก็เรียน เพราะครอบครัวมีเงินจำกัด พอเรียนจบผมต่อรองกับพ่อแม่ว่าจะไม่เอามรดก แต่ขอค่าเครื่องบินไปเรียนเมืองนอก ถ้าพลาดผมจะไปแบกถาดเสิร์ฟอาหาร

เพ็ญลักษณ์ : ชอบวางยุทธศาสตร์การบริหารมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?

ดรวรภัทร์ : โดยสันดานแล้ว ผมสนใจทุกอย่าง ทำกับข้าวก็สนใจ อยู่อเมริกาลองไปเป็นกุ๊กร้านอาหาร ตอนนั้นผมไม่ค่อยมีเงินและคิดว่าถ้าเราต้องทำกับข้าวกินทุกวัน จะทำอย่างไรให้อร่อย ผมก็ไปเป็นลูกมือ พัฒนาตัวเองเรื่อย ๆ ตอนนั้นผมเป็นนักเคมีเทคนิค พอมาจับศาสตร์เรื่องอาหาร ก็ใช้ศิลปะมาผสมผสาน ผมได้เป็นกุ๊กร้านอาหารไทยของเพื่อน ช่วยทำกับข้าวและบริหารร้านอาหาร โหราศาสตร์ผมก็สนแต่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อการทำนาย ผมชอบสังเกตคน ทำให้ง่ายในการบริหาร อ่านเกมขาด อย่างเจอสาวราศีกันย์ เธอชอบความมีระเบียบ ความสะอาด ผมเอาหลาย ๆ ศาสตร์มารวมกันแล้วบูรณาการ

เพ็ญลักษณ์ : ทำไมองค์การอวกาศนาซา อยากได้คนอย่างคุณมาทำงานด้วย ?

ดร.วรภัทร์ : ในนาซามีคนไทยประมาณ 10 คน ทางนาซาต้องการคนที่มีคุณสมบัติอย่างผม คือจบปริญญาตรีด้านวิศวเคมี ปริญญาโทด้านวัสดุศาสตร์วิศวกรรม ผมเก่งชีววิทยาและวิศวกรรมด้วย ตอนผมเรียนปริญญาโททำวิทยานิพนธ์เรื่องเหล็กดามในกระดูกมนุษย์ นาซาต้องการจับฉ่ายวิศวกรรม

หาคนแบบนี้ในโลกได้ยากและหามานาน 3 ปี ผมเป็นคนเดียวในโลกที่มีลักษณะเหมาะกับโครงการใหม่ตอนนั้น เซรามิคเคลือบไอพ่น
ตอนนั้นนาซาถามไปที่อาจารย์ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาผมทำวิจัยที่นาซา ก็เลยแนะนำวรภัทร์ องค์การอวกาศนาซามีวิศวกรกว่า 3,000 คน ตอนนั้นนาซาส่งผมเรียนปริญญาเอก ออกค่าใช้จ่ายให้หมด ผมทำงานในแล็บด้านวัสดุเคลือบยานมีเลขานุการหนึ่งคน เราทำงานเป็นทีมมีหลายชาติด้วยกัน งานวิจัยของผมเรื่องเครื่องยนต์ไอพ่นดีเด่นเมื่อปี 2528 คว้ารางวัลที่ 1 ของโลกให้นาซา

เพ็ญลักษณ์ : ได้ประสบการณ์อะไรจากนาซาบ้าง ?

ดร.วรภัทร์ : อยู่นาซาสนุกครับ ผมทำงานวิจัยออกแบบและทดลอง ทุก 6 เดือนต้องมีผลงานวิจัยออกมา เข้าแล็บใช้หุ่นยนต์เคลือบเซรามิคบนไอพ่น แล้วประกอบลูกไอพ่นติดบนยานอวกาศ เพื่อให้บินขึ้นฟ้า เราก็ใช้คอมพิวเตอร์คำนวณแก้สูตร พวกอเมริกันเก่งเรื่องกระบวนการคิด ทำงานเป็นทีมทำคนเดียวไม่ได้หรอก จึงยากในการขโมยความคิด ผมได้เรียนรู้จากนาซามาก เวลาสอนอาจารย์จะโยนหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง อ่านภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่เราอ่านเร็วอยู่แล้ว ที่นั่นใช้วิธีสอนเหมือนไม่สอน ซักถามและวิเคราะห์กันหนัก ๆ อย่างเช่น คุณเห็นใบไม้ที่โคนกิ่งไม้ ลองคำนวณว่ามีแรงกี่ปอนด์

แต่ผมกลับถามตัวเองว่า ทำไมเราต้องไปถึงสุดขอบจักรวาล 450 ล้านปีแสง เรากำลังบ้าหรือเปล่า สุดท้ายเราทำอะไร ณ วินาทีนี้ ถ้าเราอยู่ขอบจักรวาล เราจะทำอะไร ผมว่ามันไร้สาระ

เพ็ญลักษณ์ : ความไร้สาระในความคิดของคุณคืออะไร ?

ดร.วรภัทร์ : ก็รู้สึกว่า สิ่งที่พวกเขาทำดูไร้สาระรวมทั้งตัวเราด้วย น่าจะมีคำตอบที่ดีกับชีวิต ตอนนั้นผมอ่านพุทธศาสนาแล้ว ยิ่งมาเจอหนังสืออาจารย์พุทธทาส ก็รู้สึกว่า ใช่ เราไปถึงขอบจักรวาล สุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่ใจตัวเอง แต่ไม่เคยศึกษาเลย ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ใช่คนบ้างาน ผมทำทุกอย่างด้วยความสมดุล ไม่มีปัญหาครอบครัว มีแต่ปัญหาสุขภาพ กระดูกหลังแตก เป็นโรคกระดูกเสื่อม

เพ็ญลักษณ์ : อาการป่วยของคุณมีสาเหตุจากอะไร ?

ดร.วรภัทร์ : จะให้ผมตอบคำถามทางโลกหรือทางธรรม (หัวเราะอารมณ์ดี) ทางโลกคือ เป็นโรคชนิดหนึ่งทางกรรมพันธุ์ เกิดในชายอัตราส่วน 1 ต่อ 4 และหญิงอัตรา 1 ต่อ 7 แต่ในทางธรรมคือ กรรม หมอพบว่า ผมเป็นโรคกระดูกหัก หมอสรุปว่า เป็นโรคคนขยัน ใช้สมองเยอะไป แต่ผมเป็นคนขี้เล่นและร่าเริง (ขณะถ่ายภาพเขากระโดดโลดเต้นกับลูก ๆ )

เพ็ญลักษณ์ : ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกแต่กลับไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ คุณกำลังค้นหาอะไรหรือ ?

ดร.วรภัทร์ : ผมค่อนข้างจับฉ่ายแมน ชอบขับรถ เดินป่า ธรรมชาติ และศิลปะ ตอนอยู่นาซาผมเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จนไม่มีวิชาอะไรให้เรียนแล้ว ผมก็เลยเกิดคำถามว่า วิทยาศาสตร์เองก็มั่วเยอะ ใช้วิธีการอนุมานและตั้งสมมติฐานเยอะ ก็เลยถามตัวเองว่า ฉันกำลังทำอะไรอยู่ พอได้อ่านบทความของไอสไตน์ เขียนไว้ก่อนตายว่า ศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดคือ พุทธะ ผมก็งง ! ตอนนั้นผมยังเป็นคริสเตียน ผมต้องขอบคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเขียนเชื่อมโยงพุทธกับคริสต์ได้ดีมาก สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน แต่วิธีการเข้าหามีหลายวิธี ไม่ต่างจากการขึ้นภูเขา พระพุทธเจ้าพูดอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่งมงาย คนมาปฏิบัติธรรมทางพุทธถ้าขี้เกียจจะไม่ค่อยเห็นผล

เพ็ญลักษณ์ : หลังจากเรียนจบปริญญาเอก ทำไมคุณไม่ทำงานอยู่นาซาอีก ?

ดร.วรภัทร์ : นาซาก็ถามว่า จะอยู่ต่อไหม ? ถ้าอยู่ต่อก็เป็นหนึ่งในทีม ทำเรื่องเครื่องมือขุดแร่บนดวงจันทร์ ตอนนั้นผมมีแฟนก็เลยสับสน ก่อนตัดสินใจมีทางเลือกให้หลายข้อคือ 1. อยู่นาซา 2. อยู่บริษัททำเครื่องบินโบอิงหรือบริษัททำเครื่องบินไอพ่นอีกแห่ง 3. เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 4. กลับไทยหรือไปยุโรป

ผมก็ให้คะแนน แล้วถามว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร คำตอบคือ กินอร่อยก็ต้องอยู่เมืองไทย, ชอบเที่ยวอยู่อเมริกา อากาศหนาวเที่ยวได้น้อย ถ้าชราแล้วอยู่อเมริกาจะเป็นประชากรชั้น 3 หรือชั้น 4 ลูกจะกลายเป็นฝรั่งและไม่รักเรา แล้วจะดูแลพ่อแม่ที่กำลังชราอย่างไร อีกข้อเงินเดือนในเมืองไทยน้อยมาก แต่ฝีมือระดับผมไม่กลัวอยู่แล้ว

เพ็ญลักษณ์ : แม้กระทั่งการตัดสินใจก็คิดเป็นระบบ ?

ดร.วรภัทร์ : คุณสังเกตผมสิ ผมคุยกับคุณไม่ค่อยเปลี่ยนเรื่อง คิดเรื่องเดียวอารมณ์เดียว ผมคิดเป็นระบบ พอเรียนพุทธยิ่งคิดเป็นระบบมากขึ้น ผมเคยบวชเป็นพระธุดงค์อยู่ 13 วัน ผมขยันสุด ๆ ผมคิดว่าถ้าคนคิดไม่เป็น จะคิดวนเวียน ย้ำคิดย้ำทำ คิดไม่ตกเป็นเดือน แต่ผมตัดสินใจแล้วทำได้เลย ตัดอารมณ์ออกไป ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกับใครว่าทำไมเราเลือกแบบนี้ ไม่สับสน ผมปรึกษาหลายคนเหมือนทำวิจัยให้ตัวเอง ทำเป็นตารางการตัดสินใจ สรุปแล้วผมกลับเมืองไทย เพราะอยากดูแลพ่อแม่ แม้จะมีปัญหารายได้ แต่เปรียบเทียบแล้วตอนชราถ้าอยู่อเมริกาก็จะกลายเป็นคนแก่เหงา ๆ ลูกผมคงไปอยู่อีกรัฐ รอลูกมาเยี่ยมช่วงคริสต์มาส สุดท้ายเราก็จะแก่ลงอยู่บ้านพักคนชราให้พยาบาลฝรั่งดุและตบตี พยาบาลไทยอ่อนหวานกว่าเยอะ แต่ถ้าอยู่เมืองไทยก็จะเจอสภาพรถติด คนคิดอะไรก็ไม่รู้ ระบบสุขภาพแย่ แต่ผมก็คิดว่า พ่อและปู่มาจากเมืองจีนก็ทำได้ เราก็ต้องทำได้ ด้วยฝีมือขนาดนี้ไม่มีปัญหา

เพ็ญลักษณ์ : พอกลับมาเมืองไทย คุณมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับสังคมไทยไหม ?

ดร.วรภัทร์ : แค่ออกมาอยู่ในสังคมอเมริกันก็ต่างจากนาซาแล้ว คนนาซาจะคิดเป็นระบบ ถ้าอยู่อเมริกาต่อไป อย่างมากก็แค่กลางแถวหรือหางแถว ถ้ากลับเมืองไทยต้องเจอกับพวกเจ้าพ่อทำอะไรชั่ว ๆ ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ อย่างโครงการสมองไหลที่ดึงนักวิทยาศาสตร์เมืองนอกกลับมา บอกจะให้โน่นให้นี่ก็ไม่ใช่แบบนั้น บริษัทแห่งหนึ่งติดต่อผมตั้งแต่อยู่อเมริกา พอมาสัมภาษณ์ ก็รู้ทันทีว่า เขาไม่รับผม พราะคุณใหญ่มาจากที่อื่นมาทำงานกับเขาอาจถูกหมั่นไส้ ผมก็คิดว่าเป็นอาจารย์จุฬาฯ น่าจะดีกว่า ตอนนั้นเป็นทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาการบริหารและวิทยากรอิสระ

เพ็ญลักษณ์ : ชีวิตการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง ?

ดร.วรภัทร์ : ผมจะสอนหนังสือไม่เหมือนใคร เคยมีคนว่าผมเพี้ยน ผมพาเด็กวิศวะไปเรียนริมสระว่ายน้ำ ดูนิสิตสาว ๆ ว่ายน้ำและเรียนไปด้วย ไม่เห็นเป็นไร ผมออกนอกกรอบตลอด เคยถูกผู้บริหารเรียกไปดุ ผมออกข้อสอบสนุกมาก เด็กวิศวะได้ศูนย์ทั้งห้อง ตัวอย่างข้อสอบผม "จงออกข้อสอบเอง พร้อมเฉลย" เด็กใบ้ทั้งห้อง ส่วนใหญ่คิดข้อสอบแบบตื้น ๆ ตรงไปตรงมา ยกตัวอย่าง ปั้นจั่นมีกี่ชนิด แต่ผมอยากให้เป็นข้อสอบแสดงความคิด

เพราะชีวิตคนเราจะรอให้อาจารย์ตั้งโจทย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาโจทย์มาเอง คิดแล้วทำ ถ้าผิดอาจารย์จะปรับให้ แต่เด็กไทยทำไม่ได้ เด็กก็โวยวายว่า อาจารย์วรภัทร์ไม่ค่อยสอน แล้วมาออกข้อสอบประหลาด ๆ ผมก็บอกเด็กว่า พวกคุณติดสันดานเด็กกวดวิชา รอคนคาบของทุกอย่างมาป้อนให้ คุณเคยทำตัวเป็นครูกวดวิชามอบความรู้ให้คนอื่นไหม ถ้าคุณรอและตั้งรับ คุณก็เป็นพวกอีแร้ง แต่คุณแย่กว่า คุณเป็นแค่ลูกอีแร้ง คือ รออาหารที่ป้อนให้ แล้วคุณจะไปสู้มหาอำนาจได้ยังไง
4.jpg


เด็ก ๆ ตามไม่ทัน จนผมขึ้นไปสอนระดับปริญญาโทก็ใช้วิธีการสอนแบบนี้ สุดยอดการสอนคือ ไม่ต้องสอนมาก เดี๋ยวนี้ลูกศิษย์ผมก็ยังติดต่อกัน เมื่อก่อนมาเต็มบ้าน (ศรีภรรยาบอกว่า บางครั้งเด็ก ๆ มานั่งปรึกษาปัญหาหัวใจเหมือนเป็นศิราณี ) ไม่ต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยก็ได้ มานั่งคุยกันก็ได้ เวลาผมไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทไหนก็เอานักศึกษาหิ้วกระเป๋าตามอาจารย์จะได้เรียนรู้ไปด้วย ถ้าไม่ทำงานข้างนอกบ้างอาจารย์จะโง่ อ่านตำราแล้วไปสอนเด็กอย่างเดียวไม่ได้ ในเมืองนอกถ้าอาจารย์คนไหนไม่ทำงานข้างนอกแสดงว่า คุณห่วย

เพ็ญลักษณ์ : แล้วทำไมต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ?

ดร.วรภัทร์ : ผมคิดต่าง จำได้ว่าอาจารย์เกษียณในวงการศึกษาคนหนึ่งมากระซิบผมว่า วรภัทร์...ถ้าเธอยังปากจัด เธอจะทำงานสำเร็จลำบาก ศัตรูจะมากกว่ามิตร ผมรู้ตัวว่า ปากจัดเป็นแบบฝรั่ง ซัดกันในที่ประชุมเลย แต่คนไทยประชุมกัน 3-4 ชั่วโมงออกความคิดกันให้วุ่นวายแต่ไม่ได้อะไรเลย

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคนก็ทำวิจัยในสิ่งที่สังคมไม่ต้องการ ไม่ได้ถามสังคมว่า ตอนนี้สังคมอยากรู้เรื่องอะไร แต่ไม่ใช่ว่าอาจารย์เป็นอย่างนี้ทุกคน ผมรู้ตัวว่าเป็นอาจารย์คงไม่รุ่ง ผมโดนว่าเอาเวลาราชการไปหากิน ทั้ง ๆ ที่เราอยากนำกรณีศึกษากลับมาให้เด็ก และข้าราชการเงินเดือนน้อย สุดท้ายเราไม่อาจสร้างสมดุลชีวิตตรงนี้ได้ก็เลยลาออก

เพ็ญลักษณ์ : ตอนป่วยนอนโรงพยาบาลเป็นปี ๆ คุณจัดการชีวิตอย่างไร ?

ดร.วรภัทร์ : 10 ปีที่แล้วผมหลังหัก กระดูกแตก นอนเตียงเกือบปี ผมเป็นแบบนี้บ่อย ๆ ตอนนี้ก็เป็น เข้าโรงพยาบาลบ่อย ตอนนั้นผมใช้ห้องพิเศษในโรงพยาบาลทำงาน นิสิตปริญญาโทก็เอารายงานมาคุยกันตรงนั้น ผมให้คำปรึกษาบริษัทต่าง ๆ บนเตียงนอน ผมวางแผนการรักษากระดูกแตกให้ตัวเอง เพื่อให้ร่างกายขยับได้ ผมวางแผนไว้ว่าจะว่ายน้ำได้กี่เมตร ตั้งเป้าว่าจะต้องยืนครั้งแรกให้ได้ ถ้าพิการก็ไม่เป็นไร

เพ็ญลักษณ์ : ช่วงนั้นท้อแท้มั้ย ?

ดร.วรภัทร์ : ไม่มี อกหักสองสามครั้งก็ช่างมัน คิดแบบนี้ ถ้าวินาทีนี้ถึงผมจะนอนเตียงขยับตัวไม่ได้เลย มือและปากยังเหลือ ผมจะแปลหนังสือภาษาอังกฤษให้ ตอนนั้นพยาบาลที่มาเฝ้าไข้กำลังเรียนปริญญาโท ผมก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ช่วยคิดหัวข้อให้ และตลกมาก ตอนนั้นหมอพาผมไปที่สถานที่คนพิการอยู่ นั่งรถเข็นเข้าไป ผมเห็นคนอื่นท้อแท้หมดอาลัยตายอยาก มีวงดนตรีมาแสดงให้กำลังใจคนพิการ เราก็เป็นคนพิการนั่งอยู่ด้วย หลายคนท้อแท้ แต่เราวางแผนชีวิตแล้ว อีก 3 เดือนจะยืนให้ดู ถ้ายืนไม่ได้ถึงผมต้องเป็นคนพิการก็ต้องเป็นแชมป์พาราลิมปิก ผมทำได้ครับ

ผมทะเลาะกับหมอ ผมถามหมอว่าเคยวางแผนการรักษาคนไข้ไหม แล้วบอกไปว่าหมอควรรักษาใจเขาด้วยนะ ผมซักถึงทางเลือกในการรักษามีกี่วิธี ยาชนิดไหนใช้แล้วประสบความสำเร็จมากกว่ากัน แล้วอีก 3 เดือนผมจะเป็นอย่างไร ถ้าพลาดมีทางเลือกอื่นไหม หมอก็บอกว่า คุณไม่ใช่หมอ ผมก็บอกไปว่า คุณกำลังจัดการชีวิตผม ผมมีสิทธิรู้ สุดท้ายผมค้นพบว่า โรคนี้รักษาไม่หาย ผมก็เลยลองมาปฏิบัติธรรม

เพ็ญลักษณ์ : หันมาใช้ธรรมะรักษาโรค แล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง ?

ดร.วรภัทร์ : ตอนนี้ยังไม่ปรากฏผล ลองใช้สมาธิรักษา ผมอ่านงานท่านอาจารย์พุทธทาส หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อ่านแล้วก็นั่งคิด คนไทยนี่ขนาดเรียนพุทธศาสนาก็ยังคิดไม่เป็นระบบ พอหลวงพ่อบอกว่าให้ดูลมหายใจ ก็ทำกันเล่น ๆ ไม่จริงจัง แต่ผมจะทำทั้งวันทั้งคืน ว่างเป็นปฏิบัติทุกสถานที่ เวลาผมเดินตรวจโรงเรียนก็ดูลมหายใจทำใจให้ว่าง ความคิดมาก็ทำจิตให้ว่าง เดี๋ยวนี้ผมจะวางอารมณ์ไม่มีอคติ ผมฝึกจริง ๆ แค่ 2 ปี ก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ อารมณ์นิ่ง แต่มีบางครั้งเราต้องแกล้งโมโหนิดหนึ่ง เพื่อให้ยุทธศาสตร์บางเรื่องประสบความสำเร็จ

เพ็ญลักษณ์ : ในช่วงบวชเป็นพระธุดงค์คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง ?
.jpg


ดร.วรภัทร์ : บวช 13 วันก็ได้เรื่องได้ราว เพราะก่อนหน้านี้ก็ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นบวชกับหลวงปู่จันทา ถาวโร วัดป่าเขาน้อย พิจิตร ผมเลือกสายปฏิบัติหลวงปู่มั่น ได้เรียนรู้การนอนน้อย ฉันมื้อเดียว พุทโธทั้งวันทั้งคืนจนสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ทำให้ผมเข้าใจว่าพุทธะคือความว่าง ผมเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตอนหลังไปเรียนเพิ่มเติม เดินในป่าช้าที่วัดธรรมอุทยาน ขอนแก่น ก็เอาเรื่องพวกนี้มาสอนคน

เพ็ญลักษณ์ : อุตส่าห์เรียนวิทยาศาสตร์จนถึงขั้นสุดยอด แต่กลับรู้สึกว่าพุทธศาสนาน่าจะให้คำตอบชีวิตมากกว่า ลองอธิบายความคิดตรงนี้ได้มั้ย ?

ดร.วรภัทร์ : ศาสนาพุทธเหมือนโลกกลม นักวิทยาศาสตร์เป็นพวกโลกแบนแล้วไม่ยอมเดินเรือออกไปที่ขอบจักรวาล เมื่อผมอยากรู้จักพุทธก็ต้องศึกษาและปฏิบัติ แรก ๆ ก็เชื่อเขาไปก่อน โยนความคิดทิ้งไปก่อน ถ้าพลาดก็ว่ากันใหม่ เวลาหลวงปู่หลวงพ่อสั่งให้ทำก็ทำเต็มที่ สุดท้ายพบว่ากายกับจิตคนละตัวกัน อย่าไปหลงกาย กายคือรถผจญภัย ผมก็ทำงานเต็มที่สร้างสมดุลทางโลกกับทางธรรม ถ้ารักษาจิตให้ว่าง ถ้าทำจิตให้เป็นศูนย์หรือว่างก็คือ นิพพาน

เพ็ญลักษณ์ : แล้วคุณนำเรื่องธรรมะมาใช้กับงานอย่างไร ?

ดร.วรภัทร์ : ปรากฏว่า สิ่งที่อาจารย์พุทธทาสสอน สุดยอดคือ บวชกับงาน หากเวลาทำงานเกิดเบื่อ ก็ให้รู้เท่าทัน แล้วทำงานต่อ ผมสอนเรื่องการเดินจิต ปฏิบัติธรรมด้วย พอสอนเสร็จก็พาไปเดินในป่าช้าที่ขอนแก่น เรื่องศาสนาผมให้เวลาเต็มที่ บางทีก็สอนปฏิบัติที่บ้าน ถ้ามีเวลาว่างก็จะพาไปวัด ก่อนอื่นต้องสอนตัวเองและคนรอบข้างให้ได้ก่อน ผมคิดว่าคนไทยฝึกเรื่องใจน้อยไป ตามใจลูกมากไป เด็กไม่เคยถูกสอนให้ควบคุมใจ กลายเป็นว่าทุกคนอยู่อำเภอที่ไม่น่าอยู่คือ อำเภอใจ ไม่รู้จักควบคุมตัวเองและแยกไม่ออกว่า ใจเป็นกุศลกับอกุศลต่างกันอย่างไร

เพ็ญลักษณ์ : อาชีพที่ปรึกษาต้องใช้ความสามารถหลายด้าน แล้วคุณให้คำปรึกษาด้านไหนเป็นกรณีพิเศษ ?

ดร.วรภัทร์ : ผมจับฉ่ายนะ ใครอยากได้เรื่องไหนบอก ผมทำได้ อย่างการวางระบบไอเอสโอ 9000 ก็มีทั้งคนรู้จริงและไม่รู้จริง แต่ตอนนี้ผมไม่ได้จับเรื่องไอเอสโอแล้ว ผมเปลี่ยนมาทำเรื่องอื่น ๆ เคยให้คำปรึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างสถาบันมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ครัวการบินไทย ธนาคาร โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ บางคนถามผมว่า ในโลกนี้มีอาชีพนี้ด้วยหรือ อย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ครูในโรงเรียนสอนไม่รู้เรื่องเด็กก็เลยไปโรงเรียนกวดวิชา บริษัทก็เหมือนกัน คนข้างในคิดไม่ออกก็ต้องให้มือที่สามมอง คล้าย ๆ การกินนมวัว ไม่จำเป็นต้องเอาวัวมาเลี้ยงที่บ้าน เขาเรียกว่า ขายไอเดีย อย่างคนทำการตลาดอยู่ 5-10 ปีไอเดียก็ตัน ที่สุดก็จ้างคนนอกช่วยคิด

เพ็ญลักษณ์ : คุณก็เหมือนคนขายความคิด ?

ดร.วรภัทร์ : ลองคิดดูนะ วิศวกรอยู่กับบริษัทมา 10 ปี ก็จะรู้เรื่องของบริษัทเท่านั้น ทำงานเยอะ ไม่มีเวลาค้นคว้าไม่มีพรรคพวกมาก สมมติผมเก่งเรื่องปั้มน้ำก็จะมีบริษัทที่ทำเรื่องนี้หลายแห่ง วันหนึ่งก็มาจัดการเรื่องปั้มน้ำให้ ก็ย่อมเก่งกว่าคนที่อยู่ตรงนั้น การบริหารสมัยใหม่จะเป็นอย่างนี้ ในโลกอนาคตจะไม่จ้างคนถาวร เป็นลักษณะจ้างเป็นช่วง ๆ

บางบริษัทเห็นผมเก่งด้านทรัพยากรบุคคลก็เรียกไปช่วย บางบริษัทเห็นผมเก่งด้านการตลาดก็เรียกไป หรือเรื่องการวิเคราะห์ความเสียหายระบบสินค้า ใครปิ๊งผมอารมณ์ไหนก็จ้างไป บางบริษัทก็ให้ไปสอนธรรมะ ก็มีทั้งแบบเหมาปี เหมาวัน เป็นครั้งคราว ถ้าจะปรึกษาให้ได้ผลผู้บริหารต้องเข้มแข็ง แนะนำอะไรแล้วไม่ทำก็ไม่มีผล เข้าทำนองให้ยาแล้วไม่กินหรือไม่สามารถบริหารลูกน้องตัวเองได้

เพ็ญลักษณ์ : แล้วตอนให้คำปรึกษาในแวดวงการศึกษา คุณเจออุปสรรคอะไรบ้าง ?

ดร.วรภัทร์ : ตอนนั้น ดร.รุ่ง แก้วแดง ชวนผมมาช่วยวางแผนการศึกษา แต่ผมก็ต้องออกมาเพราะคนดื้อเยอะ ผลประโยชน์เยอะ จนที่สุดผมมองว่าการศึกษาไทยไปไม่รอด ผมเบื่อระบบ เข้าวัดปฏิบัติธรรมดีกว่า ผมช่วยเรื่องวางระบบการประเมินคุณภาพโรงเรียน จัดวิธีคิดให้ พอผมเข้าไปทำก็เลยรู้ว่า ระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้เด็กเรียนรู้ คนประเทศนี้ยังติดยึดอัตตาตัวเอง
เวลาเสนออะไรไปก็ไม่ทำ มีอะไรให้รื้อหลายอย่าง ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ สนุก ๆ สุดยอดการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือ ไม่ต้องมีการสอบ แล้วเด็กหญิงไทยที่ทำแท้งกันเยอะแยะ ส่วนใหญ่เป็นเพราะมหาวิทยาลัยไทยไม่รับคนมีสามีหรือคนมีลูกเข้าเรียน พอเด็กผู้หญิงพลาด อนาคตถูกทำลาย ต้องฆ่าเด็กด้วยการทำแท้ง

ตอนผมสอนในอเมริกา ลูกศิษย์ผมมีลูกมีสามี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มหาวิทยาลัยไทยจำกัดอายุผู้เรียน พวกสิทธิสตรีน่าจะลุยตรงนี้มากกว่า ที่ผมประท้วงหนัก ๆ ก็คือ การเรียนการสอนของไทยจะเป็นลักษณะครอบจักรวาล ไม่สอนให้เรียนรู้จริง แต่ตอนนี้ดีขึ้น มีโรงเรียนอย่างวิถีพุทธ ฯลฯ สุดท้ายผมก็ปรับตัวเอง ผมเป็นคนปากจัด พอศึกษาทางพุทธก็ช่วยได้มาก ผมพูดตรงทำจริงไม่เห็นแก่หน้าใคร คิดแบบฝรั่ง ใครใหญ่ที่ไหนมาไม่สำคัญ ผมคิดว่าผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องฉลาดกว่าเด็ก แต่ไม่ใช่ว่าสอนเด็กให้ไม่เคารพผู้ใหญ่นะ

เพ็ญลักษณ์ : ปัญหาแบบไหนแก้ยากที่สุด ?

ดร.วรภัทร์ : ปัญหาคือ ใจ การเลี้ยงลูกมีปัญหามาก ที่ผมไปทะเลาะกับเขาคือหลักสูตรของไทยไม่เคยสอนเรื่องการเลี้ยงลูก หรือสอนการใช้ชีวิตง่าย ๆ การใช้เงินก็ไม่สอน ไม่สอนให้ซัดกับกิเลส จริง ๆ แล้วอย่าไปมองว่าการศึกษาต้องคุมครูอย่างเดียว สื่อมวลชนก็มีผลต่อเด็ก ลงข่าวการฆ่าตัวตายและภาพศพทุกวัน สื่อก็ไม่ได้เสนอข่าวเพื่อการเรียนรู้ การโฆษณาก็เน้นการใช้เงินมากจนเกินเหตุ 80% ของโทรศัพท์มือถือโทรคุยเรื่องไร้สาระ อย่าไปโทษครูเลย การศึกษาไม่ใช่แค่ระบบโรงเรียนอย่างเดียว

มนุษย์ก็เป็นอย่างนี้แหละ เราแก้ไขคนทั้งโลกไม่ได้ ผมว่ามาแก้ที่ตัวเองก่อน เพราะสังคมไทยเลี้ยงลูกไม่เป็น ลูกงอแงก็ตีหรือไม่ก็ตามใจลูก จริง ๆ ไม่ได้ตามใจลูกหรอก เขาเรียกว่าตามใจพ่อแม่ ผมว่ามักง่ายในการเลี้ยงลูก บางคนเลี้ยงหมาได้ดีกว่าลูกตัวเอง คนไทยเวลาเล่นพระเครื่องก็อ่านหนังสือพระ เล่นรถก็อ่านหนังสือรถ ชอบเครื่องเสียงก็ซื้อหนังสือมาอ่าน บางทีอ่านหนังสือมาทั่วโลก แต่พอมีลูกไม่อ่านหนังสือเลี้ยงลูก

เพ็ญลักษณ์ : ลองกะเทาะเปลือกปัญหาสังคมให้ฟังอีกสักนิดได้ไหมคะ ?

ดร.วรภัทร์ : เศรษฐกิจเมืองไทยเติบโตในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ประชาชนใช้เงินไม่เป็น เป็นทาสของสินค้า ผมคิดว่าฝรั่งพยายามทำลายวัฒนธรรมแล้วใส่กิเลสลงมาเยอะ ๆ ญี่ปุ่นพังเพราะกิเลสตรงนี้ ปีที่แล้วญี่ปุ่นไม่ได้เจริญขึ้น ตะวันตกมาถือหุ้นในไทยมากขึ้นเพื่อให้เราตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ ผมขอเดาว่า วัฒนธรรมจะค่อย ๆ หายไปถ้าคนไทยยังเป็นอย่างนี้ ฝรั่งจะมาครองประเทศ

เราเข้าใจสังคมอเมริกันตามแบบที่เขาอยากให้เข้าใจ ฮอลลีวู้ดกับชีวิตจริงไม่เหมือนกัน ผมอยู่ในอเมริกาบ้านไม่ต้องมีรั้ว ผู้หญิงอเมริกันที่บอกว่าแย่ ๆ บางคนท้องไม่มีพ่อแต่ไม่ได้ทำแท้ง พวกเขาตกลงกันในโบสถ์ว่า จะเลี้ยงเด็กไม่มีพ่อคนนี้อย่างไร แต่สังคมเมืองไทยน่ากลัว รีดไถรังแกคนยากคนจน และไม่เป็นพุทธะที่แท้จริง แต่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย ก็มีดอกบัวผุดขึ้น มีพุทธสมบูรณ์แบบจำนวนไม่น้อย เวลาผมเขียนหนังสือ ก็เลยใช้ธรรมะสอดแทรกในหลักการบริหาร

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 09 ก.พ. 2010 9:08 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 9:48 am
โพสต์: 937
ขอบคุณครับ อ่านยังไม่หมดไว้อ่านต่อ แต่เห็นรูปหลวงปู่แล้วคิดถึงท่านที่สุดจริงๆ

_________________
อันความสุขทางใจนั้นหายาก คนส่วนมากไม่ชอบแสวงหา
หวังแต่สุขเพื่อสนุกเพียงหูตา มันจึงพาชักจูงให้ยุ่งใจ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 10 ก.พ. 2010 3:52 am 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
เยี่ยมครับ ....... ประยุกต์ธรรมมะให้เข้ากับชีวิตจริง


ขอบคุณครับ

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 11 ก.พ. 2010 1:36 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 24 พ.ย. 2008 4:51 pm
โพสต์: 613
ขอบคุณครับ ป๋มอยากให้พี่ๆลองดูรายการเจาะใจย้อนหลังจิงับ มีสัมภาษณ์ ดร.วรภัทรด้วยงับ

_________________
"ความทุกข์มันเข้ามาได้เพราะเราไม่ภาวนา เมื่อภาวนาแล้ว มันก็หมดลง"


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 12 ก.พ. 2010 12:58 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 11:16 pm
โพสต์: 1786
ขอบคุณครับ
จับฉ่ายแมน นี่เหมือนที่หลวงพ่อชำนาญเรียกคุณรณธรรมเลยอ่ะฮะ
:lol: :lol:


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 12 ก.พ. 2010 10:24 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 24 พ.ย. 2008 4:51 pm
โพสต์: 613
งั้นพี่อู๊ดๆก็เปน อับดุลแมนจิงับ

_________________
"ความทุกข์มันเข้ามาได้เพราะเราไม่ภาวนา เมื่อภาวนาแล้ว มันก็หมดลง"


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 12 ก.พ. 2010 11:20 am 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
:smk: :smk:



ถามไรตอบได้.......... :ydie: :ydie:

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 14 ก.พ. 2010 3:15 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
ยุ่งไรกะตูเนี่ย
.gif


_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO