นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 11:30 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 30 ก.ย. 2008 11:20 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 5:09 pm
โพสต์: 1368
หลวงพ่อสาลีโข (สมภพ เตชปุญโญ) พุทธอุทยานธรรมโกศล ตอนตะกรุดหนึ่งในวัตถุมงคลที่สร้างไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน
โดย ศิษย์กวง
จาก http://www.oknation.net/blog/sitthi/2008/08/02/entry-1

01.jpg

"วันทิตวา สิระสา พุทธัง เตชะยัง ธัมมัง เตชะยัง สังฆัง เตชะยัง ปวะรัง ครูบาทิยัง อหังปูเชมิฯ"....

"สิบนิ้วข้าฯ ประนมยกขึ้นเหนือเกล้าเกศา ขออาราธนาคุณครูบาอาจารย์ทั้งสิบทิศ คุณพระอาจาริยะ ตะถาคะโต โสกะมะสะ เชตุมัตจะ มิมัตเชโต มะอะอุ สาธุ โน ภันเต สังโฆ…ฯลฯ........ด้วยครูเป็น ครูตาย ครูใหม่ ครูเก่า ครูพักลักจำ ขอจงมาปรกเกล้า ปรกกระหม่อม สิงสู่อยู่ในจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายะทวาร นโนทวาร แห่งตัวข้าฯ ด้วย ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เทอญฯ....."
02.jpg


สวัสดีครับ..."บทอัญเชิญครูบาอาจารย์" บทนี้เป็นของพุทธอุทยานธรรมโกศล ซึ่งเหล่าลูกศิษย์ต่างรู้จักและท่องได้ขึ้นใจทุกคน ปัจจุบันท่านหลวงพ่อสาลีโข (สมภพ เตชปุญโญ) ท่านได้มรณภาพแล้วดังที่เพื่อนๆ ทุกท่านได้ทราบกัน...

บันทึกน้อยของผมตอนนี้เป็นเรื่องของวัตถุมงคลประเภทหนึ่ง คือ "ตะกรุด" ซึ่งทุกวันนี้ตะกรุดที่หลวงพ่อสมภพท่านได้เคยจัดสร้างขึ้น เป็นที่ต้องการและเสาะแสวงหาของบรรดาผู้ที่เคารพบูชาท่าน ตลอดจนผู้ที่สนใจในคติแนวนี้

ที่ผมใช้คำว่า “แสวงหา” เพราะบางอย่างก็ถูกบูชาหมดไปจากสำนักฯมานานแล้ว นอกจากนี้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนที่มีไว้ติดตัวก็มีมากมายจนผมไม่สามารถนำมาเขียนในตอนนี้ได้ คงต้องขอละเอาไว้และขออนุญาตย้ายกรอบความคิดของเพื่อนๆเข้าสู่เรื่องราวที่ลึกลับกันครับ....
03.jpg


ในปัจจุบันนี้ เราจะพบว่าวัตถุมงคลที่วัดต่างๆทำออกมามักจะเป็นในรูปลักษณ์ของพระเครื่อง ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของเหรียญ พระผง พระเนื้อโลหะ ฯลฯ ซึ่งเมื่อได้จัดสร้างเรียบร้อยแล้ว จึงนำไปให้คณาจารย์ที่เป็นที่มีวิชาอาคมหรือญาณสมาบัติสูง ทำการปลุกเสกแล้วจึงนำออกให้บูชาต่อไป นัยว่าเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและญาติพี่น้อง...

แต่ถ้าเราพูดถึงเครื่องรางของขลังตามคติแนวนี้ จะพบว่าในสมัยก่อนที่โลกยังไม่เจริญเหมือนทุกวันนี้ การออกแสวงหาวัตถุดิบมาสร้างเป็นเครื่องรางมักจะใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือมีอยู่ตามธรรมชาติมาจัดสร้างเช่น ไม้ไผ่ มาทำเป็นตะกรุดไม้ไผ่ ใบลาน มาสร้างเป็นตะกรุดใบลาน ฝาบาตร นำมาจารและม้วนเป็นตะกรุดฝาบาตร ฯลฯ ซึ่งเมื่อคณาจารย์เหล่านั้นจัดสร้างเสร็จแล้วจึงทำการปลุกเสกให้เรียบร้อยตามกรรมวิธีของแต่ละสายวิชาที่สืบทอดกันมา..

การสืบทอดวิชาต่อเนื่องกันมา ตามคติของไสยศาสตร์นั้นมีทั้ง “การเรียนทางจิตและการเรียนจากทางตำรา..” ในเรื่องของการสืบทอดทางจิตนั้นผมถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะลักษณะของการได้มาเป็นแบบเรื่องเหนือจริง แต่การสืบทอดกันมาตามตำรานั้น ค่อนข้างมีหลักฐานชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นตำราโบราณ สมุดข่อย ฯลฯ ซึ่งบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย (ครูบาอาจารย์) ได้ทดลองและปฏิบัติจนสามารถทำได้จริง..

ท่านเหล่านั้นจึงได้ทำการบันทึกคาถาต่างๆ ตลอดจนถึงสิ่งที่ท่านจะสร้างลงในตำราหรือสมุดข่อย เหล่านั้นเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบทอดต่อไป ถึงตอนนี้เพื่อนๆ อาจจะตั้งคำถามว่า แล้วเราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร ว่าเรื่องที่บันทึกเหล่านั้นเป็นความจริง หลวงพ่อสมภพเคยเล่าให้ผมฟังว่า....
04.jpg


“สมัยโบราณ ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้บันทึกคาถาอาคมลงในตำรับตำราเรียบร้อยแล้ว.. ท่านมักจะจบลงด้วยการสาปแช่งตัวเอง หากว่าเรื่องที่ท่านบันทึกไว้นั้นเป็นเท็จ... เสมือนหนึ่งการสาปแช่งนั้นคือการค้ำประกันความเชื่อของเราดีๆนี่เอง”

หลวงพ่อสมภพ เตชปุญโญ หรือหลวงพ่อสาลีโข เป็นที่รู้จักดีในกลุ่มของผู้นิยมในศาสตร์เหล่านี้ ด้วยเหตุผลว่า “ท่านเชี่ยวชาญและสามารถทำได้จริง”....

ย้อนหลังไปในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๐ (ประมาณนี้) ท่านยังจำพรรษาอยู่ ณ วัดสาลีโขภิรตาราม ลูกศิษย์รุ่นพี่เก่าๆ หลายๆท่าน ได้เล่าให้ผมฟังว่าสมัยนั้นมีคำกล่าวขานถึงความเฮี้ยวของวัยรุ่นในละแวกวัดสาลีโขว่าเป็นคนแน่ คนจริง....และเป็นที่รู้ในกลุ่มวัยรุ่นเลยว่า “หนังไม่เหนียวอย่ามาเที่ยวสาลีโข”..ว่ากันขนาดนั้นเลย แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว “หนังไม่เหนียวก็มาเที่ยวได้” ...ครับ
05.jpg


“การมีจุดยืนของชีวิตคือคุณสมบัติที่ดีอีกข้อหนึ่งของชีวิต”....ในสายตาของคนภายนอกหรือผู้ที่ยึดมั่นในแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา อาจมองว่าหลวงพ่อสมภพ ท่านเป็นพระภิกษุองค์หนึ่งที่เน้นและให้ความสนใจในเรื่องของคติทางไสยศาสตร์..

แต่จากบุคคลหรือลูกศิษย์ในสำนักแล้วจะรู้ว่า หลวงพ่อสมภพนั้นท่านมีความนับถือและเคารพในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขนาดไหน ความรักในพระพุทธเจ้าเมื่อนำมาผนวกกับความรู้ในศาสตร์ที่ตนเองมีอยู่ การทำอะไรออกมาสักอย่างก็จะออกมาดี ดูแล้วสามารถสัมผัสได้ถึงความสุขที่ได้กระทำงานนั้นอย่างแท้จริง...

เมื่อครั้งที่ท่านได้ไปกราบนมัสการพุทธคยาที่ประเทศอินเดีย...
06.jpg


ท่านได้นั่งปฏิบัติสมาธิ ณ ที่แห่งนั้นและได้นำแผ่นทองคำบริสุทธิ์หนัง ๔ บาทที่ท่านได้เตรียมมา จารึกคำอธิษฐาน..

“ขอฝากชีวิต ฝากจิตวิญญาณ ไว้ใต้รอยบาทของพระพุทธองค์... ขอให้ท่านได้พบพานพระพุทธองค์และหลวงปู่เผือกที่เป็นพระปรมาจารย์ใหญ่ ที่ท่านนับถือเป็นที่สุด.. ขอให้ได้พบทั้งชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไปไม่สิ้นสุดจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์....”

แล้วจึงฝังลงพร้อมเส้นเกศาของท่านที่ปลง ไว้ใต้แท่นวัชรอาสน์ในร่มแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ....
07.jpg


และหลังจากที่ท่านเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ท่านได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์จำนวน ๔ หน่อ มาปลูกไว้ที่พุทธอุทยานธรรมโกศลแห่งนี้ โดยบริเวณฐานรากของโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น หลวงพ่อสมภพท่านได้จัดทำแผ่นยันต์ตะกั่วเพื่อป้องกันการผุกร่อน และท่านได้ลงยันต์ “สุริยาทรงกลด” โดยมีเจตนาว่าให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้มีความเจริญรุ่งเรือง เพื่อเป็นตัวแทนหรือศูนย์กลางแห่งการสืบต่อพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต...
08.jpg


ครับที่ผมเล่ามาทั้งหมดนั้น ...ก็เพื่อต้องการให้เพื่อนๆ ได้ทราบถึงแนวความคิดของท่านหลวงพ่อสมภพ และธรรมเนียมปฏิบัติของลูกศิษย์สายนี้ เพราะผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า คนที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดี องค์ประกอบที่สำคัญรองจาก “จิต” คือ การมี “ทัศนคติ” ที่ดี....

การสร้างพลังจิตมิใช่จะสร้างง่ายๆ เพราะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น นิสัย ความสนใจ วาสนา บารมี เช่นเดียวกัน “ทัศนคติ” ถึงเราจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แค่คิดดีก็พอแล้วแต่อยากลืมนะครับว่า

“การคิดดีของหลวงพ่อสมภพ...เริ่มตั้งแต่ท่านเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง...และมีอยู่จนท่านสิ้นอายุขัยเลยนะครับ..”....ผมก็พ่นมาซะตั้งนานเรามาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ.....

ตะกรุด คือแผ่นโลหะที่แผ่แล้วม้วนเป็นกลมๆ ลงคาถาอาคม อักขระเลขยันต์ ใช้เป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่ง...การลงแผ่นโลหะจะเป็นทองคำ เงิน ทองแดง หรือตะกั่วก็ตาม ต้องผ่านกรรมวิธีที่ยากลำบากสลับซับซ้อน

ประวัติการสร้างมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จนไม่สามารถกำหนดได้หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นของผู้ใด สำนักไหน สร้างเมื่อใด ยกเว้นแต่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสำนักที่บอกไว้ชัดเจนเท่านั้น.....
09.jpg


หลวงพ่อสมภพ ท่านได้สร้างตะกรุดหลายครั้ง ด้วยความเป็นพระที่มีอุปนิสัยละเอียด ท่านจึงได้รวบรวมประวัติการสร้างเอาไว้ด้วยความมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์นิยมและสืบทอดวิทยาคุณให้ปรากฏเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสำนักพุทธอุทยานธรรมโกศล ซึ่งผู้ที่ได้รับไปจะได้รู้คุณค่า มูลเหตุแห่งการสร้างและวิธีใช้อย่างถูกต้อง...

การสร้างตะกรุดของหลวงพ่อสมภพ มีพิธีการที่ยิ่งใหญ่สลับซับซ้อน เพราะต้องกำหนดฤกษ์ลงอาคม อักขระเลขยันต์ ฯลฯ ซึ่งตะกรุดที่สร้างแต่ละดอก จะมีชื่อที่เป็นมงคลนามต่างกัน เนื่องจากอักขระเลขยันต์ที่จารลงในแผ่นโลหะใช้ต่างกัน ขนาดของแผ่นโลหะก็ต่างกันตามรูปลักษณ์ของตะกรุดนั้นๆ..ตะกรุดบางดอกใช้แผ่นโลหะถึง ๒ แผ่น บางดอกจารลงบนแผ่นทองแดง บางดอกจารลงบนแผ่นตะกั่ว ฯลฯ สำคัญที่สุดคือ “วิธีการใช้ก็แตกต่างกันด้วยครับ..”...

ส่วนกรรมวิธีการสร้างหลังจากหลวงพ่อสมภพท่านจารอักขระเลขยันต์เรียบร้อยแล้ว ท่านจะนำมาถักด้วยด้าย แล้วคลุกรัก สำหรับเครื่องถมตะกรุด(คลุกรัก) ประกอบไปด้วย ผงวิเศษ ๕ ชนิด ตามหลักไสยศาสตร์ เช่น ปฐมัง มหาราช อิธิเจ ฯลฯ ใบไม้รู้นอน ๗ สี (หมายถึงโพชฌงค์) เช่น ใบชุมแสง ใบระงับ ใบหิงหาย ใบสมี ใบผักกระเฉด ใบหญ้าใต้ใบ และใบกระถิน นอกจากนี้ก็ยังมีอีกผงต่างๆตามสูตรอีกหลายอย่างครับ

สำหรับรายละเอียดประกอบอื่นๆ เช่นคาถากำกับ จุดสังเกต การลงยันต์ ฯลฯ เชื่อว่าคงมีสื่อพิมพ์ต่างๆ เคยลงไว้แล้ว ผมจึงต้องขออภัยที่จะละเอาไว้(อีกแระ)..เพราะถ้าเขียนทั้งหมดคำนวณดูแล้วคาดว่าคงใช้เวลาโขอยู่....เอาแค่พอเป็นสังเขปแต่ได้ใจความละกันครับ...

“ตะกรุดโทนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
10.jpg


สร้างขึ้นเมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๒ มหานักขัตฤกษ์เสาร์ห้า จารลงแผ่นทองแดงขนาด ๖ x ๖ นิ้ว ตามตำราว่า ตะกรุดนี้ตีค่าไว้แสนตำลึงทอง ครับ (ค่อนข้างหายากที่สุด)

“ตะกรุดโทนมหาระงับ”
11.jpg


สร้างขึ้นเมื่อ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๓ จารอักขระลงแผ่นทองแดงขนาด ๗ x ๙ นิ้ว ตามตำราว่า ระงับเหตุเภทภัยทุกเรื่อง สำคัญคือ นำตะกรุดแช่น้ำแล้วดื่มมิพบพานความยากจนเลยครับ

“ตะกรุดโทน มหาจักรพรรตาธิราช”
12.jpg


สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ จารอักขระลงแผ่นทองแดง ๒ แผ่น ขนาด ๔ x ๔ นิ้ว ชื่อชั้นบอกคุณค่า ตามตำราบอกติดตัวไว้ไม่ตกต่ำจากยศบรรดาศักดิ์ครับ

“ตะกรุด หัวใจอริยสัจจ์โสฬสมงคล”
13.jpg


สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ จารอักขระลงแผ่นทองแดง ขนาด ๒ x ๒ นิ้ว เพื่อป้องกันอุปัทวันตราย เกิดโภคทรัพย์ซื้อง่ายขายคล่อง เป็นมหาวิเศษนักแลฯ

“ตะกรุด หัวใจบุรุษ ๘ จำพวก”
14.jpg


15.jpg

สร้างเมื่อพ.ศ.๒๕๒๕ จารอักขระลงแผ่นตะกั่วสองหน้า ขนาดสองนิ้วครึ่ง เมื่อจะลงต้องเอาตัวผู้ทับตัวเมีย ใครมีไว้เจริญรุ่งเรือง ฝังไว้ที่สวนก็จะมีผลมาก ฝังไว้ที่พระพุทธรูปแตกหักก็จะมีคนมาซ่อมแซม ฝังไว้ที่ป่าจะกลายเป็นบ้าน สรุปว่ามีไว้จักเป็นที่รักแก่คนทั้งปวงครับ...(อันนี้นิยมมากครับ ขอบอก)

“ตะกรุด หัวใจพระวิภัตติ์”
16.jpg


สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ จารอักขระลงแผ่นทองแดงสองหน้า ขนาดสองนิ้วครึ่ง มีไว้จักมีโภคทรัพย์และเจริญรุ่งเรืองด้วยปัญญาครับ

“ตะกรุด อรห สุคโต ภควา”
17.jpg


สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ จารอักขระลงบนแผ่นทองแดงขนาด ๒ ซม. จัดเป็นประเภท “จิ๋วแต่แจ๋ว” ครับ บูชาติดตัวแล้วจะเป็นเสน่ห์และที่รักแห่งทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย...แล

“ตะกรุดมหาอริยมรรค"
18.jpg


จารอักขระลงบนแผ่นเงินบริสุทธิ์ ตะกรุดชุดนี้..”มีแปลกตรงที่ท่านไม่ม้วน” เพราะต้องการให้เห็นเลขยันต์อันเป็นลายมือแท้ของท่าน ต่อไปตะกรุดนี้จะดูง่ายเพราะลายมือปลอมกันยาก คุณสมบัติดีทุกทางตามแบบอย่างที่อานุภาพของตะกรุดทั้งหลายจะพึงมี แต่พิเศษตรงที่การใช้แบบแปลก ๆ จะแปลกอย่างไรคงต้องไปอ่านเอาในใบฝอยของสำนักนะครับ...
19.jpg



มีคนเคยบอกผมว่า “คำพูดหรือภาษา…เหมือนทำให้คนเราใกล้หรือไกลกันได้” ..แต่ถ้าบางที..เมื่อเรามาพิจารณาให้ดีๆ คำพูดหรือภาษาอาจจะเป็นเพียงผลลัพธ์ของ “สิ่งที่ไม่ได้พูด”เท่านั้น

“การสื่อสารระหว่างตะกรุดกับผู้บูชาก็เหมือนกัน”...มีไว้ในครอบครองนึกว่าอยู่ใกล้แต่ความจริงคือไกลกันมากหาก”ไม่รู้จักวิธีรักษา” ตะกรุดทุกดอกที่ออกจากสำนักแห่งนี้หลวงพ่อสมภพท่านได้ให้เคล็ดการดูแลไว้ว่า...
20.jpg


“เมื่อไม่ได้ใช้ให้นำห่อด้วยผ้าแดง วางบนพานต่อหน้ารูปหลวงปู่เผือก นัยว่าเป็นการสื่อถึงเรื่องเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ครับ”
21.jpg


ครับความเชื่อในเรื่องของคาถาอาคม ศาสตร์เร้นลับซึ่งบางอย่างอาจจะเป็นเรื่องที่เหนือจริง..ก็ขอให้เพื่อนๆ “ถ้าเชื่อ..ก็ขอให้เชื่ออย่างการใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง” เพราะถ้า”ไม่เชื่อมันก็แล้วไป”

แต่ถ้า”เชื่ออย่างรุนแรง”มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่บันทอนแรงของพระพุทธศาสนาลงไป จนเพื่อนๆอาจจะหาเนื้อแท้ของพุทธไม่ได้เลย....อย่างไรก็แล้วแต่...”ถ้าหากเราไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ล่ะ” เราจะเอาอะไรชดเชยให้กับผู้คนซึ่งยังไม่สามารถปฏิบัติถึงแก่นแท้ได้ละครับ ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่น่าคิด...

อีกประการหนึ่ง ถ้าเรามองในระดับอนุบาลของคำว่า “วัฒนธรรมพื้นฐาน” เราจะเห็นว่าสังคมไทยมีลักษณะของการเป็น ”สังคมพหุนิยม”..

ดังนั้นวัฒนธรรมไทยจึงไม่จำเป็นต้องเป็นวัฒนธรรมแบบพุทธ แต่เป็นวัฒนธรรมแบบผสมก็ยังได้ เช่นเดียวกันครับ คำว่า..”เมืองไทย คือเมืองพุทธ” องค์ความรู้แทบทั้งหมดที่เรามีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาย่อมโยงใยเกี่ยวข้องไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับ”เรื่องของพิธีกรรมเหล่านี้” ...

ผมจึงเชื่อว่านี่คือสิ่งที่พิเศษของเมืองไทยที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ และเมื่อเราเป็นเมืองแห่งพุทธแล้ว สิ่งที่ ”เราควรตระหนักให้มาก”...ก็คือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและสังคม ที่อาจจะมีผลกระทบมาถึงพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นและสำคัญ

ประเด็นมีอยู่ว่า...”การก้าวไปสู่อนาคต...ย่อมเป็นไปไม่ได้...หากเราไม่เคยปูทางด้วยอดีตและ..ตัวตนอันแท้จริงที่เราเคยมีมา..”.

ซึ่งศาสตร์การสร้างตะกรุด ก็คือส่วนหนึ่งอันน้อยนิดของตัวตนแท้จริงที่เราเคยมีมาเหมือนกันนะครับ...ไม่เชื่อลองทำใจกว้างๆแล้วไปอ่านประวัติศาสตร์ดูก็ได้ครับ เลือกเอาตอนกู้ชาตินะครับ......สวัสดีครับ..

“ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี

ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี

เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนต์

ปัถมังตั้งตัวนะปัดตลอด

แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน

หัวใจกรีดอิทธิเจเสน่ห์กล

แล้วเล่ามนต์เสกขมิ้นกินน้ำมัน......”

22.jpg



กราบบูชาพระคุณของหลวงพ่อสาลีโข (สมภพ เตชปุญโญ) พุทธอุทยานธรรมโกศล

ข้อมูลบางส่วนจาก อนุสารธรรมโกศล ๒๕๓๓

ขอขอบพระคุณ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายสวยๆ เพื่อนต่อสำหรับคำแนะนำ คุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี สำหรับกำลังใจครับ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO