Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

มีสติรู้ตัว

เสาร์ 03 ธ.ค. 2016 11:05 am

มีสติรู้ตัว รู้ลมหายใจเข้า-ออก มีสติอยู่รู้ว่า ขณะนี้ หายใจเข้ายาว-หายใจออกยาว ก็รู้อยู่ หายใจเข้าสั้น-หายใจออกสั้น ก็รู้อยู่ อาจจะใช้คำภาวนาในใจ อย่างใดกำกับตามไปด้วยก็ได้

มีสติ ระลึกรู้ตัวไปทั่วทุกสิ่ง ทั่วทุกอิริยาบถ เคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา ก้าวหน้า ถอยหลัง ก็ทำสติ ตามรู้ทุกอย่างไป แม้จะยังไม่บริบูรณ์ ด้วยจิตหนีหายหลบไป เมื่อรู้ตัว ก็กำหนดสติต่อไป จะเกิดผล เป็นผู้มี "พลังสติคุมจิต" ตั้งมั่น เกิดสมาธิ..
หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร..




เราเกิดมา นับอสงไขยไม่ถ้วน น้ำในแม่น้ำ มหาสมุทรน้อยใหญ่ทั้งหลายนะ ก็ยังน้อยกว่า "น้ำตา" ที่เคยหลั่งริน เพราะ ความทุกข์ทั้งหลายเสียอีก

คนเราทุกคน ก็อยู่ในบัญชีตาย พอเกิดมา เราก็เข้าคิว รอเขาประหารชีวิต จะถึงตัวเราเมื่อไร ก็ไม่มีใครรู้ เราจะประมาทไม่ได้ ต้องรีบสร้างความดีของเรา ให้ถึงพร้อม
ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก..





พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อศีลมั่นคงดีแล้ว นักปฏิบัติไม่ควรประมาท จงน้อมจิตเพื่อการฝึกอบรมที่สูงขึ้นไป คือการภาวนานั่นเอง หลวงพ่อให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการฝึกสมาธิภาวนาว่า...

“...เป็นการฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่น และมีความสงบ เพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอารมณ์ต่ำๆ เหมือนน้ำชอบไหลสู่ที่ลุ่มเสมอ

พวกเกษตรกรเขารู้จักกั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่างๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น กั้นฝาย ทำทำนบ ทำชลประทาน เหล่านี้ ก็ล้วนแต่กั้นน้ำไว้ทำประโยชน์ทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่าง และใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี้เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงสู่ที่ลุ่มเสียหมด

จิตใจที่มีการกั้น การฝึกที่ดี ก็ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลเช่นกัน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ การฝึกจิตให้ดี ย่อมสำเร็จประโยชน์ ดังนี้เป็นต้น...”

โอวาทธรรมคำสอน..
พระโพธิญาณเถร (องค์หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี






"...เรื่องการภาวนานั้น ไม่หมายเอาเพียงรูปร่างภายนอก การนั่งแต่เพียงรูปร่างกายนั้นไม่ยุ่งยาก ข้อสำคัญอยู่ที่การทำจิตใจตั้งมั่น รู้อยู่ภายใน รวมอยู่ภายใน รู้ตามเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น จนไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียได้

การภาวนานั้นต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนาพิจารณา อุบายที่ถูกจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียวไม่ได้ กิเลสมันพลิกแพลงเก่ง ต้องตามให้ทัน คนรู้จักพิจารณา ก็ได้บรรลุธรรมเร็ว..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่สิม พุทธาจาโร






"...นักปฏิบัติ สำคัญที่สุดต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ พยายามรักษาจิตให้เสมอ อย่าให้ขึ้นลงตามกิเลสที่มาก่อกวน การรักษาจิตให้เป็นปกติได้ จะมีความสุขในการปฏิบัติ

จิตนี้ เมื่อเราปฏิบัติถึงจุดแห่งผล อานิสงส์จะหาประมาณมิได้ การปฏิบัติทางจิตจึงจำเป็นแก่ผู้มีปัญญา

ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด ธรรมข้อหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ลึกลับที่สุด เป็นที่พึ่งถาวรแก่เราได้ ก็คือ 'อตฺตาหิ อตฺตโนนาโถ' พึ่งตน รู้ตน แล้วก็จะรู้ในสิ่งทั่วไป เพราะตนนั้นแหละเป็นเหตุ เป็นต้นเหตุของทุกสิ่ง..."

โอวาทธรรมคำสอน...
องค์หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
ตอบกระทู้