นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 01 พ.ย. 2024 6:50 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 09 ส.ค. 2016 5:15 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4728
ความโกรธนี้เหมือนกับไข่เน่า ร่างกายของคนประดับประดาดีเท่าไหร่ก็ตาม แต่ความโกรธฝังอยู่ในใจแล้ว มันมีความทุกข์ความเดือดร้อน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า "เป็นไฟไหม้อยู่ในดวงใจของเรา ไฟไหม้ข้างในแล้ว มันก็รั่วไหลออกมาทางนอก มาทางปาก ออกมาทางปาก ก็ออกมาทางร่างกาย ทำให้เสียหายอย่างนี้

ความโกรธนั้นเป็นของที่ไม่ดี ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นภาษิต ดังได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า "นหิ สาธุ โกโธ ความโกรธไม่ดีเลยจริงๆ"


หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป





เราทำชั่วครั้งเดียว
แต่คิดบ่อยๆ
เท่ากับเราทำชั่ว
บ่อยๆ

โอวาทธรรม.....หลวงพ่อวิชัย เขมัโย....



เรื่องเวรกรรม...ลูกเอ๋ย...มันเป็นกรรมนะ
ต้องใช้เวรกรรมยุติธรรมแล้ว
แม้พระพุทธเจ้าของเราลูกเห็นไหม
พระองค์บริสุทธิ์แค่ไหน
พระองค์ยังต้องประสบเรื่องเช่นนี้นะ
ฉะนั้น..จงปล่อยไปตามกรรมที่ทำไว้
แต่หนหลัง ปัจจุบันทำจิตใจของตน
ให้บริสุทธิ์ก็พอแล้ว..ทำอย่างไรหนอ
จึงจะพ้นทุกข์นี้ไปได้เท่านั้น

โอวาทธรรม...หลวงปู่สาม อกิญจโน
วัดป่าไตรวิเวก ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์





"..คนเราเกิดมาในชาติหนึ่งๆ
อย่าปล่อยให้ร่างกายของเราเหมือนเรือไหลล่อง
ผู้เป็นเจ้าของต้องเตรียมตัว ระมัดระวังหางเสือของเรือไว้ให้ดี

ผู้ใดเผลอผู้ใดประมาท ผู้นั้นมอบกายของตน
ให้เป็นเรือไหลล่องไปตามกระแสน้ำ
ผู้นั้นเรียกว่าโง่น่าเกลียด ฉลาดน่าชัง เป็นยาพิษ

เรือที่เรานั่งไปนั้นหากมันล่มลงในกลางน้ำ จรเข้ก็จะไล่กิน
กระโดดขึ้นมาบนดิน ฝูงแตนก็ไล่ต่อย

คนเราเกิดมามีกิเลสเรียกว่า."กิเลสวัฏฏะ" เป็นเชือกผูกมัดคอ
ผู้มีกิเลสต้องทำกรรมเรียกว่า."กรรมวัฏฏะ" ซึ่งก็เป็นเชือกมัด
คออีกเส้นหนึ่ง

ผู้ใดที่ทำกรรมไว้ ย่อมจะได้เสวยผลของการกระทำ
เรียกว่า"วิบากวัฏฏะ"เป็นเชือกเส้นที่สาม มัดคอไว้ในเรือนจำ

เราทุกคนต้องสร้างสมอบรมปัญญา
ซึ่งสามารถทำลายเรือนจำให้แตก

ผู้ใดทำลายเรือนจำไม่ได้ ผู้นั้นก็จะเกิดแก่เจ็บตาย
เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะนี้เรื่อยไป

เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องเตรียมตัวเป็นนักกีฬา
ต่อสู้ทำลายเรือนจำให้มันแตก อย่าให้มันขังเราไว้ต่อไป

..คนเราจะไปสวรรค์ก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ ไปอบายภูมิก็ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้. ต้องดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่งาม.

..อยากดี ต้องทำดีเป็น...อยากได้ต้องทำได้เป็น
อยากดีต้องละเว้นทางเสื่อม ตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้

'นิททาสีลี'....อย่าพากันนอนตื่นสาย
'สภาสีลี'.....ผู้ใดอยากดีอย่าพากันพูดเล่น
'อนุฏฐาตา'...ผู้ใดอยากดีให้พากันขยันหมั่นเพียร
'อลโส'....ผู้ใดอยากดีอย่าเป็นคนเกียจคร้าน

ผู้ใดอวดเก่งผู้นั้นเป็นคนขี้ขลาด
ผู้ใดอวดฉลาดผู้นั้นเป็นคนโง่
ผู้ใดคุยโวนั้นผู้นั้นไม่เอาถ่าน

อยากเป็นคนดีต้องทำดีถูก..เรียนหนังสือเพื่อรู้...
ดูหนังสือเพื่อจำ...ทำอะไรต้องหวังผล...
เกิดมาเป็นคนต้องมีความคิด....

อุบายเครื่องพ้นทุกข์ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นไกล
หากแต่อยู่ที่ มี'สติสัมปชัญญะ' รอบคอบในทุกอิริยาบท.."

******************************************
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่จันทร์ เขมิโย






อำนาจความฉลาดแหลมคมของกิเลส
ในสามโลกธาตุนี้ เป็นบริษัทบริวารของกิเลสทั้งนั้น
นอกจากธรรมะ มีธรรมะเท่านั้นมีอานุภาพมาก
เหนือสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย คือกิเลสทุกประเภท
ซึ่งจะสามารถนำมาระงับดับกันได้ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา
ที่พระองค์ท่านประทานไว้แล้วโดยสมบูรณ์
ให้ยึดเอาหลักนี้เป็นเครื่องปกครองตน
และเป็นเครื่องปราบปรามกิเลสให้สิ้นซากไปจากใจ
อย่าเสียดาย ไม่มีกิเลสตัวใดที่น่าเสียดาย
เพราะพาให้เกิดให้ตายเวียนว่ายในกองทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
จากหนังสือ ชีวิตแลกธรรม





“ที่ทำผิดไปแล้วก็เลิกนึกถึง”
ถือแต่ว่า...จะไม่ทำให้ผิดอีก
จะไม่ผิดซ้ำอีกเท่านี้ก็พอแล้ว
ไม่ต้องเอามาทรมานใจ

พุทธทาสภิกขุ





"หลงกองกระดูก"

จิตใจคนเรามันประมาท กระดูกมันสวยงามที่ไหน ดูกองกระดูกมันงามที่ไหน ดูกระบอกตากระบอกตานี้ก็ให้เพ่งให้เห็นเป็นกระดูก อย่าไปเพ่งเห็นเป็นลูกตา ลูกตานี้ไม่ให้เห็นเนื้อหนังมังสาไม่ให้มีเวลานี้เปรียบอุปมาเหมือนอย่างว่าร่างกายของเราทุกคนนี้มันตายไปนานแล้ว ยังเหลือแต่กองกระดูกให้เพ่งใจจิตเตือนจิตนี้ว่าอย่าคิดไปที่อื่น

มันตายแล้วยังเหลือแต่กระดูกอ่อนกระดูกแข็ง เพ่งดูกระบอกตาตัวเองให้ดูให้รู้ตานี้มันโหว่เข้าไป ไม่ให้จิตคิดไปอื่น เพ่งในกระบอกตานั่น มันโหว่เข้าไป เหมือนกับไข่ที่เอาไปทำอาหารทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ โหว่เข้าไปลึกเข้าไปเป็นกระดูกไม่ใช่เนื้อหนัง เพ่งดูจนเห็นว่ามันเป็นกระดูกจริง ๆ โหว่เข้าไปจริง ๆ

ถ้าดูจนเห็นมันโหว่เข้าไปลึกเข้าไปมันก็เหมือนผีหลอกในกระบอกตานั่นมันเป็นผีหลอก คือไม่ต้องให้เห็นลูกกระตาคนยังไม่ตาย เพ่งให้เห็นว่ากระบอกตานี่มันผีหลอก ที่ว่าผีหลอกโหว่เข้าไปนี่แหละ ดูเดี๋ยวนี้เวลาเพ่งเดี๋ยวนี้เวลานี้ ให้มันเห็นกระบอกตาของตัวเองเมื่อไม่เห็นกระบอกตาตัวเอง อย่าได้ไปดูตาคนอื่น ตาเราก็ไม่ดู ดูกระบอกตา ดูให้มันเห็น เพ่งให้มันเห็น ระมัดระวังไม่ให้จิตมันแวบไปแวบมา

ใจโลเลในกิเลสละให้หมด เพ่งดูกระบอกตาตัวเอง ให้มันเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ถ้าไม่เห็นแจ้งตามความเป็นจริง ก็ยังมาสำคัญว่าเราสวยเรางาม งามที่ไหนดูกะโหลกศีรษะตัวเอง ผีหลอกทั้งเพ มาหลงมันทำไม หลงกะโหลกศีรษะ หลงกระบอกตา จึงได้มาลุ่มหลงมัวเมาเกิดมาภพชาติใด ก็มายึดเอาถือเอากองกระดูกอันนี้ไม่มีที่จบสิ้น

"พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร"
วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่



“หลักของสติ”
หลักของสติก็คือปัจจุบัน ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าอยู่กับการกระทำของร่างกาย ก็จะมีสติ ถ้าปล่อยให้ร่างกายอยู่ไปตามลำพัง ส่วนจิตไปคิดเรื่องอื่นก็จะไม่มีสติ ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สามารถทำใจ ให้สงบได้ เพราะใจไม่อยู่กับที่ ไปที่โน่นมาที่นี่ คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ พวกเรามีสติกันน้อยมาก มีพอกับการดำรงชีพ มีสติอยู่กับการกระทำเพียงแวบเดียว แล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น แล้วก็กลับมาที่การกระทำ ไม่ได้อยู่กับการกระทำอย่างต่อเนื่อง ใจจึงไม่นิ่ง มีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น ตามความคิดปรุงแต่งต่างๆ คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ เกิดความดีใจเสียใจ ไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นไปตามความอยาก ก็ดีใจ ถ้าไม่เป็นไปตามความอยากก็เสียใจ ชีวิตของพวกเราจึงวนไปเวียนมากับความดีใจเสียใจ ถ้าสามารถควบคุมใจให้นิ่ง ไม่ให้อยาก ใจก็จะไม่เสียใจหรือดีใจ จะรู้สึกเฉยๆกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่เดือดร้อนไม่วุ่นวาย ไม่ดีใจไม่เสียใจ เฉยๆสบายๆ ดีกว่าเสียใจหรือดีใจ เพราะเวลาดีใจก็อยากจะให้ดีใจ ไปเรื่อยๆ พอไม่ดีใจก็จะเสียใจ
ปัญหาของพวกเราคือไม่มีสติ ที่จะคอยควบคุมใจให้อยู่เฉยๆ ให้สักแต่ว่ารู้ เช่นทำอะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ กำลังเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน กำลังรับประทานอาหาร ก็รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร ไม่คิดเรื่องราวต่างๆ
การเจริญสติจึงเป็นงานที่สำคัญมาก เป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาธรรมะต่างๆ คือสมาธิปัญญาและ วิมุตติการหลุดพ้น จะเกิดขึ้นจากการเจริญสติเป็นจุดเริ่มต้น เหมือนกับการเรียนหนังสือ ต้องเริ่มต้นที่การเรียน ก. ไก่ ข. ไข่ จนจำได้ทุกตัวอักษร จากนั้นก็หัดสะกด สระ อะ สระ อา แล้วก็ผสมตัวอักษร ศึกษาคำนิยามของแต่ละคำ ก็จะอ่านออกเขียนได้ การบรรลุมรรคผลนิพพาน มีปัญญา มีสมาธิ ต้องมีสติก่อน พวกเราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่วัดหรืออยู่ที่ทำงาน พอตื่นขึ้นมาก็ควรตั้งสติเลย ผูกจิตให้อยู่กับร่างกาย ไม่ให้จิตไปที่อื่น ให้ดูว่าร่างกายกำลังทำอะไร กำลังนอน กำลังลุกขึ้น กำลังยืน กำลังเดิน กำลังทำกิจต่างๆ กำลังล้างหน้าล้างตาอาบน้ำแปรงฟัน กำลังแต่งตัว ต้องอยู่กับการกระทำ ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามีความจำเป็นต้องคิด ก็ให้หยุดการกระทำของร่างกายไว้ก่อน แล้วเอาสติมาจดจ่ออยู่กับความคิด ให้คิดด้วยเหตุด้วยผล คิดไปตามความจำเป็น พอคิดเสร็จแล้ว ก็หยุดคิด อย่าคิดเพ้อเจ้อเพ้อฝัน อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ควรคิด ควรหันกลับมาเฝ้าดูการกระทำของร่างกาย จะสามารถควบคุมความคิดได้
เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ ก็จะอยู่กับการบริกรรมพุทโธ จะไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่นานจิตก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้วจะเห็นคุณค่าของความสงบ ว่าเป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขทั้งหลาย ต่อให้เอาเงินร้อยล้านมาแลกกับความสุขนี้ก็แลกไม่ได้ เพราะเงินร้อยล้านซื้อความสุขแบบนี้ไม่ได้ เป็นความสุขที่ต้องปฏิบัติเอง ปฏิบัติแทนกันไม่ได้ความสุขแบบนี้ที่ทำให้พระพุทธเจ้า สามารถสละราชสมบัติ ออกไปอยู่ในป่าในเขาได้ เพราะในสมัยที่ทรงพระเยาว์ ทรงเคยประสบกับความสงบของจิตนี้มาแล้ว ขณะที่ทรงประทับอยู่ตามลำพัง พวกข้าราชบริพารไปทำภารกิจอื่น พอไม่มีอะไรมารบกวน จิตก็สงบตัวลง ตามที่เคยฝึกมาในอดีต ก็เกิดความสุขที่ประทับใจกว่าความสุขอื่น เช่นความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้แล้วจะติดใจ จะว่าโลภก็ว่าได้ แต่ความจริงเป็นฉันทะความพอใจ ที่จะทำให้ความสุขแบบนี้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาตามมา ฉันทะคือความยินดี ที่จะเจริญสติตลอดเวลา ยินดีที่จะสละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย สละลาภยศสรรเสริญ เพื่อทุ่มเทเวลา กับการสร้างความสุขทางจิตใจ ทำจิตใจให้สงบด้วยการปลีกวิเวก หาสถานที่สงบสงัดอยู่ตามลำพัง เพื่อเจริญสติและสมาธิ เพื่อความสงบของจิต ถ้าได้สัมผัสเพียงครั้งเดียวจะติดอกติดใจ เหมือนกับได้ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง ที่ต้องชมให้ได้ พอหนังจริงเข้าโรง ก็จะไปดูทันที
การนั่งสมาธินี้ก็เหมือนกัน เวลานั่งแล้วจิตสงบได้ครั้งแรก จะติดอกติดใจ ถึงแม้จะได้สัมผัสเพียงชั่วขณะเดียว แต่เป็นความสุขที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ พลิกจิตที่วุ่นวายว้าวุ่น ให้เป็นจิตที่นิ่งสงบ ความวุ่นวายที่เกิดจากการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรม จะหายไปหมดเลย เวลาจิตสงบตัวลงไป จะเบาอกเบาใจ สุขใจ มหัศจรรย์ใจ จะรู้ว่าของดีจริงๆไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตนี่เอง ไม่ต้องไปเสียเวลาหาความสุข จากสิ่งต่างๆภายนอก ต่อให้ไปท่องเที่ยวรอบโลก ก็จะไม่ได้พบกับความสุขแบบนี้ ทำอะไรมากน้อยเพียงไร ก็จะไม่ได้ความสุขแบบนี้ ถ้าได้รับความสุขแบบนี้แล้ว จะขวนขวายใฝ่ฝันแต่ความสุขแบบนี้ ถ้ายังมีภารกิจการงาน ก็จะตัดให้น้อยลงไป ให้หมดไปตามลำดับ
นี่คือความประเสริฐของการเจริญสติ ที่พวกเราต้องทำในชีวิตประจำวัน อย่าไปรอเจริญสติเวลาที่ไปอยู่วัด เพราะจะไม่ทันการณ์ ต้องเจริญสติในชีวิตประจำวันทุกวัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับไป ควบคุมจิตให้อยู่กับร่างกาย เรียกว่ากายคตาสติปัฏฐาน ตั้งสติอยู่ที่ร่างกาย ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่นการกระทำต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะทำอะไร รับประทานอาหาร ทำกับข้าว เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ต้องมีสติอยู่กับการกระทำอย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะดึงจิตไว้ไม่ให้ลอยไปลอยมา ถ้าไม่มีสติจะทำหลายอย่างควบคู่กันไป เช่นกำลังรับประทานอาหาร ก็จะคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงอนาคต คิดถึงอดีต ไม่อยู่ในปัจจุบัน จิตก็จะไม่นิ่ง จะแกว่งไปแกว่งมา ถ้าควบคุมจิตให้อยู่กับการกระทำของร่างกายได้ ก็จะมีสติควบคุมใจให้อยู่ในปัจจุบัน ให้นิ่ง ให้สงบได้
เวลาว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งหลับตาบริกรรมพุทโธ ถ้าชอบการบริกรรม ถ้าไม่ชอบจะดูลมหายใจ เข้าออกก็ได้ จะใช้มรณานุสติหรืออสุภกรรมฐาน เป็นเครื่องผูกใจก็ได้ ให้ใจอยู่กับเรื่องเดียว ถ้าไม่ไปคิดเรื่องอื่นก็จะรวมตัวเข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าบริกรรมพุทโธก็จะหยุดไปโดยปริยาย ถ้าดูลมหายใจเข้าออก ลมก็จะหายไป จะอยู่กับความว่าง ความสงบ ความพอ ไม่อยากได้อะไร เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ก็ปล่อยให้สงบให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ อย่าไปดึงให้ออกมาคิดทางปัญญา เพราะยังไม่ใช่เวลา เวลาสงบเป็นเวลาเติมพลังเติมอาหาร ยิ่งสงบได้นานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งอิ่มเอิบใจ จะทำให้กิเลสตัณหาความอยากอ่อนกำลังลงไป พอออกมาจากสมาธิ มารับรู้ร่างกาย รูปเสียงกลิ่นรส เริ่มคิดปรุงแต่ง ก็อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้คิดทางปัญญา ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นเองหลังจากที่ได้สมาธิแล้ว มักจะเข้าใจผิดคิดว่าพอมีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดมาขึ้นเอง ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะเกิดปัญญา เช่นพิจารณาสิ่งที่ใจมีความผูกพันอยู่ ถ้ามีความผูกพันกับการงาน ก็พิจารณาว่าการงานไม่เที่ยง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา สักวันหนึ่งก็ต้องดับไป ต้องออกจากงาน ไม่อยู่กับงานไปตลอด ต้องไม่ยึดติด ต้องปล่อยวาง จะได้ไม่วิตกกังวล จะมีงานทำหรือไม่ เตรียมตัวเตรียมใจรับ กับการเปลี่ยนแปลง เวลาเกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมาจะได้ไม่ทุกข์ใจ.
กัณฑ์ที่ ๔๒๗ วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ (จุลธรรมนำใจ ๒๖)
“หลักของสติ”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO