Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ต้นเหตุแห่งทุกข์

อังคาร 28 มิ.ย. 2016 4:53 am

"ต้นเหตุแห่งทุกข์ ใจเป็นผู้สร้างขึ้นเอง เพราะขาดการสำรวมอินทรีย์ หรืออายตนะทั้งหก อะไรมากระทบหรือสัมผัสเข้าไฟภายในก็ลุก เหมือนกับมีพระอาทิตย์เกิดขึ้นที่ใจเป็นการเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น ขาดพรหมวิหาร ๔ อย่างชัดแจ้ง ต้นเหตุจริงก็เพราะลืมการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานัสสติ ทำให้ขาดสติ สัมปชัญญะตามลำดับ หากพวกเจ้าใคร่ครวญดี ๆ ก็จะพบกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุทั้งสิ้นหรือเป็นอริยสัจโดยตรง ทุกอย่างอยู่ที่ความเพียรของพวกเจ้าเอง ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ผู้ชี้แนะเท่านั้น"

คัดลอกจาก ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘
พระราชพรหมยานมหาเถระ หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง




"..กรรมดีหรือชั่วถ้าได้ทำลงไปแล้ว
ถึงแม้คนอื่นจะไม่รู้เรื่องที่เราทำ
ตัวเรานั้นแหละรู้ตัวเองดีที่สุด

ถึงจะโกหกคนทั้งโลกได้
แต่เราจะโกหกความจริงไม่ได้
ปากคนเราพูดจริงพูดเท็จได้
แต่จิตไม่เคยบอกเท็จในเรื่องกรรม

พอตายไปแล้วยมบาลไม่ต้องถามให้ยาก
จิตเราที่บันทึกกรรมดีชั่ว
จะอธิบายบอกเล่าให้ฟังเอง.."

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม






...ภิกษุทั้งหลาย !!
ทุกขอริยสัจคือ ความจริง ที่ช่วยมนุษย์ให้เป็นผู้ประเสริฐ เกี่ยวกับ การพิจารณาเห็นทุกข์
เป็นอย่างนี้ คือ การเข้าใจว่า ..

"เกิด แก่ เจ็บ ตาย" ล้วนแต่เป็นทุกข์
แม้แต่ ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน
ความทุกข์กายทุกข์ใจ ทั้งความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ ประสบ กับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจาก สิ่งที่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์

ว่าโดยย่อ การยึดมั่น แบบฝังใจว่า
เบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นเหตุทำให้เกิด ความทุกข์แท้จริง

ภิกษุทั้งหลาย !!
เหตุทำให้เกิด ความทุกข์ (สมุทัย) มีอย่างนี้คือ

ความอยากเกินควร ที่เรียกว่า ..
ทะยานอยาก ทำให้ต้อง เวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วย ความกำหนัด ด้วยอำนาจ ความเพลิดเพลิน มัวเพลิดเพลิน อย่างหลงระเริง ในสิ่งที่ก่อให้เกิด ความกำหนัดรักใคร่ นั้นๆ ได้แก่

ความทะยานอยาก .. ในสิ่งที่ก่อให้เกิด ความใคร่
ความทะยานอยาก .. ในความอยาก เป็นนั่นอยาก เป็นนี่
ความทะยานอยาก .. ในความที่จะ พ้นจากภาวะ ที่ไม่อยากเป็น เช่น ไม่อยากจะเป็น คนไร้เกียรติ ไร้ยศ เป็นต้น
อยากจะดับสูญไปเลย ถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย !!
นิโรธ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ ดับความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง มิให้ตัณหาเหลือยู่ สละตัณหา ปล่อยวางตัณหาข้ามพ้นจากตัณหา ไม่มีเยื่อใยในตัณหา

ภิกษุทั้งหลาย !!
ทุกขโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่

1ความเห็นชอบ
2 ความดำริชอบ
3 วาจาชอบ
4 การงานชอบ
5 เลี้ยงชีวิตชอบ
6 ความเพียรชอบ
7 ความระลึกชอบ
8 ความตั้งจิตมั่นชอบ...

— ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ตอบกระทู้