ถ้า "เจริญจิต" ยังไม่ถึง "อธิจิต อธิปัญญา" แล้ว ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ เพราะยังไม่ถึง "โลกุตตรภูมิ"
ที่จริงพระอรหันต์ ท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิต ให้รู้แจ้งในขันธ์ ๕ แทงตลอดใน ปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต
มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ "บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง วาง มหาสุญตา ว่างมหาศาล"
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
ปัจฉิมพจน์ของหลวงปู่
เมื่อหลวงปู่ฟังพระสวดมหาสติปัฏฐานจบลงแล้ว สักครู่หนึ่งต่อมาหลวงปู่ได้กล่าวปรารภถึง ลักษณาการที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ใจความตอนท้ายได้ว่า
"พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌาณสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจาก จตุตถฌาณแล้ว จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ ก็ดับพร้อมไม่มีเหลือ นั่นคือพระองค์ดับ เวทนาขันธ์ ในภาวะจิตตื่น หรือ วิถีจิตอันปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้ง สติและ สัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดๆมาครอบงำอำพลางให้หลงไหลใดๆทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนี้เรียกว่า มหาสุญญตา หรือ จักรวาลเดิม หรือ เรียกว่า พระนิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เราปฏิบัติมาก็เพื่อเข้าถึง ภาวะอันนี้เอง"
วาจาของหลวงปู่ก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
เมื่อ "จิต" กับ "ผู้รู้" เป็น "สิ่งสิ่งเดียวกัน" และ เป็น"ความว่าง"
ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไร หรือ ให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไร จะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร
เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว
"จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง" จิตก็จะ “อยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง” “ เหนือความมีความเป็นทั้งปวง”
“มันอยู่เหนือคำพูด” และ “พ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆทั้งสิ้น”
“เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์ และ สว่าง” “รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์”
และ “สว่างของจักรวาลเดิม” เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า "นิพพาน"
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
ปัจฉิมโอวาทท่านพ่อลี
บุคคลใด หรือหมู่ใด ปรารถนาอยู่แต่ในประโยชน์ชาตินี้
คือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ขอชี้แนวทางให้ซึ่งมีอยู่ ๔ อย่าง
๑. อุฏฐานสัมปทา เป็นผู้มีความเพียร หมั่นขยัน ทำกิจหน้าที่ของตน
ตั้งอยู่ในอาชีพที่ถูกต้องในทางธรรม เช่น “สัมมากัมมันโต” การงานที่ชอบ
๒. อารักขสัมปทา ให้รู้จักรักษาทรัพย์ของตน ให้รู้จักรักษาตนของตน
ที่ได้มาโดยชอบแล้วด้วยดี ไม่ให้ตกล่วงไปในทางที่ชั่ว
๓. กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนที่ดีงาม ไม่คบคนชั่วที่จะทำตนให้เป็นคนตกต่ำ
จะทำทรัพย์ของตนให้สาปสูญ
๔. สมชีวิตา จ่ายทรัพย์ที่ได้มาจากการงานนั้นๆ ด้วยดี เลี้ยงชีวิตของตนโดยทางที่ถูก
ไม่จ่ายทรัพย์ไปในทางที่ผิด ไม่ทำชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้หม่นหมอง
ทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นหนทางที่จะนำมาซึ่งความสุขของตนในโลกนี้
แต่อย่าใช้ความคิดอันสั้น อันปราศจากความจริง
เพราะความจริงของมนุษย์ที่เกิดมา ต้องตายไปจากความสุขในโลกที่มีอยู่ทุกรูปทุกนาม
ฉะนั้น จึงจำเป็นจะต้องหาทางที่ตนจะต้องได้รับในโลกหน้า
ที่เรียกว่า “สัมปรายิกัตถะประโยชน์” อันจะพึงได้รับ
คือความสุขในโลกหน้า พระองค์จึงได้ทรงชี้แนวทางไว้ดังนี้ คือ
๑. สัทธาสัมปทา ให้เป็นผู้มีความเชื่อโดยสมบูรณ์ คือ เชื่อบุญเชื่อกรรม
ความดีและความชั่ว แล้วก็ควรเว้นกรรมชั่วเสีย สร้างแต่ความดี
๒. สีลสัมปทา ให้เป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ปฏิบัติตนให้เป็นคนบริบูรณ์
ด้วยความประพฤติทางกาย วาจา จิต จะทำสิ่งใดให้ทำด้วยความสุจริตที่ถูกต้องในทางพระ
๓. จาคสัมปทา ให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการบริจาค, ฝากทรัพย์ของตนไว้
เช่น ให้ทานในฐานะที่ตนพอจะทำได้, แต่การสละนั้น
ทางพระท่านแสดงไว้ว่าเป็น “อริยทรัพย์” ให้ผลในชาตินี้และชาติหน้า
ถ้าเราไม่เสียสละเช่นนั้น ทรัพย์ในโลกนี้ทั้งหมดก็ให้ผลแค่ชีวิตหนึ่ง,
ตายแล้วก็สาบสูญ ไม่สามารถจะนำไปใช้สอยในโลกหน้าได้ ตัวอย่างเช่น
ธนบัตรของประเทศไทย หรือเงินตราอย่างอื่นก็ใช้ได้สำหรับในของประเทศนั้นๆ
ถ้าต้องการไปเมืองนอกก็ไม่สามารถจะนำทรัพย์ในประเทศของตนไปใช้จ่าย
นอกจากคนมีปัญญานำไปแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีในธนาคารใดธนาคารหนึ่ง
จึงจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ออกต่างประเทศ ฉันใด,
มีผู้ปัญญานำทรัพย์ไปฝากไว้ในธนาคารชนิดที่เรียกว่า “นาบุญ”
เมื่อตนได้จาคะสละไปแล้ว นั่นแลเรียกว่า “อริยทรัพย์”
จะได้เกิดผลข้างหน้าไม่ว่าแต่ทรัพย์เลย
คนในประเทศหนึ่งจะข้ามแดนไปอีกประเทศหนึ่งเพียงเท่าภาษาที่พูดก็ใช้ไม่ได้ ฉะนั้น,
พระองค์จึงทรงสอนภาษาต่างประเทศให้เราอีกชิ้นหนึ่ง ที่เรียกว่า
“สวดมนต์ ไหว้พระ เจริญเมตตาภาวนา” จะได้ภาษาไปใช้สอยในโลกหน้า
๔. ปัญญาสัมปทา ให้เป็นผู้รอบคอบ รอบรู้ในการกระทำทั้งหมด
มิฉะนั้นก็จะทำไปด้วยโมหะ เช่น
‘ฉันทาคติ’ ทำไปโดยความรักอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเหตุผลว่าผิดหรือถูก
‘ภยาคติ’ ทำไปด้วยความกลัวอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงเหตุผล
‘โทสาคติ’ ทำไปด้วยความโกรธ หรือโทสะ ไม่คำนึงถึงความผิดหรือถูก
‘โมหาคติ’ ทำไปด้วยความหลง สำคัญว่าผิดเป็นถูก สำคัญว่าถูกเป็นผิด
เมื่อทำโดยอาการเช่นนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีปัญญา
ฉะนั้น จึงให้ตรวจตราพิจารณาดูโดยชอบเสียก่อน
ไม่ว่าจะทำสิ่งใดๆ ทั้งหมดที่เนื่องไปด้วยการบุญ
จึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา
ปฏิปทาทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นหนทางเปิดช่องอันจะนำไปสู่สุคติโลกหน้า
คือ “สวรรค์” แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก
ถ้าเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า มีความสามารถจะบำเพ็ญตนให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้
ที่ท่านเรียกว่า “ปรมัตถประโยชน์” ผลอันพึงจะได้รับก็ได้แก่ “โลกุตตรกุศล”
กุศลข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรทำแก่พุทธบริษัททั้งหลาย สิ่งที่จำเป็นก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ
(๑) เป็นผู้มีศรัทธา
(๒) เป็นผู้มีความเพียร
เมื่อมีสมบัติในตนได้อย่างนี้ ก็เป็นเครื่องมือสำหรับตนทุกคน
ไม่เลือกหน้าว่าคนโง่ คนฉลาด คนหนา คนบาง
หญิงชายทั้งปวงในโลกเมื่อมีความประสงค์
อย่างนี้แล้วก็ให้ตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ อันเป็นแนวทางของพระนิพพาน คือ
(๑) สมถภาวนา ทำจิตใจให้สงบ
(๒) วิปัสสนาภาวนา ทำจิตใจให้มีปัญญา
เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในตนของตน
เล็งเห็นสภาพแห่งธรรมซึ่งมีอยู่ในตัว
สภาพแห่งธรรมนั้น คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะก็ดับไป
เหมือนลูกคลื่นในทะเล เมื่อลมพัดแล้วก็เกิดคลื่นน้อยคลื่นใหญ่ในมหาสมุทร
ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน
สภาพของขันธ์ที่มีอยู่ในตัวก็มีอาการเป็นไปเหมือนลูกคลื่น ฉะนั้นนี่ก็เรียกว่า ‘สภาพธรรม’
สภาพอีกอันหนึ่ง จะมีคลื่นหรือไม่มีคลื่นก็ทรงอยู่โดยธรรมชาติ
เหมือนน้ำทะเลในคราวที่ไม่มีลมก็ราบรื่นใสดี สภาพธรรมที่มีอยู่ในใจของคนทุกคน
ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เกิดและไม่แปรผัน ไม่ดับ ไม่สูญ ทรงอยู่ในอาการเช่นนั้นก็มีอยู่ทุกรูปทุกนาม
ทั้งสองแนวทางนี้เป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ‘พระนิพพาน’
ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ ใครต้องการก็มีอยู่ในตนทุกคน
ถ้าคนใดรู้จักวิธีการเผยแผ่ แนะนำ และตักเตือนตนเอง ก็จะเกิดประโยชน์โดยไม่ต้องสงสัย
ฉะนั้น วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
จะถือกันแต่ขึ้นธรรมมาสน์แสดงธรรมเพียงเท่านั้น ย่อมไม่พอในวิธีการเผยแพร่
ผู้มีปัญญาย่อมทำให้พุทธบริษัทเกิดศรัทธาด้วย โดยวิธีการต่างๆ
เช่น มรรยาทดังกล่าวมา หรือโดยเทศนาปาฏิหาริยะ, อนุสาสนียปาฏิหาริยะ
แต่ละอย่างนี้เป็นวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ต่อจากนั้นองค์ท่านได้เปิดโอกาสให้พระ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อ่อน วัดธาตุทอง,
พระอาจารย์บุญมี ปญฺญาทีโป, พระใบฎีกาตุ๋ย สุชาโต และพระบุญกู้ อนุวฑฺฒโน
ได้สนทนาความเรื่อง “อริยสัจจ์” และซักถามข้อสงสัยต่างๆ
จนถึงเวลา ๒๓.๐๐ น. ไฟฟ้าดับ พระ ๔ รูป จึงได้นมัสการอำลากลับ
เพราะเกรงจะเป็นการรบกวนเวลาพักผ่อนของท่าน
ข้อความที่ท่านพ่อได้สั่งให้บันทึก แก้ไข และเพิ่มเติม
ในหนังสือ “สังฆกิจ และ มูลกัมมัฏฐาน” นี้
จึงถือได้ว่าเป็น “บันทึกธรรมครั้งสุดท้ายของท่านพ่อ”
ซึ่งเราทั้งหลายจักต้องจดจำประทับไว้ใจดวงจิต
และจงพากันพยายามประพฤติปฏิบัติตาม “ปัจฉิมโอวาท” นี้
ประดุจการรักษาทรัพย์สมบัติชิ้นสุดท้ายที่พ่อได้ทิ้งไว้ให้แก่ลูกหลานทั้งปวงฉะนั้น
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย !!
ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ ความสุขชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เอง
ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่นเขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย
มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจ ให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น เป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อย
เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่
เพื่อต้องการปลาเล็กๆ เพียงตัวเดียว
มนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม
เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง
ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา
สิ่งนั้นคือ ดวงจิตที่ผ่องแผ้ว
เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน
เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา
และเรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้
เมื่อมีเกียรติมากขึ้น
ภาระที่ต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพ่งมองแต่ความแต่เจริญทางด้านวัตถุนั้นจิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยประสพความสงบเย็นเลย
เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตาเขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย
พร้อมๆกันนั้น..
เขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง”
เชิญร่วมบุญกุศล พิธีเททองหล่อพระประธาน ปางมารวิชัย หน้าตัก 80 นิ้ว
วันที่ 11- 15 เมษายน 2559
(เททองหล่อพระประธาน วันที่ 15 เมษายน 2559 เวลา 09.09 น.)
วัดหนองปรือ ต.สวายจีก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ 31000
โทร 062-7276881
ขอเชิญชวนร่วมบุญ เป็นเจ้าภาพสร้างรอยพระพุทธบาท
https://www.facebook.com/photo.php?fbid ... 497&type=3