Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

เรื่องราว

อังคาร 28 ส.ค. 2012 7:53 am

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.
อายํ วณฺณํ นสํ กิตฺตึ สคฺคํ อุจฺจากุลีนตํ
รติโย ปตฺถยาเนน ฬารา อปราปรา
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปุญฺญกิริยาสุ ปณฺฑิตา
อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต
ทิฏเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปจุวฺจตีติ.
บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาในพระมงคลวิเสสกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี เป็นปสาทนียกถามังคลานุโมทนา ในพระมหามงคลสมยาภิลักขิตกาลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงพระราชปรารภมหาสิริมงคลวารนี้ ที่ตรงกับมงคลสุริยคติทินกาลแห่งพระบรมราชสมภพ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดพระราชพิธีการทรงบำเพ็ญพระพระราชกุศลล้วนเป็นมงคลวิเสส เหตุแห่งสรรพสุภมนุญอดุลยผล อาทิทานมัยสีลมัยภาวนามัยบุญกิริยา เป็นไปในพระพุทธาทิรัตนตรัย อดิศัยอนุตตรบุญเขต ประกอบด้วยสมณเพศบริษัทเป็นต้น ทรงแผ่พระราชกัลยาณจิตถวายส่วนพระราชกุศล อุทิศส่วนพระราชกุศล พระราชทานส่วนพระราชกุศลในอดีตจอมคนมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ ในเทวนิกรทุกสถาน ในทุกพระองค์ทุกท่านผู้อภิบาลป้องกันรักษาพระบรมราชาและสถาบันทั้งปวง ทรงแผ่พระราชกุศลด้วยพระกรุณาธิคุณใหญ่หลวง เพื่อความเจริญความเกษมสุขสวัสดี ไปในพระราชวงศ์มุขมหาอมาตย์มนตรีสภาเสวกามาตย์ สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งนั้น พระราชกุศลย่อมประมวลกันเป็นมงคลวิเสสเหตุให้ทรงได้รับไมตรีหิโตปเทศกัลยาณจิตน้อมถวายพระพรชัย จากสรรพเทพน้อยใหญ่และมนุษย์ให้ทรงบริสุทธิ์สถาพรในพระสิริราชัยมไหศวรรยาธิปัตย์ เจริญพระชนมายุพระราชสิริสวัสดิ์เกษมจากสรรพโรคสรรพอุปัทวันตราย
อนึ่ง พระราชกุศลทั้งหลายที่ทรงบำเพ็ญแล้วด้วยดี ย่อมเป็นบุญราศีบุญนิธิสุขุบายมงคลวิเสสปโยคสมบัติวิวัฒน์ให้สัมฤทธิ์อิฎฐกันตมนาปผล คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ สมด้วยนิคมคาถาประพันธ์แห่งพระสูตรพุทธภาษิตตรัสประทานโอวาทแก่อนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า
อายุ วณฺณํ ยสํ กิตฺตึ สคฺคํ อุจฺจากุลีนตํ
รติโย ปตฺถยาเนน อุฬารา อปราปรา
เป็นต้น มีความว่า เมื่อนรชนปรารถนาอยู่ วรรณะ ยศ เกียรติ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความยินดีเกษมสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาทให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในสันดานเถิด สามารถเป็นบ่อเกิดแห่งกุศลและคุณที่ประสงค์ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยา การทำบุญทั้งหลายอันเป็นไปในกายวาจาจิต และกุศลสุจริตซึ่งเป็นไป ณ ภูมิ ๔ คือ กามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตรทุกประการ บัณฑิตชนผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ ประโยชน์ในทิฏฐิธรรมภพนี้ และประโยชน์เป็นไปในสัมปรายภพหน้า เพราะอาศัยความบรรลุประโยชน์ที่ประสงค์ทั้งภพนี้และภพหน้า ท่านจึงสรรเสริญผู้ทรงปัญญาว่าเป็นบัณฑิต ดำเนินไปในประโยชน์กิจด้วยปัญญา ความไม่ประมาทเป็นเหตุให้บัณฑิตชาติยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ด้วยประการฉะนี้
พระราชกุศลบุญราศี ซึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงบำเพ็ญโดยกำลังพระปัญญาบารมีและอัปมาทธรรม เป็นปฏิปทาให้อิฏฐวิบุลผล มีอายุเป็นต้น เป็นไปโดยชอบต้องตามสุคโตวาทสัมมาปฏิบัติ ด้วยประการฉะนี้
อิโต ปรํ ปวกฺขามิ ตํ ตํ วิเสสมงฺคลํ
มหาราชาธิราขสฺส คุณาลงฺการสมฺมตํ
วุจฺจมานํ หิ สุตฺวาน โยนิโส ปจฺจเวกฺขโต
อุปฺปชฺเชยฺย นรินฺทสฺส โสมนสฺสมนปฺปกํ
ภิรฺโย สมฺปาทเน จิตฺตํ ปณิเธ ตทนนฺตรํ
เตนาปิจ ชนินฺทสฺส โสตฺถิ จ มงฺคลํ สิยา
ลำดับนี้ จะรับพระราชทานพรรณนาพระราชจริยาสาธุปฏิบัติ ที่ตั้งแห่งสวัสดิมงคลอันพิเศษยิ่ง ซึ่งได้ชื่อว่ามงคลวิเสสเป็นพระคุณอลังการ มีพร้อมบริบูรณ์ในสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า เมื่อได้ทรงสดับแล้ว ทรงปัจจเวกขณ์ถึงโดยกลังพระปรีชา ก็จักเกิดพระปีติปราโมทย์มีกำลัง แต่นั้นก็จักตั้งพระราชหฤทัย ทรงบำเพ็ญเพิ่มพูนให้บริบูรณ์ยิ่ง สรรพสิ่งสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ก็จักเกิดเป็นมหาผลแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ข้อนี้สมด้วยประพันธคาถาที่บัณฑิตรับพระราชทานกล่าวถวายพระมหากษัตริย์ครั้งโบราณกาล กราบทูลให้ทรงวิจารณ์ทศพิธราชธรรมที่ทรงบำเพ็ญอยู่ ว่า
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
ตโต เต ชายเต ปีติ โสมนสฺสญจนปฺปกํ
ขอสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงพิจารณาพระธรรมส่วนชอบอันตั้งอยู่ในพระองค์ คือ ทาน ศีล บริจาค ความตรง ความอ่อนโยน ตบะคือความเพียร เมตตาคือความไม่โกรธ กรุณาคือความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่ทำให้ผิด ดังนั้น ๆ เถิด แต่นั้นพระปีติโสมนัส จักมีขึ้นพระองค์มิใช่น้อย
ก็แลพระราชจริยาซึ่งเป็นคุณาภรณ์อลงกต สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงมีโดยอเนกนัยพ้นวิสัยที่จะรับพระราชทานพรรณนาในกถามรรคเพียงกัณฑ์เดี๋ยวนี้ จะรับพระราชทานบรรยายแต่โดยเอกเทศ
ในศกนี้ (๒๕๒๘) จะขอรับพระราชทานถวายวิสัชนาพระคุณพิเศษ ส่วนอัตตสมบัติด้วยเนกขัมมะและปัญญา ส่วนปรหิตปฏิบัติ จะรับพระราชทานถวายวิสัชนาด้วยรัฏฐาภิปาลโนบาย พอเป็นนิทัศนนัย
เนกขัมมะ แปลว่า การออก ความออก หมายความว่า ออกจากห่วงที่เป็นเครื่องผูกต่าง ๆ ออกจากเครื่องกั้นที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง ข้อนี้พึงน้อมไปปฏิบัติได้โดยทั่วไป โดยอธิบายว่า เมื่อควรจะออกไปปฏิบัติกรณียะ คือ กิจที่พึงทำก็ควรออกไปปฏิบัติ ถ้ามีห่วงผูกพันอยู่ก็ออกไปมิได้ เป็นอันอาจทำอะไรให้สำเร็จ ฉะนั้นเมื่อถึงคราวออกไปก็ต้องทำการออกไป นี้คือความหมายทั่วไปของเนกขัมมะ ซึ่งทุกคนจะต้องมี สุดแต่ภาระหน้าที่ของแต่ละบุคคล แต่ก็มีความหมายจำกัดว่าออกไปปฏิบัติหน้าที่หรือกิจการที่สมควร ถ้าออกไปปฏิบัติการที่ไม่สมควร ก็ไม่เป็นเนกขัมมะ เช่นออกไปประพฤติผิดหรือไปแหล่งอบายมุขต่าง ๆ ที่เป็นอโคจร คือที่เป็นมุมมืดที่มืด ถ้าออกไปในมุมสว่างที่สว่างที่ควรโคจร จึงถูกชอบ ฉะนั้น จึงอาจย่อความของคำว่าการออกไปในภาษาไทยได้เป็น ๒ คือ การออกไปที่สมควร และ การออกไปที่ไม่สมควร ส่วนคำว่าเนกขัมมะ หมายถึง การออกไปที่สมควรอย่างเดียว อะไรทำให้บุคคลมีการออกไปที่ไม่สมควร ส่วนที่สมควรจะออกไปก็ไม่ออกไป ตอบได้ว่ากิเลสในจิตเองเป็นเหตุ กล่าวยกเป็นนิทัศนะคือกิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่ให้ปรารถนา จึงมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้แปลความว่า "จิตข่มยาก เบา ไว มันตกไปตามกามคือความใคร่" เนกขัมมะจึงมีความหมายโดยตรงว่า ออกจากกาม คือ ความใคร่ดังกล่าว กามนี้เองเป็นบ่วงที่คล้องใจเอาไว้ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่ถูกต้อง) ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่ามารเธยยะ แปลว่าบ่วงของมาร มาคล้องใจสัตว์โลกด้วยบ่วงคือความใคร่ และสิ่งที่ใคร่ปรารถนาพอใจเหล่านี้ เมื่อพรากจิตออกมิได้ ก็ทำให้ออกไปปฏิบัติกรณียะคือกิจที่ควรทำ เช่นหน้าที่ของตนมิได้ เมื่อพรากจิตออกได้ก็ออกไปปฏิบัติได้ ยกอุทาหรณ์มารดาบิดาและบุตรธิดาที่จะต้องจากกัน เช่นไปศึกษาในที่ไกล จะต้องพรากจิตออกจากกันได้ จึงจะแยกกันไปได้ ทหารผู้จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบ จะต้องพรากจิตออกจากครอบครัวและจากความสุขของตนเอง จึงจะออกไปได้ ทั้งนี้ด้วยมีจิตใจมุ่งมั่นต่อหน้าที่หรือเพื่อศึกษาไว้หรือ ได้มาซึ่งสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติครอบครัว ความสุขส่วนตนหรือแม้ชีวิตของตนอาจสละได้ ความทุกข์โศกทั้งปวงย่อมเกิดจากความที่ไม่อาจพรากจิตจากกามอันเป็นบ่วงของมารได้ ดังกล่าวทั้งสิ้น ฉะนั้น เนกขัมมะจึงเป็นธรรมจำเป็นสำหรับทุกคนผู้มุ่งผลดีที่จะพึงได้ คือสามารถพรากจิตออกได้จากบ่วงใจทั้งหลาย ใหญ่หรือเล็ก ชั่วระยะสั้นก็ตาม ยากก็ตาม ตลอดไปก็ตาม ตามควรแก่กิจหน้าที่และผลเลิศที่มุ่งหวัง
ผลดีเลิศที่พึงมุ่งหวัง คือ ความดับทุกข์โทษ บรรลุสุขประโยชน์ ที่เป็นปัจจุบันบ้าง ภายหน้าบ้าง อย่างยิ่งบ้าง พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงปฏิบัติเนกขัมมะออกจากการกิเลสมาโดยลำดับ ตั้งแต่อย่างหยาบอย่างกลางจนถึงอย่างละเอียด วิธีปฏิบัติออกนั้น ออกทางกายด้วยต้องอยู่ในศีล เช่น ศีลห้า หรือทำความสงบสงัดทางกายเป็นกายวิเวก ความสงัดกาย เช่น ปลีกกายออกไปอยู่ในที่สงบสงัด ไม่ถึงกับออกบวชหรือออกบวช อันเป็นความหมายของเนกขัมมะของผู้มุ่งปฏิบัติออกอย่างยิ่ง ออกทางจิตด้วยตั้งจิตอยู่ในสมาธิ หรือทำด้วยความสงบสงัดกิเลสเป็นอุปธิวิเวก ความสงัดกิเลสซึ่งจะต้องมีศีลและสมาธิเป็นที่ตั้งด้วย และด้วยตั้งอยู่ในปัญญา ฉะนั้น แม้ออกบวชครองเพศเป็นบรรพชิตทางกาย จึงต้องออกบวชทางจิตด้วย คือจะต้องปฏิบัติในวิเวกทั้งสามไปด้วยกัน จึงจะถูกต้องด้วยวัตถุประสงค์ของการบวช และแม้ไม่ออกบวชก็ปฏิบัติในเนกขัมมะได้ด้วยตั้งอยู่ในศีลห้า ศีลแปด ปลีกตนอยู่ในที่สงบสงัดแม้บางคราวทำสมาธิ อบรมปัญญาในธรรมหรือวิปัสสนา ปัญญาให้เห็นธรรมดา คือ เกิดดับของสังขารทั้งหลาย
เนกขัมมะเป็นบารมีข้อที่ ๓ ที่พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมาเป็นอันมาก บางพระชาติก็ออกบวช บางพระชาติก็มิได้ออกบวช แต่ก็ทรงปฏิบัติตามนัยพระพุทธภาษิตว่า อุยฺยุญฺชนฺติ สตึมนฺโต ผู้มีสติย่อมส่งตนออก พระชาติที่ออกบวช เช่น พระชาติที่ทรงเป็นพระเตมิยะ พระชาติที่ทรงออกบวชชั่วคราวแล้วทรงลาผนวช เช่น พระชาติที่ทรงเป็นพระเวสสันดร พระชาติที่ทรงออกบวชเมื่อชราปรากฏก็มีแสดงไว้
เนกขัมมบารมีแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ
เนกขัมมบารมี ได้แก่ การออกด้วยความรักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รัก และทรัพย์สิน จึงตัดห่วงใย ปลีกตนออกบำเพ็ญกายวิเวก ความสงบสงัดทางกาย จากกาม และอกุศลกรรมทั้งหลาย
เนกขัมมอุปบารมี ได้แก่ การออกด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย จึงตัดห่วงใย ปลีกตนออกบำเพ็ญจิตตวิเวก ความสงบสงัดทางจิต จากกาม และ อกุศลธรรมทั้งหลายด้วยญาณสมาธิ
เนกขัมมปรมัตถบารมี ได้แก่ การออกด้วยความรักในพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต จังตัดห่วงใยในชีวิต ปลีกตนออกบำเพ็ญอุปธิวิเวก ความสงบสงัดจากกิเลส รวมทั้งกาม และ อกุศลธรรมทั้งสิ้น ด้วยอำนาจอริยมรรคญาณ
ปัญญา ความรู้ทั่ว ความรู้ถึง ปัญญาที่มีเป็นพื้นใช้เป็นเครื่องพิจารณาไตร่ตรองก็เป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่ยิ่งขึ้นไป ก็รวมกับปัญญาที่เป็นพื้นเดิมยิ่งขึ้น และก็ใช้ไตร่ตรองพิจารณาให้เกิดปัญญายิ่งขึ้นไปอีก จึงเป็นเหตุเป็นผลกันเองยิ่งขึ้นไปดังนี้ แต่ปัญญาที่แท้ต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงตามเหตุและผล หรือรู้เหตุผลตามเป็นจริง มีลักษณะทั่วไป ๓ คือ อายโกศล ความฉลาด อปายโกศล ความฉลาดรู้จักความเสื่อม อุปายโกศล ความฉลาดรู้ทางเข้าสู่ความเจริญ รวมเข้าคำเดียวคือ รู้จริง รู้จริงในสิ่งใด ก็เป็นปัญญาในสิ่งนั้น และเมื่อรู้จริงแล้วว่านี่เป็นความเจริญ นี่เป็นความเสื่อม นี่เป็นทางเข้าไปสู่ความเจริญ ผู้รู้จริงก็ย่อมจะไม่ไปทางเสื่อมแน่นอน ย่อมจะไปทางเจริญโดยแท้ แต่ที่คนเป็นอันมากดำเนินไปทางเสื่อม คือ เผลอปัญญาเพราะขาดสติที่ให้เฉลียวคิด เพราะมัวเมาไปด้วยอำนาจราคะ ตัณหา หรือ โลภโกรธหลง ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้นอาจเพียงพอ แต่มิได้ไตร่ตรองสอบพิจารณา ก็กลายเป็นเหมือนไม่มีปัญญา คือ กลายเป็นผู้หลงไป จึงมีคำไทยคู่กันว่า เฉลียวฉลาด ขาดเฉลียวที่เป็นสตินำก็ทำให้ขาดฉลาด พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ว่า ปญฺญํ นปฺปมชฺเชยฺย ไม่พึงประมาทปัญญา จะเข้าถึงสัจจะ คือ ความจริงทุกอย่างได้ด้วยปัญญาเท่านั้น ไม่มีแสงสว่างใด ๆ ในโลกจะส่องให้เห็นความจริงได้นอกจากแสงสว่าง คือ ปัญญา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี" แต่ปัญญานี้ก็คล้ายกับประทีปอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องจุดจึงจะสว่าง คือจะต้องประกอบกระทำ จึงตรัสว่า โยคา เว ชายเต ภูริ ปัญญาเกิดเพราะความประกอบ คือ กระทำอบรมด้วย สุตะ การสดับตรับฟังหรือการเล่าเรียน จินตา ความคิดพิจารณา ภาวนาความทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือ การปฏิบัติกระทำ ทั้งสามนี้แต่ละข้อเป็นเหตุให้เกิดปัญญา จึงเรียกปัญญาที่เกิดจากแต่ละข้อว่า สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา อธิบายว่าเป็นเหตุเริ่มต้นแต่ละข้อก็ได้ เหตุทั้งสามข้อนี้อาศัยกันก็ได้ ประการหลังนี้คือ เมื่อมีการสดับฟังการอ่านการเรียนแล้ว ก็ต้องมีการคิดพิจารณาให้เข้าใจแล้วก็ต้องปฏิบัติ จึงจะได้ปัญญาที่สมบูรณ์ ปัญญาคือ ความรู้ทุกอย่าง ดังที่เรียกกันว่า ทางโลกก็ตาม ทางธรรมก็ตาม เมื่อยังไม่ถึงอริยปัญญา ก็เรียกว่า โลกิยปัญญาทั้งหมด เมื่อถึงอริยปัญญา จึงเรียกว่า โลกุตระปัญญา ปัญญาเหนือหรือพ้นโลก (โดยมีโคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรเป็นพรมแดน)
ปัญญาเป็นบารมีข้อที่ ๔ ที่พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมาเป็นอันมาก เช่น พระมโหสถในทศชาติ คือ ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ และแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ
ปัญญาบารมี ได้แก่ ปัญญาที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน
ปัญญาอุปบารมี ได้แก่ ปัญญาที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างการของตน
ปัญญาปรมัตถบารมี ได้แก่ ปัญญาที่บำเพ็ญด้วยมุ่งหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน
สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงบำเพ็ญเนกขัมมะ การออกไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในทุกภาคของประเทศ มิได้ทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยากพระวรกาย และอันตรายใด ๆ ฝึกพระราชหฤทัยให้ตั้งมั่นให้มุ่งมั่นในพระราชกรณียกิจและพระราชกุศลจริยาทั้งปวง ทั้งทรงทาน ทรงศีล ทรงธรรม ปฏิบัติเป็นต้น ฝึกฟอกพระราชหฤทัยให้บริสุทธิ์สะอาด และทรงบำเพ็ญพูนพระปัญญาปรีชาฉลาดในฐานะทั้งปวง นับเป็นพระราชปฏิบัติส่วนอัตตสมบัติ คือ เนกขัมมะจัดเป็นมงคลวิเสสที่ ๑ ปัญญาจัดเป็นมงคลวิเสสที่ ๒
พระราชจริยรัฏฐาภิปาลโนบายนั้น คือ พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติกระทำ เพื่อประโยชน์คุณแก่พระราชอาณาจักรและประชาชน จะขอรับพระราชทานถวายวิสัชนาด้วยทศพิธราชธรรมข้อ ๓ คือ ปริจจาคะ และข้อ ๔ คือ อาชชวะ โดยปรหิตปฏิบัติปริยาย
ปริจจาคะ แปลว่า สละบริจาค เมื่อยกขึ้นแสดงเพียงข้อเดียว ก็หมายถึงทานรวมอยู่ด้วย เมื่อยกขึ้นแสดงคู่กับทาน ก็หมายถึงการที่สละบริจาคสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยกว่าแคบกว่า เพื่อสิ่งที่มีประโยชน์ใหญ่กว่ากว้างกว่า เพื่อบรรเทาตระหนี่ ดังพระพุทธภาษิตแปลความว่า "ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นสุขไพบูลย์ พึงสละสุขพอประมาณเสีย" และว่า "พึงสละทรัพย์เพราะ (รักษา) อวัยวะอันประเสริฐ เมื่อรักษาชีวิตก็พึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรมก็พึงสละอวัยวะ ทรัพย์แม้ชีวิตทั้งสิ้น" ข้อนี้พระมหากษัตราธิราชเจ้าทรงสละบริจาคพระราชทรัพย์ เป็นต้น ตลอดถึงความสุขส่วนพระองค์ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแห่งประชาราษฎรส่วนรวม จัดเป็น ปริจจาคะ
ทศบารมีข้อที่ ๓ คือ เนกขัมมะ การออก กับทศพิธราชธรรมข้อ ๓ คือ ปริจจาคะ พิจารณาดูอรรถคือความ ก็เนื่องเป็นอันเดียวกัน เพราะจะออกได้ก็ต้องสละได้ เช่นจะออกจากที่ใดได้ ก็ต้องสละความติดในที่นั้นได้ หรือจะสละได้ก็ต้องออกได้ เช่นจะสละสิ่งใดได้ก็ต้องออกจากความติดในสิ่งนั้นได้ แต่การออกของพระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น หมายถึงการสละออกบวชเพื่อพระโพธิญาณ ทิ้งสิ่งอื่นได้ แต่ไม่ทิ้งพระโพธิญาณ ส่วนพระมหากษัตราธิราชเจ้า ทรงสละออกเพื่อประชาชน ไม่ทรงทิ้งประชาชน โบราณบัณฑิตจึงไม่ยกเนกขัมมะขึ้นแสดงในทศพิธราชธรรม ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจไปในการออกอย่างยิ่ง แต่แสดงปริจจาคะแทน เพื่อให้มีความหมายกระชับเข้ามาว่า ทรงสละเพื่อประชาชน เพราะทรงสละความติดในความสุขต่าง ๆ จึงทรงสละออกไปได้ และเสด็จออกไปเพื่อประชาชนได้ในที่ทุกสถาน พระโพธิสัตว์ไม่ทรงทิ้งพระโพธิญาณฉันใด พระมหากษัตราธิราชเจ้าก็ไม่ทรงทิ้งประชาชนฉันนั้น ปริจจาคะในทศพิธราชธรรมจึงหมายถึง พระมหากษัตราธิราชเจ้าทรงบริจาคเพื่อประชาชน แต่ไม่ทรงบริจาคประชาชน เช่นเดียวกับทานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำทานด้วยการให้วัตถุแก่ผู้อื่นโดยสงเคราะห์ เป็นต้น แต่ไม่ตรัสสอนให้ทำทานด้วยการให้ตนเองแก่ใคร ปริจจาคะเป็น ทศพิธราชธรรมข้อที่ ๓
อาชชวะ แปลว่า ความเป็นผู้ตรง คือความมีอัธยาศัยตรง ปฏิบัติซื่อตรง ปราศจากมายาสาไถย ไม่ปฏิบัติลวงกัน หรือ หลีกเลี่ยงแอบแฝง ข้อที่พระมหากษัตราธิราชเจ้าทรงมีพระราชอัธยาศัยประกอบด้วยความตรง ปราศจากมายาสาไถย ดำรงในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตร พราราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงและประชาชน ไม่ทรงคิดร้ายโดยอุบายผิดยุติธรรม แม้ความที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นส่วนเหตุถูกตรงต่อความต้องการที่เป็นผล ด้วยกำลังพระปัญญาปรีชาสามารถ จัดเป็น อาชชวะ
ทศบารมีข้อ ๔ คือ ปัญญา กับทศพิธราชธรรมข้อ ๔ คือ อาชชวะ ความเป็นผู้ตรง ดูถ้อยคำเป็นคำละความหมายกัน แต่เมื่อเพ่งพินิจเข้าจริง จะเห็นว่าเนื่องกันอย่างใกล้ชิด เพราะปัญญาจะต้องมีความตรงจึงเป็นปัญญาแท้ คือ จะต้องรู้ตรงต่อความเป็นจริง ไม่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่นจะต้องรู้ตรงต่อเหตุผลที่เป็นจริง ไม่ผิดไปจากความจริง ถ้าคดต่อเหตุผลที่เป็นจริง หรือ คดต่อความจริงก็มิใช่ปัญญา แต่เป็นโมหะ ความหลง อวิชชา ความไม่รู้ คือรู้ไม่ถูกไม่ตรง ปัญญาจึงมีความตรง และความตรงที่จะต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะเป็นความตรงแท้ คือ ตรงต่อเหตุผล ตรงต่อความถูกต้อง ตรงต่อธรรม ตรงต่อวินัย ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีคำพูดว่าซื่อโง่ ก็คือซื่อหรือตรงที่ขาดปัญญา ดังเรื่องเถรตรงหรือเถรส่องบาตร เรื่องเถรตรงคือเรื่องของพระแก่รูปหนึ่งที่มุ่งจะถือปฏิบัติตรงเป็นอุชุปฏิปันโน จะเดินไปไหนก็เดินตรง ไม่ยอมเหลียวหลีกอะไร พบตอไม้กอไผ่ขวางหน้าก็ไม่ยอมหลีก เดินบุกตรงเข้าไป ก็ต้องติดอยู่กลางกอไผ่ เรื่องของเถรส่องบาตร ก็คือ พระเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ ฉันแล้วล้างบาตรแล้ว ก็ส่องดูบาตรที่มีรูรั่วทะลุว่ามากถึงกับขาดเป็นบาตรครองตามวินัยแล้วหรือยัง ส่องดูหลังจากฉันแล้วทุกวัน พระทั้งหลายผู้เป็นศิษย์เห็นอาจารย์ส่องดูบาตรหลังจากฉันเสร็จอยู่ทุกวัน ก็ส่องดูบาตรของตนตามอาจารย์บ้างโดยไม่รู้เหตุผล คิดว่าเป็นข้อวัตรหรือธรรมเนียมที่ฉันล้างบาตรแล้วจะต้องส่องดูบาตร จะต้องทำตามอาจารย์ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องแสดงนิทัศนะของความตรงหรือความซื่อที่ขาดปัญญา ความเป็นผู้ตรงด้วยปัญญาจึงถูกต้อง ปัญญากับอาชชวะ ความเป็นผู้ตรงจึงต้องประกอบไปด้วยกันดังนี้ อาชชวะ เป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ ๔




เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ
ตอบกระทู้