Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ปุจฉา-วิสัชนาธรรม จาก หลวงปู่หล้า เขมปัตตโต ตอนที่ ๑

พุธ 14 ม.ค. 2009 8:38 pm

เขมปัตโต 1.jpg
เขมปัตโต 1.jpg (28.25 KiB) เปิดดู 923 ครั้ง

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร


คำถาม
หลวงปู่เจ้าค่ะ ขอเรียนถามข้อสงสัยในสมาธิ พอจิตดิฉันเข้าสู่ภวังค์จะรู้สึกเหมือนร่างกายหล่นจากที่สูง ๆ มากลึกสุดประมาณ คืออะไรเจ้าค่ะดิฉันควรจะทำอย่างไร แต่มิได้เป็นบ่อยนะเจ้าค่ะ นาน ๆ ถึงจะเป็น ทำให้ดิฉันสงสัยว่าคืออะไร กราบขอหลวงปู่ช่วยให้ความกระจ่างแก่ผู้ด้อยความรู้ด้วยเจ้าค่ะ

คำตอบ
เรื่องภาวนานั้นเป็นของดีแล้ว เพราะมีความปีติและพอใจในธรรม ที่ปรากฏ เป็นอย่างนั้นด้วยอำนาจของปีติธรรม นักภาวนาก็ต้องเจออย่างนั้น บางทีปรากฏว่าเหาะเหินเดินอากาศหรือเดินจงกรมในอากาศ หรือขัดสมาธิกลางอากาศ หรือพลิกคว่ำพลิกหงายในอากาศ เป็นการแสดงปาฎิหาริย์ไปในตัวก็มีสารพัดจะเป็นไป แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา เมื่อถอนออกมาแล้งจงพิจารณาว่า ธรรมอันละเอียดถึงเพียงนี้ก็ยังอยู่ใต้อำนาจอนิจจังความไม่เที่ยง ขอให้น้อมลงอย่างนั้น อย่าสำคัญว่าเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคลใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อไม่สำคัญในส่วนนี้จิตก็สูงขึ้นไปกว่าเดิมอีกในตัวแล้ว จงพยายามทำบ่อย ๆ เทอญ และอีกประการหนึ่งให้พิจารณาเห็นอนิจจังพร้อมกับลมออกเข้า พร้อมทั้งเห็นทุกข์เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนกลมกลืนกันในขณะเดียว ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลัง พร้อมกับลมออกเข้าแม้ศีล สมาธิ ปัญญาที่เรียกว่าไตรสิกขาก็รวมพลกันอยู่ ณ ที่นั้นเอง จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเอง เมื่อเห็นชัดในส่วนนี้พร้อมทั้งชำนาญและเห็นเนือง ๆ อยู่ ความระอาในวัฎฎสงสารที่เคยหลงมาแล้วก็จะรู้ตามเป็นจริง จะได้ไม่ทะเยอทะยานในโลกทั้งปวง เพราะโลกทั้งปวงมีแต่เกิดขึ้นและแปรดับ และมีทุกข์ไม่ใช่ตัวตนดังที่ว่ามาแล้วนั้น จะได้สิ้นความสงสัยในปัญหาของเจ้าตัวที่เคยสร้างขึ้น จะแก้ไม่ยาก

โลกคืออะไร...วัตถุภายนอกคืออะไร...ที่สร้างขึ้นด้วยดิน น้ำ ไฟ ลมก็ดี หรือความนึกคิดแห่งสุข ทุกข์ อุเบกขาก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็แปร ปรวนและดับไปเสมอกันทั้งนั้น เมื่อลูกไม้ของโลกมีเพียงเท่านี้แล้ว เราก็ไม่มีหนทางจะไปสงสัยอะไรอีก มีแต่รู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริงพ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงเท่านั้น ความดีใจเสียใจในโลกทั้งปวงก็ห้ามเบรกลง ปัญญาก็เกิดขึ้นเหนือความหลงของตนไปซะ เรียกว่ารู้เท่าทุกข์รู้เท่าสังขารแล้ว จิตก็โอนไปเอนไปโน้มไปในพระนิพพาน คืนกลับความหลงของเจ้าตัวแบบเย็น ๆ เท่านั้นเอง...

ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย จงรู้ตามเป็นจริงในสังขารทั้งปวง พร้อมกับลมออกเข้าในปัจจุบัน ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปัจจุบัน หลุดพ้นจากความหลงในปัจจุบันตามเป็นจริงอยู่ทุกเมื่อเทอญ ปัญหาของธรรมะแท้ไม่มาก ที่มันมากวนเวียนก็เพราะกิเลสของเราทรงพระอำนาจ เมื่อพระปัญญาทรงพระอำนาจแล้วพร้อมทั้งสติสัมปยุตกันอยู่ ความสงสัยของเราก็หายไปไม่ขบถคืนเลย จะว่ารู้แจ้งโลกก็ได้ จะว่ารู้แจ้งสังขารก็ได้ จะว่ารู้ทันความหลงของเจ้าตัวก็ได้ ความหลงเจ้าตัวก็หมดประตูจะขี่ช้างสูบบุหรี่มาจากประตูไหน จึงขอจบย่อเพียงนี้...

คำถาม
หลวงปู่ค่ะดิฉันจะต้องปฏิบัติเช่นไรค่ะจึงจะได้เกิดมาในภพภูมิของศาสนาพุทธเกิดมาในภพภูมิของมนุษย์อีก แต่ดิฉันก็คิดว่า การไม่ขอเกิดมาอีกนะดีเยี่ยมที่สุดน่ะเจ้าค่ะ แต่บุญบารมีของดิฉันจะมีมากพอที่จะทำให้ดิฉันไม่ต้องมาเกิดอีกหรือไม่ แต่ดิฉันจะเร่งเพียรพยายามเร่งสะสมบุญนะเจ้าค่ะ เพราะถึงอย่างไรในภพนี้ดิฉันก็ได้เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์แล้วก็อย่าได้เสียชาติเกิด ต้องเร่งสะสมบุญไปเรื่อย ๆ เร่งทำความเพียรเจริญสติตลอดเวลา

เวลาที่ดิฉันเกิดต้องออกไปธุรกิจหรือต้องขึ้นรถลงเรือหรือไปไหน ๆ ดิฉันมักจะคิดว่าถ้าดิฉันเกิดตายไปตอนนี้ดิฉันได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ดิฉันก็เลยเกิดความรู้สึกว่า เออ...นี่เรายังไม่ได้ทำอะไรกับเขาเท่าไหร่เลยก็จะต้องมาตายซะแล้ว เพราะความตายเกิดได้ทุกขณะ ดิฉันนึกถึงความตายอย่างนี้ตลอดเวลา จะเรียกว่าดิฉันได้เจริญมรณานุสติ ใช่ไหมเจ้าค่ะ

คำตอบ
เมื่อหลาน ๆ เห็นภัยในวัฏฏสงสารอย่างเต็มที่แล้ว มันก็เป็นผู้มีวาสนาอยู่ในตัว สามารถทำตนให้พ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติได้โดยแท้ เพราะคนเราเมื่อเห็นทุกข์เป็นหลักของหัวใจแล้ว นั่นก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง เมื่อเห็นอยู่เนือง ๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสายก็เรียกว่าภาวนาอยู่ไม่ขาดสาย เป็นข้อวัตรของจิตใจที่ชอบด้วย หนักเข้าก็เบื่อหน่ายคลายเมาในวัฎฎสงสารแบบเย็น ๆ รอบคอบ เรียกว่าปัญญาชอบในวิปัสสนา

อนึ่ง บุคคลผู้จะเกิดเป็นมนุษย์อีกติดกันในชาติต่อไป เป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์เท่านั้นก็พอแล้ว เพราะโหรเอกพระบรมศาสดาองค์ท่านทายไว้ว่า บุคคลผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้วมีคติเป็นสอง ไม่เป็นมนุษย์ก็ต้องเทวดา มันเป็นของไม่ยากของผู้ทรงศรัทธา แต่ก็ตรงกันข้ามกลายเป็นของยากของผู้ที่ไม่ศรัทธา

ความดีคนดีทำได้ง่าย ความชั่วคนดีทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก สิ่งเหล่านี้เป็นของจริงมาแต่ดึกดำบรรพ์ ไม่พูดอีกก็จริงอีก พูดอยู่ไม่หยุดก็จริงอยู่ไม่หยุด และก็การเกิดในศาสนาพุทธนั้น เมื่อเราถึงไตรสรณคมน์แล้วมันก็มีพืชไว้แล้ว ถึงแม้มีภพมีชาติอีก มันก็ไปเกิดในมนุษย์พุทธศาสนานั่นเองไม่ต้องสงสัยเลยนา

การเกิดเป็นเทวดาเทวบุตรและพรหมมีทุกข์น้อยกว่ามนุษย์ก็จริงอยู่แล้ว แต่เมื่อมันอยู่ใต้อำนาจแห่งความไม่เที่ยงแล้ว ก็จัดว่าเป็นทุกข์เสมอกันในด้านปรมัตถ์ และก็มรรคผลนิพพานก็มีในชั้นเทวโลก และพรหมโลกเหมือนกัน บางท่านก็ภาวนาติดต่ออยู่ในภพนั้น ๆ สร้างบารมีอยู่ในภพนั้น ๆ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้เหมือนมนุษย์เรานี่เอง มันก็ล่าช้าอยู่แต่สัตว์เดรัจฉาน เปรตทุกจำพวก และสัตว์นรกทุกจำพวกเท่านั้น

จะอย่างไรก็ตาม เราไม่ตีตนตายก่อนไข้ เราจะไม่หวังภพต่อไปในอนาคตอีก เราจองขาดผูกขาดเพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวงในปัจจุบันชาติ เพื่อจะตัดปัญหาความมุ่งหวังหลายทาง ให้เหลือแต่ทางเดียว ปัญหามันจะน้อยลง ความประสงค์ก็ไม่มีมาก แม้เราจะภาวนาเห็นตัวกองทุกข์ขณะจิตเดียวหรือ "พุทโธ" คำเดียว ก็มีคุณค่ามากกว่าที่ปรารถนาในภพต่อไป การปรารถนาในภพต่อ ๆ ไปตั้งล้าน ๆ ขณะจิตก็ไม่เท่า ขณะจิตเดียวที่หวังพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ

การจองคิว การสมาทาน เจตนา ความประสงค์ ความต้องการ และความอธิษฐานทั้งหลายเหล่านี้เรียกชื่อต่างกัน แต่ก็มีความหมายอันเดียวกันแห่งรสชาติ ฉะนั้น ความต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ เป็นพระสติพระปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาอีกด้วยมีพลังมากแต่เราบัญญัติไม่เป็น ก็กล่าวตู่ตนว่าศีลไม่มีในเจตนา

ที่แท้นั้น เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ เจตนาไปทางดีนั่นเองเป็นตัวศีล สมาธิ ปัญญา กลมกลืนกันในขณะเดียว เหมือนเชือกสามเกลียวที่เราเรียกว่า ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกลเลย จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็ไม่เป็นปัญหา ขอให้ภาวนาติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นเป้าอันเดียวกันพร้อมกับลมหายใจออก-เข้า นิวรณ์ทั้งหลายมันตั้งอยู่ไม่ได้ดอก

ผู้รักใคร่ภาวนาอยู่เป็นเนืองนิตย์เรียกว่าผู้นั้นบารมีแก่กล้าแล้ว ท่านผู้ใดขี้เกียจก็ให้ทราบเถิดว่าบารมียังอ่อนเหลวไหลมาก ฉะนั้นจึงไม่ควรนั่งควรนอนให้บารมีแก่กล้า คำว่านั่งนอน นอนทั้งกายทั้งใจด้วย นั่งก็เหมือนกันยืนเดินนั่งนอนเป็นการเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถเฉยๆ แต่ด้านจิตใจและศรัทธาไม่เปลี่ยนออกจากพุทธ ธรรม สงฆ์ ไปไหนเลย จะทำท่าไม่ทำท่าก็ไม่เป็นปัญหา คล้ายกับเกลือจะอยู่ถ้วยหรืออยู่ชามหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ก็รักษาความเค็มของตนอยู่ไว้อย่างนั้น จะอย่างไรก็ตาม ขอให้แบ่งเวลาภาวนาอย่าให้เสียวันเสียคืน จิตใจหากจะสูงขึ้นเองไม่ต้องบ่นหา จะชนะความหลงของตนแน่แท้

Re: ปุจฉา-วิสัชนาธรรม จาก หลวงปู่หล้า เขมปัตตโต ตอนที่ ๑

พฤหัสฯ. 15 ม.ค. 2009 5:31 pm

นี่แหละครับ. ความวิเศษของธรรม อ่านแล้วไม่ทุกข์ ไม่เครียด สัมผ้สได้ในส่วนที่สมองยังไม่เคยมีความคิดเช่นนั้น กับขั้นตอนของการปฏิบัติ ไม่ลึกลับ ไม่ยุ่งยาก แต่เป็นธรรมชาติของชีวิต
:pry:
ขอบคุณมากมาย สำหรับบทความธรรมดีดีเช่นนี้ และเป็นกำลังใจให้เสมอครับ.
:grt:

Re: ปุจฉา-วิสัชนาธรรม จาก หลวงปู่หล้า เขมปัตตโต ตอนที่ ๑

เสาร์ 17 ม.ค. 2009 12:13 am

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

Re: ปุจฉา-วิสัชนาธรรม จาก หลวงปู่หล้า เขมปัตตโต ตอนที่ ๑

เสาร์ 17 ม.ค. 2009 2:17 am

...สาธุ...
.._/|\_..

Re: ปุจฉา-วิสัชนาธรรม จาก หลวงปู่หล้า เขมปัตตโต ตอนที่ ๑

เสาร์ 17 ม.ค. 2009 3:14 am

มันโท เขียน:...สาธุ...
.._/|\_..


สาธุ แล้วปฏิบัติด้วยนาคราบ :lol: :lol: :lol:
ตอบกระทู้