Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ใหม่

พฤหัสฯ. 20 พ.ย. 2008 6:07 pm

lp8.jpg
lp8.jpg (80.77 KiB) เปิดดู 1075 ครั้ง

สำหรับผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ดู่ และสนใจใคร่จะฝึกหัดกรรมฐานตามแนวทางที่ท่านสอน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี ผู้เขียน*ก็ขออนุญาตยกตัวอย่างไว้พอเป็นแนวทาง ดังนี้ (นี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีแบบสำเร็จ ประกอบกับหลวงปู่ท่านให้กรอบเอาไว้ ดังนั้น ในรายละเอียดปลีกย่อยจึงไม่แปลกที่จะปฏิบัติแตกต่างกันออกไปบ้าง)

1. เริ่มต้นด้วยการกล่าวคำบูชาพระ สมาทานศีล (เปลี่ยนศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร เป็น อพรัหมจริยาฯ เพื่อเตรียมจิตก่อนอธิษฐานบวชจิต) จากนั้น ก็กล่าวคำอาราธนากรรมฐาน (ว่า...พุทธัง อาราธะนัง กะโรมิ ธัมมัง อาราธะนัง กะโรมิ สังฆัง อาราธะนัง กะโรมิ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา ( ๓ ครั้ง ) นะโม พรหมปัญโญ ( ๓ ครั้ง ))

2. เบื้องต้น ยังไม่ต้องรีบร้อนบริกรรมภาวนา หรือนึกนิมิตใด ๆ หากแต่ให้ปรับท่านั่งให้เข้าที่ สูดลมหายใจลึก ๆ สักสองสามครั้ง พร้อมกับทำจิตใจของเราให้ปลอดโปร่งโล่งว่าง สร้างฉันทะที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ระลึกว่าเรากำลังใช้เวลาที่มีคุณค่าแก่ชีวิต ซึ่งจะเป็นสิ่งติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ

3. กล่าวอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้า หลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ หลวงปู่เกษม ได้โปรดมาเป็นผู้นำและอุปการะจิตในการปฏิบัติธรรมครั้งนี้ จากนั้น ก็น้อมจิตกราบพระ ว่า...พุทธังวันทามิ ธัมมังวันทามิ สังฆังวันทามิ

4. สำรวจอารมณ์ที่ค้างคาอยู่ในใจเรา แล้วชำระมันออกไป ทั้งเรื่องน่าสนุกเพลิดเพลิน หรือเรื่องชวนให้ขุ่นมัวต่าง ๆ ตลอดถึงความง่วงเหงาหาวนอน และความฟุ้งซ่านรำคาญใจต่าง ๆ รวมทั้งปล่อยวางความลังเลสงสัยเสียก่อน

5. เมื่อชำระนิวรณ์อันเป็นอุปสรรคของการเจริญสมาธิออกไปในระดับหนึ่งแล้ว กระทั่งรู้สึกปลอดโปร่งโล่งว่างตามสมควร จึงค่อยบริกรรมภาวนาในใจว่า “พุทธัง สรณัง คัดฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ”

6. มีหลักอยู่ว่าต้องบริกรรมภาวนาด้วยใจที่สบาย ๆ (ยิ้มน้อย ๆ ในดวงใจ) ไม่เคร่งเครียด หรือจี้จ้องบังคับใจจนเกินไป

7. ทำความรู้สึกว่าร่างกายของเราโปร่ง กระทั่งว่าลมที่พัดผ่านร่างกายเรา คล้าย ๆ กับว่าจะทุลุผ่านร่างของเราออกไปได้

8. ให้มีจิตยินดีในทุก ๆ คำบริกรรมภาวนา ว่าทุก ๆ คำบริกรรมภาวนา จะกลั่นจิตของเราให้ใสสว่างขึ้น ๆ

9. เอาจิตที่เป็นสมาธิพอประมาณนี้มาพิจารณาร่างกายว่ามันเป็นก้อนทุกข์ ยามจะแก่ จะเจ็บ จะตาย เราก็ไม่อาจบังคับบัญชา หรือห้ามปรามมันได้ ถึงแม้ว่าเราจะดูแลมันดีอย่างไร มันก็จะทรยศเรา มันจะไม่เชื่อฟังเรา ให้พิจารณาให้ละเอียดลงไปซ้ำ ๆ จนกว่าจิตจะเห็นความจริงและยอมรับ เมื่อจิตยอมรับจิตก็จะคลายจากความยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้เป็นเราหรือเป็นของเรา (การปฏิบัติกรรมฐานครั้งต่อไป ก็อาจเปลี่ยนเป็นการพิจารณาอย่างอื่น เป็นต้นว่าร่างกายเราหรือคนอื่นก็สักแต่ว่าเป็นโครงกระดูก แม้ภายนอกจะดูแตกต่าง มีทั้งที่ผิวพรรณงาม หรือทรามอย่างไร แต่เบื้องลึกภายในก็ไม่แตกต่างกันในความเป็นกระดูก ที่ไม่น่าดูน่าชม เสมอกันหมด ให้พิจารณาให้จิตยอมรับความจริง เพื่อให้คลายความหลงยึดในร่างกาย ฯลฯ)

10. เมื่อรู้สึกว่าจิตเริ่มขาดกำลังหรือความแจ่มชัด ก็ให้หันกลับมาบริกรรมภาวนาเพื่อสร้างสมาธิขึ้นอีก

11. ในบางครั้งที่จิตขาดกำลัง หรือขาดศรัทธา ก็ให้นึกนิมิต (นอกเหนือจากคำบริกรรมภาวนา) เช่น นึกนิมิตหลวงปู่ดู่ อยู่เบื้องหน้าเรา นึกง่าย ๆ สบาย ๆ ให้คำบริกรรมดังก้องกังวานมาจากองค์นิมิตนั้น ทำไปเรื่อย ๆ เวลาเผลอสติไปคิดนึกเรื่องอื่น ก็พยายามมีสติระลึกรู้เท่าทัน ดึงจิตกลับมาอยู่ในองค์บริกรรมภาวนาดังเดิม

12. เมื่อจิตมีกำลัง หรือรู้สึกถึงปีติและความสว่าง ก็ให้พิจารณาทบทวนในเรื่องกาย หรือเรื่องความตาย หรือเรื่องความพลัดพราก ฯลฯ หรือเรื่องอื่นใด โดยมีหลักว่าต้องอยู่ในกรอบของเรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เที่ยงแท้แน่นอน (อนัตตา)

13. ก่อนจะเลิก (หากจิตยังไม่รวม หรือไม่โปร่งเบา หรือไม่สว่าง ก็ควรเพียรรวมจิตอีกครั้ง เพราะหลวงปู่แนะให้เลิกตอนที่จิตดีที่สุด) จากนั้นก็ให้อาราธนาพระเข้าตัว (ว่า...สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพะลัง อะระหัน ตานัญ จะเต เชนะรักขัง พันธามิสัพพะโส พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมังอธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ) โดยน้อมอาราธนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาไว้ที่จิตเรา หรืออาจจะนึกเป็นนิมิตองค์พระมาตั้งไว้ที่ในตัวเรา

14. สุดท้าย ให้นึกแผ่เมตตา โดยนึกเป็นแสงสว่างออกจากใจเรา (พร้อม ๆ กับว่า... พุทธัง อนันตัง ธัมมัง จักรวาลัง สังฆัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ) โดยน้อมนึกถึงบุญอันมากมายไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อีกทั้งบุญกุศลที่เราสั่งสมมาดีแล้ว รวมทั้งบุญจากการภาวนาในครั้งนี้ ไปให้กับเทพผู้ปกปักรักษาเรา ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ให้กับบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผีเหย้าผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ เทพ พรหม ทั้งหลาย แลสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ท่านทั้งหลายที่ยังทุกข์ ขอจงพ้นทุกข์ ท่านทั้งหลายที่มีความสุขอยู่แล้ว ขอจงมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หมายเหตุ การอาราธนาพระเข้าตัว (บทสัพเพฯ) ก็เพื่อว่าเมื่อเวลาเลิกนั่งสมาธิไปแล้ว จะได้ระมัดระวังรักษาองค์พระในตัว โดยการสำรวมระวังรักษากาย วาจา ใจ ตลอดวันไปกระทั่งถึงเวลานั่งสมาธิในครั้งต่อไป

*ลูกศิษย์ท่านหนึ่งของหลวงปู่

Re: แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ใหม่

ศุกร์ 21 พ.ย. 2008 3:58 am

สาธุ นี่แหละครับ "แนวทางการปฏิบัติแล้วดี" ของจริง

Re: แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ใหม่

พฤหัสฯ. 27 พ.ย. 2008 12:53 pm

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยครับ

Re: แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ใหม่

พุธ 03 ธ.ค. 2008 4:49 pm

สาธุด้วยครับ
ตอบกระทู้