Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

เอาตัวแกเองก่อนเถอะ

พุธ 09 มิ.ย. 2010 12:51 am

ตามแนวทางการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งเถรวาทเรา จะเน้นปฏิบัติเอาตัวให้รอดก่อน ก่อนที่จะไปสงเคราะห์ผู้อื่น

หลวงปู่ดู่ท่านก็เช่นกัน ท่านจะเน้นว่า "เอาตัวแกเองก่อนเถอะ" หมายความว่าให้เอาตัวให้รอดก่อน อย่าเพิ่งใส่ใจจะไปช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ผู้ใด มิเช่นนั้นก็อาจเข้าข่ายพากันจมน้ำตายทั้งคู่

สำหรับผู้รักที่จะทำหน้าที่ช่วยเผยแผ่ธรรมคำสอน จึงมีหลักอยู่ว่าเจ้าตัวต้องมุ่งฝึกฝนอบรมตนเองอย่างน้อยก็ในระดับที่เชื่อมั่นในหนทางที่ตนปฏิบัติอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน มิใช่ทำไป ๆ หากมีอะไรมากระทบ หรือไปเจอะเจอแนวทางแปลกใหม่ก็พร้อมจะเปลี่ยนแนวทาง หากแม้นว่าตัวเองก็ยังลังเลสงสัย ไม่สนิทใจกับการปฏิบัติหรือผลการปฏิบัติของตนเอง แล้วจะไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นเชื่อได้อย่างไร ต้องสอบทานตนเองว่าความเข้าใจของตนนั้นลึกซึ้งดีพอหรือยัง รวมทั้งสามารถแยกแยะได้ไหมว่า อะไรที่ใช่ อะไรที่ไม่ใช่ อะไรที่เข้ากันได้กับหลักคำสอนที่ยึดถืออยู่ อะไรที่เข้ากันไม่ได้หรือขัดกัน เป็นต้น มิใช่พิจารณาแบบฉาบฉวยว่าก็เหมือน ๆ กันทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่อาจจะตรงกันข้ามกันเลยก็ว่าได้

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา จะพบว่าบางครั้งชาวพุทธเองกลับเผยแพร่ในทำนองนำตนเองไปเข้ากับศาสนาอื่น อาทิ ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เป็นต้น เช่นว่า สอนเรื่องจิตเป็นของเที่ยงแท้ ยืนตัว คงตัวตลอดไป (ส่วนที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นอาการของจิตต่างหาก ไม่ใช่ตัวจิต) อย่างนี้ศาสนาฮินดูยิ้มเลย เพราะไปตรงกับหลักอาตมันของเขา ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ปฏิเสธ “อัตตา” ในทุกระดับ ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด แต่ต้องไม่เผลอไปเข้าใจว่า อนัตตาแปลว่าไม่มีอะไร (ในความหมายว่าไม่มีอะไร ต้องเรียกว่า “นัตถิตา” มิใช่ “อนัตตา”) ไม่อย่างนั้นการฆ่าคนก็คงไม่บาป

อนัตตาจึงเป็นเพียงบทปฏิเสธการมีอัตตาที่เที่ยงแท้ อนัตตาหมายความว่ายังมีอะไร ๆ อยู่ แต่มีอยู่อย่างอนัตตา คือ มีอยู่อย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และบังคับบัญชาไม่ได้

และการเผยแผ่ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ก็มักจะกลับไปหาความผิดพลาดเดิม ๆ ที่เคยเกิดหลายครั้งหลายหน ตลอด ๒๕ พุทธศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งบางครั้งถึงขนาดเป็นเหตุให้ต้องสังคายนาพระไตรปิฎก เช่น คำสอนที่ว่า “จิตเดิมแท้เป็นของบริสุทธิ์ !” หรือ “ตัวจิตคือตัวนิพพาน !” ทำให้พระผู้รู้ต้องออกมาสังคายนา เพราะหากว่าจิตเป็นของบริสุทธ์จริง ทำไมจึงต้องพากันมาเกิดได้อีกเล่า ?

ที่ว่าจิตเดิมแท้ “ประภัสสร” นั้นคือ มันผ่องใสเฉย ๆ (แต่ยังไม่บริสุทธิ์) เหมือนของที่ปลอมปนมันตกตะกอน มันก็เลยใสสว่าง แต่ของปลอมปนหรือกิเลสอาสวะนั้นยังมีอยู่ เป็นแต่มันนอนก้นอยู่ เมื่อใดมีสิ่งกระตุ้นเร้า มันก็พร้อมจะออกมาอาละวาดได้ทุกเมื่อ

การจะทำประโยชน์ท่านนั้น ประโยชน์ตนต้องมาก่อน การประกอบบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ตนต้องไม่ให้บกพร่อง มิเช่นนั้นนอกจากตัวเองไม่ได้หลักแล้ว ยังอาจเผยแพร่ธรรมะผิด ๆ หรือนำพระพุทธศาสนาไปปะปนกับศาสนาอื่น ลัทธิอื่นโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่ตนตั้งความปรารถนาจะสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว กลับเป็นว่าอายุพระศาสนาต้องมาสั้นลงก็เพราะตัวเราเองมีส่วนอยู่ด้วย

นอกจากนี้ หากเราไม่มุ่งประโยชน์ตนให้ดี ขณะทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมหรือกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ลาภสักการะต่าง ๆ ก็อาจทำให้ศีลของเราค่อย ๆ ด่างพร้อย จากการไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องเงินทอง ก็เริ่มบอกบุญนั่นนี่ สุดท้ายก็เริ่มมีเหตุผลของกิเลสที่จะนำเงินทำบุญนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ตน จนกระทั่งจบสิ้นอุดมการณ์ที่เริ่มต้นไว้เสียดิบดีอย่างน่าเสียดาย สิ่งที่ได้กลับกลายเป็นความหลงตนลืมตัว พอใจยินดีในความเป็นคนสำคัญ ติดในลาภสักการะ คำสรรเสริญเยินยอ รวมทั้งอาจกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในฐานะเจ้าของวัด เจ้าของหลวงปู่ครูบาอาจารย์ เจ้าของธรรมคำสอน เจ้าของศาสนวัตถุ ฯลฯ

หลวงปู่ดู่จึงเตือนว่า “เอาตัวแกเองก่อนเถอะ” คือหลักที่ทิ้งไม่ได้เด็ดขาด ถ้าประโยชน์ตนบกพร่อง ประโยชน์ผู้อื่นก็เป็นอันหวังไม่ได้ หากจะทำหน้าที่เผยแพร่ก็ต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองเสมอ ๆ ว่าเรากำลังติดกับดักดังกล่าวข้างต้นอยู่หรือไม่ เพื่อจะได้ปรับตัวในการที่จะรักษาประโยชน์ตนไว้มิให้บกพร่อง

Re: เอาตัวแกเองก่อนเถอะ

พุธ 09 มิ.ย. 2010 9:19 pm

ขอบคุณครับ

Re: เอาตัวแกเองก่อนเถอะ

อังคาร 22 มิ.ย. 2010 3:43 pm

ขอบคุณครับ อนุโมทนา สาธุ ด้วยคนนะครับ :pry:

Re: เอาตัวแกเองก่อนเถอะ

พุธ 23 มิ.ย. 2010 2:10 am

เช่นกันครับ :P
ตอบกระทู้