Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ปฏิบัติสมาธิ

อังคาร 01 ก.ค. 2025 8:47 am

"..ที่มานี่เราก็พากันมารักษาศีล ก็รักษาตัวของเรา ไม่ได้รักษาอื่น นี่กุศลอันนี้นำผลให้เรามาหลายภพหลายชาติ ผู้ที่ขี้ร้ายขี้เหร่ ก็เพราะเขาไม่ได้รักษาศีลจะดูในปัจจุบันนี้ก็ดูนั่น คนที่มาอยู่ที่วัดนี้มีกี่ร้อยกี่พันหรือกี่คน แล้วผู้ไปเที่ยวล่ะ ดูซิ โอ้โฮ นับทีซิ หมื่นหนึ่งน่ะซี่ จะเอาเสี้ยวหนึ่งก็ไม่ได้ คิดดูซี่ นี่ผู้เข้าวัดเข้าวาอย่างนี้นับซิมีกี่คน ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ นัยต่อไปคืออานิสงส์การเกิดมามีสติปัญญาใครก็อยากได้ เกิดมามีสติปัญญา ของเราไม่ได้ภาวนาก็ไม่ได้ ท่านสอนให้ภาวนา เกิดมาจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆนี้ ให้ระลึกเอาในใจ พิจารณาเลือกเฟ้นหัวใจของเราใจมันมีมาก ใจดีใจชั่ว ใจสุขใจทุกข์ ใจนรกใจเปรตใจสัตว์เดรัจฉานก็มี ใจใบ้ใจบ้า ใจเสียจริตก็มี ใจคนเรามีหลายใจ ใจเทวบุตรใจเทวธิดาใจพระอินทร์ใจพระพรหมก็มี ใจท้าวพญามหากษัตริย์ก็มี ใจเศรษฐีคหบดีก็มี แน่ะ ใจคนมั่งมีศรีสุข ใจนายร้อยนายพัน นายพล ใจจอมพลก็มี จะเอาอย่างไรเล่า เลือกเอาซี่.."

อาจาโรวาท
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๐)






"..ความจริงของความจริงมีอยู่ทุกแห่งทุกหนและทุกเวลาอกาลิโก ขอแต่ปฏิบัติให้ถึงความจริงทำจริง ต้องรู้ตามความสามารถและภูมิวาสนาของตนแน่นอน ไม่ว่าธรรมภายในคือสัจธรรม และธรรมภายนอกคือความรู้แขนงต่าง ๆ ตามภูมินิสัยวาสนาของแต่ละรายที่สร้างมา และความปรารถนาที่ตั้งไว้ไม่เหมือนกัน แต่ผลส่วนใหญ่คือมรรคผลนิพพานนั้น เมื่อถึงแล้วเหมือนกัน.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร
(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)






คนที่ไม่ได้ปฏิบัติเนี้ยะ น่าสงสาร น่าเสียดายว่าเกิดมา เกิดมาเสียนาน แล้วไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ ให้เกิดขึ้น

ถ้ามีศรัทธา มีสมาธิ มีปัญญา ได้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะเคลื่อนไหวเป็นพระอริยเจ้าได้

เมื่อจะถึงแดนของพระอรหันต์แล้ว ชายก็ไม่มี หญิงก็ไม่มี และนั่นคือพระอรหันต์ อยู่ไม่ไกล อยู่ที่ตัวเรา เมื่อเราหมดขึ้นแล้ว เราก็ต้องรู้แหละ ว่าเราสิ้นอาสวะแล้ว

ขอให้เราตั้งใจ ตั้งใจไว้ให้มาก มันจะได้ไม่ตายแล้วไม่ตายอีก เราจะได้ไปสู่แดนของพระอริยเจ้า

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก








"จิตเหมือนม้าพยศ"

ถ้าทรงอารมณ์จิตได้ไม่ดี ซ่านจริง ๆ ก็มีวิธีปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง ถ้าซ่านจริง ๆ บังคับไม่ไหวจริง ๆ ให้เลิกเสียอย่างหนึ่ง อย่าฝืนทำต่อไป จิตมันจะดิ้นรน ถ้าจิตมันซ่านเราบังคับไม่ได้มันจะกลุ้ม กลุ้มเกิดความกระวนกระวายปรากฏ ความทุกข์กายไม่สบายใจปรากฏ

ดีไม่ดี...ถ้าคิดมากไปก็เลยกลายเป็นโรคเส้นประสาท ไอ้ที่ทำกรรมฐานแล้วคลั่งขาดสติสัมปชัญญะเพราะไม่รู้จักการประมาณตัวเป็นสำคัญ ยังมีวิธีหนึ่งถ้ามันซ่านจริง ๆ พระพุทธเจ้าให้เลิกเสีย แล้วมีอีกวิธีหนึ่งพระพุทธเจ้าแนะนำให้ใช้การยืดหยุ่น การยืดหยุ่นเป็นของสำคัญ อันนี้เคยปฏิบัติมาแล้วทั้ง 2 อย่าง มันมีผลจริง ๆ

แต่ว่าวิธีที่ 2 นี้เป็นวิธีที่อาตมาชอบที่สุด แต่ว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นวิธีของพระพุทธเจ้าที่จะต้องการอย่างไหนก็ได้ วิธีที่ 2 พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ว่า ถ้าบังคับไม่หยุดจริง ๆ มันอยากจะคิดอยากจะซ่าน เราอย่าคิดว่าเราจะชนะมันได้เวลามันซ่านจริง ๆ บังคับไม่อยู่แน่ ๆ

เว้นไว้แต่เพียงว่า ถ้าเราเป็นพระอริยเจ้าแล้วขึ้นไป ถึงอรหัตผลหรือว่าเป็นผู้ทรงฌานได้จริง ๆ ก็บังคับได้ชั่วระยะเวลา ยามว่างเข้าเวลาปกติก็ดิ้นรนตึงตัง ๆ ถ้าเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป มันยังไม่หมดได้แต่ตั้งอยู่ในอารมณ์ของกุศล อกุศลไม่มี

ถ้าถึงพระอรหันต์แล้วสบายมาก วันทั้งวันสบาย น้อมอยู่ในกุศลตลอดเวลา มีแต่ความเยือกเย็นของจิต

หวนกลับมาวิธีที่ 2 ถ้ามันซ่านจริง ๆ พระพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยให้มันคิดไปส่งเดชเลย เพราะบังคับไม่อยู่ มันอยากจะคิดอะไรก็เชิญคิดตามอัธยาศัย อย่าขัดคอมัน แต่ตั้งใจไว้ว่ามันเลิกคิดเมื่อไหร่จะเริ่มต้นกันใหม่

วิธีนี้เป็นวิธีที่มีความสำคัญมาก เหมือนคนที่ "บังคับม้าพยศ" ถ้าม้ามันพยศมันยังมีกำลังอยู่ ไม่สามารถจะบังคับให้เข้าทางได้ ท่านบอกให้กอดคอถือแส้เข้าไว้ มันจะไปไหนก็ให้มันวิ่ง ปล่อยให้มันวิ่งให้มันหมดฤทธิ์ ในเมื่อมันหมดฤทธิ์ที่มันจะวิ่งไปได้แล้ว กำลังมันก็น้อยเราจะบังคับให้มันวิ่งไปสบาย ไปขวา ไปหน้า ไปหลังก็ได้ิ เพราะหมดแรงพยศ

ข้อนี้อุปมาฉันใดจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันจะฟุ้งบังคับไม่อยู่ก็เชิญมันคิดตามอัธยาศัย ลองดูนะ...ลองดูแล้ว ลองดูหลายครั้งเพราะว่าตอนระยะแรก ๆ คุมมันไม่อยู่เหมือนกัน ก็เลยปล่อยให้มันคิดไปตามที่ท่านแนะนำ มันก็ไม่เกิน 15 นาทีถึง 20 นาทีมันเลิกคิด ปล่อยไปตามอัธยาศัย จะเข้าบ้านเข้าช่องใครก็ช่างหัวมัน

พอมันเลิกคิด ก็กลับมาจับอารมณ์ใหม่ คราวนี้มาจับอารมณ์เพียงวินาทีหรือ 2 วินาที อารมณ์มันจะหยุดซ่านทันที เพราะมันเหนื่อยอารมณ์จะดิ่งเป็นฌานนานแสนนาน บางทีชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง มันยังไม่ถอน อารมณ์จะเงียบจริง ๆ จะทรงเป็นสมาธิจริง ๆ

พระราชพรหมยาน,นิตยสารธัมมวิโมกข์ (2559),428,91-92
Facebook : นิตยสารธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง






"...สมาธิเป็นกิริยาของจิต เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิต
ของเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรานั่งกำหนดรู้จิตของเรา
เรียกว่า ปฏิบัติสมาธิในท่านั่ง แต่ถ้าเวลายืนกำหนดจิตของเรา เรียกว่า ปฏิบัติสมาธิในท่ายืนเมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตของเราในท่านอน เรียกว่า ปฏิบัติสมาธิในท่านอน เวลาเดินจงกรม เรามีสติกำหนดรู้จิตของเรา เรียกว่า ปฏิบัติสมาธิในท่าเดิน

ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นแต่เพียงอิริยาบถบริหารร่างกายเพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทรมานมากจนเกินไป
เพราะฉะนั้น สมาธิจึงไม่ใช่เพียงเรื่องการนั่งสมาธิอย่างเดียว แม้แต่การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เราก็
ได้ปฏิบัติสมาธิอยู่ตลอดเวลา..."

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ตอบกระทู้