นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 02 พ.ค. 2025 8:20 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทำจิตให้เข้าสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 3:57 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4906
” หลักของการปฏิบัติ “

…หลักของการปฏิบัติ
ก็คือต้องอยู่ในปัจจุบันเสมอ
ไม่ว่าจะเจริญสติ จะนั่งสมาธิ

.ถ้าเจริญปัญญา
ก็พิจารณาอดีตอนาคตได้
แต่ให้อยู่ในกรอบของ “ไตรลักษณ์ ”.

…………………………………………
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี

จุลธรรมนำใจ ๒๙ กัณฑ์ที่ ๔๓๘
วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๕






เวลาในชีวิตของเรามีไม่มาก
#ให้สอนตัวเอง
ไม่ต้องไปพยายามสอนคนอื่น
เดินไปเดินมาก็ให้สอนตัวเอง
#เอาชนะตัวเอง
ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น

หลวงปู่ชา สุภัทโท







"คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป
แต่เราไปเก็บมาคิด
เหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไป
แล้วเราไปเก็บมากิน
แล้วจะว่าใครโง่"

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก






“ชีวิตของคนเราทำหน้าที่เหมือนเทียนไข
เมื่อจุดแล้ว ก็มีหน้าที่ดับอย่างเดียว
แต่จะดับช้าดับเร็ว ก็สุดแล้วแต่อุปสรรค
ของแต่ละคน แต่เมื่อเทียนนั้นให้แสงสว่างแล้ว
เราจะใช้แสงสว่างนั้นอย่างไร ก่อนจะดับ”

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล







"ใครดี ใครชั่ว ช่างเขา
ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ"

ท่านพุทธทาสภิกขุ







"...นักภาวนาทั้งหลาย จิตยังไม่สงบ
ฌานก็ยังไม่ถึง อยากจะให้ปัญญามันเกิดขึ้น
มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงเกิดขึ้นก็เรียกว่า
ปัญญาโลกีย์ ความอยากให้มันเกิดขึ้นมันก็
เป็นโลกียะอยู่แล้ว พอหันมาดูตัวของตนเอง
มีแต่กิเลสหุ้มห่อทั้งตัว เรามาภาวนาต้องการ
ละกิเลสในใจตัวเอง พอภาวนาเข้าก็กลายเป็น
สั่งสมกิเลสไปในตัว การอยากรู้ อยากเห็น
อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ล้วนแต่เป็นกิเลสทั้ง
หมด พระพุทธเจ้าให้สละสิ่งทั้งหมด แล้วทำใจ
ให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวง แล้วพิจารณาให้รู้เท่า
ให้เข้าใจตามความเป็นจริงของสื่งนั้นๆ

ยกตัวอย่างพระอานนท์พุทธอนุชา เป็นพหูสูตร
เรียนรู้ในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จนจบ
สิ้น ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวง จะให้
ถึงซึ่งความเป็นกลาง เมื่อก่อนวันที่จะทำปฐม
สังคายนา ท่านพิจารณาธรรมทั้งหลายจนอ่อน
เพลียแล้วเอนศีรษะจะพักผ่อน เศียรยังไม่ถึง
หมอน ในขณะนั้นจิตของพระอานนท์ทอดธุระ
ทั้วหมดทั้งปวงไม่มีอะไรเหลือหลอ ท่านจึงได้
สำเร็จ เป็นพระอรหันต์..."

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย






#หลวงปู่ผางท่านเล่าให้ฟังว่า...

ท่านบวชเมื่ออายุมากแล้ว ก็เลยตั้งจิตอธิษฐานว่า เมื่อบวชออกเรือนแล้วจะไม่หวนกลับมาเรือนอีก

#ต่อมาโยมแม่ของท่านหลวงปู่ได้เจ็บป่วย
ท่านทราบข่าวจึงเดินทางกลับไปเยี่ยม
ครั้นตกค่ำลง บ้านท่านอยู่ติดแม่น้ำชี
ท่านจึงนั่งเรือไปปักกลด ฝั่งตรงข้ามกับบ้านของท่าน ไม่จำวัดที่บ้านโยมแม่

#เมื่อถึงเวลาเช้าท่านจึงมาเยี่ยมโยมแม่ที่บ้าน
พอท่านเรียกโยมแม่ โยมแม่ก็ไม่ตอบ
คงจะโกรธที่ท่านไม่พักบ้าน

#พอโยมแม่ท่านเสียชีวิต
ท่านจึงนั่งสมาธิส่งจิตดูว่าโยมแม่ท่านอยู่ที่ไหน

#ปรากฏว่าพบวิญญาณโยมแม่ท่านอยู่ในอบายภูมิ
มีไฟเผาไหม้อยู่ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยอานิสงส์ท่านได้บวช ได้ประพฤติดี ประพฤติชอบ

#ขออานิสงส์ทั้งหลายทั้งปวงได้โปรดช่วยโยมแม่ของท่านด้วย

#เมื่ออธิษฐานแล้วปรากฏว่ามีเสาต้นหนึ่งปักลงไปถึงก้นหลุม วิญญาณของโยมแม่ท่านได้อาศัยเสาต้นนั้นปีนขึ้นมาจากอบายภูมิ

#ท่านเมตตาบอกว่า
เกิดจากโยมแม่ท่านเข้าใจผิด
ยังยึดถือว่าท่านเป็นลูก จึงโกรธที่กลับมาถึงเรือนแล้วไม่พักที่เรือน โดยไม่คิดว่าท่านได้บวชเป็นลูกของพระพุทธเจ้าแล้ว ยิ่งท่านบำเพ็ญเพียรมาก
โยมแม่ยิ่งผิดมาก หลวงปู่จึงเมตตาสอนว่า

#มีลูกมีทรัพย์ ก็ใช่ว่าทรัพย์จะช่วยได้ทุกอย่าง
แต่มีลูกมี"ศีล" สามารถช่วยในสิ่งที่ทรัพย์ช่วยไม่ได้

โอวาทธรรม
หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต
วัดอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น






"...ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี้เรียกว่า อิทธิบาท ๔
เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จทั้งมวล แปลอย่างจำได้ง่ายว่า
ปักใจ บากบั่น วิจารณ์ ทดลอง ไม่ว่าจะทำกิจการใด
ถ้าประกอบด้วย ๔ อย่างนี้ เป็นสำเร็จทั้งสิ้น
ว่าโดยเฉพาะในการบำเพ็ญภาวนา
๑. ต้องปักใจรักการนี้จริงๆ ประหนึ่งชายหนุ่ม
รักหญิงสาว ใจจดจ่อต่อหญิงคู่รักฉะนั้น
๒. ต้องบากบั่นพากเพียรเอาจริงเอาจัง
๓. วิจารณ์ตรวจดูการปฏิบัติให้ถูกต้อง
ตามแนวสอนของอาจารย์ให้ดีที่สุด
๔. ทดลอง ในที่นี้ได้แก่ หมั่นใคร่ครวญสอดส่องดูว่า
วิธีที่ทำไปนั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง รีบแก้ไข
อย่างนั้นไม่ดีเปลี่ยนอย่างนี้ลองดูใหม่ เช่น นั่งภาวนา
ในที่นอนมักจะง่วง ก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น
ข้อสำคัญให้ยึดแนวสอนเป็นหลักไว้ อย่าออกนอกทาง
๔ อย่างนี้ เรียกว่า อิทธิบาท เป็นเครื่องที่จะช่วยให้เกิด
ความสำเร็จในกิจทั้งปวง..."

#ที่มา หนังสือ รวมพระธรรมเทศนา
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)หลวงพ่อวัดปากน้ำ







#อนิจจัง_ทุกขัง_อนัตตา

..." ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ สอนให้ศึกษา สอนให้ดำเนิน ตื่นตัวอยู่เสมอในสัจธรรม ของเกิด ของแก่ ของตาย

...ของเกิดเรามีอยู่ ของแก่เรามีอยู่ ของตายเรามีอยู่ ให้ใจเราหมุนสัมผัสสัมพันในสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับโรคที่ได้สัมผัสยา เอายาเยียวยาโรค หากโรคมันยังไม่หาย โรคนั้นก็ยังไม่แสดงความกำเริบออกมา ในเมื่อยังไม่แสดงความกำเริบออกมา เขาเรียกโรคนั้นว่ามีการชะลอตัว เยียวยาให้ยิ่งขึ้นๆ โรคก็สลายตัว โรคก็หมดสภาพ โรคหายไปในที่สุด ก็เป็นผู้ที่ปลอดภัยจากโรค

... ปลอดภัยเพราะเอายาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เอามาเยียวยา ยาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเอามาเยียวยานั้น ไม่ใช่ไปหาที่อื่น อนิจจัง ฟังดูอนิจจังมันมีอยู่ตรงไหน ทุกขังมันมีอยู่ตรงไหน อนัตตามันมีอยู่ตรงไหน นั่งอยู่ เดินอยู่ กินอยู่ ถ่ายอยู่ นี่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีอยู่ตรงนี้

... การกินก็กินอนิจจัง การถ่ายก็ถ่ายอนิจจัง แม้แต่นอนอยู่ อนิจจังก็นอนอยู่ จะไปไหนมาไหนนั้นก็ตัวอนิจจังไปไหนมาไหน เกลื่อนไปทั่วโลกธาตุ เต็มไปทั้งโลกธาตุ มีแต่ตัวอนิจจังทั้งนั้น

...ตัวทุกขัง ก็ทุกข์กันจนอยู่ไม่เป็น กระสับกระส่าย แล่นหน้าแล่นหลัง ตลอดวันตลอดคืน เพราะทุกข์ อยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องไปๆ ๆ

...อนัตตา แล่นอยู่ตลอดเวลา เต็มโลกธาตุ ล้วนแต่อนัตตาทั้งนั้น ในเรานี่ จะหาอะไรที่จะอยู่คงตัวสักขณะไม่มี ดูง่ายๆ ดูแค่ลมหายใจ มีแต่จะหมดไปสิ้นไป นี่สัจธรรมของจริง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไปหาที่โน่น จะไปหาที่ไหน ที่ไหนๆไม่มี ที่มีเต็มโลก

...แต่พระพุทธเจ้าให้เราสนใจที่เรามีอยู่นี้ให้ยิ่ง ให้รู้ให้เห็น แล้วข้างนอกก็เป็นสัจธรรม หากว่าไม่รู้ไม่เห็นในเรา แล้วไปเกี่ยวข้องกับสัจธรรมภายนอก มันจะกลายเป็นมีโรค แต่ไปแสวงหากินแต่ของแสลง "
_____________________________________________
พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร ( หลวงปู่แบน ธนากโร )
วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร







#มิจฉาสมาธิเป็นอย่างไร
มิ จ ฉ า ส ม า ธิ เ ป็ น อ ย่ า ง ไ ร
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

เคยดูหนังกำลังภายในไหม

หนังกำลังภายใน หนังจีน
เขาสร้างกำลังขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้

สมาธิอันใดที่เป็นไปเพื่อการทำลายคนอื่น
สมาธิอันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ

ทีนี้อย่างเราที่ปฏิบัติกัน
พอปฏิบัติได้สมาธิพอสมควรแล้ว ผลพลอยได้มันบังเกิดขึ้น

เช่น บางท่านอาจะสามารถใช้พลังจิตรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
บางท่านอาจจะใช้พลังจิตไปในการดูหมอ
อันนี้ถือว่าเป็นผลพลอยได้ ไม่ถือว่าเป็นมิจฉาสมาธิ

แต่ถ้าหากว่าสมาธิอันใดที่ทำไปแล้ว
มุ่งที่จะใช้พลังสมาธิหาผลประโยชน์ โดยไม่เป็นธรรม

เช่น ใช้พลังสมาธิไปบีบบังคับ
หรือบังคับจิตใจใครให้ตกอยู่ใต้อำนาจของเรา
หรือนำผลประโยชน์มาเพื่อเราอะไรทำนองนี้

อันนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ
รวมความแล้วว่าสมาธิเป็นไปเพื่อทำลาย เรียกว่า มิจฉาสมาธิ

ทีนี้สัมมาสมาธิอย่างแท้จริง
มุ่งตรงต่อการที่จะสร้างพลังจิตให้เกิดสมาธิ
มีสติปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในธรรมตามความเป็นจริง
เพื่อขจัดกิเลสอาสวะไปสิ้นให้หมดไปจากขันธสันดาน
บรรลุพระนิพพาน อันนี้มันเป็นความหมายที่กว้างขวางมาก

รวมความแล้วสมาธินี่เราสามารถจะใช้ไปในทางที่ให้โทษให้คุณได้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า
ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติสมาธิ
ตามคำสอนของพระองค์ยึดหลักศีล ๕ เป็นหลัก

ทีนี้การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องสมาธิ
สมาธิอันใดซึ่งไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่งเป็นสัมมาสมาธิ
แต่ถ้าผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นมิจฉาสมาธิ

เช่น อย่างพระสงฆ์ที่เก่งในทางสมาธิ นั่งสมาธิอยู่ในวัด
แล้วก็ใช้พลังจิตส่งกระแสไปบังคับเศรษฐีทั้งหลาย
ให้เอาเงินมาช่วยสร้างวัดสร้างวา
อันนี้ก็เป็นมิจฉาสมาธิเหมือนกัน
และที่หนักยิ่งไปกว่านั้นก็มีค่ายิ่งกว่าโจรไปเที่ยวจี้ปล้นชาวบ้าน
สัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ
สามารถเกิดขึ้นในคนๆ เดียวกันได้หรือไม่
จะมีวิธีใดที่จะทำให้ปฏิบัติไปสู่แนวสัมมาสมาธิ

สมาธิในขั้นต้นๆที่เราปฏิบัติแล้ว ผลงานคือสมาธิเกิด
มันเกิดทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิ
แต่แท้ที่จริงมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ
มันก็คือสมาธิอันเดียวกัน

ที่มันเป็นมิจฉา หรือสัมมา นั้น
มันขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ปฏิบัติสมาธิ

ถ้าสมาธิมีแนวโน้มที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์สะอาด ก็เป็นสัมมาสมาธิ
ถ้าหากจิตมีแนวโน้มที่ผิดไปจากศีลผิดธรรม ก็เป็นมิจฉาสมาธิ

ทีนี้ในระดับขั้นสูง ถ้าหากว่าผู้ที่ปฏิบัติสมาธิ ไปติดในสมาธิ
ติดในญาณ ติดในฌาน
ก็ถือว่าเป็น มิจฉาสมาธิ ของผู้ที่เป็นสัมมาปฏิบติเพื่อปฏิบัติให้พ้นทุกข์

เพราะฉะนั้นแนวทางปฏิบัติในเมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว
ท่านก็ไม่ให้ติดสมาธิ

ผลอันใดอันเกิดจากสมาธิ
เช่น อภิญญา หรือ ญาณ หรือ ฌาน อะไรเป็นต้น
ท่านก็ไม่ให้ยึดไม่ให้ติด
ถือเป็นแต่พียงว่าให้สร้างพลังจิต
เพื่อให้มีสมรรถภาพยกตัว ให้อยู่เหนือกิเลสเหนืออารมณ์ได้

เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิก็ดี มิจฉาสมาธิก็ดี
มันเกิดขึ้นได้โดยคนๆ เดียว
คือพื้นฐานก็คือสมาธิอย่างเดียวกัน

แต่ถ้าหากว่าผู้ที่บำเพ็ญฌานสมาบัติ ได้สมาธิถึงขั้นฌานสมาธิ
ถ้าไปสำคัญว่านี่คือพระนิพพาน ก็เป็น มิจฉาสมาธิ

แต่สมาบัติก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร
แต่ไปเข้าใจว่าความละเอียดของจิต
ซึ่งจิตอยู่ในสมาธิขั้นละเอียด
แล้วจะรู้สึกว่ากิเลสและอารมณ์มันไม่มี ถึงมีก็อย่างละเอียด
ความคิดหรือเจตนาที่ไปสร้างบาปสร้างกรรมมันก็ไม่มี

ทีนี้ผู้ที่เข้าใจผิด
ก็สำคัญว่าตัวเองก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
อันนั้นก็เป็น มิจฉาสมาธิ

ทีนี้พวกพราหมณ์ทั้หลายที่ไปบวชเป็นฤาษีไปบำเพ็ญสมาธิ
ได้อิทธิฤทธิ์ได้ฌานสมาบัติ
ความเข้าใจของเขา เขาก็ถือว่า
เขาก็สำเร็จพระนิพพานเหมือนกัน
เพราะสติปัญญาของเขามีเพียงเท่านั้น
เขาทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่จะเป็นวิสัยตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง
แต่สมาธิพวกฌานสมาบัตินี่
เป็นปฏิปทาของผู้สร้างบารมีเพื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ต้องบำเพ็ญสมาธิ
ผ่านฌานสมาบัติมาหลายภพหลายชาติ
แม้แต่เมื่อจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านี่
ก็ต้องทำสมาธิตามแนวทางแห่งฌานสมาบัติ

เมื่อจิตของท่านไปอยู่ในฌานสมาบัติขั้นสูงสุด
ในขณะนั้นกิเลสอารมณ์ใดไม่มีทั้งสิ้น

แต่วิสัยของพระพทธเจ้าผู้สร้างบารมีมา
ย่อมมีพระสติปัญญาอันละเอียดสุขุม

ท่านก็มาสังเกตตรงที่ว่า
เมื่อจิตอยู่ในสมาธิแล้วดูเหมือนไม่มีกิเลส
ความยินดียินร้ายไม่มี ความสุขความทุกข์ไม่มี
มีแต่ความเป็นกลาง

แต่เมื่อออกมาสู่โลกภายนอก ตา หู จมุก ลิ้น กาย และใจ
รู้เห็นอันใดมันก็ยังยินดียินร้ายอยู่ ก็แสดงกิเลสยังไม่หมด
นี่พระพุทธเจ้าท่านเข้าใจอย่างนี้

แต่พวกฤาษีทั้งหลายไม่ได้เข้าใจอย่างนี้
เข้าใจว่าพอเราทำสมาธิถึงพระนิพพาน
พอมันดับสนิทแล้ว
เวลาใกล้จะตายรีบทำจิตให้เข้าสมาธิ
แล้วเข้าสมาบัติถึงพระนิพพาน
เขามาชะล่าใจกันอยู่ตรงนี้

ถ้าจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสมาธินี่
มันมีอยู่อันหนึ่ง หลวงพ่อได้พิจารณาตามโอวาทของ หลวงปู่เสาร์

หลวงปู่เสาร์ท่านชอบพูดเปรยๆ ว่า

“เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบมีแต่ความคิด”

ที่ได้ถามท่านจริงๆ

“จิตฟุ้งซ่านหรืออย่างไร ท่านอาจารย์”

ท่านก็บอกว่า

“ถ้ามันเอาแต่นิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า”

ปัญหานี้จะเกิดขึ้นมาในวงการของนักปฏิบัติ...
(คัดลอกบางตอนมาจาก ไขข้อข้องใจในการปฏิบัติ : มิจฉาสมาธิเป็นอย่างไร
ใน “ฐานิยปูชา ๒๕๓๙” พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙, หน้า ๗๑-๗๔)








“...อย่าไปอยากรู้เรื่องของคนอื่น มันเป็นทุกข์ ให้สนใจเรืองของตัวเอง คือ เรื่องกาย กับใจ ดูมันให้ชัด การภาวนาก็อย่าไปมั่นไปหมาย การไปคาดหมายนั้น จะทำให้เราไปติดในภพในชาติ การภาวนาก็ไม่สำเร็จ เพราะการคาดหมายนั้น มันปรุงมันแต่งไปต่าง ๆ นานา คาดนั่นหมายนี่ ว่าเป็นเราเป็นเขา ดังนั้น การภาวนา ท่านจึงให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีอะไรเป็นของสวยของงาม ให้พิจารณาทีละอย่าง ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าสิ่งใดสวย พอมาประกอบเป็นคนเป็นมนุษย์ ผู้หญิงผู้ชายมีอะไรสวยอะไรงาม ถ้ามันว่าสวยมันไม่ตายเหรอ เอาไปได้ไหม สิงที่ว่าสวยว่างาม พิจารณาให้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาให้เป็นอสุภะอสุภัง แล้วถามใจตัวเองว่า ยินดีกับมันอีกไหม ในร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อธาตุขันธ์แตกดับ เน่าเปื่อยผุพัง ย่อยสลายไป เอาอะไรไปได้บ้าง แม้กระทั่งกระดูก...”

โอวาทธรรม
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO