Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

บำเพ็ญสิ่งที่ดีงาม

อังคาร 07 ก.พ. 2023 5:36 am

"..ผู้ใดเชื่อธรรมผู้นั้นจะเจริญสมหวัง ผู้ใดเชื่อกิเลสตัณหาผู้นั้นจะนับวันล่มจมไปเรื่อยๆ จนจมมิดในที่สุด ไม่มีใครและอะไรช่วยได้ ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ไม่เคยโกหกโลก ก็พระเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกเต็มพระทัย จะเอาอะไรมาโกหกหลอกลวงสัตว์โลกเล่า นอกจากกิเลสซึ่งไม่เคยสงสารปรานีใครเท่านั้น มันจึงสนุกหลอกสัตว์โลกให้ล่มจมเรื่อยมา ไม่เคยนำความจริงมาสอนโลกเลย.."

โอวาทธรรมโดย
หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี
(พ.ศ. ๒๔๓๑ -๒๕๒๖)







#วัดจะดีไม่ใช่ดีเพราะโบสถ์สวย_หรือร่ำรวยด้วยทรัพย์อสงไขย
#แต่วัดดีเพราะพระเณรเก่งเคร่งวินัย_ยึดหลักใจอรหันต์เป็นสันดาน

"... นั่นเห็นไหมล่ะ ว่างั้น หรู ๆ หรา ๆ ฟู่ ๆ ฟ่า ๆ ว่าวัดนี้ดี ๆ มันมองข้ามอย่างนั้นซิ ถ้าย้อนมาหาหลักความจริง คือวัดจะดีไม่ใช่ดีเพราะโบสถ์สวย หรือร่ำรวยด้วยทรัพย์อสงไขย วัดไหนมีเงินมีทองข้าวของมาก ๆ แล้ววัดนั้นมีสง่าราศี น่าเกรงขามไปแล้ว เป็นเรื่องของกิเลส แต่วัดจะดีนี้เพราะพระเณรเก่งเคร่งวินัย ยึดหลักใจอรหันต์เป็นสันดาน ดีที่ตรงนี้ต่างหากไม่ได้ดีที่ตรงนั้น วัดจะดีไม่ได้ดีเพราะโบสถ์สวย ร่ำรวยด้วยทรัพย์นะ แต่วัดดีเพราะพระเณรเก่งเคร่งวินัย ยึดหลักใจอรหันต์เป็นสันดาน ผู้ยึดหลักชัยอรหันต์เป็นสันดาน จะเป็นผู้ได้ธรรมเลิศเลอ จนกระทั่งถึงอรหันต์ฝังหัวใจได้เลย

... นั่นละวัดดีดีอย่างนั้น มีข้อวัตรปฏิบัติ มีศีล
มีสมาธิ มีปัญญา มีศีลาจารวัตรประพฤติปฏิบัติตัวให้รอบคอบอยู่ด้วยศีลด้วยธรรมประจำตน รักษาตนตลอดเวลา นี่วัดดีดีอยู่ที่พระผู้ตั้งใจปฏิบัติ ไม่ได้ดีอยู่ที่อิฐที่ปูนที่หินที่ทรายนะ หลักความจริงเป็นอย่างนี้ เวลานี้เป็นยังไง ไปที่ไหนเป็นตลาดขึ้นมา ว่าจะสร้างวัดแล้วต้องสร้างตลาดขึ้นมาก่อน อันนั้นไม่มีอันนี้ไม่มี กุฏิ ศาลา โบสถ์ วิหาร ทุกอย่างให้มีเต็มไปหมดนั้นจึงจะเรียกว่าวัด แน่ะ ส่วนข้อวัตรปฏิบัติที่จะทำตัวให้มีหลักแน่นหนามั่นคง เป็นที่อบอุ่นแก่ตนและโลกนั้นไม่สนใจ แล้วจะดีได้ยังไงวัดแบบนั้น มันก็มีแต่อิฐแต่ปูนเท่านั้น พระเณรไม่ดีเอาอะไรเป็นประโยชน์ เป็นอย่างนั้นนะเดี๋ยวนี้ ครอบกันเข้า ๆ พากันจำเอานะทุกคนให้ไปปฏิบัติ

... ศาสนาของเรานี้เรียกว่าคงเส้นคงวาหนาแน่นตลอดเวลาสด ๆ ร้อน ๆ ด้วยมรรคผลนิพพาน ถ้านำไปปฏิบัติจะเป็นผู้ครองธรรมเหล่านี้ไม่สงสัย ในขณะเดียวกันกิเลสก็เป็น อกาลิโก มีตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ในหัวใจดวงเดียวกันนั้นแหละกับธรรมที่สถิตอยู่ เอื้อมไปทางกิเลส คิดไปทางกิเลสจะเป็นกิเลสขึ้นมาทันทีสด ๆ ร้อน ๆ เหมือนกันกับธรรมไม่ได้ผิดแปลกกัน ทั้งสองอย่างนี้เหมือนแขนซ้ายแขนขวา เอื้อมไปทางธรรมเป็นธรรม เอื้อมไปทางกิเลสเป็นกิเลส จากใจดวงเดียวนี้ เป็นอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นให้พากันเอื้อมไปทางอรรถทางธรรมบ้าง เราจะมีสาระเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตายตัวเอง ... "

หลวงตาพระมหาบัว_ญาณสัมปันโน
#ไม่มีภาคปฏิบัติก็ไม่เห็นแปลกประหลาดอะไร
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๕







ใครคิดร้ายต่อเราก็ช่างเขา แต่ถ้าถึงขั้นเอาไม้ หวดตีกายเรา ถ้าเรารู้จักเมตตาตัวเอง ก็ต้องหลบซิ เพราะถ้าให้เขาตีกายเรา จิตเราอาศัยมันอยู่ ก็ต้องเจ็บไปด้วย

แต่ถ้าเขาแค่คิด ยังไม่ได้ทำ ก็กรรมของเขา เขาทำแล้วเราหลบ เราแก้ไข แต่ไม่ได้ต่อกร ก็กรรมของเขาอีกนั่นแหละ

มันคนละกรรมกัน อย่าไปยุ่งให้จิตวุ่นวาย

หลวงปู่บุดดา ถาวโร







"10 คำสอน ของพระอาจารย์ ชยสาโร"

1. ทุกวันนี้เราก็เป็น "ชาวพูด" มากกว่า "ชาวพุทธ" พูดจริงแต่ไม่ค่อยทำ ชาวพูด พูดเฉยๆ เราไม่ได้เป็นชาวพุทธเพราะ "ทะเบียน" เราเป็นชาวพุทธเพราะ "ความเพียร" เราเพียรพยายามเลิกละสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม พยายามบำเพ็ญสิ่งที่ดีงามในชีวิต พยายามทำสมาธิภาวนาให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาในชีวิต

2. "บุญ" คือเครื่องชำระจิตใจ ให้เราขัดหรือลดอำนาจความโลภ โกรธ หลง ได้นั่นก็คือตัวบุญ บุญไม่สามารถประเมินได้ด้วยวัตถุ ไม่ใช่ว่าคนทำบุญพันบาท ได้บุญมากกว่าคนทำบุญร้อยบาท บุญไม่ได้ง่ายๆ อย่างนั้น แต่มันอยู่ที่เจตนาของความเสียสละในการสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้คนอื่น

3. ความสบายมันอยู่ที่ความพอดี คำว่า "พอดี" จึงเป็นปริศนาธรรมของพุทธ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องพยายามเข้าถึง เรายังไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพาน ไม่ต้องพูดถึง สุญญตา ความว่าง อะไรสูงส่งอย่างนั้น เราพูดถึงง่ายๆ ธรรมดาๆ คำนี้ก็พอแล้ว ทำอย่างไรชีวิตของเราจึงจะพอดี ทุกแง่ทุกมุมของชีวิต หากเรามีความพอดีก็จะสบาย

4. "คนดี" ในความหมายของพุทธศาสนาคือต้อง "ฉลาด" รู้เท่าทันคนด้วย คนที่ไม่รู้มักคิดว่าถ้าเป็นคนดีจะมองทุกคนในแง่ดีหมด แล้วจะถูกคนไม่ดีเอาเปรียบ ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้องของ "คนดี"

5. หลวงพ่อชาสอนว่าความสบายมี 2 อย่าง คือ ความสบายที่เป็นไปเพื่อความสบาย และ ความสบายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบาย บางทีเราต้องผ่านความไม่สบายก่อนเราจึงได้ความสบายที่มีคุณค่า เพราะความสบายบางอย่างถึงแม้ว่าจะให้ความสุขในปัจจุบันแต่ก็เกิดความไม่สบายในอนาคต เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวอย่างที่ดี เราอาจจะทำลายธรรมชาติเพื่อความสุขความสบายอยู่ในขณะปัจจุบัน หรืออาจจะทำเพื่อลูกเพื่อหลานของเราได้ โดยลืมเสียว่าลูกของเราหลานของเราก็จะมีลูกมีหลานเหมือนกัน การสงเคราะห์ลูกหลานของเราอาจเป็นการเบียดเบียนลูกของลูกๆ ที่ยังไม่ได้เกิด

6. ความทุกข์เกิดขึ้นในชีวิต ชอบโทษคนอื่นชอบเป็น "นักโทษ" โทษคนนั้นโทษคนนี้โทษพ่อแม่ โทษลูกหลาน โทษรัฐบาล โทษเศรษฐกิจ โทษอาหาร สิ่งที่โทษได้ในชีวิตมีนับไม่ถ้วน แต่ว่าทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เงื่อนไขหรือเป็นปัจจัยหรือเป็นจุดกระตุ้น ความทุกข์อยู่ที่ใจ

7. พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "ความเชื่อ" เหมือนของขมๆ เอาของขมไว้ในภาชนะเล็กๆ เช่น แก้วน้ำ จะทำให้น้ำในแก้วขมหมดเลย แต่สมมุติว่าเอาของขมนั้นไปไว้ในแทงค์น้ำใหญ่ๆ เปิดก๊อกชิมน้ำดื่มน้ำก็ไม่ขม แต่ไม่ใช่ว่าความขมหรือของขมหายไปเลย มันก็ยังมีอยู่เหมือนเดิมแต่ว่ามีก็เหมือนกับไม่มี เพราะสิ่งที่จืด สิ่งที่สะอาด สิ่งที่ไม่ขมมากกว่าเสียจนความขมนั้นเกือบจะไม่มีความหมาย ถ้าเราทำคุณงามความดีไว้มากไม่ใช่ว่าจะลบล้างกรรมเก่าหรือบาปอกุศลที่ไม่ดีได้ทั้งหมด แต่เหมือนกับว่าพลังหรืออำนาจของความดีจะมากกว่าพลังของความชั่วจนมีเหมือนกับไม่มี

8. ถ้าเป็นคนดีแล้วรำคาญคนที่ไม่ดี ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่ เลิกแล้วดูคนอื่นสูบก็ไปเทศน์ให้เขาฟัง นี่เรียกว่า "ติดดี" ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดี ท่านไม่ให้เราติด เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์แก่ใจ

9. พระพุทธศาสนาบอกว่าโกรธเขาคือ "เกิด" รักเขาคือเกิด อิจฉาเขาก็คือเกิด หลายคนบอกว่าไม่อยากเกิดอีกแล้ว แต่ยังพอใจจะไปโกรธคนนั้น อิจฉาคนนี้ มันขัดกันอยู่ในตัว ฉะนั้นต้องเบื่อที่จะไปอิจฉาเขา เบื่อที่จะไปโกรธเขา เบื่อที่จะไปอยากได้ อยากมี เกิดก็คือความเกิดของกิเลส ถ้าเราไม่อยากเกิด ก็อย่าให้กิเลสเกิด

10. ขอให้เราทุกคนเป็นผู้ไม่มีซีเคร็ต "ไม่มีความลับ" พระพุทธองค์สอนว่า "ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ต่อหน้าคนอื่นเป็นอย่างไร ลับหลังก็เป็นอย่างนั้น" หากไม่มีลับลมคมใน ไม่มีความลับ ไม่มีสิ่งไม่ดีที่ต้องปิดบังอำพราง เราจะอยู่ด้วยกันด้วยความไว้วางใจ มีความเคารพซึ่งกันและกัน.

พระอาจารย์ชยสาโร







ธุดงควัตรที่เกี่ยวกับการเยี่ยมป่าช้า

"เป็นธุดงค์เครื่องปลุกเตือนพระและหมู่ชน
มิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่ โดยเข้าใจว่า
ตัวจะไม่ตาย ความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อยตายไปอยู่ทุกเวลานั่นเอง เพราะคน
ที่ตายจนถึงกับย้ายบ้านใหม่ไปปลูกสร้างกันอยู่ที่ป่าช้าจนดาษดื่นแทบจะหาที่เผาและที่
ฝังกันไม่ได้ ก็ล้วนแต่คนที่เคยตายเล็กตายน้อยมาแล้ว เช่น พวกเราผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง
จะเป็นคนแปลกหน้ามาจากที่ไหน พอจะเห็น
ว่าเราเป็นคนที่แปลกกว่าเขา แล้วประมาทว่าตนจะไม่ตาย ที่ท่านสอนให้เยี่ยมญาติพี่น้อง
ผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน ก็เพื่อเตือนไม่ให้หลงลืมญาติพี่น้องอันดั้งเดิมในป่าช้านั่นเอง เพื่อจะได้ท่องบ่นไว้ในใจว่า เรามีความแก่
เจ็บ ตายอยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน ไม่มีใครจะกล้าอุตริเย่อหยิ่งตัวว่า จะไม่เกิด แก่ เจ็บ
ตายได้ เมื่อสายทางแห่งวัฏฏะที่ตนยังท่องเที่ยวเรียนสูตรอยู่ยังไม่จบ.."

พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร








#หลวงปู่ท่อน #ญาณธโร——-ไปยืนดูสมมติอยู่ เป็นเรื่องปวดหัวจริงๆ ทวนกระแสเข้ามาหาตัว ว่าตัวไปรับรู้อะไรบ้าง มากมายขนาดไหน ไม่มีอะไรน่ายึดถือ จะไปหายึดอะไรกันนักหนา

ถ้าไม่ยึดไม่ถืออะไรเลย วางได้แล้ว ถ้าปล่อย ถ้าวางแล้ว ใจก็ว่าง อยู่ด้วยความว่าง

ถ้าใจวางก็เหมือนคนตายแล้ว ไม่มีอะไรจะยึดถือ ว่าง…วางเฉย

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร






"ทุกๆ คนทำกรรมใดไว้ กรรมนั้น
ย่อมให้ผลในปัจจุบันบ้าง ในภายหน้าบ้าง
ในเวลาต่อๆ ไปบ้าง ตามแต่กรรมนั้นๆ
จะหนักเบาอย่างไร ท่านเปรียบเหมือนอย่าง
ยืนอยู่บนที่สูง และโยนสิ่งต่างๆ มีก้อนหิน
ก้อนดิน กิ่งไม้ ใบหญ้าลงมา ของที่มีน้ำหนักมาก
ย่อมตกลงสู่พื้นดินก่อน ส่วนกรรมที่หนักน้อยกว่า
หรือเบากว่า จะให้ผลตามหลัง"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
ตอบกระทู้