Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อริยทรัพย์

เสาร์ 21 พ.ค. 2022 8:21 am

…บุญที่ทำทุกวันนี้
จะเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมด
และเป็นประโยชน์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย

.พยายามทำไปเรื่อยๆ
ทำทุกวันได้ก็ยิ่งดี ทำให้เป็นนิสัย
ถ้าไม่มีพระมาบิณฑบาต
ก็เอาเงินใส่กระปุกไว้ก่อนก็ได้

.เวลาไปวัดทำบุญ
ก็เอาเงินที่ใส่กระปุกมาทำ
ไม่อย่างนั้นจะอ้างว่าไม่มีเงิน
ควรเก็บเงินไว้ทำบุญวันละเล็กวันละน้อย

.วันละ ๕ บาท ๑๐ บาท เก็บไปเรื่อยๆ
พอถึงวันเกิด วันสำคัญทางศาสนา
หรือวันพระ อยากจะไปวัดก็จะมีเงินทำบุญ
อ้างไม่ได้ว่าไม่มีเงินทำบุญ

.ทำบุญให้ติดเป็นนิสัย
แล้วบุญจะสนับสนุนเราในอนาคต
ให้มีแต่ความเจริญก้าวหน้า
ไปจนถึงขั้นสูงสุด.
………………………………………
.
กำลังใจ ๕๘ กัณฑ์ที่ ๔๔๔
๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






นักปฏิบัติมักอยากจะลืมตัวลืมใจลืมธรรม เมื่อคุ้นเชื่องกับบิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย และอุปัชฌาย์อาจารย์เข้าบ้างแล้ว มักจะตีเสมอ ขาดคารวะ เห็นมีอยู่ดาษดื่นเต็มโลก ขายไม่ออก บอกไม่ได้ ใช้ไม่ฟัง หลวงปู่มหา(หลวงตาพระมหาบัว) ได้เตือนข้าพเจ้าไว้เสมอๆ ในคราวหนองผือ หลวงปู่มั่น ข้าพเจ้าจำไว้ได้ไม่ยอมลืมเลย จึงได้เขียนไว้เป็นมรดกของลูกๆ หลานๆ ผู้หวังคนอนาคต มิฉะนั้นคำสอนตอนนี้ อันเป็นเนื้อธรรมล้วนไม่มีกระดูกและก้างปนเจือก็จะอันตรธานหายไปจากโลก จะมีแต่กุลบุตรกุลธิดาสะสมความเย่อหยิ่งจองหองอวดดี

องค์หลวงปู่หล้า เขมปัตโต






"... การคอยรับบุญผู้อื่น เหมือนดื่มน้ำที่
ติดก้นแก้ว
... ดื่มเท่าใดก็ไม่อิ่มสักที คนมีสติมีธรรม ปัญญาธรรม
... ย่อมฉลาดที่จะสร้างบุญ​ ด้วยตนเอง
เหมือน
... การเติมน้ำใส่แก้ว หิวเมื่อใด ดื่มได้อิ่ม
ชื่นใจฉันนั้น​ ..."

#หลวงตามหาบัว_ญาณสันปันโน






“บุญเป็นอริยะทรัพย์ติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ทรัพย์สินเงินทองที่เราหามาได้สุดท้ายก็จากเราไปในวันที่เราหมดลมหายใจ “แต่ บุญ”ที่เรากระทำมาจะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ”

โอวาทธรรมองค์หลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม






ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ให้พวกเราเทิดทูนบูชาไว้ แต่ละองค์ท่านต้องมีดี แต่จะให้เป็นอย่างที่ใจเราต้องการนั้นเป็นไปไม่ได้ และบางครั้งท่านก็มีตึงมีหย่อนบ้างกับบางคนเป็นธรรมดา การตึงหรือหย่อนนั้น พวกเราก็ไม่รู้ว่านั่นท่านมีความหมายอะไร แต่ไม่ว่าจะตึงจะหย่อนหรือทำอะไรตรงไปตรงมาหรือทำอะไรทุกอย่าง ท่านต้องพิจารณาความพอดี ท่านต้องมองว่า บุคคลคนนี้ควรทำกับเขาอย่างไร บุคคลคนนี้ควรจะจัดการหรือจะดุด่าว่ากล่าวอย่างไร สิ่งเหล่านี้มันเป็นความพอดี แล้วการวางมาตรฐานนั้นท่านเองเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์

เหมือนกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ บางคนเข้ามา พระบางองค์เข้ามา ท่านก็ไม่ดุด่าว่ากล่าว เหมือนปู่กับหลานคุยกัน แต่บางองค์เข้ามานี่ขึงขังเหมือนกับปลากัดเลย เพราะเหตุอะไร เพราะทิฏฐิมานะไม่เหมือนกัน บางคนที่เข้ามานั้นมีนิสัยอ่อนน้อม จะไปดุด่าว่ากล่าวก็ไม่ได้ บางคนนิสัยแข็งกระด้าง จะไปพูดแบบอ่อนโยนก็ไม่ได้ ท่านต้องก็มองอีก มันจะมาเหยียบท่าน ไม่ได้มาเหยียบทางกายมันก็เหยียบทางใจ ท่านก็ต้องเข่นเอาไว้ก่อน ขู่เอาไว้ก่อน เผลอๆยังขู่ไม่ให้เข้ามาใกล้อีกต่างหาก ก็เพราะเหตุไร ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องของท่านเอง เป็นสิทธิของท่านเองที่จะวางตัวอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเราจะจับจุดใดจุดหนึ่งเอามาติฉินนินทาท่าน ไม่ว่าการกระทำหรือการประพฤติของท่าน มันก็เป็นความโง่เขลาของผู้นึกคิดเท่านั้นเอง

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “ยึดปฏิปทาครูอาจารย์เป็นแบบอย่าง”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑





ดับตัณหาไม่ให้เหลือซะทีเดียว จึงจะถึงพระนิพพาน

หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
ตอบกระทู้