Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ฝึกแปดอย่าง

พุธ 19 ธ.ค. 2018 6:00 am

อุเบกขาต่างจากความเฉยเมย ตรงที่ มีความตื่นรู้อยู่ตรงนั้น ความเฉยเมยแบบไม่ยินดีไม่ยินร้าย จะเป็นการไม่ยอมรับ ไม่ยอมคิด ไม่อยากยุ่ง ซึ่งเป็นอาการของโมหะ ส่วนการอุเบกขาของจิตที่เจริญในธรรมคือ รู้เห็น เห็นชัด แต่จิตใจไม่หวั่นไหว ฉะนั้นถ้าเราอยากจะรู้เห็นอะไรตามความเป็นจริง จิตจะต้องตั้งมั่นโดยสมาธิ

อาการของสมาธิคือ รู้อยู่ในปัจจุบัน ถ้าอยากจะทราบว่าการปฏิบัติธรรมถูกทางหรือไม่ถูกทาง ให้ดูตรงจุดนี้ ถ้าขาดตัวรู้นี่ แสดงว่าไม่ใช่แล้ว มันเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ตัวรู้ ตื่นรู้ ในตัวพุทธะต้องปรากฏชัด

อานิสงส์ของสมาธิคือ การรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว อานิสงส์ที่ได้คือ #นิพพิทา หรือ #ความเบื่อหน่ายในความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่เบื่อหน่ายในสิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้ แต่เป็นความเบื่อหน่ายในความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ

พระอาจารย์ชยสาโร



อย่าไปอยู่ใกล้พระอรหันต์นาน
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก
ที่ได้เมตตา ตักเตือนศิษย์ฯ
ซึ่งแน่นอนว่า ใครๆฟังประโยคนี้แล้ว มักจะรู้สึกขัดๆ เพราะคนส่วนใหญ่ มักเชื่อว่า อยู่ใกล้พระอรหันต์ หรือ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนานๆ ก็น่าจะยิ่งดีสิ จะได้ใกล้ชิดแหล่งบุญ ใกล้ชิดแหล่งธรรมะ ใครอยู่ใกล้ชิดท่าน ถือว่ามีบุญมาก
แต่ความละเอียดรอบคอบของหลวงปู่ ท่านมีมากกว่าเรามาก ท่านจึงมองเห็น จุดที่เรามองไม่เห็น หรือ มองข้าม
เราลืมตระหนักว่า ที่ๆเป็น “เนื้อนาบุญ” อันเยี่ยม ก็ย่อมเป็น “เนื้อนาบาป” ไปพร้อมกันด้วย
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสรับรองว่าการล่วงเกินพระอริยเจ้านั้นเป็นกรรมหนัก
ตัวอย่างเช่น...นางขุชชุตตรา ที่อดีตชาติ เคยเอ่ยปากให้ พระภิกษุณี ที่มาเยี่ยมที่บ้าน ส่งตระกร้า(เครื่องสำอาง)ให้
กรรมนี้ ทำให้นางขุชชุตตรา ต้องเกิดเป็นชนชั้นทาส อยู่หลายภพชาติ ฯลฯ นี่กรรม ที่ดูเล็กน้อย(ในสายตาของเราๆ)ยังส่งผลถึงเพียงนี้ ดังนั้น หลวงปู่ท่าน จึงเมตตาปกป้องลูกศิษย์ท่าน ไม่ให้ได้บาป โดยให้มีความละเอียดละออ ในเรื่องเหล่านี้ ขนาดว่าการเอ่ยปาก ให้ครูบาอาจารย์หยิบซอง(เพื่อจะใส่ปัจจัยทำบุญ)หลวงปู่ก็ยังให้หลีกเลี่ยงเลย
หลวงปู่ดู่ท่านจึงสอนไม่ให้อยู่ใกล้พระอรหันต์นาน
เพราะโดยธรรมชาติของจิต ที่ขาดปัญญา หากมีโอกาสได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์นานๆแล้ว ก็มักเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็นศิษย์ใกล้ชิด หรือศิษย์ก้นกุฏิ สามารถพูดหยอกล้อ พูดไหว้วานให้ท่านหยิบโน่น ทำนี่ให้ หรือ ถึงขนาดหยิบฉวยของในกุฏิท่าน(ซึ่งถือเป็นของสงฆ์)ได้ตามอำเภอใจ
ในสมัยหลวงปู่มีชีวิต ก็เคยมีศิษย์ทำนองนี้ให้ได้เห็น ซึ่งบางครั้ง นอกจากจะหยิบพระ หรือ วัตถุมงคลที่ท่านทำเอาไว้แจกกำนั่งสมาธิ ออกไปจากกุฏิโดยพลการแล้ว หนักเข้า ก็หยิบแจก คนโน้น คนนี้ ตามชอบใจ แล้วค่อยมาบอกกล่าวหลวงปู่ในภายหลัง(เข้าทำนอง แจ้งเพื่อทราบ มิใช่ กราบเรียนขออนุญาต)
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน มิให้คนใกล้ตัวท่าน ต้องสะสมบาปโดยไม่รู้ตัว หากหลวงปู่ท่านสอนได้ ท่านก็จะสอน หากสอนไม่ได้เพราะทำตัวเป็นน้ำล้นถ้วย ไม่ฟังคำตักเตือนของใครๆ หลวงปู่ท่าน ก็จำต้องเอ่ยปาก ให้ออกไปเสียจากวัดสะแก
คำว่า “อย่าไปอยู่ใกล้พระอรหันต์นาน” เป็นโอวาทที่หลวงปู่มอบให้ เพื่อไม่ให้พวกเราขาดทุนกำไร
ไปวัด ไปกราบ ไปสนทนากับครูบาอาจารย์ ก็ให้ได้บุญล้วน ๆ อย่าได้มีบาปกลับบ้านไปเลย น้อยหนึ่ง ก็อย่าให้มี
ให้ตระหนักว่า สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ถ้าเป็นศิษย์(ก็ทำตัวเป็นศิษย์ใหม่อยู่เสมอ)ไม่ลามปามหรือตีตัวเสมอ
ถ้าเป็นพระ ก็ทำตัวเป็นพระนวกะ(พระบวชใหม่)อยู่เสมอ เพราะธรรมชาติของพระบวชใหม่ มักมีความสำรวมระวัง กลัวจะผิดศีลข้อนั้นข้อนี้
ไม่ควรทำตัวแก่วัด แก่ครูบาอาจารย์ เพราะจะทำให้ขาดความสำรวมระวัง เอาครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนเล่น กล้าพูดสวนและวานใช้ครูบาอาจารย์ หรือ หยิบฉวยของๆท่าน ไปโดยพลการ

โอวาทธรรม : หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา





วิธีฝึก 8 อย่าง จะได้ไม่ "ทุกข์"

1. ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่า จงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา อย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป

2. ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่า การสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย

3. ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่า อย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบมีจริง

4. ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่งๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดีๆ หมายความว่า ถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูด หรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำ และขุ่นมัว

5. ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่า อะไรๆ ก็ผ่านไปเสมอ หมายความว่า เวลามีความสุข ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้น ก็ให้รู้ทันว่า เรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย

6. ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่อง ของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า "เรามาถูกทางแล้ว" แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา

7. ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจาก ความเป็นขี้ข้าของเงิน หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้ว ก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน

8. ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่า การที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้าง เป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้า คนๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูบาอาจารย์
(สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อมฺพรมหาเถร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆบริณายก)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ กรุงเทพมหานคร
ตอบกระทู้