Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ความดีนั้นต้องทำอยู่เสมอ

อังคาร 14 ส.ค. 2018 5:10 am

"โลก ไม่มีดี ไม่มีเลวในตัวของมันเอง
มองโลกให้เป็นกลาง จึงจะเห็นความจริง

ความเลว หรือความดีของสิ่งใดๆ
อยู่ที่ใจไปแยกแยะกำหนด

เมื่อใดที่จิตว่าง จึงจะได้เห็นโลกทั้งหลาย
ไร้ความหมาย ด้วยประการทั้งปวง"

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต




"ความดีนั้น เราต้องทำอยู่เสมอ
ให้เป็นที่อยู่ของจิต เป็นอารมณ์ของจิต
ให้เป็นมรรค คือ ทางดำเนินไปของจิต
มันจึงจะเห็นผลของความดี

ไม่ใช่เวลาใกล้จะตาย จึงนิมนต์พระไปให้ศีล
ให้ไปบอกพุทโธ หรือตายไปแล้ว ให้ไปรับศีล
เช่นนี้ เป็นการกระทำที่ ผิดทั้งหมด

เหตุว่าคนเจ็บ จิตมัวติดอยู่กับเวทนา
ไฉนจะมาสนใจไยดี กับศีลได้
เว้นไว้แต่ ผู้ที่รักษาศีลมาเป็นปกติเท่านั้น
จึงจะระลึกได้ เพราะตนเองเคยทำมา
จนเป็นอารมณ์ของจิตแล้ว

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ




"มารดาบิดา เป็นพระพรหมของลูก
ลูกจะลงนรก หรือขึ้นสวรรค์
ก็แล้วแต่การสร้างสรรค์ของมารดาบิดา"
ท่านพุทธทาสภิกขุ







“มัคคสมังคีสมัยวิมุตติ” มีเฉพาะในภูมิของ “พระอริยะ” เท่านั้น เป็นของ "แต่งเอาไม่ได้"

แต่งได้แต่ “มัคคปฏิปทา” คือ “สมถะ” และ “วิปัสสนา” เท่านั้น เมื่อ "ธรรมทั้งสอง" นั้นมี "กำลังสม่ำเสมอไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน" แล้วเมื่อไร “มัคคสมังคีสมัยวิมุตติ” ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น, เมื่อ "เกิดขึ้นครู่หนึ่งขณะหนึ่ง" แล้วก็ "หายไป".

“พระเสขบุคคล” ก็ดำเนินมัคคปฏิปทาขั้นสูงต่อๆ ไป อย่างนั้นอีกเรื่อยๆ ไป, ถ้าเป็น “พระอเสขบุคคลแล้ว” มัคคปฏิปทานั้น ก็เป็น “วิหารธรรม” ใน “ทิฐิธรรม” หรือ “สัลเลขปฏิปทา” ของท่านต่อไป.

ท่านแสดงไว้ใน “อภิธัมมัตถสังคหะ” ว่า พระอริยมรรคของพระอรหันต์ ทำหน้าที่ “ปหานกิเลส” ทั้งหลายมี “อุปธิกิเลส” เป็นต้นแล้ว "ผลก็เกิดขึ้น" ในลำดับครู่หนึ่งแล้วก็ "หายไป"

แท้จริงของ ๒ อย่างนี้, แต่งเอาไม่ได้, คือ ภวังคจิต ๑, มัคคสมังคี ๑, แต่ “ภวังคจิต” ถึงแต่งเอาไม่ได้ก็จริง, แต่เข้าถึง “ที่เดิม” ได้บ่อยๆ, เพราะ “ภวังคจิต” มี “อุปธิ” ยึดมั่นอยู่ในภูมินั้นๆ, ส่วน “มัคคสมังคี” ไม่มี “อุปธิ” เข้ายึดมั่นเฉพาะในภูมินั้นๆ เสียแล้ว.

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี







คนเรามัวแต่เพลิดเพลิน
มันแก่ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้
มัวแต่ทำงานเพลิน
แก่ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม
วันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐






การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการออกกำลังกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังคือ การออกกำลังกายบริหาร มี การกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง
การทำจิตใจให้มีกำลัง คือ ทำจิตใจให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน

โอวาทธรรม หลวงปู่ชา สุภัทโท







ให้รักษาศีลนะ เรียนจบแล้วมาบวชด้วยกัน
ทางต่ำมีแต่คนแย่งกันไป
ส่วนทางสูงไม่มีใครอยากจะไปเลย
ผิดศีลข้อหนึ่ง ก็ไปนรก
ผิดศีลข้อสองก็ไปเป็นเปรต
ผิดศีลข้อสามก็ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ส่วนข้อสี่กับข้อห้า นี้เป็นวิกลจริตเป็นไปหมดเลย
สิ่งไหนที่จะไปทางต่ำพระพุทธเจ้าท่านห้ามไว้

หลวงปู่อว้าน เขมโก
ตอบกระทู้