Switch to full style
รวมบทความที่น่าสนใจต่าง ๆ จากนักเขียนชื่อดัง และ ผู้ที่ทรงภูมิความรู้มากมาย
ตอบกระทู้

ความรู้ที่แท้จริงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อังคาร 29 พ.ย. 2011 4:12 pm

ทำไงได้เมื่อ 'เพื่อไทย' มีนายเช่นนี้

เปลว สีเงิน 28 พฤศจิกายน 2554 - 00:00

คราสในภพที่ ๘ ของดวงเมือง คือราศีพิจิก เมื่อ ๒๕ พ.ย.๕๔ ผ่านไป วันนี้-เราก็ต้องสูญเสียประมุขสถาบันตุลาการ "ท่านมนตรี ยอดปัญญา" ประธานศาลฎีกา ไปเมื่อกลางดึกคืนวันที่ ๒๖ พ.ย.๕๔ ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ก็ขอแสดงความอาลัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย การสวดพระอภิธรรมจะมีไปจนถึงวันที่ ๓ ธ.ค. ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร จากนั้นเก็บศพไว้ ๑๐๐ วัน

เป็นไงครับ เมื่อวาน-เป็นวันอาทิตย์ส่งท้ายสมัยประชุมสภาด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ. ก็ได้ดู-ได้รู้-ได้เห็น แต่ละบทบาท แต่ละจิตสำนึก แต่ละนิสัยสันดาน ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน-ผู้ซักฟอก และฝ่ายรัฐบาลที่ถูกซักฟอกกันไปแล้ว

ผมว่าแค่ได้ดู-ได้ฟังก็พอแล้ว ไม่ต้องลุ้นผลโหวตเช้าวันนี้ (๒๘ พ.ย.) หรอกว่า "ภาคสภา" พล.ต.อ.ประชาจะพ่ายหรือจะผ่าน แต่ในภาคประชาชนผู้ฟังการอภิปราย รัฐบาล-โดย พล.ต.อ.ประชา ผู้รับหน้าเสื่อแทนยิ่งลักษณ์

ไร้ราคายิ่งกว่า "เศษเนื้อข้างเขียง" ซะอีก!

ความจริงนั้น ถ้ารัฐบาลนี้เกิดตามครรลองประชาธิปไตยคุณภาพ พล.ต.อ.ประชาก็จะไม่ตกอยู่ในสภาพนี้ ส.ส.เพื่อไทยที่รับบทองครักษ์ก็จะไม่ต้อง "ป่วนอภิปราย" จนกลายเป็นตัวสังคมขยะแขยงแบบนี้ เพราะจะต้องมี "นายกฯ" ที่สมบูรณ์ด้วยศักยภาพแห่งปัญญา และเดชาในสนามรบ

เมื่อมีแม่ทัพคือนายกฯ ที่สมบูรณ์แล้ว พล.ต.อ.ประชา ซึ่งเป็นแค่ผู้ตาม ก็จะไม่ต้องมาทำงานในหน้าที่ผู้นำที่ตัวเองไม่มีคุณสมบัติทำได้ คืองานนำทัพรับศึกน้ำท่วม นั่นก็จะไม่ต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งดังที่เป็น

แต่ทำไงได้ เมื่อ ส.ส.เพื่อไทยทั้งพรรคพอใจยก "น้องสาวเจ้าทรัพย์" เป็นหัวหน้า ทุกอย่างมันจึงเป็นไปตามตรรกะ ภายใต้ธงรบแม่ทัพที่ขาดเขลาเบาปัญญา กองทัพย่อมคลาคล่ำด้วยทหารกระหายโหดและโฉดชั่ว

"ทหารกร้าน" กับ "ทหารกล้า" มันคนละแบบ!

เอาหละ...ขอชมการทำหน้าที่ท่านหนึ่งคือ "นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ" รองประธานสภา ส.ส.พะเยา ที่ทำหน้าที่ประธานในการประชุมวานนี้ ท่านเป็นคนที่สังคมไม่ได้หวังสูง แต่การทำหน้าที่ครั้งนี้ของท่าน "เยี่ยมที่สุด" ผมชื่นชม และคารวะท่านครับ

ดูเขาสัประยุทธ์กันยังไม่เสร็จ ดังนั้น วันนี้ขออนุญาตลอก "สกู๊ปหน้า ๑" นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๕ พ.ย.๕๔ มาให้อ่านกัน เพราะเขาได้ค้นคว้าหาข้อมูลที่มาของน้ำและเรียบเรียงไว้ดีที่สุด อ่านแล้วตัดเก็บไว้เลยนะครับ

แกะรอยน้ำท่วม ๕๔
บันทึกไว้ก่อนเลือน/ไทยรัฐ ๒๕ พ.ย.๕๔

อภิมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นยังเป็นวาทะถกเถียง เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่นไม่จบสิ้น หาผู้หาญกล้ายืดอกแสดงความรับผิดชอบไม่ได้เหมือนปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ มีทั้งโทษธรรมชาติปีนี้มีพายุพัดเข้ามาก รวมทั้งคิดไกลมองเป็นเกมการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้ จับมือกับพระพิรุณปล่อยฝนตกหนัก แล้วแอบกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อน ไม่ยอมปล่อยระบาย วางยารอท่ารัฐบาลใหม่จะได้สำลักน้ำท่วมเสียความนิยมทางการเมือง ข้อครหาสาดโคลนกันไปมาเป็นเรื่องจริง หรือจินตนาการเพื่อโบ้ยผิดให้พ้นตัว

สังคมข้อมูลข่าวสารสารพัดสื่อยุคนี้ เป็นเรื่องยากที่คนไทยจะรู้ได้เท่าทัน นอกจากจะต้องย้อนรอยไปดูความเป็นมาของมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ในยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเก่ากับรัฐบาลใหม่

มหาอุทกภัย 2554...ประเทศไทยเจอพายุซัดเข้ามาถึง 5 ลูกเต็มๆ เกินปัญญาจะรับไหว จริงเท็จแค่ไหน

บันทึกข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในหัวข้อ "ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ.2554” มีพายุเกิดขึ้นทั้งหมด 34 ลูก...แต่มีพายุที่พัดเข้ามาแถวบ้านเราแค่ 5 ลูก

ลูกแรกเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน พายุ "ไหหม่า” ตามด้วย "นกเตน” ตอนปลายเดือนกรกฎาคม เว้นระยะพักไปเกือบ 2 เดือน มาในช่วง 23 ก.ย.-5 ต.ค. มีพายุก่อตัวไล่ตามกันมาติดๆ ถึง 3 ลูก นั่นคือ "เนสาด” ตามติดด้วย "ไห่ถาง” และปิดท้ายด้วย "นาลแก”

แต่พายุ 5 ลูกที่ว่านั้น...ไม่ได้พัดเข้าไทยแบบเต็มๆ ทั้ง 5 ลูกแต่อย่างใด

"ไหหม่า” พายุลูกแรก พัดจากฟิลิปปินส์มุ่งหน้าทางตะวันตกเฉียงเหนือ ขึ้นเกาะไหหลำแล้วโฉบลงมาเข้าเวียดนาม อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันถึงจะเข้าลาว...26 มิ.ย. มาถึงไทยสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ยิ่ง "เนสาด-ไห่ถาง-นาลแก” แม้จะเป็นพายุ 3 ลูก ที่ก่อตัวขึ้นมาในเวลาใกล้เคียงกัน แต่อิทธิพลความรุนแรงต่อไทยสู้ไหหม่าไม่ได้ เพราะเนสาดออกจากฟิลิปปินส์ มุ่งหน้าไปทางเหนือของเกาะไหหลำแล้วเข้าจีนไปเลย ส่วนไห่ถาง ก่อตัวในทะเลทางใต้ของฮ่องกง พัดหมุนวนอยู่ในทะเลใกล้เวียดนามตอนเหนือ หมุนวนอยู่อย่างนั้น 4 วัน (24-27 ก.ย.) แล้วสลายตัวขึ้นฝั่งเวียดนามกลายเป็นดีเปรสชัน พอเคลื่อนเข้าลาวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนจะเข้าไทย

นาลแกมิต่างกัน แรกๆ ตั้งท่ามาแรง เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นถล่มฟิลิปปินส์แรงได้วันเดียว ลดระดับฮวบฮาบลงมาเป็นพายุโซนร้อนธรรมดา เกรดต่ำกว่าไต้ฝุ่น จากนั้นโฉบไปขึ้นเกาะไหหลำ แล้วดาวน์เกรดลงมาเหลือสถานะแค่ดีเปรสชัน จากนั้นวกลงใต้ขึ้นฝั่งเวียดนามที่เมืองดองฮอย สลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำก่อนจะเข้าลาวและไทยอีกเช่นกัน

ในบรรดาพายุ 5 ลูกที่กล่าวอ้าง มีแค่ "นกเตน” เจ้าเดียวเท่านั้นที่พอจะพูดได้ว่าเป็นพายุที่พัดเข้าประเทศไทย...เพราะตอนพัดเข้าเวียดนามก่อนจะเข้าลาวยังมีสถานะเป็นพายุโซนร้อน ออกจากลาวจะเข้าไทยได้ลดระดับเป็นดีเปรสชัน...แต่ก็แค่วันเดียวมาถึง จ.น่าน สลายกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ถึงจะแค่ดีเปรสชัน...แต่พอจะคุยกับคนไม่รู้เรื่องอุตุนิยมวิทยาได้ว่า ประเทศไทยมีพายุพัดเข้ามาเหมือนกัน น้ำจึงได้ท่วมเป็นมหาอุทกภัย

ในขณะที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์เจอพายุตัวแม่ของจริงไปเต็มๆ...แต่ไฉนถึงไม่เป็นข่าววิกฤติระดับโลก น้ำท่วมมาราธอนยาวนาน 3-4 เดือนเหมือนไทยเรา

ส่วนปมประเด็นพระพิรุณรับจ๊อบนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามวางยาเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อน ในช่วงรอยต่อรัฐบาลเก่ารัฐบาลใหม่...เท็จจริงเป็นเช่นไรต้องแกะรอยปริมาณน้ำในเขื่อน ที่ประชาชนธรรมดาสามารถหาสืบค้นได้ในเว็บไซต์ ...ได้ทั้งของกรมชลประทาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและเกษตร (องค์การมหาชน) ไม่ต้องดูทุกเขื่อนทั่วไทย...ดูกันแค่เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์ก็พอ เพราะเป็นที่ถูกกล่าวหามากที่สุด

เริ่มต้นจ้องมอง...ดูปริมาณน้ำวันประกาศยุบสภาฯ 5 พ.ค.54

วันนั้น ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีอยู่ 45% ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีอยู่ 50%...ผ่านไปเดือนครึ่ง ก่อนไหหม่าจะพัดมา น้ำในเขื่อนภูมิพลมีอยู่ 55% เขื่อนสิริกิติ์ 54%

หลังไหหม่าสลายตัวไป 7 วัน และก่อนเลือกตั้ง 1 วัน...2 ก.ค.54 น้ำในเขื่อนภูมิพลเพิ่มมาเป็น 58% ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำเพิ่มเป็น 64% ยังเก็บน้ำได้อีกเยอะ

ห้วงเวลาถัดมา คนไทยรู้กันแล้วว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี 29 ก.ค.54 ก่อนดีเปรสชันนกเตนจะถึงไทย...น้ำในเขื่อนภูมิพลมีอยู่ 63% เขื่อนสิริกิติ์ 77%

5 ส.ค. สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี...เป็นวันที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีบันทึกไว้ว่า เป็นวันสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นการเริ่มต้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

8 ส.ค. มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ดีเปรสชันนกเตนสลายตัวไป 8 วันแล้ว...ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลเพิ่มมาอยู่ที่ 69% เขื่อนสิริกิติ์ 85%

ปริมาณน้ำขนาดนี้มากเกินไปหรือไม่...ยังไม่อันตราย เพราะขีดความสามารถการรับน้ำของเขื่อนนั้นรับได้ 100% และต่อให้เกิน 100% ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาจ่อสันเขื่อนก็ยังรับได้ แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่ม จะเก็บกักกันแค่ 100% เพราะถ้าปล่อยให้เกิน 100% แรงดันน้ำจะกดทับประตูจนไม่สามารถเปิดประตู Spillway ได้นั่นเอง

25 ส.ค. รัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศได้เต็มสูบ...ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีอยู่ 75% เขื่อนสิริกิติ์ 93% และเป็นวันแรกที่เขื่อนสิริกิติ์เริ่มระบายน้ำผ่าน Spillway วันละ 7.35 ล้านคิว นอกเหนือจากระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ระบายอยู่แล้ว วันละประมาณ 50-60 ล้านคิว มาตั้งแต่ 4 ส.ค.54

ส่วนเขื่อนภูมิพลปริมาณน้ำอยู่ที่ 75% การระบายน้ำล้นยังไม่ได้ทำ มีแต่ระบายน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าวันละ 20-30 ล้านคิวอยู่แล้ว

สถานการณ์ขณะนั้นน้ำท่วมยังคงอยู่แถวสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร...คงจำกันได้ 28 ส.ค. 54 ชื่อ "บางระกำโมเดล” มาโผล่เอาตอนนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยไปเยี่ยมเยียนแจกถุงยังชีพแถวนั้น ทัพน้ำยังมาไม่ถึงนครสวรรค์สักเท่าไร ให้บังเอิญเวลานั้นหลังจากนกเตนสลายตัว ไม่มีพายุไหนพัดเข้ามาอีกเลย...รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ พายุเว้นวรรคให้ลืมน้ำท่วมไปได้ถึง 2 เดือน

วุฒิภาวะตระหนักภัยรับมือน้ำท่วมเลยจืดจาง ปล่อยให้มหาดไทย สิงห์คลองหลอดขยันใช้งบฉุกเฉินซื้อถุงยังชีพแจก รับหน้าสื่อแก้ปัญหา...ส่วนรัฐบาลหันไปให้ความสำคัญเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่าแทน

27 ส.ค. ลดราคาน้ำมัน, 6 ก.ย. ย้ายเลขาธิการ สมช.เพื่อจะได้โยก ผบ.ตร.มานั่งแทนแล้วดันญาติมาเป็นใหญ่ใน สตช., 13 ก.ย. รถยนต์คันแรก, 20 ก.ย. บ้านหลังแรก

และแล้ววันเวลาหลงละเลิงประชานิยมต้องหยุด เมื่อ 3 พายุก่อตัว อาละวาดในช่วงเวลาไล่ๆ กัน เนสาด (23-30 ก.ย.), ไห่ถาง (24-27 ก.ย.), นาลแก (26 ก.ย.-5 ต.ค.) พร้อมๆ กับน้ำท่าเริ่มรุกเข้านครสวรรค์-อุทัยธานี-ชัยนาท-อ่างทอง-สิงห์บุรี-ลพบุรี-อยุธยา

5 ต.ค.54 เริ่มมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลทางประตูน้ำล้นวันละ 40 ล้านคิว เพิ่มเติมจากที่ระบายเพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว 60 ล้านคิว เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นมาเป็น 98% ของความจุเต็มอ่าง ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ปริมาณน้ำอยู่ที่ 99% แต่ไม่ระบายน้ำล้น ระบายแค่เพื่อผลิตไฟฟ้าวันละ 60 ล้านคิว

6 ต.ค. น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, 7 ต.ค. เทศบาลอโยธยาใจกลางเมืองอยุธยาจมบาดาล...และผู้นำเพิ่งตั้งหลักได้ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นที่สนามบินดอนเมือง

8 ต.ค.น้ำทะลักแนวกั้นนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และอีกหลายนิคมอุตสาหกรรมจมน้ำตามมา เพราะเอาอยู่...จนกลายเป็นตำนานให้เล่าขานไปอีกนาน

พระพิรุณรับจ๊อบ หรือคนมีจ๊อบแต่ทำไม่เป็น...ทั้งที่มีอำนาจเต็มตัวและมีเวลาให้รับมือถึง 2 เดือน

เมื่อมีปัญญาคิดทำได้เท่านี้...สมควรแล้วที่ต้องโทษผีสางเทวดา

-สกู๊ปหน้า ๑ ไทยรัฐ

Re: ความรู้ที่แท้จริงจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

อังคาร 29 พ.ย. 2011 4:37 pm

อาเปลว สู้ ๆ อาเปลว สู้ ๆ
ตอบกระทู้