Switch to full style
รวมบทความที่น่าสนใจต่าง ๆ จากนักเขียนชื่อดัง และ ผู้ที่ทรงภูมิความรู้มากมาย
ตอบกระทู้

หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร วัดนาอุดม (๑)

พุธ 17 มิ.ย. 2009 12:54 pm

หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร วัดนาอุดม ตอน ปราชญ์แท้ ไม่คุยฟุ้ง อวดตน คนเก่ง ย่อมทะนง อยู่อย่างเงียบ (๑)
โดย ศิษย์กวง จาก http://www.oknation.net/blog/sitthi/2009/05/27/entry-3
1.jpg
1.jpg (23.77 KiB) เปิดดู 2611 ครั้ง
มณีโชติแก้ว มหานิลดวงประเสริฐ

บ่ มีคำห่อหุ้ม มณีแก้วกะเล่าจาง


(คนเราแม้จะมีหน้าตาดีเพียงใด หากไม่มีศีลธรรมก็ไม่มีค่ามากมาย เหมือนกับแหวนที่ไม่มีหัวย่อมมีค่าน้อย)

ถ้าเราหมุนเข็มนาฬิกาย้อนหลังไปสักยี่สิบปี ยุคสมัยนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อเสียงของ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” แห่งวัดบ้านไร่ โด่งดังที่สุดในเมืองไทย เรียกได้ว่าถนนทุกสายล้วนมุ่งตรงสู่วัดบ้านไร่..

มีชาวบ้านคณะหนึ่งตั้งใจที่จะไปกราบหลวงพ่อคูณ เมื่อไปถึงหลวงพ่อคูณท่านได้เอ่ยปากถามว่า พวกเขาเหล่านั้นมาจากที่ไหน และเมื่อท่านได้ทราบว่าชาวบ้านคณะนี้มาจากอำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ท่านจึงพูดขึ้นว่า..

“พวกเอ็งไม่ต้องมาหากูดอก อยู่ที่ตาลสุมก็มีหลวงปู่สวน พี่กูอยู่ทางโน้นเก่งกว่ากูอีก รู้จักมั๊ย หลวงปู่สวน...”

เล่ากันว่าสิ้นคำพูดของหลวงพ่อคูณ ทำเอาชาวบ้านคณะนั้นต่างมองหน้ากันอย่างงงๆ และพากันสงสัยว่า ทั้งหลวงพ่อคูณและหลวงปู่สวนต่างรู้จักกันได้อย่างไร ซึ่งถ้าว่ากันตามความจริงแล้วการที่หลวงปู่ญาท่านสวนจะรู้จักหลวงพ่อคูณก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชื่อเสียงและกิติคุณของหลวงพ่อคูณนั้นเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง

แต่ที่ทุกคนสงสัยคือ “หลวงพ่อคูณ ท่านรู้จักหลวงปู่ญาท่านสวนได้อย่างไร....”
2.jpg
2.jpg (11.27 KiB) เปิดดู 2604 ครั้ง
เพราะช่วงเวลานั้นวัดของหลวงปู่ญาท่านสวนอยู่ห่างไกลมาก ขนาดคนอุบลยังต้องถอนหายใจเมื่อเอ่ยถึง ที่สำคัญคือหลวงปู่ญาท่านสวน ท่านก็ยังไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นเพียงพระภิกษุมากอายุธรรมดาองค์หนึ่งเท่านั้น ต่อเนื่องในเรื่องเดียวกัน เมื่อมีโอกาสลูกศิษย์ของหลวงปู่ญาท่านสวนได้ถามเรื่องนี้กับท่านว่า

“ผมทราบข่าวว่ามีชาวบ้านเดินทางไปกราบหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ที่วัดบ้านไร่ พอหลวงพ่อคูณท่านทราบว่าชาวบ้านมาจากอำเภอตาลสุม ท่านเลยไล่ให้กลับมาหาหลวงปู่ จริงหรือเปล่าครับ”
หลวงปู่ญาท่านสวนได้เมตตาตอบกับเขาว่ามีชาวบ้านมาเล่าให้ท่านฟังเหมือนกัน และเมื่อลูกศิษย์ท่านนี้สอบถามต่อก็ได้ความว่าหลวงปู่ญาท่านสวน ไม่เคยรู้จักหลวงพ่อคูณมาก่อน ตลอดจนทั้งสององค์นี้ก็ไม่เคยเจอหน้ากันด้วย ลูกศิษย์จึงได้พูดในทำนองกระเซ้าว่า...

“งั้นหลวงปู่ก็คงรู้จักกันทางโทรจิตสิครับ”
สิ้นคำกระเซ้า หลวงปู่นิ่งเงียบ ไม่ตอบได้แต่อมยิ้ม…

ครับเรื่องแบบนี้อธิบายยาก เมื่อไม่มีคำตอบ ทำให้หลายต่อหลายคนต่างเดินหน้าค้นหาคำตอบต่อไป ขณะที่อีกหลายคนกลับเชื่อว่า

“การไม่มีคำตอบนั่นแหละคือคำตอบ”
3.jpg
3.jpg (8.47 KiB) เปิดดู 2602 ครั้ง
เมื่อคราวที่หลวงปู่ญาท่านสวนได้รับนิมนต์ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม..

เมื่อถึงกำหนดเวลาเจ้าหน้าที่ได้เข้ามากราบนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเพื่อเข้าพิธี โดยเจ้าหน้าที่ได้เดินนำหลวงปู่เข้าไปในพระอุโบสถ พระรูปที่สองที่เดินตามมาคือ “หลวงปู่ทิม อัตตสันโต” แห่งวัดพระขาว เมื่อหลวงปู่ญาท่านสวน เดินไปถึงอาสนะสำหรับพระที่มาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก

เจ้าหน้าที่ได้กราบนิมนต์ท่านขึ้นนั่งหัวแถวรูปแรก แต่ท่านไม่ยอมขึ้นและหยุดยืนรอหลวงปู่ทิมที่เดินตามมา เมื่อหลวงปู่ทิมได้เดินมาถึง หลวงปู่ญาท่านสวนจึงได้นิมนต์ให้หลวงปู่ทิมขึ้นนั่งหัวแถวก่อน

เล่ากันว่าหลวงปู่ทิมท่านก็ไม่ยอมขึ้นและนิมนต์ให้หลวงปู่ญาท่านสวนขึ้นนั่งก่อน หลวงปู่ทั้งสองใช้ “รอยยิ้มและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน” แทนคำนิมนต์ ในที่สุดหลวงปู่ญาท่านสวนท่านจึงจำใจขึ้นนั่งหัวแถวและก็ตามด้วยหลวงปู่ทิม....
4.jpg
4.jpg (19.13 KiB) เปิดดู 2602 ครั้ง
ต่อมาลูกศิษย์หลวงปู่ทิม ได้เล่าให้ลูกศิษย์ของหลวงปู่ญาท่านสวนที่มาในวันนั้นฟังว่า.....วันนั้นตนเองได้ติดตามหลวงปู่ทิมไปด้วยและได้กราบนมัสการถามหลวงปู่ทิมหลังจากเสร็จพิธีแล้วว่า

“ทำไมหลวงปู่ไม่ขึ้นไปนั่งก่อน และทำไมถึงให้หลวงปู่รูปนั้นขึ้นไปนั่งก่อน”

หลวงปู่ทิมท่านเมตตาตอบลูกศิษย์ของท่านว่า

“ก็ท่านเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องให้ท่านขึ้นก่อนสิ...”

จากนั้นศิษย์ผู้นี้จึงได้ทราบชื่อของหลวงปู่รูปนั้นว่า

“ท่านพระครูอาทรพัฒนคุณ” หรือ “หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร” แห่ง “วัดนาอุดม อำเภอตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี”
5.jpg
5.jpg (16.84 KiB) เปิดดู 2605 ครั้ง
ศีลกับธรรมพาเฮาดีได้ ควรตัดสินใจน้อมเข้าเพิ่ง

รัตนะพระไตรหน่วยแก้ว แนวพายั้งอยู่จั่งเย็น

ไผบ่ถือศีลธรรมพระพุทธเจ้า เป็นคนเสียชาติเปล่า

ไผบ่เชื้อธรรมพระพุทธเจ้า ตายถิ่มค่าอยู่ไส


(ศีลกับธรรมนำเราได้ดี ควรน้อมนำใจให้มีศีลธรรม ยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง คนไม่มีศีลธรรมถือว่าเกิดมาตายเสียชาติเกิดแท้ๆ)
16.jpg
16.jpg (23.38 KiB) เปิดดู 2603 ครั้ง
หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร เกิดเมื่อ ๑๐ กันยายน ๒๔๕๓ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ เกิดในสกุล “แสงเขียว” ชื่อเดิมของท่านคือ “สวน แสงเขียว” โยมบิดามารดาของท่านชื่อ “นายคูณ-นางผุย แสงเขียว” อาชีพทำนา หลวงปู่เป็นบุตรชายคนที่ ๕ ของพี่น้องทั้งหมด ๘ คน

เล่ากันว่าด้วยความที่หลวงปู่มีความสุภาพอ่อนโยนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำให้เมื่อท่านเติบโตขึ้น ท่านจึงเป็นคนที่มีความสุขุม เยือกเย็น นุ่มนวลและเป็นผู้ที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูงและส่วนรวม และด้วยบุพกรรมเก่าที่ท่านเคยสร้างสมมาเมื่อครั้งในอดีต ทำให้ท่านไม่มีความลุ่มหลง หรือนิยมชมชอบในชีวิตทางโลก แต่ครั้นจะออกบวชท่านก็ติดเกรงใจโยมบิดามารดาของท่าน

ดังนั้นชีวิตในช่วงวัยรุ่นของท่าน จึงเป็นช่วงที่ท่านได้อยู่ช่วยงานบิดามารดาของท่านทำไร่ทำนา จนเมื่อท่านอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้ตัดสินใจขออนุญาตบิดามารดาของท่านเพื่อออกบวช
6.jpg
6.jpg (14.59 KiB) เปิดดู 2599 ครั้ง
ในโลกแห่งความเป็นจริงมีพ่อแม่อยู่จำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาให้ลูกตอบแทนความรักของพ่อแม่ที่มีให้โดยการดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางที่พ่อแม่คาดหวัง พ่อแม่ทุกคนล้วนดีใจที่จะได้เห็นลูกของตนเลือกทางที่ดีที่สุด

หลวงปู่ญาท่านสวนก็ไม่พ้นโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้

เพียงแต่ว่าเส้นทางที่ว่าดีนี้มันดีทั้งความต้องการของตนเองและของโยมพ่อ โยมแม่ของท่าน....

หลวงปู่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดนาอุดม บ้านนาทม ตำบลคำหว้า อำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๗๓ โดยมีพระอธิการพรมมา วัดบ้านระเว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่ได้รับฉายาว่า “ฉันทโร” ซึ่งแปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งความพอเพียง”
7.jpg
7.jpg (29.39 KiB) เปิดดู 2599 ครั้ง
หลวงปู่เล่าให้พวกเราฟังว่าหลังจากที่ท่านบวชได้สักระยะหนึ่ง ท่านจึงได้ไปศึกษาต่อที่วัดสำโรงใหญ่ซึ่งในสมัยนั้นมี “พระอาจารย์หม่อน” ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลวงลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาส พระอาจารย์หม่อนเป็นพระที่เข้มงวดในระเบียบวินัยและมากไปด้วยคาถาอาคมองค์หนึ่งในยุคนั้น เป็นที่ขึ้นชื่อเลยว่าพระอาจารย์หม่อนมีอุปนิสัยที่ค่อนข้างดุมาก

ความดุของท่านเล่นเอาบรรดาพระอุปัฏฐากที่รับใช้ท่าน ทนอยู่ไม่ได้ต้องอพยพหนีหายไปหลายองค์ เรียกได้ว่าไม่มีองค์ไหนกล้าเข้าไปอุปัฏฐากรับใช้ท่านครับ จนถึงวันหนึ่งพระอาจารย์หม่อน ได้เรียกพระภิกษุสวนให้เข้าไปพบและมอบหน้าที่พระอุปัฏฐากแทนพระที่หนีไป....

หากอุปนิสัยที่เข้มงวดในพระวินัยคือสัญลักษณ์ของความดุในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับพระภิกษุสวน เรื่องเหล่านี้มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

เนื่องจากพระวินัยเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของพระภิกษุสวนในการได้มาซึ่งคำว่า “ขันติ อดทนและเพียรพยายาม”
8.jpg
8.jpg (31.99 KiB) เปิดดู 2597 ครั้ง
“พระอาจารย์หม่อนใช้ให้อาตมาทำงานอย่างหนักเช่น เลื่อยไม้ เพื่อสร้างเสนาสนะภายในวัด ทำจนมือไม้แตกหมด เลือดออก ทั้งเจ็บทั้งระบม แต่ก็ต้องอดทนเพราะเป็นคำสั่งของพระอาจารย์ บางทีท่านก็จะดุ จะว่า โดยไม่ทราบสาเหตุ

ยิ่งวันไหนมีญาติโยมมากันมากๆ วันนั้นแหละจะเป็นวันที่ทำอะไรไม่ถูกใจท่านเอาเสียเลย ดุขนาดที่ว่าบางครั้งอับอายญาติโยมจนแทบจะแทรกแผ่นดินหนี เพราะความต้องการที่จะปฏิบัติครูบาอาจารย์ ทำให้อาตมาต้องใช้ความขันติ อดทน...”


การเดินทางสู่ความปรารถนา ด้วยเส้นทางขันติ อดทน และมีความเพียรพยายามของพระภิกษุสวนครั้งนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงความดุของพระอาจารย์หม่อนได้อย่างน่าอัศจรรย์ และโดยส่วนตัวของท่านแล้วทำให้ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ที่ดีงาม

ว่ากันว่า “ถ้าเราอยากได้อะไรจริงๆ มันก็ย่อมมีทางเสมอ”
9.jpg
9.jpg (12.78 KiB) เปิดดู 2598 ครั้ง
พระอาจารย์หม่อนได้เรียกพระภิกษุสวนเข้าไปหาและได้สอนกรรมฐานให้ ด้วยการพาพระภิกษุสวนไปฝึกกรรมฐานในป่าช้าสองต่อสอง โดยการแยกกันปฏิบัติ ถึงตอนนี้หลวงปู่ท่านเล่าว่า

พระอาจารย์หม่อนมีอาสนะพิเศษทำด้วยหนังหมี ซึ่งจะต้องหอบหิ้วไปทุกครั้งที่จะไปสอนกรรมฐานในป่าช้า การฝึกกรรมฐานเริ่มจากฝึกวิธีกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อฝึกปฏิบัติจนเป็นที่พอใจของพระอาจารย์แล้วก็ให้พระภิกษุสวนกลับไปฝึกปฏิบัติเอาเอง หากว่าติดขัดตรงไหนก็ให้มาถามท่าน

นอกจากการฝึกกรรมฐานแล้ว พระอาจารย์หม่อนยังได้สอนวิชาเวทย์มนต์คาถาต่างๆให้อีกด้วย หลวงปู่บอกว่าตัวท่านเองไม่เคยธุดงค์และได้ตั้งใจฝึกฝนเพียรพยายามตามคำสอนของครูบาอาจารย์ รวมไปถึงการค้นคว้าหาความรู้จากตำรับตำราต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ได้บันทึกไว้ เช่นศึกษาเรียนรู้วิชาการเขียน การอ่านอักษร ขอม เขมรและอักษรธรรมอีสาน จนเกิดความชำนาญ สามารถอ่านออก เขียนได้อย่างคล่องแคล้ว

จะว่าไปแล้วอุปนิสัยการใฝ่เรียนรู้ถือเป็นคุณสมบัติประจำตัวของหลวงปู่เลยก็ว่าได้ เพราะหากว่าเพื่อนๆท่านใดที่เคยไปกราบนมัสการหลวงปู่ จะสังเกตเห็นว่าเมื่อเสร็จสิ้นจากการรับแขกญาติโยมแล้ว หลวงปู่มักจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นหนังสือธรรมะ หนังสือสวดมนต์ ด้วยความที่ท่านเป็นผู้รักการอ่าน ชอบศึกษาหาความรู้และชอบวิเคราะห์ หลวงปู่ท่านจึงให้ความสำคัญกับเด็กๆ โดยท่านมักจะพูดเสมอๆว่า “อยากให้ลูกหลานฉลาด” ท่านได้ให้ข้อคิดว่า
10.jpg
10.jpg (6.87 KiB) เปิดดู 2596 ครั้ง
“การเรียนเวทย์มนต์คาถาต่างๆ มันก็คือรู้ และอาจจะช่วยได้ในบางเรื่อง แต่การที่จะทำสิ่งใดให้สัมฤทธิ์ผลได้เร็วขึ้น เราจะต้องเรียนรู้ทำให้เกิดปัญญา ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด...”

ในตอนหนึ่งของหนังสือประวัติหลวงปู่ญาท่านสวน มีการบันทึกไว้ว่า..

ครั้งหนึ่งท่านมีความประสงค์อยากให้จัดสร้างเหรียญเรียนดีหรือเหรียญศรีปราชญ์ ท่านบอกว่าแต่ก่อนนี้ ครูบาเสือสมิงน้อยท่านเคยสร้างเหรียญศรีปราชญ์และนำมาให้ท่านปลุกเสกให้ เมื่อเสกเสร็จแล้วครูบาเสือสมิงน้อยจึงได้มอบถวายท่านไว้จำนวนหนึ่ง ท่านจึงได้นำเอาเหรียญนั้นไปแจกเด็กๆ ปรากฏว่า ได้ผล กล่าวคือ เด็กๆเรียนดีขึ้น มีสติปัญญามากขึ้น เพราะเชื่อว่าศรีปราชญ์เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด...

ลูกศิษย์ท่านหนึ่งจึงได้กราบนมัสการถามท่านด้วยความสงสัยว่า เหรียญที่ทำให้เกิดสติปัญญาเฉลียวฉลาดนั้นมีด้วยหรือและใช้คาถาอะไรปลุกเสก หลวงปู่ญาท่านสวนได้เมตตาอธิบายให้ฟังว่า
11.jpg
11.jpg (12.57 KiB) เปิดดู 2596 ครั้ง
“ปัญญาย่อมเกิดจากความเพียร ผู้ที่มีปัญญาที่จะเป็นนักปราชญ์ได้จะต้องมีคุณสมบัติ ๔ ประการที่เรียกว่า หัวใจนักปราชญ์ คือ

๑.สุตะ หมายถึง ได้พบ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่มีสาระน่ารู้

๒.จินตะ หมายถึง การนำเอาที่ได้พบ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง มาพิจารณาหาเหตุผล

๓.ปุจฉา หมายถึง เมื่อเกิดความสงสัย ก็ให้ถามผู้รู้

๔.ลิขิต หมายถึง บันทึกความรู้เอาไว้จดจำ

ท่านจึงได้เอาหัวใจนักปราชญ์ นำมาเป็นคาถาปลุกเสกมีอยู่ ๔ ตัว คือ สุ จิ ปุ ลิ ซึ่งแม้หากผู้ใดปฏิบัติตาม ๔ ประการนั้นด้วยความเพียร บุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่า นักปราชญ์ ผู้รู้...”
12.jpg
12.jpg (18.5 KiB) เปิดดู 2598 ครั้ง
อ่านตัวให้ออก บอกตัวให้ได้

ใช้ตัวให้เป็น ฝึกใจให้เย็นอยู่เสมอ

อย่าเผลอ ทำใจให้เป็นหนึ่ง...


ด้วยความตั้งใจแสวงหาความรู้ ทำให้เมื่อสิ้นพระอาจารย์หม่อน พระภิกษุสวนจึงได้มีความคิดที่จะเดินทางไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมอีก เรื่องแบบนี้เดาไม่ยากครับว่าพระภิกษุสวนต้องการไปเรียนกับใคร เพราะแวดวงเวทย์มนต์คาถาในละแวกภาคอีสานใกล้ชายแดนลาว ถือว่าเป็นเขตอิทธิพลของ “สำเร็จลุน” ปรมาจารย์ไสยศาสตร์แห่ง “วัดเวินไชย เมืองปากเซ นครจำปาศักดิ์”

ความยิ่งใหญ่ของสำเร็จลุนถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็ต้องเทียบเคียงกับ “หลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า” ครับ ส่วนที่แตกต่างคงเป็นที่หลวงปู่ศุข เป็นพระเมืองไทย ส่วนสำเร็จลุน เป็นพระเมืองลาวและคำว่า “สำเร็จ” มาจากธรรมเนียมของคนลาวที่ใช้เรียกพระภิกษุที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบครับ

สำเร็จลุน ถือว่าเป็นพระปรมาจารย์ผู้ทรงอภิญญาและมีกฤษดาอภินิหารมากมาย เป็นที่เลื่องลือในแถบลุ่มแม่น้ำโขง...

เล่ากันว่ามีคนเคยเห็นสำเร็จลุนยืนสรงน้ำกลางแม่น้ำโขง ความเก่งกาจของท่านขนาดสามารถบังคับให้เรือรบของทหารฝรั่งเศสหยุดได้และเมื่อครั้งที่ทหารฝรั่งเศสให้คนมานิมนต์ท่านลงไปในเรือรบ แต่ท่านบอกว่าไม่อยากลงเพราะกลัวเรือจะล่ม แต่ก็ไม่มีใครเชื่อท่าน สำเร็จลุนท่านจึงได้ก้าวเท้าขึ้นไปเหยียบปรากฏว่าเรือรบเอียงวูบทันทีจนเกือบจะล่ม เรียกว่าไม่มีใครกล้าคะยั้นคะยอให้ท่านลงเรือรบอีกเลย

และมีอยู่คราวหนึ่งท่านสำเร็จลุนได้บอกให้ลูกศิษย์ของท่านไปปอกมะละกอและหาเครื่องตำส้มตำเอาไว้ ส่วนตัวท่านเองจะไปเอาน้ำปลาจากกรุงเทพมาให้ ปรากฏว่าท่านเดินคล้อยหลังไปแป๊ปเดียว ก็เดินกลับมาพร้อมกับถือเอาขวดน้ำปลายี่ห้อแปลกๆที่ไม่เคยมีในแถบนี้มาก่อน...

จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องแปลกนะครับ เพราะมีบางคนคิดว่า “สำเร็จลุน” ท่านก็คือพระองค์เดียวกับ “หลวงปู่เทพโลกอุดร” แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่หลายๆคนคิด ผมเองก็ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้มากนัก เพียงแต่ว่าเรื่องราวชักจะยาวมาต่อกันตอน ๒ ดีกว่า....สวัสดีครับ
a.jpg
a.jpg (8.47 KiB) เปิดดู 2591 ครั้ง
เอกสารอ้างอิง – หนังสืออนุสรณ์ในงานบำเพ็ญกุศล พระครูอาทรพัฒนคุณ(ญาท่านสวน ฉันทโร)

ขอบพระคุณ – คุณชัยวิทย์ มาลาคำ ที่กรุณาให้ใช้รูปภาพและบทความ คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย สำหรับข้อมูล เพื่อนต่อ กับคำแนะนำ และคุณสมบูรณ์ ร้านนายฮ้อ สระบุรี สำหรับกำลังใจครับ

Re: หลวงปู่ญาท่านสวน ฉันทโร วัดนาอุดม (๑)

พุธ 17 มิ.ย. 2009 2:56 pm

แหม เล่าได้อร่อยอย่างกับไปอยู่ในเนื้อเรื่องด้วยเลย ขอบคุณครับที่เขียนเรื่องดี ๆ ให้ได้อ่านกัน และสำหรับคุณจิ้งจกมือกาว ที่จับเรื่องของคุณศิษย์กวงจากบล็อคโอเคเนชั่นมาแปะในเว็บn.ให้พวกเราได้อ่านกัน ขอบคุณมากครับ :P
ตอบกระทู้